อธิคม คุณาวุฒิ: ศาลปกครองกับการวินิจฉัยการใช้อำนาจตาม ม.44 แก้ ก.ม.สิ่งแวดล้อม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เกร็ดเล็กๆ ระหว่างรอดูใจพี่ๆ เอ็นจีโอสายสิ่งแวดล้อมว่าจะขึงขังแค่ไหนกับคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559

EIA เป็นเครื่องมือกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ถูกเพรียกหามาตั้งแต่ผมเริ่มทำข่าวใหม่ๆ

ในฐานะที่ว่ามันน่าจะเป็นเครื่องมือใช้ต่อสู้ต่อรองที่มีประสิทธิภาพ ในการคัดง้างอภิมหาโครงการที่ส่งกระทบถึงสิ่งแวดล้อมและคน

เราจะเข้าใจเรื่องนี้ง่ายขึ้น ต้องย้อนกลับไปดูประวัติการต่อสู้คัดค้านโครงการใหญ่ในอดีตไม่ว่าจะเป็นเขื่อนน้ำโจน แก่งกรุง ไล่เรื่อยมาจนถึงกรณีคลาสสิกอย่างเขื่อนปากมูล

ยุคนั้นยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่สามารถเอามาอ้างอิงได้ เวลาจะต่อสู้ ต่อรอง หรือคัดค้านโครงการใหญ่ๆ นอกจากอาศัยฝีปากนักอนุรักษ์ อาศัยข้อมูลนักวิชาการแล้ว สูตรสำเร็จอีกอย่างคือเอาชาวบ้านออกมาชน

ผมอยู่ในบรรยากาศดังกล่าวกรณีเขื่อนปากมูล ตั้งแต่เป็นนักศึกษาออกค่าย จนกระทั่งเริ่มทำข่าว

หมายถึงตั้งแต่ยุคที่ชาวบ้านปากมูลแบ่งข้างตีกัน ปาก้อนหินใส่หลังคา ยิงหนังสติ๊กใส่ฝาบ้าน ระหว่างฝ่ายคัดค้านกับฝ่ายสนับสนุนเขื่อน ลูกเด็กเล็กแดงโดนลูกหลงหัวร้างข้างแตก นักศึกษาผู้หญิงที่อยู่ในเหตุการณ์ถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความคับแค้นเดือดดาล

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านเดียวกัน

พอคัดค้านแพ้ เขื่อนสร้างเสร็จ ชาวบ้านทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายที่เคยสนับสนุนเขื่อนแต่ละหมู่บ้าน ก็ต้องมานอนกองรวมกันสร้างเป็นหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ซึ่งก็คือนิคมเพิงหมาแหงนเพื่อประท้วงโครงการรัฐ

ใครเคยไปที่นั่นแล้วรู้สึกเฉยๆ ต้องถือว่าเลือดเย็นมาก

EIA จึงเป็นนวัตกรรมทางกฎหมายที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันผลักดัน เพื่อสร้างหลักการรูปธรรม จนกระทั่งถูกบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535

แนวคิดและนวัตกรรมทางกฎหมายนี้ เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับความพยายามผลักดันให้เกิดศาลปกครอง ซึ่งทำหน้าที่พิจาณาคดีข้อพิพาทระหว่าง รัฐ/คำสั่งรัฐ กับประชาชน

เพราะฉะนั้น โดยหลักการของมันจึงไม่ใช่แค่การหาตัวชี้วัดทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม แต่มันถูกคาดหวังให้เป็นเครื่องมือซับแรงปะทะ ลดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับประขาชน

พูดง่ายๆ มันน่าจะช่วยลดโอกาสที่คนเฒ่าคนแก่ถูกกระบองหน่วยปราบจลาจลตีหัว ถูกตำรวจปล่อยหมามากัด หรืออะไรก็ตามที่ป่าเถื่อนกว่านั้น

คำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 คือรูปธรรมล่าสุดของการทุบทำลายหลักการที่ผ่านการต่อสู้มายาวนาน หลังจากที่ คสช.ทุบทิ้งหลักการสำคัญทางการเมืองและตรรกะมาจนเรียบวุธหมดทั้งประเทศแล้ว

การใช้อำนาจ ม.44 ออกคำสั่งนี้ จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวสำคัญอย่างน้อยสองประการ

หนึ่ง เอ็นจีโอสายสิ่งแวดล้อมที่เคยเนียนกับรัฐประหาร จะขยับตัวได้สมบทบาทสมราคาแค่ไหน - ซึ่งอันนี้ก็อย่าไปคาดหวังมาก

สอง มันจะเป็นที่มาของการ 'จุดประเด็น' ให้ศาลปกครองวินิจฉัยการใช้อำนาจตาม ม.44 ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่เรื่องอื่นๆ อย่างมีพลังได้อย่างไร

หมายเหตุ; เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟซบุ๊ก athikhom.khunawut

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท