Skip to main content
sharethis

มิวเซียมสยามเปิดตัวนิทรรศการเพื่อความเข้าใจชาวพม่าในมุมมองต่างๆ ทั้งวิถีชีวิตและวิธีคิดต่อการอาศัยอยู่ในประเทศไทย หวังลบล้างมายาคติเก่าๆ ระหว่างไทย – พม่า

ที่มาของภาพประกอบ: มิวเซียมสยาม

15 มี.ค. 2559 มิวเซียมสยามเปิดนิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” (Myanmar Up-Close) เพื่อสานสัมพันธ์และสลายมายาคติเก่าๆ เกี่ยวกับไทย-พม่า ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมภายใต้แนวความคิด Guesthouse โดยมองชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในไทยว่าเป็นแขกบ้านแขกเมืองที่เราเชื้อเชิญเข้ามา

ทวีศัก วรฤทธิ์เรืองอุไร ภัณฑารักษ์มิวเซียมสยาม กล่าวถึงความเป็นมาในการจัดนิทรรศการว่า เนื่องด้วยมีชาวพม่าอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เราเริ่มมีการปรับตัวในด้านของการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นภาษาพม่าในสถานที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวก จึงเริ่มมองหาช่องทางในการทำความเข้าใจในชาวพม่าในมุมมองใหม่ๆ

ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา กล่าวว่า เดิมทีแล้วประเทศไทยและประเทศพม่ามีความใกล้ชิดกันมานาน มีการใช้หลายสิ่งหลายอย่างร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมหรือสิ่งที่ใกล้ตัวที่คนไทยคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กๆ เช่นเพลงช้าง เดิมแล้วเป็นเพลงพื้นบ้านหรือที่เรียกว่าเพลงออก ผู้แต่งได้นำทำนองเบื้องต้นซึ่งรับกลิ่นอายมาจากพม่ามาเรียบเรียงจนกลายเป็นเพลง 'พม่าเขว' และหลังจากนั้นคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ได้ใช้ทำนองเพลงพม่าเขวแต่งเป็นเพลง 'ช้าง' เพื่อให้นักเรียนร้องตามโครงการวิทยุโรงเรียนจนกลายเป็นเพลงที่ทุกคนรู้จักจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเพลงไม่ว่าจะเป็นเพลง 'เดือนเพ็ญ' ที่มาจากทำนองเพลง 'พม่าเห่' หรือแม้แต่เพลงเทียบเวลาก่อนเคารพธงชาติที่รู้จักกันในชื่อเพลง พม่าประเทศ ซึ่งภายหลังทำนองเพลงพม่าประเทศกลายมาเป็นที่รู้จักของกลุ่มวัยรุ่นชาวไทยอีกครั้งเมื่อนักแสดงตลกอย่าง เท่ง เถิดเทิง นำทำนองเพลงดังกล่าวมาใส่เนื้อร้องจนกลายเป็นเพลง 'อ๊อดแอด

มุมมองชาวพม่าที่มองไทยมีความปรับเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากสื่อภาพยนตร์ และละคร ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีมุมมองที่เปลี่ยนไปมากขึ้น ส่วนหนึ่งของละครขุนศึกก็เล่าถึงทหารพม่าโหดเหี้ยมแต่ก็ยังได้รับความสนใจจากชาวพม่า สื่อจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ของพม่ามองแยกส่วนระหว่างประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องที่ผ่านมาและสถานการณ์ปัจจุบัน

ตูซาร์ นวย อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมา 26 ปี กล่าวว่าในช่วงแรกก็ต้องพบกับปฏิกริยาจากคนไทยเมื่อรู้ว่าตนเป็นคนพม่า หรือมุมมองที่ชาวไทยบางคนมองชาวพม่าในไทยว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ตัวอย่างที่เลวร้ายที่สุดที่เธอกล่าวให้ฟังนั้นเป็นเหตุการณ์จากน้องสาวของเธอ ในขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาในประเทศไทย วันแรกที่น้องสาวกลับมาจากโรงเรียนและร้องไห้ เนื่องจากถูกครูที่โรงเรียนทำโทษ

“คุณครูให้น้องสาวชั้นประถมศึกษายืนอยู่บนเก้าอี้ทั้งวันโดยไม่บอกเหตุผลที่ทำโทษ เพียงแต่ชี้มาแล้วบอกว่าคนนี้เป็นคนพม่า ครูคนนั้นบอกว่าพม่าคือศัตรูของคนไทย เขาไม่รับสอนเด็กคนนี้”

ปัญหาที่มีระหว่างคนไทยและพม่าในอดีตนั้นคือการที่คนไทยพยายามเอาอดีตเข้ามาอยู่ในปัจจุบัน เนื่องด้วยความแตกต่างในการศึกษาและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในบทเรียน ซึ่งในพม่านั้นจะไม่ลงรายละเอียดมากนัก เพียงแต่บอกเล่าในสถานการณ์และปีที่เกิดเหตุการณ์เท่านั้น แตกต่างจากบทเรียนประวัติศาสตร์ในมุมมองของไทยซึ่งมีการลงรายละเอียดในด้านการบรรยาย ความแยกต่างในด้านการใช้คำอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ระหว่างไทย-พม่า โดยมีอารมณ์เข้าผสม ตูซาร์ นวย กล่าว

ทั้งหมดนี้กลายที่มาของนิทรรศการพม่าระยะประชิด โดยนิทรรศการจะบอกเล่าการใช้ชีวิตในมุมมองของชาวพม่าในประเทศไทย ทั้งที่มา-ที่เป็นอยู่-และที่ไป เหตุผลของการเริ่มออกเดินทาง วีธีการอยู่อาศัย และประสบการณ์ต่างๆ เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้มากขึ้น โดยนิทรรศการพม่าระยะประชิด เปิดให้เข้าชมทุกวันที่มิวเซียมสยาม (ท่าเตียม) ระหว่างเวลา 10.00 – 18.00 น. ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่ 15 มีนาคม ถึง 31 กรกฎาคม 2559 เข้าชมฟรี รายละเอียดที่ http://www.museumsiam.org/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net