Skip to main content
sharethis

พิสูจน์มาตรฐานจริยธรรม สมเกียรติ จี้สื่อมวลชนผู้ทรงจรรยาบรรณ นำโดยกลุ่มเดอะเนชั่น งดรับโฆษณาจากสินค้าที่เคยหนุนสรยุทธ พร้อมเขียนบทความชี้การละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาและจำเลย กรณีสรยุทธ

4 ก.พ. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนทวีตผ่านทวิตเตอร์ ' @somkiatonwimon' ถึงสื่อมวลชนผู้ทรงจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นความตอนท้ายของบทความของเขาที่ชื่อ 'สื่อมวลชน กับ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ของผู้ต้องหาและจำเลย กรณี สรยุทธ สุทัศนะจินดา' 

"เมื่อใช้จริยธรรมความดีห้ำหั่นทำลาย ช่อง 3 และคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา กันมาแรงเต็มที่แล้ว ขอเรียกร้องให้บรรดาองค์กรสื่อ หนังสือพิมพ์-วิทยุ-และโทรทัศน์ทั้งหลาย นำโดยกลุ่มเดอะเนชั่น จงปฏิเสธไม่รับโฆษณาจากสินค้าและกิจการที่เคยสนับสนุนช่อง 2 และคุณสรยุทธ กันทั้งหมด จะได้เป็นผู้ทรงจรรยาบรรณกันอย่างหาที่เปรียบมิได้" สมเกียรติ กล่าวท้ยบทความดังกล่าว

สื่อมวลชน กับ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ของผู้ต้องหาและจำเลย กรณี สรยุทธ สุทัศนะจินดา

สำหรับบทความชื่อ 'สื่อมวลชน กับ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ของผู้ต้องหาและจำเลย กรณี สรยุทธ สุทัศนะจินดา' ของ สมเกียรติ ได้เขียน ลงในเฟซบุ๊กชื่อ 'SOMKIAT ONWIMON' โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”) หมวด 3 ว่าด้วย “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” บัญญัติไว้ในมาตรา 33 มีสองวรรค ดังนี้ :-
 
“มาตรา 33 ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด
ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
 
ต่อมา ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 (ฉบับ คมช.)ในส่วนที่ 4 ว่าด้วย “สิทธิในกระบวนการยุติธรรม” ได้ลอกเอามาตรา 33 ทุกถ้อยคำมาเขียนเป็นมาตรา 39 ในวรรคสองและวรรคสาม ดังนี้ :-
มาตรา 39 ................................................................................................................
 
“ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
 
ต่อมาอีก ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 (ฉบับปฏิรูป ของ คสช.) มาตราว่าด้วยเรื่องเดียวกันก็ถูกนำมาเขียนไว้ โดยเอาทั้งหมดสองวรรคมารวมกันเป็นวรรคสองวรรคเดียวของมาตรา 37 ในส่วนที่ 2 เรื่อง “สิทธิเสรีภาพของบุคคล” ตอนที่ 2 ว่าด้วย “สิทธิมนุษยชน” โดยเปลี่ยนเพียงคำว่า “ต้อง” เป็น “ให้” เท่านั้น ดังนี้ :-
มาตรา 37 ..............................................................................................................
 
“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
 
………………………………………………………………………………………...................……
 
ที่ต้องคำนึงคือ รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่กล่าวมาต้องการให้พลเมืองไทยทุกคนเคารพในสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องคดีต่างๆและกระบวนการพิพากษาตัดสินคดียังไม่ถึงที่สุดในชั้นศาลฏีกา เพราะต้อง(หรือให้)ถือว่าคำพิพากษาศาลฎีกาถือเป็นที่สุด จะเป็นผู้กระทำความผิด รับโทษ ลดโทษ หรือเป็นผู้บริสุทธิ์ พ้นโทษอย่างไร ก็ตามนั้น
 
และที่ต้องคำนึงเป็นพิเศษคือ รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปของ คสช. ถือว่าเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นสิทธิมนุษยชน อันเป็นสากล ไม่ใช่เพียงแค่เป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังเช่นในรัฐธรรมนูญ คมช.ปี 2550 หรือเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพธรรมดา ดังเช่นในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
 
เรื่องนี้ ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และเป็นหนึ่งในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย ผมถือเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองพลเมืองไทยทุกคนเท่าเทียมกัน ในปี 2540 เราได้อภิปรายถกเถียงกันมากจนได้ข้อยุติที่ให้ความเคารพต่อประชาชนอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับเรื่องอื่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรม เช่นเรื่องการเคารพในสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นอยู่ส่วนตัวของประชาชนก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการเคารพสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชน ยิ่งสำหรับสื่อมวลชนด้วยแล้ว ถือเป็นภาระและหน้าที่สำคัญที่จะต้องเคารพประชาชนทุกคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือที่ต้องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของตน
 
ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 นั้นผมได้ยกตัวอย่างที่ คุณใหม่ เจริญปุระ ถูกหนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงพิมพ์เผยแพร่ภาพอันไม่เหมาะไม่ควรเป็นภาพส่วนตัวในที่ระโหฐานอันเป็นส่วนตัวของเธอเอง ผมทำข่าวออกอากาศทางช่อง 11 ที่ผมทำงานอยู่ในปี 2539 ชี้ถึงความผิดจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่ไทยรัฐก็ชี้แจงว่ามีสิทธิประจานภาพเปลือยของคุณใหม่ได้ เพราะคุณใหม่เป็นบุคคลสาธารณะ วันรุ่งขึ้นช่อง 11 และ ผมได้รับความขอบคุณจากคุณใหม่ เจริญปุระ เป็นกระเช้าดอกไม้และบัตรแสดงความขอบคุณ ต่อมาผมพบคุณใหม่โดยบังเอิญที่ตลาดสด อตก. เธอก็ยังมีไมตรีไหว้ทักทายขอบคุณผมอีกครั้ง ถึงวันนี้ผมยังประทับใจไม่มีวันลืม
 
การปกป้องบุคคลที่ตกเป็นข่าว เป็นหน้าที่สำคัญตามจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อสารมวลชน และยิ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยแล้ว จรรยาบรรณวิชาชีพสื่อสารมวลชนจึงเป็น “กฎเหล็ก” ที่ผมต้องทำตามและคาดหวังให้สื่อมวลชนอื่นยึดมั่นทำตาม เสมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
 
เมื่อใครตกเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยในคดีความต่างๆ เราจำต้องรอคำพิพากษาของศาลให้ที่ถึงที่สุดก่อนจึงจะมีสิทธิรายงานว่าประชาชนผู้เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหานั้นเป็นผู้ผิดแท้จริง ระหว่างยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น เราก็มีหน้าที่รายงานข่าวคดีความที่เกี่ยวข้องไปตามปรกติ แต่ต้องรายงานเสริมให้ผู้รับข่าวสารทั่วไปรับรู้ว่า “ยังไม่ถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้มีความผิด” ต้องรายงานข่าวให้สาธารณชนเคารพในสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วย
 
แต่ก็น่าเสียใจที่พบว่าสื่อมวลชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยกันอย่างไม่ลดรา ตำรวจมักจะนำผู้ต้องหามาจัดการแถลงข่าว เปิดตัว เปิดหน้า ให้สื่อมวลชนได้ถ่ายภาพและกรรโชกสัมภาษณ์กันอย่างไม่คำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นๆ
 
ใครถูกจับก็กลายเป็นผู้ผิดตั้งแต่ยังไม่ดำเนินคดีแล้ว! เพราะตำรวจ และ สื่อมวลชน ตัดสินให้ก่อน ทำลายเกียรติยศชื่อเสียงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนผู้ถูกจับกุมเป็นผู้ต้องหาตั้งแต่ยังไม่ดำเนินคดี
 
ทุกวันนี้ก็ยังทำกันอยู่โดยไม่แยแสรัฐธรรมนูญ! ไม่แยแสสิทธิมนุษยชน!
 
กรณีคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ก็ไม่เป็นข้อยกเว้น แต่สื่อมวลชนกลับจะทำกันหนักยิ่งกว่าใคร ทำกันโดยอ้างการปกป้องจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อสารมวลชนของตนเอง ตัดสินและจูงใจให้สาธารณชนลงโทษคุณสรยุทธ ตั้งแต่เป็นข่าวกับ อสมท. ตั้งแต่ปี 2549 แล้ว การเสนอข่าวตามปรกติถูกทำให้กลายเป็นกระบวนการไล่ล่าตำหนิประนามคุณสรยุทธ และไทยทีวีสีช่อง 3 ข้ามไปจนถึงสินค้าและบริษัทห้างร้านธุรกิจอุตสาหกรรมที่ลงโฆษณาสนับสนุนรายการของคุณสรยุทธและรายการอื่นๆของช่อง 3 โดยรวม กระบวนการพิฆาตไล่ล่าคุณสรยุทธและช่อง 3 นี้ เรียกร้องให้คุณสรยุทธลาออกจากงานสื่อสารมวลและงานทำรายการโทรทัศน์ที่ช่อง 3 เป็นสำคัญ บ้างก็รณรงค์ให้ปิดกั้นประท้วงช่อง 3 และสินค้าต่างๆที่ลงโฆษณาในรายการของคุณสรยุทธและช่อง 3
 
กระบวนการกดดันคุณสรยุทธนี้ทำโดยองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนและสื่อสารมวลชนผู้อาวุโสและมีชื่อเสียงในวงการ ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) และองค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
 
สำหรับองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น และประชาชนทั่วไปนั้น ย่อมมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะรณรงค์ทำกิจกรรมใดๆต่อกรณีคุณสรยุทธ เพราะมีสิทธิเสรีภาพโดยไม่มีกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพอันใดมาจำกัด จึงสามารถตำหนิวิพากษ์และเรียกร้องได้ต่างๆนาๆ
 
แต่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเอง ทั้งส่วนบุคคล และที่เป็นองค์กรวิชาชีพ ไม่มีสิทธิเรียกร้องไล่ล่ากดดันคุณสรยุทธ และช่อง 3 เป็นการส่วนตัว ทว่าสื่อมวลชนมีหน้าที่เพียงรายงานข่าวความจริงที่ปรากฏทุกแง่มุม และเพิ่มเติมความรู้ให้สาธารณชนมีสติในการคิดตัดสินชีวิตและงานของคุณสรยุทธและช่อง 3 สื่อมวลชนมิได้มีหน้าที่ไปรณรงค์ให้เกิดความเกลียดชังหรือต่อต้านคุณสรยุทธและช่อง 3
 
หากประชาชนจะต่อต้านรณรงค์เอง ก็ทำได้ เป็นสิทธิของประชาชน
 
สื่อมวลชนมีหน้าที่ให้ข่าวสารและความรู้ที่ถูกต้องเป็นประโยชน์ เพื่อการสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยที่สงบงดงามและสมบูรณ์ โดยไม่ทำตัวเป็นนักรณรงค์ให้เกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่ของตน
 
ในกรณีข่าวคุณสรยุทธนั้น การทำข่าวของสื่อมวลชนเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติประหนึ่งว่าคุณสรยุทธเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยผู้กระทำความผิดสมบูรณ์แล้ว ทำกันเช่นนี้ตั้งแต่คดียังไม่ขึ้นศาล จนถึงวันนี้ที่มีคำตัดสินของศาลชั้นต้น เป็นการทำงานที่ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชนแต่แรกเริ่ม เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษย์ชน
 
มีความหมายเท่ากับว่าสื่อมวลชนละเมิดสิทธิมนุษยชนของคุณสรยุทธ
 
เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด
 
ประชาชนทั่วไป รวมทั้งองค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นใดๆ จะคิดหรือจะรณรงค์ต่อต้านอย่างไรกับคุณสรยุทธก็ย่อมได้ในเมื่อไม่ใช่สื่อมวลชน ไม่มีกรอบจรรยบรรณวิชาชีพมากำกับ และมิได้มีอำนาจการสื่อสารเท่ากับองค์กรของสื่อมวลชน แต่กระนั้นก็ต้องถือว่าเป็นการล่วงล้ำเข้าเขตสิทธิมนุษยชนของคุณสรยุทธแล้ว
 
ส่วนคุณสรยุทธเอง ก็มีสิทธิและหน้าที่ที่จะคิดตัดสินใจหาทางออกให้กับตัวเองโดยอิสระ โดยจะต้องปราศจากแรงเย้ยหยันกดดันจากเพื่อนร่วมวิชาชีพและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จนคุณสรยุทธหาความอิสระที่จะตัดสินใจใดๆเพื่อรักษาเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองได้
 
การตัดสินใจของคุณสรยุทธที่ขอหยุดการทำงานในรายการที่ช่อง 3 แล้วนั้น หากไม่มีแรงกดดันอันล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นการตัดสินใจที่สงบงดงาม เป็นที่ภูมิใจของตนเอง ครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนร่วมวิชาชีพ อย่างสมภาคภูมิ จากนั้นคุณสรยุทธก็จะได้ไปต่อสู้คดีในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต่อไปได้อย่างสง่า
 
แต่สื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพปิดประตูตาย ไม่ให้ทางออกอันมีเกียรติแก่คุณสรยุทธเลย
 
ผม ในฐานะผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่แรกเริ่มจึงเฝ้ามองความดีงามของสื่อมวลชนอย่างหวาดผวาและเวทนา
 
หากสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนทั้งหลายจะพิพากษาคุณสรยุทธก็ควรต้องถือคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นที่สุด เท่านั้นเอง ไม่ใช่มาเป็นผู้พิพากษาเสียเองโดยไม่รั้งรอ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องให้ข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่ใช่ให้อารมณ์ แก่สาธารณะชน
 
ในหลักวิชาการสื่อสารการเมืองนั้น มีหลักสำคัญที่สื่อพึงปฏิบัติ และนำมาประยุกต์ใช้กรณีการทำข่าวคุณสรยุทธ ดังนี้ :-
 
1. รายงานข่าวอันเป็นความจริงให้ครอบคลุมและรายงานความจริงนั้นอย่างซื่อสัตย์โดยไม่เห็นแก่ความลำบากสิ้นเปลืองในด้านค่าใช้จ่าย, เวลา, และทรัพยากรอื่น หมายความว่าจะต้องเสนอข่าวคุณสรยุทธในเนื้อหาที่ถูกต้องเป็นจริงครบถ้วน โดยไม่แต่งเติมความเห็นหรือความรู้สึกของตนปนเปเข้าไป
 
2. รายงานข่าวโดยเสริมความรู้ให้กับพลเมืองหรือสาธารณชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดี หมายความว่า จะต้องให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชน ที่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งในกรณีนี้คือคุณสรยุทธ ว่าจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ดังนั้นจึงจำต้องอธิบายว่าไม่ใช่หน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะทำตัวเป็นนักเรียกร้องรณรงค์เพื่อให้มีการลงโทษคุณสรยุทธและช่อง 3 หรือเร่งเร้าให้คุณสรยุทธลงโทษตัวเอง ทั้งๆที่คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ต้องเปิดทางให้คุณสรยุทธคิดตัดสินใจเองโดยไร้แรงกดดัน
 
3. สร้างองค์กรสื่อให้เป็นเวทีสาธารณะ เปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นที่แตกต่างได้ใช้หน้าหนังสือพิมพ์ของตน ได้ร่วมใช้เวลาออกอากาศทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของตน และให้เป็นเวทีที่สร้างสรรค์เพื่อหาทางออกที่ถูกต้องเหมาะสม
 
4. การสร้างสังคมประชาธิปไตย การทำงานของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวคุณสรยุทธในช่วงกว่า 8 ปีที่ผ่านมา สร้างกระแสความคิดแตกหักเรื่องความผิดของคุณสรยุทธ ตั้งแต่ก่อนขึ้นศาล จนมาถึงคำตัดสินของศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่ใช่การสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องในการสร้างสังคมประชาธิปไตย และการที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์งดงามปราศจากการทุจริตประพฤติมิชอบและคอร์รัปชั่นนั้น สื่อมวลชนควรต้องขยายผลข่าวคุณสรยุทธให้กว้างขึ้น ให้ครอบคลุมการค้นหาความจริงในกระบวนการทุจริตในวงการธุรกิจการกระจายเสียงและแพร่ภาพให้กระจ่างขึ้นทั้งระบบ ทั้งใน อสมท. และสถานีโทรทัศน์ ช่องอื่นๆด้วย เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย และภาคปฏิบัติทั้งหมดทั้งระบบ
 
5. สื่อมวลชนต้องยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัดแน่นเหนียว โดยต้องเริ่มที่การไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ และเคารพในสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลย ในกรณีนี้คือต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา สื่อมวลชนจะมาขอสิทธิพิเศษละเมิดสิทธิมนุษชนของคุณสรยุทธ และขอละเลยจรรยาบรรณวิชาชีพของตนเองก่อน เพื่อไปบังคับกดดันผู้ต้องหาหรือจำเลยคือคุณสรยุทธ ซึ่งบังเอิญเป็นสื่อมวลชนด้วยกันให้เคารพจรรยาบรรณสื่อมวลชนก่อนมิได้
 
แต่ที่ปรากฎ สื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน เริ่มต้นก็ละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพของตนเองโดยละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาและจำเลยเสียแล้ว ความน่าเคารพเชื่อถือของสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพของตนก็หมดไป
 
การอ้างมาตรฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณอันสูงส่งขององค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน, องค์กรต่อต้านการทุจริต, และองค์กรกำกับดูและการสื่อสารแพร่ภาพกระจายเสียง เป็นอาวุธร้ายแรง พิฆาตฟาดฟันห้ำหั่นทำลายอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาและจำเลย ซึ่งศาลยังมิได้ตัดสินคดีถึงที่สุด
 
เมื่อทำกันมาแรงเต็มที่แล้ว ก็เชิญท่านผู้ทรงจริยธรรมทั้งหลายจงได้ปฏิเสธไม่รับโฆษณาจากสินค้าและกิจการที่เคยสนับสนุนช่อง 3 และคุณสรยุทธกันทั้งหมด
 
จะได้เป็นผู้ทรงจรรยาบรรณกันอย่างหาที่เปรียบมิได้!
 
สมเกียรติ อ่อนวิมล 4 มีนาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net