Son of Saul: ชีวิตอันเปลือยเปล่าของ Sonderkommando

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เทศกาลประกาศผลรางวัลออสการ์ประจำปี 2016 ผ่านพ้นไปไม่นาน ข้าพเจ้าในฐานะคนจำพวกที่หูเบากับเสียงลือเสียงเล่าอ้าง และการแปะฉลากหนังรางวัล ย่อมหวั่นไหวใจไม่น้อยเมื่อทราบข่าวว่าโรงภาพยนตร์ใกล้บ้านมีการนำเอาภาพยนตร์รางวัลออสการ์สาขาต่างๆมาฉายซ้ำ ประกอบกับพี่ชายที่ทำงานเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ได้เสนอแนะมา และตัวอย่างภาพยนตร์ก็น่าสนใจนัก จึงไม่รีรอจะตีตั๋วเข้าไปชมภาพยนตร์รางวัล Best Foreign Language Film ในปีนี้ Son of Sual

ยี่สิบนาทีแรกของภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยความทรมานใจของข้าพเจ้า เมื่อภาพยนตร์ปรากฏเทคนิคการถ่ายทำดังกล่าว โดยจับภาพบนใบหน้าอันเรียบเฉย แววตาไร้ซึ่งอารมณ์ และความรู้สึกนึกคิด ของ Saul Ausländer นักโทษชายชาวยิวที่ทำหน้าที่เป็น  Sonderkommando[1]  แรงงานผู้อยู่ในกระบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซีในการ เผาศพ บดกระดูก โปรยขี้เถ้า ของเพื่อนร่วมชะตากรรมของเขาเอง โดยภาพยนตร์นำเสนอชีวิตของเขาที่อาศัยอยู่ในค่าย Auschwitz และเพื่อน Sonderkommando คนอื่นๆที่ต่างรับหน้าที่ดังกล่าวเพียงเพื่อผัดผ่อนความตายออกไป จนกระทั่งได้ Saul พบกับลูกชาย และเสี่ยงชีวิตตนเองในการประกอบพิธีฝังศพตามหลักศาสนาอย่างไม่หวาดกลัวโดยเขาพยายามตามหาแรบไบ[2]  จากที่ต่างๆในค่ายเพื่อจะให้เขาสวดมนต์ประกอบพิธีฝังศพของลูกชาย กระทั่งเกือบทำให้แผนการหลบหนีออกจากค่ายเกือบล้มเหลว  การกระทำที่เขาใส่ใจชีวิตคนตายมากกว่าคนเป็นนั้น  ดูไร้แก่นสารในสายตาของเพื่อน Sonderkommando คนอื่นๆกระทั่งตัวผู้เขียนเอง โดยบทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อตีความและทำความเข้าใจการกระทำดังกล่าวของตัวละคร Saul  ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้จุดชนวนตีความสัญญะอื่นๆที่วางเรียงรายอยู่ในเรื่องผ่านแนวคิดของ  นักปรัชญาชาวอิตาเลียน Giorgio Agamben (1942- ) ว่าด้วยเรื่อง “ชีวิตอันเปลือยเปล่า” (bare life) และการมีอำนาจในการใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรม (nomos) ขององค์อธิปัตย์ (sovereignty) ในสภาวะฉุกเฉิน (state of exception) บนพื้นที่ที่อำนาจปกครองขององค์อธิปัตย์ปรากฏได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือที่ Agamben เรียกว่า ค่าย (Camp)[3]   โดยในภาพยนตร์เรื่อง Son of Saul นั้นนักโทษชาวยิวและแรงงาน Sonderkommanda เป็นตัวแทนของชีวิตที่เปลือยเปล่าได้อย่างชัดเจนที่ถูกกักให้อยู่ในบริเวณค่าย Auchwitz ซึ่งเป็น ค่าย ในความหมายของ Agamben อย่างตรงไปตรงมา โดยมีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler 1889-1945) เป็นองค์อธิปัตย์ใช้อำนาจออกคำสั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนับล้านโดยชอบธรรม

Agamben พยายามทำความความเข้าใจชีวิตของมนุษย์ในสภาวะสมัยใหม่ที่ต้องสัมพันธ์กับความเป็นการเมืองและอำนาจอธิปัตย์อย่างแยกไม่ออก เพื่อหาคำอธิบายมาโต้ตอบกับการใช้อำนาจที่เต็มไปด้วยความรุนแรงของรัฐสมัยใหม่ โดยศึกษาการทำงานของอำนาจอธิปัตย์ที่มีต่อชีวิตมนุษย์[4]   โดยเมื่อมองภาพยนตร์ผ่านแว่นของ Agamben ทำให้ผู้เขียนสามารถทำความเข้าใจ สัญญะต่างๆในภาพยนตร์ได้มากขึ้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความโดดเด่นอย่างยิ่งในการเชื้อเชิญผู้ชมให้ตีความและ สร้างความหมาย ความเข้าใจด้วยตนเอง ทั้งในด้าน เทคนิคการถ่ายทำ  และตัวบทภาพยนตร์  ด้วยการถ่ายมุมกล้องระยะใกล้บนตัวละครเอกเป็นส่วนใหญ่ตลอดทั้งเรื่อง ส่งผลให้ภาพพื้นหลังออกนอกโฟกัสไม่สามารถเห็นเรื่องราวของภาพเหตุการณ์ และ สถานที่ได้ชัดเจน อีกทั้งการตัดให้ภาพยนตร์มีสัดส่วนแคบเพียง 35 มม. ซึ่งผู้กำกับให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่ต้องการทำให้ผู้ชมตื่นกลัวในสิ่งที่ทำความเข้าใจไม่ได้” ("did not want the viewer to be in the horror, because it is not understandable.")[5]     อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาพพื้นหลังที่พร่าเลือน และเต็มไปด้วยบรรยากาศที่อื้ออึงของเสียงกรีดร้อง เสียงตะโกนออกคำสั่ง เสียงพูดคุยปะปนไปด้วยภาษาต่างๆทั้ง เยอรมัน  ฮังกาเรียน และเสียงเครื่องจักร ก็ไม่อาจอำพรางความน่าสะพรึงกลัวในค่าย Auschwitz นี้ได้ หนำซ้ำยังปลุกเร้าสัมผัสอื่นๆ ของผู้ชมให้หวาดหวั่นได้ยิ่งกว่าเดิมแนวคิดเรื่อง ชีวิตอันเปลือยเปล่า ของ Agamben นั้น คือ ผลผลิตแห่งอำนาจชีวญาณ (biopower) ที่หยิบยืมมาจากแนวคิดของ Michel Foucault (1926-1984) ที่รัฐสมัยใหม่เข้ามา ยุ่มย่ามในชีวิตประจำวันและชีวิตส่วนตัวของมนุษย์ตั้งแต่เกิดกระทั่งตาย ทำให้การขีดเส้นแบ่งระหว่าง ชีวิตตามธรรมชาติ ชีวิตทางการเมือง  พื้นที่ส่วนตัว พื้นที่สาธารณะ เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง หรือที่ Agamben เรียกว่า Zone of indistinction[6]   ส่งผลให้ชีวิตของมนุษย์ตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐสมัยใหม่ที่ควบคุมผ่านอำนาจขององค์อธิปัตย์   กลายเป็นชีวิตอันเปลือยเปล่าที่ไม่สามารถกำหนดการอยู่หรือการตายได้ โดยชีวิตที่เปลือยเปล่านั้นถูกเบียดขับ (excluded) ออกไปจากปริมณฑลทางการเมืองปกติ ไปสู่ปริมณฑลของสภาวะฉุกเฉิน เพื่อจะสามารถดึงเข้ามาควบคุมหรือกระทั่งเข่นฆ่าได้ภายในปริมณฑลดังกล่าว (to be included to be killed)[7]   ซึ่งอำนาจขององค์อธิปัตย์จะไม่มีทางตกอยู่ในสถานะผู้กระทำความผิดในฐานล่วงละเมิดชีวิตผู้อื่น (unmistakability)  เพราะองค์อธิปัตย์ได้ถอดความเป็นพลเมือง (citizen) ที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชีวิตจากกฎหมายของมนุษย์ไปจากบุคคลผู้นั้นแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน อันเป็นขอบเขตพื้นที่ที่อำนาจการปกครองขององค์อธิปัตย์แสดงออกได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด หรือ  ค่าย  

ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงสามารถเป็นตัวอย่างแสดงแนวคิดเรื่อง ชีวิตที่เปลือยเปล่า ของ Agamben ได้อย่างตรงไปตรงมา ตั้งแต่การที่ชาวยิวถูกยกเลิก เพิกถอน ความเป็นพลเมือง สู่ชีวิตที่ปราศจากแก่นสาร (form- of- life) ไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ (muse) และถูกกีดกันให้ใช้สติปัญญาอย่างเต็มที่ (nonintelligibility)[8] ในค่ายกักกัน Auschwitz ทำได้เพียงรอคอยความตาย  ดังจะเห็นได้ตั้งแต่ต้นเรื่องเมื่อชาวยิวถูกต้อนขึ้นบนรถบรรทุกอย่างว่าง่าย ก่อนจะถูกนำตัวไปยังค่ายกักกันและถูกต้อนเข้าไปในห้องรมแก็สพิษ โดยหลอกให้เชื่อว่าจะต้องอาบน้ำก่อน เพื่อจะได้จิบชา หรือคัดตัวผู้ที่มีอาชีพตามต้องการไปยังหน่วยต่างๆ ในหนัง ทหารนาซีจะเรียกศพของคนเหล่านี้ว่า “ซาก”  หรือ “pieces”  นอกจากนี้เสียงหวีดร้องของผู้คน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่  จะดังขึ้นพียงช่วงเวลาแห่งความตายในห้องรมแก็สพิษ ทุบตีประตูอย่างอึกทึกครึกโครม หากกลับเงียบกริบ ปราศจากการต่อรอง การดื้อแพ่งใดใดในบริเวณนอกห้องรมแก๊ส ที่มีเพียงเสียงโหวกเหวกโวยวายของทหารนาซี  แรงงาน  Sonderkommando และเครื่องจักรต่างๆ แสดงให้เห็นถึงชีวิตอันเปลือยเปล่าในพื้นที่ camp อันเป็นขอบเขตการปกครองของอำนาจอธิปัตย์อย่างถึงที่สุด ดังที่ Agamben กล่าวไว้ว่า “ค่าย คือ สถานที่ที่ความไร้มนุษยธรรมอย่างถึงที่สุดได้บังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้” (The Camp is the place in which the most absolute condition inhuman ever to appear on Earth was realized…”)

อย่างไรก็ตาม  Sonderkommando ในภาพยนตร์ ต่างออกไปจากชาวยิวที่ถูกสังหารหมู่ พวกเขาล้วนถูกยกเลิกและเพิกถอน ความเป็นพลเมืองสู่ ชีวิตอันเปลือยเปล่าครั้งแล้วครั้งเล่า นับตั้งแต่การเพิกถอนการปกป้องคุ้มครองชีวิตในฐานะพลเมืองเยอรมัน สู่ชีวิตเปลือยเปล่าในค่ายกักกัน ก่อนจะสวมใส่ “อำนาจที่ให้ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงขององค์อธิปัตย์ (nomos)”  แก่ Sonderkommando ในการฆ่าชาวยิว โดยมอบอภิสิทธิ์ (privilege) หลายประการที่นำไปสู่การปกป้องชีวิตโดยอำนาจการเมืองของทหารนาซี ทั้งที่พักส่วนตัวที่กั้นไว้ด้วยผ้าแบ่งออกเป็นห้องๆ มีห้องน้ำให้ชำระล้างทำความสะอาด มีอาหารที่พอประทังชีวิตไปได้ มีบุหรี่ให้สูบและการผัดผ่อนความตาย  แต่ในท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็ไม่อาจรอดพ้นจากการถูกถอดถอนความเป็นชีวิตในความคุ้มครองได้ เมื่อจำนวน Sonderkommando ที่หมดประโยชน์จะถูกกำจัด โดยในภาพยนตร์หัวหน้าของ Sonderkommando จะต้องเขียนรายชื่อผู้ที่สมควรกำจัดทิ้งไป 70 รายชื่อ ตัวละครเอก Saul Ausländer ตระหนักรู้ถึงความจริงข้อนี้ดีเมื่อเขาเถียงโต้กลับเพื่อน Sonderkommando คนหนึ่งที่ตะโกนด้วยโทสะหลังจากที่ Saul พยายามจะตามหาแรบไบเพื่อมาทำพิธีศพให้กับลูกชาย ว่า “เราตายไปแล้ว”

นอกจากนี้ ตัวละครเด็กชายในภาพยนตร์ทั้งสองคน และ ตัวละครแรบไบ เป็นตัวละครที่มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง ตัวละครเด็กชายคนแรกเป็นตัวละครที่ Saul อ้างว่าเป็นลูกชายของตน  หลังจากที่เขาได้พบเด็กชายดังกล่าวถูกอุ้มออกมาโดย Sonderkommando ที่พบว่ารอดชีวิตจากห้องรมแก็สพิษ แต่ทว่าหลังจากนั้นแพทย์ทหารนาซีกลับฆ่าเด็กชายด้วยการเอามือปิดปากจนขาดอากาศหายใจ ก่อนออกคำสั่งให้นำตัวเด็กไปชันสูตรศพหาสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเด็กทนสภาวะแก็สพิษได้อย่างไรซึ่ง Saul อาสาอุ้มร่างเด็กไปยังห้องผ่าศพเอง ก่อนจะขอร้องให้แพทย์ละเว้นร่างกายของเด็กชายคนนี้ โดยอ้างว่าเป็นลูกชายของเขาแต่ทว่าในลำดับถัดมาภาพยนตร์ฉายให้เห็นว่า เพื่อน Sonderkommando คนสนิทของ Saul กลับทักท้วงว่า เขามีลูกชายด้วยหรือ?  ในที่นี้การชันสูตรศพของเด็กชายที่รอดชีวิตจากห้องรมแก๊สพิษแสดงให้เห็นถึงการแพทย์สมัยใหม่ที่ทำให้ร่างกายมนุษย์กลายเป็น วัตถุแห่งความรู้เชิงปฏิฐาน เป็นเงื่อนไขวำคัญในการสร้าง “ศาสตร์ความเป็นมนุษย์” (the science of man) โดยความรู้ดังกล่าวสัมพันธ์กับการใช้อำนาจองค์อธิปัตย์เข้ามาควบคุมสังคม[9] ส่วนตัวละครแรบไบที่ Saul พยายามตามหานในค่ายเพื่อทำพิธีฝังศพเด็กชายให้ถูกต้องตามหลักศาสนานั้นกลับช่วยเหลือเขาไม่ได้แม้แต่น้อย  แรบไบคนแรกที่ Saul พบถูกทหารนาซีฆ่าตายหลังจากที่ Saul เข้าไปพูดคุยขอร้องเขาจนเกิดเหตุวุ่นวายเมื่อเขาพยายามเดินลงน้ำเพื่อฆ่าตัวตาย ส่วนแรบไบคนที่สองในตอนท้ายของเรื่องกลับเป็นแรบไบตัวปลอมที่ไม่สามารถ   สวดมนต์ตามหลักศาสนาได้  เขาหนีหายไปเมื่อ Saul บังคับให้สวดฝังศพเด็กชายขณะที่กำลังถูกทหารนาซีไล่ล่า

ตอนท้ายของภาพยนตร์ Sonderkommando ได้ต่อสู้ปะทะกับทหารนาซีเพื่อหนีออกไปจากค่ายกักกันเมื่อรู้ตัวว่าจะถูกฆ่าในวันนั้น ในขณะที่ Sonderkommando คนอื่นๆพยายามหนีตาย แต่ Saul กับพะว้าพะวงอยู่กับการพยายามฝังศพลูกชาย เขาแบกร่างเด็กไปทุกที่กระทั่งในแม่น้ำ แต่สุดท้ายเขาก็เกือบจมน้ำเนื่องจากพยายามแบกศพเด็กชาย โดยเพื่อน Sonderkommando ช่วยชีวิต Saul ไว้แต่ไม่สามารถคว้าศพเด็กชายไว้ได้ หลังจากรอดชีวิตจากการจมน้ำ Saul นั้นไม่มีท่าทีพยายามเอาชีวิตรอดแม้แต่น้อย มีเพียงเพื่อนที่ลากเขาให้เดินต่อไปอย่างทุลักทุเล  ต่อมาจนกลุ่ม Sonderkommando ได้เจอกระท่อมและเข้าไปหลบพักอยู่ในนั้น ทันใดนั้นเองภาพยนตร์ก็โยนตัวละครเด็กชายคนที่สองเข้ามาในเรื่องอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ราวกับเป็นภาพยนตร์แนวสัจจะนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) เด็กชายคนที่สองนั้นวิ่งเข้ามาพบกระท่อมที่ซ่อนตัวของพวก Sonderkommando เขาสบตากับ Saul อยู่นาน ซึ่ง Saul ส่งรอยยิ้มเดียวในภาพยนตร์แก่เด็กชาย ก่อนที่เด็กชายที่มีเพียงแต่ Saul  เห็นจะวิ่งออกไปผ่านกลุ่มทหารนาซี เสียงปืนรัวสนั่นหวั่นไหวไปทั่วป่า กล้อง เมื่อทหารนาซีพบที่ซ่อนตัวของกลุ่ม Sonderkommando  และ Saul 

ตัวละครเด็กชายทั้งสองคนนั้นเปรียบเสมือนความหวังของ bare life ในสภาวะที่สังคมถูกอำนาจขององค์อธิปัตย์ครอบงำไปทุกตารางนิ้ว  เด็กชายคนแรกในทัศนะของผู้เขียนไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดใดกับตัวละคร Saul เลย หากแต่คือ bare life ที่รอดชีวิตจากห้องรมแก๊ส คือ bare life ที่แข็งแกร่ง ท้าทายอำนาจชี้เป็นชี้ตายขององค์อธิปัตย์  เป็นความหวังของมนุษยชาติที่ Saul พยายามรักษาร่างกายไร้วิญญาณของเด็กชายไว้ หวังจะทำพิธีฝังอย่างถูกต้องตามความรู้สึกของเขา ต่อรองกับอำนาจอธิปัตย์ด้วยการออกแบบชีวิตของตนเองตามที่เชื่อ มิใช่การโยนลงเตาเผาเป็นเถ้าถ่าน  ส่วนตัวละคร แรบไบนั้น เป็นสัญญะสื่อถึง ศาสนา หรือ ผู้นำจิตวิญญาณในสังคมที่ไม่สามารถช่วยเหลือ bare life ไปได้ตลอดรอดฝั่ง เมื่อศาสนาเองก็สามารถถูกทำให้เป็น bare life  ในสภาวะสังคมที่กลายเป็น camp ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์แรบไบคนแรก ถูกทหารนาซียิงเสียชีวิต  ส่วน แรบไบตัวปลอมคนที่สองก็สะท้อนให้เห็นถึงการปลอมประโลมใจของศาสนาชั่วครู่ชั่วยาม แต่เตลิดหนีไปเมื่อถูกอำนาจองค์อธิปัตย์ไล่ล่า

ส่วนตัวละครเด็กชายคนอีกคนที่ปรากฏในตอนท้ายของเรื่องเป็นอุปมาที่ตรงไปตรงมาของ ตัวผู้ชมภาพยนตร์ หรือกระทั่งเราในปัจจุบัน ในฐานะที่เราและเด็กชายคือ  ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี ได้พบเจอและอยู่อาศัยในสังคมที่ยกสิทธิ์ในชีวิตของประชาชนให้แก่องค์อธิปัตย์  และ มีโอกาสสบตากับ Saul  ชีวิตอันเปลือยเปล่าก่อนถูกฆ่าตาย  โดยตัวแทนของผู้ครอบครองอำนาจในการใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรมที่เราเองก็สามารถพบเห็นสถานการณ์เช่นนี้ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ประเทศไทยภายใต้กฎหมายมาตรา 44 ซึ่งออกโดยรัฐบาลทหาร  

ภาพตอนจบปรากฏเด็กชายวิ่งหายเข้าป่าไปลับสายตาไป  ทิ้งความคิดปลายเปิดไว้ว่าอย่างน่าประทับใจว่า ทั้งเด็กชาย หรือ เรา จะทำอย่างไรต่อไปในสังคมปัจจุบันที่ไม่อยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างไปจากค่ายกักกันในภาพยนตร์นัก

 

อ้างอิง

 

[1] Sonderkommando หน่วยการทำงานหนึ่งในค่ายกักกัน นาซี  ประกอบไปแรงงานนักโทษในค่าย โดยเฉพาะชายเชื้อสายยิวที่ถูกบังคับให้ช่วยการกำจัดศพจากห้องรมแก๊สพิษ แรงงานเหล่านี้จะได้รับที่พักอาศัย อาหาร บุหรี่ จากทหารเยอรมันเพื่อรักษาสภาพร่างกายให้ทำงานได้ แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถลาออกจากหน้าที่ได้นอกจากฆ่าตัวตาย บ่อยครั้งที่แรงงานเหล่านี้มักจะพบศพของญาติพี่น้องตนเอง ในปี 1943 มีแรงงาน Sonderkommando กว่า400 คนและเมื่ออพยพชาวยิวเชื้อสายฮังกาเรียนเข้ามาในค่ายทำให้มีแรงงาน Sonderkommando เพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 900 คนในปี 1944

[2] คำเรียกอาจารย์สอนศาสนายิว

[3] ดูเพิ่มเติมที่ เก่งกิจ  กิติเรียงลาภ. 2558. ความคิดทางการเมืองของ Giorgio Agamben: ว่าด้วย ชีวิตที่เปลือยเปล่า องค์อธิปัตย์ในสภาวะสมัยใหม่ และการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด. รัฐศาสตร์สาร 28 (3): 90-124

[4] อ้างแล้ว น.93

[5] ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.huffingtonpost.com/karin-badt/cannes-grand-prix-winner_b_7549248.html

[6] อ้างแล้ว น.97

[7] อ้างแล้ว น.99

[8] อ้างแล้ว น.101

[9] แบรี่ สมารท์. 2555. มิแช็ล ฟูโกต์.แปลโดย จามะรี เชียงทอง และสุนทร สุขสราญจิต.กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).น.42

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศุภรดา เฟื่องฟู ผู้เขียนบทความ กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท