4 หนังสั้นชนเผ่ากับโลกชนเผ่าที่กำลังล่มสลาย! ก่อนฟังคำพิพากษาไมตรี 8 มี.ค. 59

เพราะว่าในวันที่ 8 มี.ค.59 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาคดีของนายไมตรี จำเริญสุขสกุล ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทหาร ทำให้ผู้เขียนต้องกลับมาเขียนระลึกถึงเขาอีกครั้ง...ไมตรี จำเริญสุขสกุล และผองเพื่อน

 

ในค่ำคืนหนึ่ง เรามีการฉายหนังสั้นในร้านหนังสือเล็กๆ ของอำเภอเชียงดาว บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบง่าย ไม่หวือหวา ผู้คนทยอยกันเข้ามานั่งกันในร้านซึ่งเป็นบ้านไม้เก่าๆ บรรยากาศจึงเหมือนญาติมิตรพี่น้องเดินทางกลับมาบ้านเกิดของตนเอง ทีมงานจากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กำลังเซตเครื่อง จอหนัง ผู้ชมเข้ามานั่งตามมุมนี้มุมโน้นกันเงียบๆ มีทั้งพี่น้องชนเผ่า ผู้นำท้องถิ่น ครูประถม พยาบาล คนทำละครชุมชน ตะวันลับดอยหลวงเชียงดาวไปแล้ว เหลือเพียงแสงสุดท้ายสีส้มอมเหลืองส่องสาดพาดผ่านเวิ้งฟ้าเป็นเส้นสาย ก่อนความมืดจะห่มคลุมไปทั่ว “ต้าควา” ผู้กำกับหนังสั้นคนหนึ่งที่ติดตามมาพร้อมกับทีมงานเพื่อนไร้พรมแดน เป็นชาวปกาเกอะญอจากบ้านบางกลอย เขากำลังนั่งเคี้ยวหมากเงียบๆ หลบอยู่มุมหนึ่ง สักพักผมมองเห็นเด็กหนุ่มสามคน กำลังเดินข้ามถนนมายังร้าน ใครคนหนึ่งแนะนำว่า พวกเขาคือผู้กำกับหนังสั้นหนุ่มชาวลาหู่ จากเมืองนะ เชียงดาว ที่เรากำลังจะฉายดูกันนั่นเอง

(1) เข็มขัดกับหวี

แสงไฟจากหลอดไฟสีเหลืองนวลหลายดวงในร้าน ถูกปิดลง และหนังสั้นเรื่องแรก “เข็มขัดกับหวี” กำลังเริ่มต้นฉาย...ฉากและเนื้อเรื่องนั้นเป็นชุมชนลาหู่ ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะครอบครัวที่ยากจน ครอบครัวหนึ่งมีเพียงสองคนแม่ลูกในกระท่อมไม้ไผ่ผุๆ กำลังนั่งกินข้าวกับน้ำพริกกันอยู่  ลูกชายวัยเจ็ดแปดขวบคนนี้สีหน้าแววตาหมองๆ แกไม่กล้าไปโรงเรียน เพราะว่าไม่มีเข็มขัดนักเรียนใส่ไปโรงเรียน  ในขณะที่แม่นั้นปล่อยผมเผ้ายาวกระเซิง เพราะไม่เคยได้ใช้หวีๆ ผมสักครั้งเลย พอแม่พยายามจะไปใช้สิทธิขอกู้ยืมเงินในหมู่บ้าน แต่ก็ถูกปฏิเสธจากคณะกรรมการ เพราะว่านางไม่มีสัญชาติไทย พอแม่ถามขอเข็มขัดเก่าๆ จากผู้ใหญ่บ้าน ก็ถูกตะเพิดไล่กลับไป  กระทั่งวันหนึ่ง แม่ตัดสินเดินเข้าไปในร้านเสริมสวย เธอยอมกล้อนผม ขายเส้นผม เพื่อนำเงินไปซื้อเข็มขัดให้ลูกชาย

ในขณะ ลูกชายเก็บเงินมาได้ ตั้งใจจะเอาเงินไปให้แม่ซื้อหวี แต่ระหว่างทางเดินกลับบ้าน เจอหนุ่มขี้เมาในหมู่บ้าน ไล่ปล้ำทำร้าย แย่งเอาเหรียญในกางเกงของเขาไป จนร่างกายระบบซมซานกลับไปนอนในกระท่อมผุๆ รอแม่กลับมา พอแม่เห็นสภาพลูกชายสะบักสะบอม สองแม่ลูกนั่งกอดกันร่ำไห้กันพร้อมพร่ำครวญในโชคชะตา หนังเรื่องนี้ จบลงแบบเศร้าๆ

เข็มขัดกับหวี เป็นหนังสั้นดราม่า สั้นและเรียบง่าย กำกับโดย ‘จะบื้อ’ หรือ 'สุทิตย์ ซาจ๊ะ' เด็กหนุ่มชนเผ่าลาหู่ วัย 18 ปี(ในขณะนั้น) จากบ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ใช่แล้ว เขาเป็นเพียงเด็กลาหู่คนหนึ่งที่ดูๆ ไป ก็คล้ายกับเด็กลาหู่ในเรื่องที่เขากำกับนั่นแหละ เป็นคนเล็กๆ ที่ไม่มีใครให้ความสำคัญหรือสนใจ จะบื้อ เกิดในหมู่บ้านชายแดน เติบโตขึ้นมาและมารู้ว่าตนเองเป็น "คนไม่มีบัตร" คนเดียวในครอบครัว ทั้งที่ในทะเบียนบ้านสัญชาติไทย มีชื่อพ่อแม่พี่น้องทุกคน ยกเว้นตัวเขา พอโตขึ้น เขาเป็นคนมี "บัตรเลขศูนย์" หรือมีชื่อเต็ม ๆ ว่าบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน

การเป็นคนไม่สัญชาติไทย จึงทำให้เขาเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูดจากับใคร ชีวิตเขาถูกจำกัดสิทธิหลายๆ อย่าง

ปัจจุบัน ถึงแม้ว่า ‘จะบื้อ’ หรือ สุทิต ซาจ๊ะ จะได้สัญชาติไทยแล้ว แต่วิถีเขาก็ยังซ่อนอยู่ในหลืบของสังคมอย่างเงียบๆ ข่าวแว่วมาว่า เขาออกจากบ้าน ลงดอย ไปทำงานอยู่ในอู่ซ่อมรถแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ 

(2) ทางเลือกของจะดอ 

บรรยากาศในร้านมีเพียงเงามืดและแสงสลัว...

เรากำลังนั่งดูหนังสั้นเรื่องที่สอง “ทางเลือกของจะดอ” กำกับโดย “ธนิต จำเริญสุขสกุล” ว่ากันว่า นี่เป็นหนังรักสร้างจากเรื่องจริงของคนเล็ก ๆ ที่ถูกหลงลืม เมื่อชายหนุ่มลาหู่จนๆ คนหนึ่งเฝ้าพยายามหาสินสอดมาขอแต่งงานกับสาวคนรัก แต่กลับกลายเป็นเรื่องยากและไม่มีทางเลือก เพียงเพราะไม่มีสัญชาติ จะไปทำงานรับจ้างที่ไหนใครก็ไม่รับ จะลงไปทำงานในเมือง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งด่าน ไล่ลงจากรถ เพราะไม่มีบัตร ครั้นเข้าไปถางไร่ ก็ถูกป่าไม้ไล่จับ เพราะพื้นที่ทำกินถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ กระทั่ง เขาไม่มีทางเลือกอื่นใด สำหรับเด็กหนุ่มชนเผ่าที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน เขาตัดสินใจ ข้ามไปฝั่งพม่า รับจ้างขนยาเสพติด แต่ก็ถูกพ่อค้ายาหักหลัง ไม่ได้เงินค่าจ้าง แถมยังสั่งฆ่าปิดปาก เขาต้องหนีตายหัวซุกหัวซุน เพื่อกลับมาบ้านเกิด

ฉากสุดท้าย หนังจบลง เหมือนๆ ว่า เขากลับมาแบบมีความหวัง จะกลับมาหาคนรัก ทว่าเมื่อมาถึงลานดินหน้าบ้าน เขาจึงรู้ว่าหญิงสาวคนรัก แต่งงาน มีลูกน้อยกำลังเดินเตาะแตะแล้ว

ทางเลือกของจะดอ เรื่องนี้ ได้รับรางวัลชมเชย รางวัลรัตน์ เปสตันยี จาก16th Thai Short Film and Video Festival เผยแพร่ในเทศกาลภาพยนตร์บินข้ามลวดหนามครั้งที่ 4 , 16th Thai Short Film and Video Festival , ASEAN TV รายการ ASEAN Flick , World Film Festival of Bangkok , FreedomFilmFest;Malaysia , Thai Embassy in the US และยังได้ฉายโปรแกรมพิเศษ "เยาวชนชาติพันธุ์ทำหนังสั้นเล่าเรื่องตัวเอง" ในงานเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 16

(3) “จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา”

บรรยากาศภายในร้าน เริ่มเงียบ หลายคนนั่งนิ่งขดตัวอยู่ในมุมของตัวเองในเงาสลัว

หนังสั้นเรื่องที่สาม  “จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา” กำกับโดย “ไมตรี จำเริญสุขสกุล” กำลังตรึงคนดู...

หนังเปิดฉาก บนความเคว้งคว้าง เมื่อจะโบ กับเพื่อน กำลังถางไร่อยู่บนดอยสูง ทั้งสองทำงานไปพลาง แล้วร้องขับลำนำโต้ตอบกันไปมา ดูเหมือนมีความสุข แต่สีหน้าแววตาของทั้งสองคนกลับดูหม่นๆ หมองๆ ยังไงไม่รู้ ยิ่งมาถึงฉากตอน วิถีที่เป็นอยู่ถูกรุกต้อน รุนแรง เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ วิ่งไล่จับพวกเขา ต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนเข้าป่า เพื่อนของจะโบ ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงขู่ตามหลัง ส่วนจะโบ วิ่งหัวหกก้นขวิด จนศีรษะแตกเลือดอาบ กลับมาให้ภรรยาช่วยเช็ดล้างแผลให้ ในขณะเพื่อนของจะโบ ถูกกระสุนทิ้งร่างอยู่ข้างทางป่า ทิ้งให้ภรรยาของเขาอุ้มท้องเผชิญชะตากรรมชีวิตเพียงลำพัง

หนังสั้นเรื่องนี้ ยังไม่จบ เมื่อจะโบ ตัดสินใจต้องออกจากบ้าน ไปรับจ้างเฝ้าสวนยางพาราที่มาเลย์ เพราะต้องการรักษาครอบครัวของเขาให้อยู่รอด อีกทั้งหวาดกลัวจะถูกยิงทิ้งเหมือนกับเพื่อนตัวเอง จะโบจำต้องระหกระเหินเดินทางจากไกลบ้านเกิด ปล่อยทิ้งให้ลูกเมียอยู่กันในกระท่อมไม้ไผ่กันอย่างแร้นแค้นเงียบเหงา

หนังเรื่องนี้ สร้างจากเค้าโครงโศกนาฏกรรมบนดอยเชียงดาว เมื่อพื้นที่ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ชาวไร่ที่พยายามดำเนินชีวิตตามปกติกลายเป็นผู้ละเมิดกฎ หัวหน้าครอบครัวอย่าง "จะโบ" ต้องพยายามรักษาครอบครัวของเขาให้อยู่ รอดและปลอดภัย ด้วยการตัดสินใจเดินออกจากบ้าน

ฉากสุดท้าย เมื่อลูกคนเล็กของจะโบป่วยไข้หนัก ภรรยาของเขา ปล่อยให้ลูกสาวคนโตอุ้มน้อง ส่วนตัวเธอเข้าป่า เสาะหายาสมุนไพร ตั้งใจมาต้มให้ลูกน้อย แต่ก็ไม่ทันการณ์ เมื่อเธอกลับมา ลูกคนเล็กได้จากไปเสียแล้ว

จะโบ เป็นชื่อภาษาลาหู่ แปลว่าผู้มีวาสนา แต่ในฉากตอน เขาช่างเป็นคนอาภัพโชคร้าย

“จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา” ได้รับรางวัลขวัญใจซามูไร เทศกาลภาพยนตร์บินข้ามลวดหนามครั้งที่ 4

(4) รอยเท้าของเรา

บรรยากาศเริ่มเหมือนถูกบางอย่างกดทับ ผู้ชมหลายคน นั่งอยู่ในมุมสลัวของตัวเอง

เรากำลังนั่งดูหนังสั้นเรื่องสี่ ชื่อ “รอยเท้าของเรา” เป็นหนังสั้นลำดับที่สองของ "ต้าควา" ผู้กำกับ วิถีชีวิต" ซึ่งได้รับรางวัลชมเชย รัตน์ เปสตันยี และรางวัลพิราบขาว จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นปีพ.ศ. 2557 ในขณะหนังเรื่อง รอยเท้าของเรา นี้ เป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่างชาวปกาเกอะญอจากลุ่มน้ำบางกลอย เมย-สาละวิน แม่แจ่ม และแม่ขานกับเพื่อนชาวไทยของเขา ที่พยายามบอกเล่าถึงวิถีการดำรงอยู่และการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของแต่ละชีวิต บนดอย ของพี่น้องชุมชนปกาเกอะญอ

เนื้อเรื่องอาจดูเนิบๆ ช้าๆ อาจดูสิ้นหวัง โดยเฉพาะเมื่อ "ส่าดู้" สมาชิกชุมชนคนหนึ่งหายตัวไป หากรอยเท้าของพวกเขายังคงปรากฎอยู่บนผืนดินแห่งนั้นไม่มีวันถูกลบเลือนหาย

ต้าควา บอกเราว่า จริงๆ เรื่อง “รอยเท้าของเรา” นี้ ก็เหมือนเป็นภาคต่อ จากเรื่อง “วิถีชีวิต” และเป็นการระลึกถึง “บิลลี่” ที่หายตัวไปนั่นเอง โดยเขาตัดสินใจจำลองชื่อตัวละครเสียใหม่ และเลือกสถานที่การถ่ายทำที่หมู่บ้านสบลาน อำเภอสะเมิง เชียงใหม่

ผมถามเขาว่า ทำไมไม่ถ่ายทำที่บางกลอย แล้วใช้ชื่อบิลลี่  ต้าควา บอกว่า ในระยะหลัง ชุมชนบางกลอยเหมือนถูกบีบ ทำอะไรก็ไม่ถนัด จึงเลือกพื้นที่บ้านสบลานแทน และถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อตัวละครเป็น “ส่าดู้” ที่หายไป แต่ในใจของทุกคนก็สัมผัสรับรู้ได้ว่า นั่นคือ “รอยเท้าของบิลลี่ที่หายไป”

(5) ความจริงอยู่ในหนังสั้น หนังสั้นคือเรื่องจริง

เมื่อเราดูหนังทั้งสี่เรื่องจบลง เราล้อมวงแลกเปลี่ยนกัน แน่นอน มันทำให้เรารู้ว่า เรื่องราวในหนังสั้นกับวิถีความจริงนั้นเป็นหนึ่งเดียวที่แยกจากกันไม่ออกเลย ทุกวันนี้ ชาวบ้านชนเผ่าหลายพื้นที่ในหมู่บ้านบนดอย ตามแนวตะเข็บชายแดน ยังคงถูกกระทำ มากบ้าง น้อยบ้าง ผู้ชมคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวปกาเกอะญอ ก็บอกว่า เจ้าหน้าที่เพิ่งเข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อสั่งให้ชาวบ้านที่ปลูกยางพารา ตัดโค่นทิ้ง เพื่อรักษาผืนป่า พี่น้องปกาเกอะญอคนนี้บอกว่า เขารู้สึกเจ็บปวดมาก

“เขาสั่งให้ตัด ผมไม่กล้าตัดต้นไม้ที่ผมปลูกมากับมือ ต้องให้ภรรยาไปตัดโค่นแทน”

ในขณะผู้ชมอีกคนหนึ่ง เป็นครูประถม บอกเล่าให้ฟังว่า ดูหนังเรื่องนี้ แล้วนึกถึงลูกศิษย์คนหนึ่ง เธอเป็นชนเผ่าเหมือนกัน เป็นเด็กเรียนเก่ง เรียบร้อย แต่ก็ต้องออกกลางครัน เมื่อเช้าวันหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับกุมแม่ของเด็กนักเรียน ตรงประตูห้องเรียน ฯลฯ  

ยิ่งทำให้เรารับรู้รสความจริงอันขมปร่าว่าในห้วงยามนี้ ความเป็นวิถีชนเผ่า ชนพื้นเมือง หรือระหว่างคนเมืองกับคนดอยนั้นสลับซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อนมาก โลกชนเผ่า โลกในเมือง จึงไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าใดนัก เพราะทุกวันนี้ โลกใบนี้ ประเทศนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นคน สิทธิที่พึงมีอยู่นั้น กำลังถูกบั่นทอน ลงไปทีละน้อยๆ จนเสียงเพรียกเรียกร้องนั้นไม่ดังเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่กำลังเงียบหายไป หนำซ้ำยังถูกกระทำให้ลีบลง เล็กลง ไปทุกขณะ

เช่นเดียวกับ กรณี “ไมตรี เจริญจำเริญสุข” ผู้กำกับหนังสั้นเรื่อง “จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา” ซึ่งเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารฟ้องร้องในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยคดีนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กล่าวหาว่าจำเลยได้นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทหาร

คดีนี้มีความน่าสนใจทั้งในแง่เหตุที่มาของคดี ซึ่งเกี่ยวพันกับเหตุการณ์เมื่อต้นปีที่แล้ว (2558) กรณีที่ชาวบ้านในชุมชนชายแดนระบุว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาทำร้ายโดยการ ‘ตบหน้า’ ชาวบ้านซึ่งเป็นชนเผ่าหลายคน ก่อนที่จำเลยในคดีนี้จะเป็นผู้โพสต์เรื่องดังกล่าวในเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือในแง่การใช้กฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารใช้การแจ้งความด้วยข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อผู้เผยแพร่ข้อมูลที่กระทบต่อกองทัพ และในแง่ภูมิหลังของจำเลย ที่เป็นทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ มีบทบาทเป็นคนทำงานทางสังคม และทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวพลเมืองในพื้นที่มาโดยตลอด

เมื่อทีมข่าวนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส ถามว่าการสื่อสารสำคัญอย่างไร ไมตรี ตอบว่าจริงๆ แล้ว สื่อสำหรับแต่ละพื้นที่นั้นให้ความหมายต่างกัน แต่สำหรับเขาแล้ว ที่บ้านกองผักปิง สื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้าน เป็นกระบอกเสียงให้กับคนในชุมชน เวลาที่มีเหตุการณ์หลายๆ อย่างเกิดขึ้นในชุมชน ที่คนในสังคมต้องรู้ แต่ว่าไม่มีใครสื่อสารออกไป ซึ่งเขาลองทำตรงจุดนี้

"จริงๆ แล้ว ผมก็มีหน้าที่แค่ เหมือนเครื่องขยายเสียง ที่ค่อยขยายเสียงเอาเสียงของชาวบ้านออกมาเท่านั้น สิ่งที่ชาวบ้านพูด ผมแค่เอามามาสื่อสารให้ไปไกลกว่าปกติที่ทำเท่าที่ผมทำได้ อันนี้คือหน้าที่ของสื่อในมุมมองของผมที่ทำในชุมชน" ไมตรี กล่าว

ส่วนที่เป็นคดีความ ไมตรี เล่าว่า เขาได้เอาคลิปของเหตุการณ์วันที่เจรจากันระหว่างเจ้าหนี้ซึ่งเป็นคนในเครื่องแบบกับชาวบ้านที่บ้านกองผักปิง จึงทำให้ถูกฟ้องว่า “เขาพูดเท็จ” คือเอาเรื่องที่ไม่จริงไม่โพสต์ลงเฟซบุ๊ก ซึ่งเขาเองก็พยายามไม่อยากให้เป็นคดี โดยเบื้องต้นเขาพยายามไปปรึกษาหน่วยงานต่างๆ ที่คิดว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเป็นคดีความ แต่ว่าสุดท้ายมันก็เป็นคดีความ ก็คือต้องสู้ตามกระบวนการยุติธรรม

ต่อคำถามเรื่องความกังวล ไมตรีบอกว่า จริงๆ ในพื้นที่ก็มีเพื่อน ไม่ได้โดดเดี่ยว มีเพื่อนแวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจอยู่ตลอด ทำให้มีกำลังใจ

"ก่อนหน้าที่บอกว่าจะถูกฟ้อง เราก็กังวลมาก เพราะว่าสิ่งที่เราก็ทำ ก็แค่อยากจะเรียกร้องในสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ ให้คนที่ทำผิดมารับผิดชอบด้วยการขอโทษกับผู้ใหญ่ของหมู่บ้านนั้นเอง แต่ว่าเรื่องมันก็บานปลายมาถึงขั้นการถูกฟ้อง" ไมตรีกล่าว

อย่างไรก็ตาม เขายังยืนยันที่จะทำสื่อเพื่อสื่อสารเรื่องราวต่อสังคมต่อไป

"เรื่องสื่อ ผมคิดว่าอย่างไรก็ทำ ถึงแม้จะโดนฟ้อง หรือไม่โดนฟ้อง เรื่องสื่อมันควรจะมีก็ต้องทำต่อ ไม่ใช่แค่ชุมชนกองผักปิ้งบ้านผม มันมีหลายที่ที่เหตุการณ์ ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องดีและไม่ดี สื่อก็ต้องทำหน้าที่ของสื่อด้วย เพื่อสื่อออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่เกิดขึ้น" ไมตรีทิ้งท้าย

โดยในวันที่ 8 มี.ค.59 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาคดีของนายไมตรี จำเริญสุขสกุล ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทหารหรือไม่?!

ชมคลิปหนังสั้น  Jabo Means the Man of Fortune /จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา ฝีมือของ “ไมตรี เจริญจำเริญสุข” ผู้กำกับหนังสั้น

 

ข้อมูลประกอบ:

4 หนังสั้นชนเผ่า กับโลกภูเขาที่กำลังล่มสลาย,ภู เชียงดาว,วารสารผู้ไถ่,2558

“ไมตรี” ลาหู่ เจ้าของคลิปที่มีคนดูเป็นล้านๆ กับคดี พ.ร.บ.คอมฯ,นักข่าวพลเมือง citizenthaipbs,7 มีนาคม 2559 http://www.citizenthaipbs.net/node/8023

จับตา 2-4 ก.พ. ศาลเชียงใหม่นัดสืบพยานคดีพ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์กรณี‘ทหารตบหน้าชาวบ้าน’ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/02/01/maitree_case/

เปิดคำแถลงปิดคดี “ไมตรี” พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก่อนศาลอ่านคำพิพากษาพรุ่งนี้  https://tlhr2014.wordpress.com/2016/03/07/maitree_closingstatement/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท