ติ่งเกาหลีปิดถนน สมควรหรือไม่สมควร?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถ้าพูดในเชิงอรรถประโยชน์ของสังคม มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ การปิดห้างปิดถนนเพื่อ ชื่นชมดาราเกาหลี (art appreciation) ไม่สามารถเทียบได้กับการปิดห้างปิดถนนเพราะต้องการให้รัฐบาลขึ้นราคายาง เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ หรือต้องการเรียกร้องความถูกต้องให้สังคม ฯลฯ เพราะนัยสำคัญทางสังคมมันต่างกัน แต่หลักการนี้ก็ดูจะคิดเองเออเองไปสักนิดว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร และไม่ถูกใจติ่งเกาหลีเท่าไหร่นัก คำถามหลักๆ คือ เราจะวัดความสำคัญที่ว่านั้นได้อย่างไร?

นักเศรษฐศาสตร์ก็จะไม่โมโหกับติ่ง ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ มันคงจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นมากกว่าเสีย ไอ้เม็ดเงินที่หมุนวนอยู่ตรงนี้จะมีส่วนในการเข้าไปดูแลสวนยางหรือส่วนอื่นๆ ของสังคมเอง เพราะฉะนั้นปล่อยให้เงินดูแลคุณ แบบนี้ก็เหมือนจะกลับไปตอบโจทย์แรกได้ แต่มันดูจะไกลตัวสำหรับคนที่กำลังรถติดและไม่อาจถูกเห็นด้วยอย่างจริงใจถ้าไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ และคำถามต่อมาต่อเศรษฐศาสตร์คือ ศาสตร์นี้มองคนที่ไม่มีเงินเป็นคนหรือไม่? หากการรวมตัวปิดถนนนั้นเป็นไปโดยคนจน ไม่มีการซื้อขายเลย และทำให้คนเดินทางเดือดร้อนเพียงอย่างเดียว ก็ยอมไม่ได้ใช่หรือไม่?

มาร์กซิสต์อาจจะมองต่างกัน เพราะมันคงไร้สาระตั้งแต่เอารสนิยมไร้สาระที่ใช้บำเรอนายทุนและปลอบประโลมแรงงานให้ออกมาเต้นแร้งเต้นกากันจนสดชื่นแล้วมีแรงกลับไปก้มหน้าก้มตาทำงานให้นายทุนต่อแล้ว! แล้วอีกต่อหนึ่งคือเอาอะไรมาคิดว่าเม็ดเงินที่เข้าไปในมือนายทุนจะกลับออกมาช่วยสังคม!

ปรัชญาโพสต์โมเดิร์นอาจเสนอว่าทุกอย่างเป็นเพียงความต้องการกับไม่ต้องการ หรือรสนิยม และนำมาซึ่งการแสดงออก และการแสดงออกเหล่านั้นก็ควรแสดงออกมาได้บนฐานของความหลากหลาย เช่น กปปส. ยังปิดถนนได้ ทำไมติ่งเกาหลีจะปิดไม่ได้ ฯลฯ โพสต์โมเดิร์นอาจถามคุณเจ็บๆ ว่า พรบ. นิรโทษกรรม มันใกล้ตัวมึงกว่าติ่งเกาหลีอย่างไร สองอย่างนี้เดือดร้อนต่อความเป็นอยู่ของมึงโดยตรงไหม? สุดท้ายแล้วมันเป็นแค่ความต้องการที่เกิดจากสังคม ความต้องการทางจริยธรรมล้นๆ ที่กลายเป็นเพียงรสนิยมเท่านั้น แต่หลักการนี้ดูจะไม่เป็นที่รับได้และไม่สมเหตุสมผลสำหรับคนที่มีดีกรีความจริงจังยากง่ายในชีวิตต่างกัน คือคุณเอาหลักนี้ไปพูดกับชาวสวนยางในตอนนี้ไม่ได้

มันยังมีอีกหลักหนึ่งคือ Solidarity (ไม่มั่นใจว่าแปลไทยว่าอะไร) ที่เริ่มจากความเชื่อที่ว่าเราไม่สามารถวัดได้ว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร (ลูกคุณหายกับชาวสวนยางขาดทุน อะไรสำคัญกว่ากันสำหรับคุณ และอะไรสำคัญกว่ากันสำหรับชาวสวนยาง แน่นอน มันตอบไปทางเดียวไม่ได้) ก็เลยไม่นับแล้วกันว่าอะไรเดือดร้อนกว่าอะไร แต่ให้ทุกคนมีโอกาสแสดงความเดือดร้อนของตัวเองเท่าๆ กัน โดยที่สังคมจะพยายามเข้าอกเข้าใจแล้วปล่อยให้แสดงออกไป คือถ้าคุณเดือดร้อน คุณปิดถนนได้ แต่ถ้าวันหนึ่งฉันเดือดร้อน ฉันก็จะปิดถนนบ้าง เข้าใจกันนะ แล้วถ้า Solidarity นี้ apply มาใช้กับเรื่องรสนิยมด้วยจะได้หรือไม่? เช่น ถ้าคุณคลั่ง EXO ในวันนี้ คุณปิดถนนได้ แต่ถ้าพรุ่งนี้ฉันคลั่งสุนทราภรณ์แล้วปิดถนนบ้าง ก็อย่าว่ากันนะ?

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงสงกรานต์ หรือเทศกาลปามะเขือเทศ สาดสี อะไรก็ตาม ที่ปิดถนนเพราะเรื่องทางวัฒนธรรม คือสังคมรวมๆ มันเลี่ยงไม่ได้ และมีการกำหนดวันเฉพาะที่ชัดเจน แต่กับกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ไม่ว่าติ่งหรือสุนทราภรณ์และอีกเป็นล้านๆ กลุ่ม เราควรให้โอกาสการปิดถนนเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั่วไปเลยไหม มันจะเกิดขึ้นทุกวันหรือไม่ ถ้าติ่งปิดห้างได้แล้ว ต่อไปมันจะมีใครอ้าง Solidarity เพื่อปิดห้างได้ทุกวันเลยหรือเปล่า?

เหมือนว่าแบบนี้จะเป็นที่ไม่ถูกใจนักรัฐศาสตร์ เพราะมันก็จะเกิดคำถามว่า มันก็จะนำไปสู่สภาวะที่ทุกคนจะทำอะไรก็ได้ไม่ใช่หรือ ในขณะที่นักกฏหมายก็จะออกมาบอกว่า แต่มันมีกรอบของกฏหมายครอบคลุมอยู่แล้วว่าอะไรได้ไม่ได้ และถ้ากลับไปมองด้วยหลัก Solidarity ปุ๊บก็จะหมายความว่าแท้จริงแล้วถ้าใช้กฏหมายกับความสงบเรียบร้อยมาพูด คุณก็ไม่เข้าอกเข้าใจคนอื่นอย่างจริงจังหนิ เราต้องไม่ลืมว่าถ้าสังคมเห็นอกเห็นใจและเข้าใจกัน ผู้ประท้วงก็ควรจะเข้าใจคนอื่นด้วย และมีวิจารณญาณมากพอที่จะไม่ออกมาพร่ำเพรื่อ แล้วนักการศึกษาก็จะตั้งคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจหลักที่ว่านี้อย่างจริงจังได้ ในขณะที่นักรัฐศาสตร์กับนักนิติศาสตร์ก็จะแท็กทีมกันถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามันจะเวิร์ค?

เมื่อเป็นแบบนี้เราก็จะลงมาที่กรณีศึกษา หรือผลการวิจัยที่เป็นตัวเลขเพื่อเลือกว่าสังคมแบบไหนที่อยู่กันได้ดีกว่า นักสถิติกับนักวิทยาศาสตร์ก็จะเข้ามายืนยันผลการวิจัยของพวกเขา และทางออกก็จะถูกกลับไปตีความใหม่โดยนักทั้งหลายข้างต้น หากผลมันบอกว่า Solidarity ดีกว่า สังคมก็จะเอนไปทางนั้น และหากผลมันบอกว่าการควบคุมและมีข้อจำกัดดีกว่า สังคมก็จะเอนไปในทางนั้น

ข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างแรกก็คือโลกมันไม่ได้เล็กๆ เวลาใครจะปิดอะไรมันแบ่งกันปิดนิดเดียวในพื้นที่จำกัดเท่านั้น และจำนวนของสถานการณ์เหล่านี้ที่เราเจอในชีวิตก็จะไม่ใช่ทุกวัน บางวันเราเป็นผู้ประท้วง บางวันเราต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางบางเส้นทาง สลับบทบาทกันไป แบบนี้ทำให้ Solidarity ดูจะเป็นไปได้ เพียงแต่สิ่งที่ทำให้ดูเหมือนทุกอย่างเป็นเรื่องใหญ่มากจนทุกคนกลัวตัวเองถูกริดรอนสิทธิก็คือสื่อเท่านั้น

กระแสวิจัยแบบตัวเลขและขนบแบบสังคมวิทยากำลังบอกเราว่า ยิ่งเปิดกว้าง ปัญหายิ่งลดลง (ในเกือบทุกๆ เรื่อง เช่น เรื่องอาชญากรรม เรื่องทางเพศ ฯลฯ) แต่ทีนี้มันมีบริบททางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่ยังไม่ถูกอธิบายออกมาพร้อมๆ กัน เราก็เลยมั่นใจไม่ได้ว่าผลวิจัยจากที่หนึ่งจะใช้ได้กับอีกที่หนึ่ง หรือผลวิจัยที่หนึ่งจะใช้ได้กับที่นั่นเอง! สิ่งนี้เหมือนจะกลับไปตอบปัญหานักรัฐศาสตร์และนักอื่นๆ ได้ แต่ก็ไม่ได้น่าพอใจเท่าไหร่นักถ้าพวกเขาเล็งเห็นอะไรที่ลึกกว่านั้น

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย วัฒนธรรมศึกษาอาจบอกว่า ถ้าสังคมไหนต้องการแบบไหนก็ให้มันเป็นแบบนั้นแหละ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนเรื่อยๆ อยู่ดี! นักประวัติศาสตร์อาจออกมาแย๊บๆ เช่นกันว่ามันมีบทเรียนในอดีตที่เราไม่ควรจะกลับไปอีกอยู่ ขณะเดียวกันก็อาจมีนักปรัชญาอีกกลุ่มเสนอว่า สิ้นเดือนรับตัง แดกข้าว แล้วก็จ่ายค่าเช่าไป (เราละมุมนี้เอาไว้)

จะเห็นว่าการถกเถียงทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้พาเราถอยหลัง หลักการที่ใช้ไม่ได้จริงๆ อย่างเช่น ใครออกมาประท้วงให้ตีหัวมัน ไม่ได้รับชัยชนะอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการต่อสู้กันของหลักการที่ชนะหลักการอื่นๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน และถ้าเรามองแบบเฮเกล (G.W.F Hegel) หรือไม่ต้องเฮเกลก็ได้ (ใครที่ไหนก็คิดได้) มันก็จะต้องเกิดความคลี่คลายได้บ้างในที่สุด เพราะฉะนั้นกระบวนการ ของการนำพาสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่าคือการค่อยๆ ยำกันเข้าไปในเชิงความคิด มากกว่าจะมานั่งสรุปโดยไม่เอะใจความคิดรอบๆ ข้าง ตอนนี้ดูเหมือนว่า Solidarity จากฝรั่งเศสจะเป็นอะไรที่เข้าท่า แต่สภาพความเป็นจริงในชาติเขามันดีแบบหลักการไหม เราก็ไม่ทราบ แล้วถ้าสภาพจริงมันไม่ดีเหมือนหลักการ แล้วหลักการนั้นจะนับว่าดีได้ไหม ก็ยังไม่ทราบ

คำถามว่าอะไรสักอย่างสมควรหรือไม่สมควร ไม่ควรหาข้อสรุปอย่างมักง่าย

กับสัญญาประชาคมข้อตกลงการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ก็เช่นกัน ไม่สมควรสรุปเอาง่ายๆ ว่าอะไรสมควรหรือไม่สมควร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท