Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะทำประชามติพร้อมกัน 2 ฉบับ นั่นคือฉบับของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มาในรูป “คำถาม”

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันพฤหัสบดี ได้ผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึงมีประเด็นสำคัญน่าจับตาคือ มาตราสี่ วรรคเจ็ด

“การจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ให้ออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับ โดยต้องกระทำในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ในการนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติเสนอประเด็นอื่นใดไม่เกินหนึ่งประเด็นที่สมควรให้คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบไปในคราวเดียวกันด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเสนอภายใน 10 วันนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติรับฟังความคิดเห็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศประกอบการพิจารณาด้วย”

เมื่ออ่านประกอบมาตราสี่ วรรคสิบสอง

“ให้นำมาตรา 39 มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม และในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอประเด็นเพิ่มเติมให้นำมาตรา 37/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากระหว่างเสียงเห็นชอบกับไม่เห็นชอบเป็นเกณฑ์ และไม่ต้องให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ”

มาตรา 37/1 มาจากการแก้ไขครั้งที่แล้ว ที่ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอประเด็นออกเสียงประชามติเพิ่มเติมได้ (โดยครั้งนั้นต้องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน) ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบกับประเด็นดังกล่าว แต่ไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็บังคับให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับประเด็นที่ผ่านประชามติ แล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

"ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติมตามมาตรา 37 วรรคสี่ และเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับประเด็นดังกล่าว และมีผลให้บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ แล้วส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าได้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบทบัญญัติใดยังไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติและได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญคืนให้แก่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อไป ตามมาตรา 37 วรรคเจ็ด โดยให้นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมสมบูรณ์แล้ว"

นี่แปลว่าอะไร หากนำมาเปรียบเทียบกับประเด็นที่โต้แย้งกันขณะนี้ ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้ กรธ.เพิ่มบทเฉพาะกาล มีวุฒิสมาชิกจากการสรรหา 200 คนเป็นเวลา 5 ปี (โดยไม่ห้าม คสช.) แต่ กรธ.ยังสงวนท่าทีไม่ตอบรับ

สมมติ กรธ.ชุดมีชัย ฤชุพันธ์ ยืนกรานไม่เพิ่มบทเฉพาะกาล ส.ว.สรรหา หลังส่งร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 29 มีนาคม ภายใน 10 วันหลังจากนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (โดยฟังความเห็นประกอบจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป) ก็สามารถเสนอประเด็นออกเสียงประชามติควบคู่ไปกับร่างรัฐธรรมนูญ “เห็นควรให้มีวุฒิสภาจากการสรรหา 200 คนในบทเฉพาะกาลเป็นเวลา 5 ปีหรือไม่”

หากร่างรัฐธรรมนูญผานประชามติ หากประเด็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านประชามติ พร้อมๆ กัน ก็จะมีผลบังคับให้ กรธ.ชุดมีชัยต้องเพิ่มบทเฉพาะกาลให้มี ส.ว.สรรหา 200 คน 5 ปี แล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจความเรียบร้อย (ห้ามบิดพลิ้ว ห้ามหมกเม็ด ฯลฯ) ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

นี่จะเป็นประชามติที่ประหลาดพิลึกไม่มีใครเคยพบเห็นมาก่อน เพราะเท่ากับประชาชนต้องลงประชามติรับ (ไม่รับ) ร่างรัฐธรรมนูญและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

ก็ไม่ทราบหรอกนะครับว่า กรธ.ครม.คสช.สนช.สปท.ขัดแย้งอะไรกัน (เห็นแต่หน้า 3 ไทยรัฐพูดถึงทหาร-อำมาตย์) แต่ที่เห็นชัดๆ คือร่างรัฐธรรมนูญมีชัยต่างจากร่างบวรศักดิ์ เพราะมุ่งให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ขณะที่ร่างบวรศักดิ์มี คปป.ซึ่งให้ที่นั่ง ผบ.เหล่าทัพ มีวุฒิสภาจากสรรหาซึ่งให้โควตาอดีต ผบ.เหลาทัพ

แต่สมมติ กรธ.ยืนยันร่างเดิม ไม่มี ส.ว.สรรหา แล้ว สนช.เติมประเด็น สว.สรรหา 5 ปี ประชามติครั้งนี้ก็จะเป็นประชามติ 3 แพร่ง หรือ 3 เส้า หนึ่งคือกลุ่มคนที่ “ไม่รับ” สองคือกลุ่มคนที่ “รับ” แต่ไม่ต้องการ สว.สรรหา สามคือกลุ่มคนที่ต้องการ สว.สรรหา ซึ่งต้องผลักทั้งสองประเด็น ให้ร่างผ่าน ให้ สว.สรรหาผ่าน เพราะถ้าร่างตกก็ตายคู่เป็นแฝดอินจัน ดูเหมือนจะมั่นใจในความเข้มแข็งเหลือเกิน

อ้อ ทั้งนี้หากไม่เป็นไปตามสมมติ หาก กรธ.ยอมให้มีบทเฉพาะกาล สว.สรรหา สนช.ก็สามารถเสนอประเด็นเพิ่มอยู่ดี (สมมติเช่น ให้ สว.สรรหาร่วมเลือกนายกฯ ไปเลยมั้ย)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net