Skip to main content
sharethis

กอ.รมน.ภาค 4 สน. ระบุมีสื่อออนไลน์พยายามบิดเบือนเหตุ ร.พ.เจาะไอร้อง ว่าเป็นการสร้างสถานการณ์โดย จนท. ระบุเป้าอ่อนแอ ถูกโจมตีมาอย่างต่อเนื่อง เผยกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีพฤติกรรมสุดโต่ง เผด็จการและก่อการร้าย มุ่งเป้าอ่อนแอ การถอนทหารออกจากเป้าเหล่านั้นจะยิ่งเปิดโอกาสถูกโจมตี

18 มี.ค. 2559 พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า จากกรณีเหตุการณ์กลุ่มโจรได้บุกเข้ายึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง และใช้เป็นสถานที่โจมตีฐานปฏิบัติการ กองร้อยทหารพรานที่ 4816 เหตุเกิดเมื่อ 13 มี.ค. 2559 และภายหลังเหตุการณ์ ทุกภาคส่วนได้ออกมาประณามการกระทำดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่ป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรม ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

อย่างไรก็ตามต่อกรณีเหตุการณ์ดังกล่าว กลับมีบุคคลบางกลุ่มและนักวิชาการบางคน ได้แสดงความคิดเห็นในทางตรงกันข้าม โดยเรียกร้องให้มีการทบทวนการตั้งฐานปฏิบัติการให้ห่างไกลจากสถานที่ที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ เช่น โรงพยาบาล และโรงเรียน เป็นต้นนอกจากนี้ ยังพบว่า มีความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการสร้างสถานการณ์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอเรียนชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจ ดังนี้ 1. สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 12 ปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้มุ่งกระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนผู้บริสุทธ์ ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ดังที่ปรากฎให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเช่น การทำร้ายเจ้าหน้าที่อนามัยเสียชีวิต 2 ราย ในพื้นที่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี การลอบวางระเบิดลานจอดรถยนต์ภายในโรงพยาบาลโคกโพธิ์ โรงพยาบาลมายอ จังหวัดปัตตานี การลอบวางเพลิงโรงเรียน และสถานีอนามัย พร้อมกันหลายแห่ง การทำร้ายบุคลากรทางการศึกษา พระ และพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอย่างกว้างขวาง

2. เจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน้าที่หลักในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จากการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดไม่ใช่มาทำสงคราม สำหรับการตั้งฐานปฏิบัติการได้คำนึงถึงความเหมาะสมและปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์กรต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยพิจารณาที่สำคัญคือ จะต้องสามารถควบคุมพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน สถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจได้ เพราะเป็นเป้าหมายหลักในการโจมตีของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งมีพฤติกรรมสุดโต่ง เผด็จการและก่อการร้าย ดังนั้นการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการถอนกำลังทหารออกนอกพื้นที่ หรือให้ตั้งฐานปฏิบัติการห่างไกลจากเป้าหมายอ่อนแอ จะเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงสร้างสถานการณ์ต่อเป้าหมายดังกล่าวได้ง่ายยิ่งขึ้น

รวมทั้ง 3. สำหรับอาวุธปืนกลเบา เอ็ม 60 ที่ใช้ในการก่อเหตุ คนร้ายได้ปล้นไปจากกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อ 4 ม.ค. 2547 จำนวน 2 กระบอก และปล้นแย่งชิงไปจากเจ้าหน้าที่เมื่อ 14 ม.ค. 2551 จำนวน1 กระบอก โดยในห้วงที่ผ่านมากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ใช้ก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ดังนั้นการเคลื่อนไหวหรือแสดงออกทางความคิด ถึงแม้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงที่ไม่มีเจตนาบิดเบือน เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงควรเคลื่อนไหวหรือเรียกร้องให้กลุ่มขบวนการยุติการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ยุติการปลุกระดมบ่มเพาะ ยุติการบิดเบือนข้อเท็จจริง ให้เกิดความหวาดระแวงและความเกลียดชัง เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสงสัยว่าเป็นการเคลื่อนไหวด้วยความหวังดีหรือมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงซึ่งเป็นการทำลายบรรยากาศการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลและหนุนเสริมกระบวนการพูดคุย เพื่อสันติสุขที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net