ชาวประมงดอนหอยหลอดค้านขุดดอนทำท่าเรือ-คลังแก๊ส พบรองผบ.สส.เป็นปธ.เปิดป้ายก่อสร้าง

ชาวประมงคลองน้อย-ดอนหอยหลอด แม่กลอง ร้องเจ้าท่า-ผู้ว่าฯ ค้านขุดดอนทำท่าเรือ-คลังแก๊ส นักวิจัย หวั่นทำลายแหล่งสัตว์น้ำและรายได้ของคนในชุมชน พร้อมเปิดลำดับเหตุการณ์ ด้านเว็บไซต์บริษัทเผย รอง ผบ.สส. เป็น ปธ.เปิดป้ายก่อสร้าง

10 มี.ค.2559 รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. ชาวประมงคลองน้อยและในพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม ประมาณ 50 คน รวมตัวที่บริเวณเจ้าท่าจังหวัด เพื่อยื่นหนังสือขอให้ระงับการขุดร่องน้ำใหม่ที่ดอนหอยหลอด ระงับการก่อสร้างท่าเทียบเรือและคลังเก็บแก๊สของบริษัท NS LPG จำกัด  ระงับการก่อสร้างถนนสายใหม่ โดยบริษัทดังกล่าว จากนั้นกลุ่มดังกล่าวได้เดินเท้าเปล่าเพื่อ รวมตัวหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่ออ่านแถลงการณ์และยื่นหนังสือยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ 

ที่มาภาพเฟซบุ๊ก 'Siriwat Kantaros'

สำหรับข้อเรียกร้องของชาวประมงคลองน้อยและในพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม ประกอบด้วย 1. ให้ระงับการก่อสร้างท่าเทียบเรือในพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด ซึ่งกำลังทำลายระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดอย่างรุนแรง ตามมติในเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2559 ที่จัดขึ้นโดย มณฑลทหารบกที่ 16 ในฐานะตัวแทน คสช. ให้ ชะลอการก่อสร้างไว้ก่อนเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ พื้นที่อย่างชัดเจน
 
2. ขอให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสมุทรสงคราม หยุดการดำเนินการขุดร่องน้ำใหม่ และชี้แจง ระเบียบขั้นตอนที่ใช้ในการการอนุญาตขุดร่องน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด ซึ่งอยู่ใน อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ตลอดจนดำเนินการจัดเวทีประชาคมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใน พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด และจัดให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่อ่อนไหว และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โครงการหรือกิจกรรม ที่อาจมีผลกระทบ ในการเปลี่ยนแปลงกระแสไหล และเปลี่ยนการกัดเซาะใหม่ รวมถึง ผลกระทบถึงดอนสามขา ซึ่งเป็นดอนที่สำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดอีกด้วย  และ 3. ขอให้มีการระงับการก่อสร้างถนนสายใหม่ โดยบริษัท NS LPG จำกัด ที่บุกรุกลำน้ำสาธารณะ ที่ชาวบ้านใช้ในการสัญจร ตลอดจนกีดขวางทางน้ำ ตลอดจนตรวจสอบการทำถนนในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ จะต้องมีการศึกษาผลกระทบ สิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนด ประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการ วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
 
นักวิจัย หวั่นทำลายแหล่งสัตว์น้ำและรายได้ของคนในชุมชน
 
นายศิริวัฒน์ คันธารส นักวิจัยและหนึ่งทีมวิจัยร่วมโครงการจัดเก็บข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและวิถีชีวิตประชาชน บริเวณพื้นที่ชุ่มน้้าชายฝั่งทะเล (พื้นที่ชุ่มน้้าดอนหอยหลอด) จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญมาก จากการวิจัยพบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดสูงมาก โดยเฉพาะตัวบริเวณที่กำลังก่อสร้างท่าเทียบเรือกับตรงที่จะขุดดอนหอยหลอดเป็นพื้นที่ที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันและไม่ได้ถูกจับจอง เป็นแหล่งเพราะพันธุ์สัตว์น้ำโดยธรรมชาติที่สำคัญมาก ต่างจากพื้นที่ที่ออกไปในทะเลจะมีการทำคอกหอย แต่พื้นที่ตรงนี้ชาวบ้านจะมาหาหอยแบบเก็บมือหรือใช้เครืองมือเล็กๆ ทำมาหากิน พื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่ที่ถูกคุ้มครอง
 
นายศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า จุดตรงหัวท่าเรือใหม่ที่กำลังสร้างชื่อว่าดอนสามขา และเป็นดอนสาธารณะดอนเดียวในพื้นที่ดอนหอยหลอดที่คนไปใช้ประโยชน์ร่วม เป็นแหล่งเกิดหอยตัวเล็กๆ ก่อนที่มันจะกระจายไปทั่วดอนหอยหลอด การที่หอย และสัตว์น้ำมาเกิดตรงนี้เนื่องจากระบบน้ำ ระบบลม และดินมันเหมาะสม จึงมีความสำคัญและเป็นแหล่งเศรษฐกิจและรายได้หลักของคนในชุมชน การทำลายพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นปัญหา นอกจากตัวคลังเก็บแก๊สที่จะกระทบเรื่องอย่างอื่น แค่พูดเรื่องของดอนหอยหลอดเรื่องเดียวก็ไม่สมควรที่จะมาก่อสร้างเลย
 
นอกจากนี้ นายศิริวัฒน์ ระบุอีกว่า ยังไม่นับเรื่องการขวางทางน้ำ เพราะในพื้นที่บางจะเกร็งซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงมีท่าเรืออยู่ท่าหนึ่ง ซึ่งถูกสร้างคร่อมลำน้ำเดิมของชาวบ้าน ขณะนี้ลำน้ำดังกล่าวตันแล้ว ทำให้ไม่สามารถใช้สัญจรได้ ชาวประมงที่จะขับเรือออกพื้นที่ดังกล่าวต้องอ้อม โดยเฉพาะเรือเล็กที่จะลำบากมากเพราะต้องรอช่วงลมสงบถึงจะขับอ้อมได้ รวมทั้งเคยมีคนไปดำน้ำบริเวณท่าเรือดังกล่าวก็พบว่ามีคราบน้ำมัน ชาวบ้านเรียกว่า "โคลนมันเน่า" เนื่องจากที่มันเป็นท่าเรือเมื่อมีเรือมาจอดก็มีเศษน้ำมัน น้ำล้างเรือ ทำให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ ดังนั้นจึงเกิดความกังวลว่าหากพื้นที่ที่จะสร้างท่าเรือใหม่นี้คราบของเสียที่เกิดจากเรือมันจะกระทบต่อพื้นที่ดอนสามขาและพื้นที่ดอนหอยแครง อีกทั้งตัวเรือที่มาจอดก็จะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งเนื่องจากคลื่นสูงขึ้นอีกด้วย
 
แถลงการณ์ชาวประมงฯ ฉบับเต็ม :
 
ลำดับเหตุการณ์กรณีปัญหาการสร้างคลังก๊าซและสะพานท่าเทียบเรือพาดทับลำคลองน้อย จัดทำโดยกลุ่มดังกล่าว
 

ประมาณปี 2557 บริษัท NS LPG จำกัด ได้ดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างคลังแก๊ส  ประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารสำนักงาน, ถังบรรจุแก๊สขนาดใบละ 1,000 ตัน จำนวน 8 ใบ ท่าเทียบเรือ 1 ท่า และการทำถนนเพื่อขนส่งใน พื้นที่ชายฝั่งทะเลหมู่ 7 ต.แหลมใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ชุมน้ำดอนหอยหลอด ที่ได้ทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ   ลำดับที่ 1099 

-          21 มีนาคม 2558 อบต.แหลมใหญ่จึงได้ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสำนักงาน ฐานวางถังก๊าซ และรางระบายน้ำ (โดยเนื่องจากขณะนั้นผังไม่มีผังเมืองบังคับใช้ในพื้นที่ดังกล่าว)

-          12 มิถุนายน 2558 ได้มีประกาศ กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ. ๒๕๕๘ ในราชกิจจานุเบกษา โดยในพื้นที่ดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ ประเภทอนุรักษ์สภาพแวดล้อม และที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อ (๓) คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ ฯ

-          ต่อมาได้รับใบอนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือจากคณะกรรมการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ โดยมีสำนักงานเจ้าท่าจังหวัดสมุทรสงครามเป็นผู้ออกใบอนุญาตดังกล่าว 

-          10 ธันวาคม 2558 เริ่มมีการปักเสาคอนกรีตที่แนวตลิ่งในพื้นที่ของผู้ประกอบการสร้างคลังก๊าซ เป็นจำนวน 3 ต้น

-          13 ธันวาคม 2558 ได้มีการ ปักเสาคอนกรีต อีกเป็นจำนวน 4 ต้น โดยต้นสุดท้ายที่ปักนั้น ถูกปักลงไปในร่องน้ำของคลองน้อย ทำให้กีดขวางการสัญจรของ ชาวชุมชนคลองน้อยทั้งชุมชน  ในการออกไปประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง (ทั้งชุมชนคลองน้อยประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง)

-          15 ธันวาคม 2558 มีการปักเสาคอนกรีต เพิ่มอีก 4 ต้น ตรงริมร่องน้ำใหญ่ตรงปากคลองน้อย ซึ่ง เส้นเป็นตำแหน่งการวางของตัวท่าเทียบเรือ หลังจากมีการปักเสาคอนกรีต จำนวน 11 ต้นนี้ลงไป พวกเราชาวชุมชนคลองน้อย เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก ต่อแนวสะพานท่าเทียบเรือนั้น ที่พาดขวางคลองน้อย ในลักษณะปิดคลอง ซึ่งจะทำให้การทำมาหากิน ของพวกเราชาวชุมชนคลองน้อย ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม ประกอบกับที่ผ่านมา ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดเลย ที่เข้ามาให้ข้อมูล หรือชี้แจงถึงการจัดสร้างคลังก๊าซและท่าเทียบเรือ แต่วันดีคืนดี ผู้ประกอบการก็เข้ามาก่อสร้างท่าเทียบเรือได้เลย โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับรู้ ถึง การจัดทำโครงการนี้เลย ไม่มีการทำประชาคม ไม่มีการออกเสียงตามสาย ไม่มีการติดป้ายประกาศ ไม่มีการเดินให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับชุมชน 

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงตำแหน่งการปักเสาคอนกรีตในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2558 โดยสะพานพาดทับคลองน้อย
 

จากภาพแผนที่แสดงให้เห็นถึงการก็สร้างสะพานท่าเทียบเรือ(เส้นสีแดง) พาดทับคลองน้อย(เส้นสีฟ้า)

- ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2559 ชาวประมงพื้นบ้านชุมชนคลองน้อย จึงรวมกันลงชื่อร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม เพื่อให้มีการตรวจสอบในเรื่องนี้
 
- 18 มกราคม 2559 ทางศูนย์ดำรงธรรม ถึงได้มีการจัดเวทีประชาคมที่ ศาลาการเปรียญ วัดปากสมุทร ต.แหลมใหญ่ เพื่อให้มีการชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการคลังก๊าซ ต่อประชาชนชาวตำบลแหลมใหญ่ ซึ่งผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อ้างว่ามีการขออนุญาต ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และมีการอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว
 
ผู้ประกอบการ อ้างว่าได้รับการอนุญาตถูกต้องจากกรมธุรกิจพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายล่วงล้ำลำน้ำ(กรรมการชุดนี้ถูกเสนอโดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสมุทรสงคราม และแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม) โดยมีการตรวจสอบกับทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสงครามแล้วว่าการก่อสร้างนี้ไม่ขัดกับกฎหมายใดๆ จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือ
 
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง
 
สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสมุทรสงคราม แจ้งว่าผู้ประกอบการได้ขออนุญาตตามขั้นตอน และทางเจ้าท่าโดยคณะกรรมการนโยบายล่วงล้ำลำน้ำได้พิจารณาแล้วว่าสามารถทำได้ และไม่มีผลกระทบกับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งตามระเบียบการพิจารณาคำร้องนี้ เจ้าท่าอ้างว่าไม่จำเป็นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ แต่เพื่อไม่ให้มีปัญหาทางเจ้าท่าจึงให้ผู้ประกอบการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นโดยให้ บริษัทของมหาวิทยาลัยเกษตรมาจัดกระบวนการ มีการแจกแบบสอบถามและรวบรวมข้อมูล (แต่ชาวบ้านทั้งชุมชนคลองน้อย และทั้งตำบลแหลมใหญ่ยืนยันว่าไม่เคยมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การประชาคม หรือแม้แต่การแจกแบบสอบถามเลยแม้แต่ครั้งเดียว) และหากสะพานท่าเทียบเรือที่สร้างขวางทางสัญจรของชาวบ้าน ก็จะมีการทำช่องลอดให้สูงขึ้นโดยมีความกว้างของช่องรอด 10 เมตร หากชาวบ้านยังไม่พอใจอีก ก็จะขุดร่องน้ำคลองน้อยให้ลึกลงอีก 1 เมตร เพื่อให้เรือผ่านได้
 
สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม แจ้งว่าผู้ประกอบการได้ขอยื่นตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เมื่อ 4 กันยายน 2557 ซึ่งยังไม่มีการใช้บังคับผังเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งพึ่งประกาศเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 จึงตอบกลับไปว่าสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินนี้ทำคลังก๊าซได้ 
 
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสงคราม แจ้งว่าท่าเทียบเรือที่มีขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม 
 
องค์การบริหารงานส่วนตำบลแหลมใหญ่ แจ้งว่าได้อนุมัติให้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนบกเท่านั้น เพราะได้ปรึกษากับอัยการจังหวัดสมุทรสงคราม หากไม่อนุมัติก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ได้แจ้งในหนังสืออนุญาต อ.1 ไปว่าควรต้องมีการจัดทำประชาคมรับฟังความคิดเห็นด้วย
 
สำนักงานพลังงานจังหวัดสมุทรสงคราม แจ้งว่าได้พิจารณาให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบการได้ตามความเห็นของที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสงคราม เพราะว่าไม่ขัดกับกับกฎหมายใด 
 
ในการประชาคมนี้ การชี้แจงของหน่วยงานรัฐก่อให้เกิดความสงสัยและไม่พอใจของพวกเราชาว ต.แหลมใหญ่ต่อระบบการบริหารงานของรัฐเป็นอย่างมาก เพราะว่าการทำโครงการเช่นนี้ มีผลกระทบกับชุมชนโดยตรง แต่ทำไมไม่มีการให้ข้อมูล และการทำประชาคม ให้คนในชุมชนทราบเลย 
 
ผลสรุปจากในเวทีประชาคมครั้งนี้ โดยตัวแทน คสช. พ.อ. อนุสรณ์ สวนอิน ได้ให้ผู้ประกอบการหยุดดำเนินการทุกอย่างเพื่อรอการตรวจสอบ 
 

ผู้ประกอบการได้ทำการก่อสร้างถนนโดยถมลำลางสาธารณะที่ชาวบ้านใช้อยู่ในพื้นที่

- 28 มกราคม 2559 ชาวบ้านชุมชนคลองน้อย หมู่ 7 ต. แหลมใหญ่ อ. เมือง จ. สมุทรสงคราม ได้ทำการร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม เรื่องผู้ก่อสร้างคลังก๊าซแหลมใหญ่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ด้วยในวันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา มีการประชุมและชี้แจงเรื่องนี้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทที่ขอจัดสร้าง และประชาชนตำบลแหลมใหญ่ เข้าร่วมที่ศาลาการเปรียญวัดปากสมุทร โดยมี พ.อ. อนุสรณ์ สวนอิน รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 16 เป็นผู้ควบคุมการประชุม ซึ่งผลสรุปในการประชุมถูกรับรองโดย พ.อ. อนุสรณ์ สวนอิน รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 16 ต่อหน้าประชาชนที่เข้าร่วมประชุมว่า “ให้หยุดดำเนินการก่อสร้างเพื่อรอการตรวจสอบ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนของ คสช. แต่ผู้ก่อสร้างมิได้สนใจในข้อสรุปและคำสั่งนั้น ได้ทำการปักเสาคอนกรีตเพื่อก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือที่ขวางล่องน้ำที่ชาว บ้านใช้สัญจรออกทำมาหากินในทะเลต่อไป สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในชุมชน ทั้งที่ผลการตรวจสอบก็ยังไม่ออกผล

- 29 มกราคม 2559 ศูนย์ดำรงธรรมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและตำรวจได้ดำเนินการกับทางผู้ก่อ สร้าง โดยลงพื้นที่และให้หยุดการก่อสร้างเพื่อรอการตรวจสอบ และออกคำสั่งให้ผู้ก่อสร้างเริ่มทำการรื้อถอนเสาคอนกรีตที่ปักลงในน้ำทั้ง หมดขึ้นมาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 และต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 2 มีนาคม 2559

- 17 กุมภาพันธ์ 2559 นายทหารจาก มทบ. 16 ได้ลงพื้นที่นัดชาวบ้านในการแจ้งความคืบหน้า มีการแจ้งเพียงว่า ทางผู้ประกอบการได้ไปร้องเรียนโดยตรงกับกองทัพบกว่า ทางผู้ประกอบการได้ขอนุญาตและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน (จริงหรือ)

- 18 กุมภาพันธ์ 2559 พวกเราชาวชุมชนคลองน้อยได้ส่งหนังสือสอบถามความคืบหน้าในการตรวจสอบว่าดำเนินการเป็นอย่างไรบ้าง

- หลังจากการประชาคม ทราบว่าผู้ประกอบการได้ไปร้องทุกกับทางกองทัพบก โดยอ้างว่าได้ทำการขออนุญาตการทำคลังก๊าซถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง และได้รับอนุญาตแล้ว แต่ไม่สามารถสร้างได้เพราะถูกทหารของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสงครามสั่งให้ชะลอการก่อสร้างเพื่อรอการตรวจสอบ

- 23 กุมภาพันธ์ 2559  ผู้ประกอบการ เดินเครื่องทำงานต่อ มีการปักเสาเพิ่มเติม และทำการกดเสาที่ปักไปแล้วแต่เดิมนั้นให้ลึกกว่าเดิม โดยไม่มีการตรวจสอบและแจ้งผลกับชาวบ้าน ตามที่แจ้งไว้ โดย พ.อ. อนุสรณ์ สวนอิน ในการประชาคมวันที่ 18 มกราคม 2559 ที่ให้ผู้ประกอบการหยุดการดำเนินการทั้งหมดเพื่อรอการตรวจสอบ

- 26 กุมภาพันธ์ 2559 ผู้ประกอบการทำการก่อสร้างต่อโดยไม่มีการชี้แจงการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐใดๆ เลย ตามที่สอบถามไปในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

ภาพชาวบ้านรวมตัวเพื่อออกไปดูเครื่องจักรที่ทำการปักเสาท่าเรือที่พาดคลองน้อยด้วยความกังวล

-  6 มีนาคม 2559 มีการนำเครื่องจักรเข้าดำเนินการขุดร่องน้ำใหม่ ขนานกับแนวสะพานซึ่งเป็นการขุดพื้นที่ดอนหอยหลอดซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแต่อย่างใด 

 

พบรอง ผบ.สส.เป็น ปธ.เปิดป้ายก่อสร้าง เว็บไซต์บริษัทชี้สรรพคุณเพียบ

เว็บไซต์บริษัท เอ็นเอสแก๊สแอลพีจี จำกัด ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ทั้งข้อมูลพื้นที่ เหตุผลที่ดำเนินโครงการ ผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ การสนับสนุนจากประชาชน และภาพกรณีที่ พล.อ.ประสุตร รัศมีแพทย์ รอง ผบ.สส.เป็นประธานเปิดป้ายก่อสร้างท่าเทียบเรือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท