ชาวตากค้านออกโฉนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โวยแผนรองรับไม่มี 97 ครอบครัวทวงคืนสิทธิ

 
 
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2559 ตัวแทนชาวบ้าน และกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่นราว 70 คน เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการออกโฉนดให้กรมธนารักษ์ ตามที่สำนักงานกรมที่ดินจังหวัดตาก สาขาแม่สอด ซึ่งปิดประกาศเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 ในพื้นที่หมู่4 และหมู่ 7 บ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.เมือง จ.ตาก โดยมีนายอมรพันธ์ สุนทรวิภาต เจ้าพนักงานที่ดินฯสาขาแม่สอดเป็นผู้รับหนังสือ
 
สืบเนื่องจากวันที่ 15 พ.ค. 2558 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 17/2558 ทำการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ เพิกถอนเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เพิกถอนเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน และถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม แนวเขตแผนที่ในคำสั่งนี้ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งครอบคลุม 5 พื้นที่ได้แก่ ตำบลอาฮวน อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร, ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว, ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด, ตำบลสระใคร อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย และตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตากที่กลุ่มชาวบ้านคัดค้านดังกล่าว
 
โดยกลุ่มชาวบ้าน และกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่นมีข้อเรียกร้องดังนี้
 
1.ขอคำชี้แจ้งผลการยื่นคำขอคัดค้านการรังวัดออกโฉนด (ท.ด.9) (สิ่งที่แนบมา 3) และผลของการบันทึกถ้อยคำ (ท.ด.16)(สิ่งที่แนบมา 4)
 
2.ขอคำชี้แจงตามประกาศหนังสือที่ ตก 0020.01(2) /3067 และหนังสือที่ ตก 002.01(2) /3039 เรื่องออกโฉนดที่ดิน-รายกระทรวงการคลัง ที่ไม่ปรากฏแผนที่รูปแปลงที่ดินที่จะออกโฉนด
 
3.ในกรณีพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ประเภท น.ส. 3 ได้มีการตัดออกจากแปลงที่จะออกโฉนดหรือไม่
 
4.ขอให้ชี้แจงเหตุผลกรณีที่จำนวนพื้นที่ที่ลดลงของหมู่ 4 จาก 836-2-88 ไร่ เหลือ 761-0-80 และหมู่ 7 จาก 1364-0-78 ไร่ เหลือ 1286-1-55 และรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด
 
5.ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ และกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น ขอค้านการออกโฉนดตามประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดตาก สาขาแม่สอด ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตาก สาขาแม่สอดดังกล่าว
 
ด้านนายอมรพันธ์ สุนทรวิภาต เจ้าพนักงานที่ดินฯสาขาแม่สอด ได้เป็นผู้รับหนังสือและได้ชี้แจงเรื่องการดำเนินการคัดค้านที่ผ่านมาว่ายังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบเปรียบเทียบพื้นที่แปลงตามที่มีชาวบ้านคัดค้านกับแปลงที่กรมธนารักษ์ขอออกโฉนด ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินการใดๆ การดำเนินการต่อจากนี้ก็จะปรับแผนที่ตามการดำเนินการรังวัดที่ผ่านมาและส่งเรื่องไปยังกรมที่ดิน ส่วนการคัดค้านเป็นผลหรือไม่นั้น ที่ดินก็จะแจ้งเหตุผลตามรายบุคคลที่ยื่นคัดค้าน หากชาวบ้านเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน
 
สุนทร ศรีบุญมา กรรมการผู้ประสานงานกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่นกล่าวกับประชาไทว่า สาเหตุหลักในการออกมาคัดค้านของชาวบ้าน คือการประกาศนี้กระทำโดยไร้ซึ่งการทำประชาคมหมู่บ้าน จึงทำให้ตั้งแต่มีการประกาศคำสั่งดังกล่าว กลุ่มชาวบ้านก็เดินหน้าคัดค้านมาโดยตลอด  เพราะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ได้รับการชี้แจง อีกทั้งไม่มีความชัดเจนในทั้งเรื่องของโฉนดเอกสารที่ไม่มีการระบุชื่อ โดยเดิมพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นมี 2,183 ไร่ แต่ในประกาศล่าสุดที่ออกให้กรมธนารักษ์ เหลือเพียง 2,048 ไร่ โดยชาวบ้านไม่รู้ว่าพื้นที่บางส่วนถูกนำไปใช้ทำอะไร หรือกลายเป็นที่ของหน่วยงานใด ตรงไหนจะถูกออกโฉนดบ้าง และใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเพิ่มเติมหรือลดพื้นที่ลง
 
สุนทรระบุด้วยว่า ที่ดินส่วนนี้เป็นที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของชาวบ้านตั้งแต่ปี 2470 บางแปลงมีการออกเอกสารสิทธิ์ บางแปลงมีใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) แต่พื้นที่ส่วนมากยังไม่ได้นำเอาไปขอโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เพราะชาวบ้านไม่มีเงินมากพอ
 
สุนทรกล่าวต่อว่า ในเมื่อรัฐบาลไม่มีความชัดเจนว่า จะให้ชาวบ้านย้ายไปไหน ส่วนตัวจึงต้องออกมาเรียกร้องขอสิทธิ์ที่ดินทำกินคืน และต้องการให้ย้ายผังออกห่างจากที่ดินของชุมชน โดยเฉพาะการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่จะดำเนินการตั้งโรงงานในบริเวณพื้นที่ส่วนนี้เป็นจำนวน 836 ไร่ โดยในส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 1,300 กว่าไร่นั้นถูกส่งให้กรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแล ซึ่งคาดว่าจะถูกปล่อยให้เอกชนเข้ามาเช่าเพื่อทำธุรกิจต่อไป
 
เขาเล่าว่ามีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานเช่น กรมโยธาผังเมือง  ทหาร กนอ.ฯลฯ เข้ามาพูดคุยเพื่อพยายามไกล่เกลี่ยและให้ชาวบ้านยินยอมย้ายออก ขณะเดียวกันภาครัฐก็ไม่มีความชัดเจนว่า หากชาวบ้านซึ่งมีอยู่ถึง 97 รายที่ครอบครองที่ดินอยู่นันย้ายออกแล้ว จะให้ไปอยู่ที่ไหน และอะไรคือสิ่งที่จะรองรับการเสียโอกาสหากต้องไปเริ่มต้นชีวิตใหม่เช่นนี้
 
เขาแสดงความเห็นว่า การใช้ ม.44 (จากคำสั่ง17/2558) กับชาวบ้านชายขอบ และกลุ่มคนซึ่งไม่มีความรู้ นั้นสร้างความลำบากอย่างมากเพราะชาวบ้านใช้ที่ดินส่วนนี้เป็นที่ทำกินหลักทั้งทำไร่มันสำปะหลัง ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ และไร่นาผสมผสาน พร้อมยืนยันเดินหน้าคัดค้านต่อไปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และคาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านด้วย
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท