Skip to main content
sharethis

จากกรณีเหตุการณ์กลุ่มคนร้ายได้บุกเข้ายึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง และใช้เป็นสถานที่โจมตีฐานปฏิบัติการ กองร้อยทหารพรานที่ 4816 เหตุเกิดเมื่อ 13 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งการพูดถึงมาตราการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะการพูดคุยสันติสุข นั้น

พล.อ.อักษรา เดินหน้าคุยสันติสุขต่อ ยื่นข้อเสนอขอพื้นที่ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจ ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข โดย ตอนหนึ่ง พล.อ.อักษรา ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกระบวนการพูดคุยสันติสุข ว่า ตนมองว่าคุยดีกว่าไม่คุย เขาต้องการอะไรก็บอกเรา เมื่อก่อนเกิดการวางระเบิด เขาก็ไม่ได้มาบอกเราว่า เขาต้องการอะไร คราวนี้สามารถถามได้ ตอนนี้เขาออกมาแล้ว แล้วที่มันล้มเหลว หัวหน้าทำคนเดียวเสียที่ไหน แล้ว สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ล่ะ แม่ทัพภาค 4 ล่ะ กองทัพบกล่ะ ดีหมดเลยเหรอ

สำหรับความคืบหน้าการพูดคุยสันติสุขเป็นอย่างไรบ้าง พล.อ.อักษรา กล่าวว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขถือเป็น 1 ใน 7 กลุ่มงาน ในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง การพูดคุยเพื่อสันติสุข จะทำให้อีก 6 กลุ่มงานที่ทำก่อนหน้านี้มีความชัดเจนขึ้น โดยไปถามผู้ก่อความไม่สงบว่า อยากจะเอายังไง ส่วนข้อเสนอจากผู้ก่อความไม่สงบ 1-2 ข้อก่อนหน้าที่คณะพูดคุยจะเดินทางไปพูดคุยครั้งที่ 5 นั้น เป็นข้อเสนอทางธุรการเท่านั้น เพราะผู้ก่อความไม่สงบไม่มีอะไรเลย เขาก็เลยอยากได้กรอบกติกาบ้าง เกี่ยวกับการเดินทาง ห้องประชุมใครจัด อาหารใครเลี้ยง ก็ดูแลกันไป ทั้งเราและผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) เป็นเพียงข้อตกลงทางธุรการเท่านั้น ไม่ใช่ข้อเสนอให้หยุดก่อเหตุในพื้นที่ ไม่อยากให้มันเป็นเรื่องของ ความมั่นคงระหว่างประเทศ เพราะมันเป็นเรื่องความมั่นคงภายในของเรา 

ต่อคำถามถึงข้อเสนอของฝ่ายรัฐต่อการพูดคุยครั้งต่อไปเพื่อให้ได้เป็นข้อตกลงนั้น พล.อ.อักษรา กล่าวว่า ต้องการได้พื้นที่ปลอดภัย 3 เดือน 6 เดือน ก็ว่ากันไป ถ้าเลือกเองมันก็ต้องเป็นพื้นที่ที่มีเหตุ แต่ถ้ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเลือก เขาคงต้องเลือกพื้นที่ที่เขาไม่ทำอยู่แล้ว ความรับผิดชอบของเรา  คือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องปลอดภัยทั้ง 38 อำเภอ มันเป็นหน้าที่ของแม่ทัพภาคกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านเลขาฯ ศอ.บต. ที่ต้องดูแลให้ปลอดภัยทั้ง 38 อำเภอ ข้อเสนอของเราไม่ใช่คณะพูดคุยคิด แต่ได้มาจากประชาชนในพื้นที่ที่เขาต้องการ ไปถามฝั่งโน้นว่า 

พล.อ.อักษรา กล่าวต่อว่า ประชาชนเขาต้องการพื้นที่ปลอดภัย เขาต้องการพัฒนา แล้วคุณต้องการพัฒนาด้วยไหม ที่ประชาชนต้องการกับที่คุณต้องการเหมือนกันไหม คุณก็เสนอมาสิ เราจะได้ไปถามประชาชน เพราะเราถามมาแล้วว่าเขาต้องการแบบไหน กลับมาสู่กระบวนการยุติธรรมไหม เพราะบางคนก็มีหมายจับ มีคดีอยู่ เราก็จะดูแลตรงนั้นให้ จากหนักเป็นเบา แต่จะให้อยู่เหนือกฎหมายคงไม่ได้เราก็จะไปถามฝั่งโน้นว่า คุณเห็นด้วยไหม แล้วคุณจะเอาอะไรก่อน คุณมีอะไรมาเติมอีกไหม ต้องการอะไร เขาต้องการพื้นที่ปลอดภัยด้วยเหมือนกันใช่ไหม ต้องการความยุติธรรม ต้องการการพัฒนา ต้องการอาชีพ ต้องการการลงทุนขนาดใหญ่ 

ยันคุยกับตัวจริง ชี้ความสำเร็จคือได้คุยอยู่ เพราะเป็นหนทางเดียวในการหาทางออกจากความขัดแย้ง 

ส่วนคำถามสำคัญที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่คุยอยู่ ตัวจริง เสียงจริงหรือไม่นั้น พล.อ.อักษรา กว่าวว่าไปหามาซิ ว่าคนอื่นมีอีกไหมล่ะ ก่อนจะไปพูดคุยต้องทำบัญชีผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ก่อน และบัญชีที่เรารู้จักกับบัญชีที่มาเลเซียรู้จักเป็นบัญชีเดียวกันหรือไม่ ต้องไปเช็กกับเขาอีก แล้วเอามาเทียบ รายชื่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในบัญชีของเรา มาจากข้อมูลของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ กองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตรวจสอบอีก ท่านผู้ว่าฯ ท่านผู้นำทางศาสนา จนทุกคนมั่นใจแล้วว่า ในบัญชีเป็นผู้ที่ก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่จริง จึงส่งให้ทางมาเลเซียตรวจสอบทั้งหมดว่า รู้หรือไม่ว่าเป็นใคร มายังไง ทางมาเลเซียก็เช็กแล้วตอบกลับมาว่า บัญชีที่เช็กตรงกันทั้งหมด ถึงเชิญมาคุย กว่าจะได้มา แต่ก็ยังมีคนมาบอกว่า ไอ้ที่คุยกันอยู่เนี่ย ปลอม แต่ที่จริงยังไม่ได้คุย แล้วไหนล่ะที่จริงของคุณ พอเปิดชื่อออกมันก็อยู่ในนี้ทั้งหมด แล้วมีนอกเหนือจากนี้ไหม ก็ไม่มี ที่เอ่ยชื่อมาแต่ละคนก็อยู่ในบัญชีทั้งหมด ตอนนี้ตัวละครออกมาครบทั้งหมดแล้ว คนสร้างปัญหา คนแก้ปัญหา เรื่องอย่างนี้โม้มากก็ไม่ได้ เพราะมีคนคอยถล่ม

ส่วนการประเมินความสำเร็จของคณะพูดคุย ณ วันนี้ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข กล่าวว่า ความสำเร็จคือยังคุยกันอยู่ เพราะมันเป็นหนทางเดียวในการหาทางออกจากความขัดแย้ง สิ่งที่ทำให้คณะพูดคุยยืนอยู่ได้ทุกวันนี้ คือเอาความจริงเข้าสู้ ทุกคนอ้างว่าทำเพื่อประชาชน เราก็อยากจะบอกว่า ประชาชนเขาไม่ต้องการความรุนแรง เขาต้องการความสงบ ต้องปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ จากทุกฝ่าย
 

มารา ปาตานี  ยันไม่เกี่ยว ชี้เหตุการณ์รุนแรงยิ่งจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าเรื่องพื้นที่ปลอดภัย 

ด้าน อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม สมาชิกคนหนึ่งของมารา ปาตานี องค์กรร่มของขบวนการปลดปล่อยปาตานี หรือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอบคำถามประชาไทไว้เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ไม่เกี่ยวกับมารา ปาตานี เห็นได้จากว่า เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต ก่อนที่จะมีมารา ด้วยซ้ำ

อาบูฮาฟิซ กล่าวต่อว่า ถ้าจะมีการส่งสัญญาณใดๆ มันคงเป็นการเตือนว่า รัฐไทยต้องจริงจังกับการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของความขัดแย้ง และหลีกเลียงจากการกระทำที่ไม่ยุติธรรมที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะฝ่ายทหารของขบวนการก็จะเอาคืนอย่างสม่ำเสมอ จนถึงวันนี้ ทั้งมาราและฝ่ายไทยยังไม่ได้ตกลงอะไรเกี่ยวกับพื้นที่ปลอดภัย เมื่อไรที่การพูดคุยสันติภาพเริ่มอย่างเป็นทางการแล้ว เราถึงจะคุยกันเรื่องความเป็นไปได้ และหาข้อตกลงกันว่า จะทำอย่างไรให้เกิดพื้นที่ความปลอดภัย และหากลไกที่เหมาะสมทำให้มันเวิร์ค เพราะฉะนั้น เนื่องจากยังไม่มีการตกลงเรื่องพื้นที่ปลอดภัย มันก็ไม่มีเหตุผลที่จะบอกว่า นี่คือการต่อต้านมารา พื้นที่ปลอดภัยที่เจาะไอร้องนั้นเป็นเพียงข้อเสนอฝ่ายเดียวของกองทัพภาคที่สี่ เมื่อพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่มั่นของนักรบอาร์เคเค การตอบโต้เช่นนั้นก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ 
 
"ส่วนตัวผมไม่เห็นว่าเหตุการณ์จะกระทบกับกระบวนการพูดคุย ในทางตรงข้าม มันยิ่งจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ให้มีข้อตกลงกันเรื่องนี้อย่างเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ ตอนนี้ทั้งปาร์ตี้เอ และปาร์ตี้บี กำลังจะสรุปเรื่องศัพท์เทคนิคในข้อตกลงในเร็ววันนี้ ถ้าทุกฝ่ายโอเคแล้ว เราก็จะได้เดินหน้าการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการ" อาบูฮาฟิซ กล่าวยืนยันเหตุดังกล่าวไม่กระทบการเจรจาสันติภาพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net