กกต.เตรียมส่ง 'ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ' ให้รัฐบาล

เผย กกต.จัดทำกฎหมายเสร็จแล้ว อยู่ในขึ้นตอนส่งให้รัฐบาลพิจารณา เบื้องต้นจะมีประมาณ 16 มาตรา ผู้ที่ขัดขวางการทำประชามติ ต้องโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท ด้าน 'อภิสิทธิ์' แนะรัฐบาลทำความชัดเจน ส.ว.สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน
 
5 มี.ค. 2559 นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ ถึงความคืบหน้าในการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า ขณะนี้ กกต.ได้จัดทำกฎหมายเสร็จแล้ว อยู่ในขึ้นตอนส่งให้รัฐบาลพิจารณา เบื้องต้นจะมีประมาณ 16 มาตรา โดยบทกำหนดโทษยังคงเดิม คือ ผู้ที่ขัดขวางการทำประชามติ ต้องโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท
 
“เหตุที่ต้องกำหนดโทษรุนแรง เพราะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเหมือนวันที่ 2 ก.พ. 57 อีก อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ไปมองที่บทลงโทษ ว่ามีความรุนแรง เพราะหากไม่ทำผิด ก็ไม่ต้องกลัว เบื้องต้นการออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติยังคงทำได้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ” นายศุภชัย กล่าว
 
'อภิสิทธิ์' แนะรัฐบาลทำความชัดเจน ส.ว.สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ข้อเสนอของรัฐบาลที่ให้มี ส.ว..สรรหาทั้งหมด ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ว่า การเลือก ส.ว.สรรหา หรือ ส.ว.ที่เลือกอ้อม เลือกไขว้กัน แบบที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอ ไม่ต่างกัน แต่ส่วนตัวต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง คือใ นอนาคต ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนการที่ คสช.สามารถเข้าไปนั่งเป็น ส.ว.สรรหาได้นั้น เห็นว่าคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องระวัง หากหวังเพื่อจะสืบทอดอำนาจ ก็จะเป็นปมความขัดแย้ง ดังนั้น ต้องทำให้เกิดความชัดเจนว่า การมี ส.ว.สรรหาในระยะเวลา 5 ปี จะทำเรื่องใดให้มีความชัดเจนบ้าง เพราะเท่าที่เห็นมีแค่เรื่องการปฏิรูปเพียงเรื่องเดียว
 
นายอภิสิทธื กล่าวว่า ที่มีการอ้างว่า การมี ส.ว.สรรหาใน 5 ปี เพื่อที่จะทำเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปนั้น  คิดว่าในที่สุดการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติจะสำเร็จและยั่งยืนได้ ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น หากไปทำยุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง และหวังให้เกิดการผูกมัดอีก 20 ปี โดยที่ประชาชนหรือพรรคการเมืองต่างๆ ไม่เห็นด้วย การปฎิรูปก็จะเกิดขึ้นยาก และจะเป็นความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่ขัดข้องที่จะมียุทธศาสตร์ชาติหรือการปฏิรูปที่ประชาชนมีส่วนร่วม
 
“ข้อเสนอเหล่านี้จะส่งผลต่อการลงประชามติหรือไม่ ก็อยู่ที่ กรธ.ซึ่งคิดว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และกรธ.คงต้องพิจารณาให้ดี ว่าอะไรที่มีเหตุ มีผล เหมาะสม ก็ควรรับฟังทุกฝ่าย ไม่ใช่ฟังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่อะไรที่เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ไปกระทบต่อตัวโครงสร้างหลัก และจะเป็นปัญหาก็ไม่ควรรับไว้   การแสดงความคิดเห็นของนักการเมืองเกี่ยวกับการปฏิรูป และการร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีสิทธิแสดงความคิดเห็นเท่ากับประชาชน  และการจะรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ ควรอยู่ที่เหตุผล ไม่ใช่ใครเป็นคนพูด ถ้าตั้งธงว่านักการเมืองพูดแล้วไม่ฟัง ก็จะมีคนตั้งธงอีกว่าเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญเขาไม่รับ แล้วจะเดินหน้าอย่างไร สุดท้ายจะกลับไปเรื่องของพวก และทะเลาะกันเหมือนเดิม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
ส่วนกรณีที่ กกต. กำหนดบทลงโทษบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไว้รุนแรงมาก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หลักของกฎหมายประชามติต้องเหมือนกับกฎหมายเลือกตั้ง การรณรงค์เคลื่อนไหวตราบเท่าที่ไม่ได้ไปยั่วยุให้เกิดความรุนแรง บิดเบือน หลอกลวง ก็สามารถทำได้ ซึ่งตรงนี้ต้องระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมาย
 
 
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท