Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


                    The world is full of tears and tears.

                     โลกนี้ช่างเต็มไปด้วยน้ำตาและน้ำตา

    
ในปี 2016  ข่าวเกี่ยวกับกลุ่มไอเอสและสงครามกลางเมืองในซีเรียก็ยังได้รับความสนใจจากชาวโลกอยู่ไม่น้อย เช่นเดียวกับการก่อการร้าย และแนวโน้มของรัฐต่าง ๆ ที่จะเกิดสงครามกลางเมืองอันนำไปสู่ภาวะรัฐล้มเหลว และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเหยื่อก็คือบรรดาชนกลุ่มน้อย ผู้มักเป็นที่เกลียดชังของประชาชน ซึ่งถือว่าตนเป็นชนกลุ่มใหญ่ ในช่วงที่รัฐเกิดภาวะไม่มีขื่อไม่มีแป ตัวอย่างนอกจากซีเรียแล้ว ยังมีอิรัก โซมาเลีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง หรือแม้แต่พม่า ดังความพยายามของชาวพม่าหัวชาตินิยมแบบตกขอบ ที่จะทั้งกดขี่และเข่นฆ่าชาวมุสลิมโดยเฉพาะชาวโรฮิงญา

อย่างไรก็ตาม โศกนาฏกรรมเช่นนี้ได้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง ดังเช่นกรณีกลุ่มเขมรแดงฆ่าชาวกัมพูชาไปกว่า 2 ล้านคน ในช่วงปี 1975-1979    รวันดาที่ชาวฮูตูฆ่าชาวตุดซีเกือบล้านคน ในปี 1994  ชาวเซิร์บสังหารหมู่ชาวอัลบาเนียหลายพันคนในช่วงปี 1998-1999 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะกล่าวถึงในบทความนี้คือ กรณีดาร์ฟูร์ในซูดาน ซึ่งได้รับความสนใจจากองค์การสหประชาชาติ ประเทศต่างๆ รวมไปถึงกลุ่มทางสังคม อันนำไปสู่การสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการทูต ต่อรัฐบาลซูดาน ก่อนจะแผ่วลงในเวลาต่อมาตามธรรมชาติของข่าว

แต่ก็ฮือฮากันอีกครั้งในปี 2008 ตอนที่ สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังประกาศจะไม่ยอมช่วยเหลือจีน ในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก เพราะจีนขายอาวุธให้กับพวกที่กำลังรบกันในดาร์ฟูร์ อันเป็นผลจากการที่จีนมีผลประโยชน์ด้านอื่น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในซูดานอย่างมหาศาล นอกเหนือไปจากประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกา ซึ่งพิสูจน์ได้ถึงความเชื่อที่ว่า “จีนไม่แทรกแซงการเมืองภายในของประเทศอื่น” นั้น เป็นมายาคติ  อย่างไรก็ตามฝ่ายอื่นไม่ว่าสหรัฐอเมริกา ตะวันตก และประเทศในทวีปแอฟริกาด้วยกันเอง ที่ไม่ยอมช่วยเหลือชาวดาร์ฟูร์อย่างเต็มที่ ก็สมควรถูกตำหนิไปด้วย อนึ่งการปะทุของความขัดแย้งในภูมิภาคอื่นทั่วโลกโดยเฉพาะซีเรียในปัจจุบันนี้ ย่อมทำให้คนสนใจเรื่องดาร์ฟูร์น้อยลงไปอีก
      
บทความนี้แปล และตัดต่อจากเว็บไซต์บีบีซี เมื่อปี 2006 ผสมกับข้อมูลจากแหล่งอื่น


0000


ท่านถามมาเราตอบไป ในความขัดแย้งในเขตดาร์ฟูร์ของซูดาน (Q&A: Sudan's Darfur conflict)
       
คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ มีมติให้กองกำลังรักษาสันติภาพอันแข็งแกร่งจำนวน 26,000 นาย เข้าร่วมกับกองกำลังของสหภาพแอฟริกา จำนวน 7,000 กว่านาย ในความพยายามจะปกป้องพลเรือนในจังหวัดทางใต้ของเขตดาร์ฟูร์ (ในปี 2007 ทั้ง 2 ฝ่าย รวมตัวกันภายใต้ชื่อว่า กองกำลังสหประชาชาติและสหภาพแอฟริกา หรือ  UNAMID  -ผู้แปล)
          
ชาวดาร์ฟูร์มากกว่า 2,000,000 คน อาศัยอยู่ในค่ายหลังจากหลั่งไหลอพยพมาเป็นเวลากว่า 4 ปี ของการสู้รบในภูมิภาคแห่งนี้ และตอนนี้ (ปี 2006) พวกเขาต่างเสี่ยงอันตราย เพราะปราศจากผู้รักษาสันติภาพ
          
รัฐบาลของซูดาน และกองทหารอาหรับ ที่สนับสนุนรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าได้ก่ออาชญากรรมสงคราม ต่อประชาชนที่เป็นชาวแอฟริกาผิวดำ ถึงแม้ว่าสหประชาชาติจะไม่ยอมเรียกว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
         
การเจรจาสันติภาพครั้งใหม่ถูกวางแผนไว้ แต่สันติภาพยังคงอยู่อีกไกล


การสู้รบเริ่มต้นอย่างไร ?

การสู้รบเริ่มต้นในภูมิภาคที่ยากจนข้นแค้นและแห้งแล้ง ในช่วงต้นปี 2003 ภายหลังจากที่ฝ่ายขบถเริ่มต้นเล่นงานรัฐบาลโดยกล่าวว่าภูมิภาคตนถูกทอดทิ้งโดยกรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน

        
พวกขบถหลายกลุ่มบอกว่ารัฐบาลกำลังกดขี่ข่มเหงชาวแอฟริกาผิวดำ เพื่อผลประโยชน์ของชาวอาหรับ
       
ดาร์ฟูร์ซึ่งหมายถึง “ดินแดนแห่งขนสัตว์” ต้องเผชิญกับความตึงเครียดต่อเรื่องกรรมสิทธิ์ในแผ่นดิน และสิทธิในการให้สัตว์เลี้ยงมากินหญ้าระหว่างเผ่าชาวอาหรับที่เร่ร่อนและชาวนาจากชุมชนชาวฟูร์มาซซาลีทและซากาวา
      
มีกลุ่มขบถสำคัญอยู่สองกลุ่ม นั่นคือ กองทัพปลดปล่อยซูดาน (Sudan Liberation Army หรือ SLA) และขบวนการเรียกร้องความเสมอภาคกับความยุติธรรม (Justice and Equality Movement หรือ Jem) ถึงแม้ว่าทั้งสองกลุ่มจะแยกทางกันไป แต่บางส่วนก็มาเข้ากับกลุ่มขบถอื่นของชนเผ่า
     
ถึงแม้บัดนี้จะมีฝ่ายขบถเกือบ 12 กลุ่ม เกือบทั้งหมดจะเข้าร่วมการเจรจาในลิเบีย แต่ผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งคือ อับดุล อาหิด เอล นูร์ จะไม่ยอมเข้าร่วมจนกว่าการต่อสู้จะสิ้นสุดลง


รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ ?

รัฐบาลยอมรับว่า ได้ระดมพลเพื่อจัดตั้ง “กองกำลังป้องกันตัวเอง” ในการต่อกรกับพวกขบถแต่ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชนเผ่าจันจาวีด ที่ถูกกล่าวหาว่าพยายามจะ “กวาดล้าง” ชาวแอฟริกาผิวดำ ออกจากดินแดนอันกว้างใหญ่นี้
        
ผู้อพยพจากดาร์ฟูร์บอกว่า ภายหลังจากการโจมตีทางอากาศโดยเครื่องบินของรัฐบาล เผ่าจันจาวีด ได้ขี่ม้าและอูฐเข้ามาในหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อเข่นฆ่าผู้ชาย ข่มขืนผู้หญิง และขโมย เท่าที่จะขโมยได้
         
มีรายงานว่าผู้หญิงจำนวนมากถูกลักพาตัวโดยพวกจันจาวีด เพื่อนำมาเป็นนางบำเรอกามมากกว่า 1 อาทิตย์ ก่อนจะถูกปล่อยตัวไป
        
สหรัฐฯ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนบางกลุ่ม บอกว่า การล้างเผ่าพันธุ์นั้นกำลังเกิดขึ้น ถึงแม้ทีมสอบสวนของสหประชาชาติ ที่ถูกส่งไปซูดานจะบอกว่า ขณะที่มีการก่ออาชญากรรมสงครามอยู่นั้น ไม่มีความพยายามในการล้างเผ่าพันธุ์
    
รัฐบาลของซูดานปฏิเสธว่า ไม่ได้อยู่เบื้องหลังพวกจันจาวีด และประธานาธิบดี โอมาร์ อัล บาชีร์เรียกคนเหล่านั้นว่า “พวกหัวขโมย และกลุ่มโจร”
     
หลังจากที่ต้องถูกกดดันอย่างหนักจากนานาชาติ และการขู่จะยุติความสัมพันธ์กับการช่วยเหลือ รัฐบาลสัญญาว่าจะปลดอาวุธพวกจันจาวีด แต่จนบัดนี้มีหลักฐานเพียงน้อยนิดที่บอกว่าพวกเขาทำตามสัญญา
      
ที่กรุงคาร์ทูม มีการประกาศจะดำเนินคดีกับสมาชิกบางคนของกองกำลังรักษาความมั่นคงที่ถูกกล่าวหาว่า ได้ก่อความชั่วร้ายดังกล่าว แต่นั่นถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านความพยายามขององค์การสหประชาชาติ ที่จะนำผู้ต้องสงสัยคนสำคัญกว่า 50 คน ในการขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่กรุงเฮก


เกิดอะไรขึ้นกับพลเรือนของดาร์ฟูร์ ?

ชาวดาร์ฟูร์หลายล้านคน ได้อพยพออกจากหมู่บ้านที่ถูกทำลาย ในขณะที่จำนวนมากมุ่งหน้าสู่ค่ายใกล้เมืองสำคัญของดาร์ฟูร์ แต่ไม่มีอาหาร น้ำ และยา ที่เพียงพอ
     
กลุ่มจันจาวีนลาดตะเวนอยู่นอกค่าย และชาวดาร์ฟูร์ต่างกล่าวว่า หากพวกเขาดั้นด้นออกจากค่ายเพื่อหาฟืน และน้ำ ไกลเกินไป คนที่เป็นผู้ชายจะถูกฆ่า ส่วนผู้หญิงจะถูกข่มขืน
      
ชาวดาร์ฟูร์กลุ่มอื่นอีกกว่า 200,000 คน ได้ไปหาที่ลี้ภัยที่ชาด ประเทศเพื่อนบ้าน แต่พวกเขาจำนวนมาก ตั้งค่ายอยู่ตามชายแดนที่มีความยาวประมาณ 600 กิโลเมตร และยังคงเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากฝั่งซูดาน
      
กลุ่มผู้อพยพยังหวาดหวั่นต่อความขัดแย้งทางการทูตระหว่างชาดและซูดาน นั่นคือ ทั้ง 2 ประเทศต่างกล่าวหากันและกันว่า สนับสนุนกลุ่มขบถที่เล่นงานพวกตนอยู่
         
พื้นที่ทางตะวันออกของชาดนั้น มีกลุ่มชนเผ่าที่คล้ายคลึงกับของดาร์ฟูร์
          
หน่วยงานที่มาช่วยเหลือจำนวนมาก กำลังทำงานในดาร์ฟูร์ แต่พวกเขาไม่สามารถเข้ามายังพื้นที่อันกว้างใหญ่นี้ได้ เพราะการสู้รบกัน


มีคนตายเท่าไหร่ ?

การที่ทีมช่วยเหลือ และนักวิจัย ไม่สามารถเข้าไปที่ดาร์ฟูร์ได้มากนัก การคำนวณต่อจำนวนผู้เสียชีวิตใน 3 ปีที่ผ่านนั้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
      
นักวิจัยจึงสามารถทำได้แค่ประเมินจำนวนผู้เสียชีวิต โดยใช้การสำรวจในพื้นที่ ซึ่งพวกเขาสามารถเข้าถึงได้
     
งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่เพิ่งถูกตีพิมพ์ในเดือนกันยายน ปี 2006 ระบุจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างไม่ปกติในพื้นที่ซึ่งไม่เป็นมิตรแห่งนี้ถึง “ไม่ต่ำกว่า 200,000 คน”
     
ทีมนักวิจัยของสหรัฐฯ บอกว่า จำนวนผู้เสียชีวิตตามการคำนวณของพวกเขานั้นน่าสนใจ และน่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบันนี้ แต่พวกเขาไม่ได้แยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างคนที่ตายเพราะความรุนแรง และคนที่ตายเพราะอดอยากอาหาร หรือโรคภัยในค่ายผู้อพยพต่าง ๆ
    
จำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงนั้นเป็นปัจจัยสำคัญ ในการจะให้การนิยามว่า ความตายในดาร์ฟูร์นั้นคือ “การล้างเผ่าพันธุ์” หรือ “สถานการณ์ที่ถูกปรุงแต่งเสียเกินจริง” ตามที่รัฐบาลซูดานได้แถลง


มีการเจรจาก่อนหน้านี้หรือไม่ ?

เยอะแยะเลยล่ะ

ผู้นำของกลุ่มปลดปล่อยซูดาน คือ มินนี มินาวี ซึ่งลงนามในสัญญาสันติภาพในปี 2006 ภายหลังจากมีการเจรจาอันยาวนานในประเทศไนจีเรีย ได้รับงบประมาณมหาศาล แต่นักรบของเขาก็ถูกกล่าวหาโดยองค์การนิรโทษกรรมสากลว่า ได้ทารุณกรรมประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งต่อต้านการเจรจาสันติภาพ
       
กลุ่มขบถกลุ่มอื่นกลับไม่ยอมลงนามในสัญญา


ความรุนแรง และการขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ของตัวเอง ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่สัญญาได้รับการลงนาม
       
ในเดือนมีนาคม ปี 2009  โอมาร์ อัล บาชีร์ กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรก ที่ถูกฟ้องโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ ขณะดำรงตำแหน่ง ในข้อหายุยงให้มีการสังหารหมู่ ข่มขืน และปล้นสะดมพลเรือนในดาร์ฟูร์ หมายจับตัวบาชีร์ถูกออกภายหลังจากศาลอาญาระหว่างประเทศได้ออกหมายจับอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และผู้นำของกลุ่มติดอาวุธจันจาวีด แต่รัฐบาลซูดาน ไม่ได้ส่งมอบผู้ต้องสงสัยเหล่านั้นให้แก่ศาลเลย นอกจากนี้อีกหลายประเทศก็ไม่ให้การร่วมมือกับศาล บาชีร์จึงมักรอดพ้นจากการถูกจับกุมตัวได้เสมอ เวลาอยู่ในต่างแดน ดังเช่นในปี 2015 เขาเดินทางไปเยือนแอฟริกาใต้ และสามารถบินออกนอกประเทศได้ โดยการช่วยเหลือจากประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ แม้ว่าศาลภายในประเทศจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอาญาระหว่างประเทศ ก็ตาม 
       
แม้จะมีการลงนามสันติภาพอีกครั้งที่ประเทศกาตาร์ ในปี 2011 และประเทศต่าง ๆ ต้องแบกรับรายจ่าย ซึ่งกลายเป็นงบประมาณของกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ถึงปีละ 1,400,000,000 เหรียญฯ แต่พวกเขาก็ประสบความล้มเหลว ดังจะเห็นได้จากความขัดแย้งที่ยังปะทุขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุสำคัญก็คือ จำนวนของบุคลากรที่น้อยเกินไป หากเทียบกับขนาดของประเทศที่ใหญ่เท่ากับฝรั่งเศส นอกจากนี้ ผู้รักษาสันติภาพเหล่านั้น ดูจะเมินเฉยในหลายกรณีที่ชาวดาร์ฟูร์ถูกโจมตี อันเป็นจุดอ่อนของทหารต่างชาติ ซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองมากกว่าประชาชน ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับตัวเอง (อีกทั้งยังเกิดกรณีอื้อฉาวของทหารเหล่านั้น ที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์ในประเทศต่าง ๆ ที่ตนประจำการอยู่ ) ดังนั้น ชาวดาร์ฟูร์ในปัจจุบัน ยังคงทนทุกข์ทรมาน ด้วยปัญหานานัปการ ตามการคาดคะเนของสหประชาชาติ ชาวดาร์ฟูร์กว่า 2.7 ล้านคน ยังคงอยู่ในค่ายผู้อพยพภายในประเทศของตน และกว่า 4.7 ล้านคนยังคงพึ่งพิงกับการช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมจากต่างประเทศ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net