สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป จี้ รธน.ต้องไม่สืบทอดอำนาจ แต่ลดเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) ออกแถลงการณ์ 'รัฐธรรมนูญ ต้องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และไม่สืบทอดอำนาจ' 

โดย สชป. เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการเพิ่มอำนาจรัฐ ลดทอนอำนาจประชาชน และริบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล  รวมทั้งสิทธิชุมชน อันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนเป็นที่ยอมรับกันในทางสากล อีกทั้งหลักการดังกล่าวได้มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจนได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งได้ผ่านการออกเสียงประชามติโดยประชาชน อันถือได้ว่าเป็นจำนงร่วมของประชาชนไทย ดังนั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่เพียงแต่จงใจล่วงละเมิดและไม่นำพาต่อเจตจำนงดังกล่าวเท่านั้น มิหนำซ้ำกลับโอนสิทธิเสรีภาพให้ขึ้นต่อการทำหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่การรับรองสิทธิเสรีภาพไว้ในรัฐธรรมนูญย่อมมีผลผูกพันให้รัฐต้องเคารพ คุ้มครอง และทำให้สิทธิเสรีภาพเกิดผลเป็นจริง หรืออาจกล่าวได้ว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้สถาปนาโดยรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการมอบให้โดยรัฐนั่นเอง

สชป. ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะต้องมีมาตรฐานหลักประกันหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน สิทธิประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ การนำไปสู่การสร้างสังคมสวัสดิการเพื่อทุกคน  ต้องไม่ต่ำกว่าที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยต้องมีหลักการสำคัญ ดังต่อไปนี้

สชป. เห็นว่าต้องยกเลิกหมวดหน้าที่ของรัฐ  และการนำหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล  หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในบททั่วไป และหลักความเสมอภาคและห้ามเลือกปฏิบัติ ของรัฐธรรมนูญ 2550 มากำหนดไว้ในรัฐธรรมฉบับใหม่

สชป. เห็นว่าต้องนำสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการร่วมกำหนดและตรวจสอบโครงการของรัฐ  สิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  หลักการป้องกันก่อนโดยการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ รวมทั้งให้มีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มากำหนดไว้ในรัฐธรรมฉบับใหม่

สชป. ยังเห็นอีกว่า รัฐธรรมนูญใหม่ต้องรับรองสิทธิสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า  อันประกอบด้วย สิทธิในการศึกษา สิทธิด้านสาธารณสุข สิทธิเด็ก เยาวชน ครอบครัว สิทธิผู้สูงอายุ สิทธิคนพิการ สิทธิของแรงงาน  ตลอดจน สิทธิของผู้บริโภคและให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

สชป. ยืนยันหลักการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ที่กำหนดเป็นหลักการว่าท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดให้รัฐพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ และการให้มีอำนาจหน้าที่ร่วมกับชุมชนในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการให้ประชาชนลงประชามติในการดำเนินการที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

สชป. เห็นว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องมีอำนาจหน้าที่เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรมตามขอบอำนาจของศาลนั้นๆ เพื่อประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

รวมทั้ง สชป. ยังไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม  รวมทั้งการให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ( สปท.) ทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศต่อเนื่องไปอีก 1 ปี ตลอดจนการให้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว  2557 ต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการสืบทอดอำนาจโดยเอารัฐธรรมนูญมารองรับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมนี้

พร้องมทั้งระบุในตอนท้ายของแถลงการณ์ด้วยว่า สชป. จะตรวจสอบ ร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักการดังกล่าว ในการเปิดสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) ในวันที่ 7 เมษายน นี้ เพื่อกำหนดท่าทีในลงประชามติใน การรับ หรือ ไม่รับร่าง รัฐธรรมนูญต่อไป

 

                                                                       

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท