Skip to main content
sharethis

เครื่องดื่มยอดนิยมของโลกอย่างเบียร์นั้น นอกจาก 'ดราฟท์เบียร์' ที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักกันแล้ว ยังมีเบียร์อีกส่วนหนึ่งซึ่งมาจากโรงกลั่นบ้านๆ ในระดับชุมชนอย่าง 'คราฟท์เบียร์' ทีในสหรัฐฯ กำลังเฟื่องฟูและสามารถต่อกรกับบรรษัทเบียร์ขนาดยักษ์ได้ดีพอสมควร จากการผนึกกำลังระหว่างกลุ่มโรงกลั่นท้องถิ่น

ที่มาของภาพประกอบ: Paul Joseph/CC 2.0/Wikipedia

4 มี.ค. 2559  นิตยสาร Yes! ที่เผยแพร่บทวิเคราะห์และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมือง นำเสนอเรื่องราวของวัฒนธรรม 'คราฟท์เบียร์' (Craft Beer) หรือ "เบียร์ทำมือ" ที่มาจากการกลั่นโดยผู้ผลิตอิสระรายย่อย ซึ่งไม่เพียงแค่เรื่องของรสชาติหรือกระบวนการผลิตเท่านั้น เอ.ซี. ชิลตัน นักข่าวและคอลัมนิสต์มือรางวัลจากฟลอริดา เขียนถึงคราฟท์เบียร์ว่ามันยังเป็นเรื่องของชุมชนและการรวมกลุ่มของผู้ผลิตรายย่อยอีกด้วย

เมื่อช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาคราฟท์เบียร์มีตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างน่าจับตามอง โดยจากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตเบียร์ในสหรัฐฯ (Brewers Association หรือ BA) ระบุว่าในปี 2537 มีคราฟท์เบียร์อยู่ในตลาดเบียร์สหรัฐฯ ร้อยละ 1.3 เท่านั้น ขณะที่ในปี 2557 คราฟท์เบียร์มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11

เอาเข้าจริงแล้วในปัจจุบันถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีจำนวนโรงกลั่นรายย่อยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ จากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2416 ช่วงก่อนยุคที่ทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอลผิดกฎหมาย (Prohibition) มีจำนวนโรงกลั่นที่เสิร์ฟเบียร์ในท้องถิ่นมากถึง 4,131 แห่ง แต่หลังจากยุคสั่งห้ามเหล้าเบียร์กลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่ก็ยึดกุมอำนาจ ทำให้เกิดเบียร์ในระดับนานาชาติจนดูเหมือนว่าสหรัฐฯ ไม่น่าจะกลับมามีจำนวนผู้ผลิตเบียร์รายย่อยในท้องถิ่นมากเท่าเดิมอีก แต่ในปัจจุบันข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตเบียร์ในสหรัฐฯ ระบุว่ามีจำนวนโรงกลั่นท้องถิ่น 4,144 แห่ง และมีอีก 18,000 แห่งที่เตรียดเปิดกิจการ

ในขณะที่ชาวอเมริกันส่วนมากยังคงดื่มเบียร์จากบริษัทขนาดใหญ่ แต่คราฟท์เบียร์ก็กำลังเป็นที่น่าจับตามองจากการที่มีมูลค่าอุตสาหกรรม 19,600 ล้านดอลลาร์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

"นักกลั่นเบียร์มืออาชีพล้วนแล้วแต่เริ่มต้นมาจากการเป็นนักกลั่นมือสมัครเล่นระดับบ้านๆ" จูเลีย เฮิร์ซ ผู้อำนวยการโครงการคราฟท์เบียร์ของสมาคมผู้ผลิตเบียร์ในสหรัฐฯ กล่าว เธอบอกอีกว่าถึงแม้นักกลั่นเบียร์ตัวเล็กๆ บางคนจะเข้าสู่วงการมืออาชีพแตรพวกเขาส่วนใหญ่ก็ยังคงสืบทอดวิธีการกลั่นระดับบ้านๆ ของพวกเขาไว้เพราะเชื่อว่าเป็นสูตรการกลั่นเบียร์ที่ดีที่สุด ดังนั้นแล้วการผลิตเบียร์ที่ดีไม่ได้มาจากการแข่งขันแย่งชิงกัน แต่มาจากความร่วมมือกัน

อย่างไรก็ตามในบทความของ Yes! ก็ระบุว่ากลุ่มบรรษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่ก็พยายามตอบโต้กระแสเบียร์ระดับท้องถิ่นด้วยการจับมือกับบรรษัทที่ใหญ่โตใกล้เคียงัน อย่างกรณีที่ในปี 2558 ที่ Anheuser-Busch InBev บรรษัทเบียร์ข้ามชาติเข้าของแบรนด์ Budweiser ที่เป็นบรรษัทเบียร์ใหญ่ที่สุดโดยมีส่วนแบ่งตาดโลกร้อยละ 25 วางแผนซื้อกิจการของบรรษัทที่ใหญ่เป็นอันดับสองอย่าง SABMiller รวมถึงมีการกว้านซื้อกิจการระดับท้องถิ่นยกตัวอย่างเช่น Elysian Brewing ในซีแอตเทิล แล้วยังคงนำเสนอสินค้าในฐานะเบียร์ท้องถิ่นจากโรงกลั่นขนาดย่อม

ชิลตัน ผู้เขียนบทความเรื่องนี้ใน Yes! ระบุว่าจากที่เธอได้พูดคุยกับโรงกลั่นระดับท้องถิ่นทั้งหลายพวกเขาต่างก็พูดถึงความจำเป็นในการต้องร่วมมือกันเพื่อที่จะต่อสู้กรกับบรรษัทเบียร์ขนาดใหญ่ โดยสตีฟ แวกเนอรื ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง Stone Brewing Co. กล่าวว่าเขาส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเป็นชุมชนเพื่อให้มีการช่วยโปรโมตกิจการของกันและกัน

เป็นเรื่องน่าสนใจที่บริษัทคราฟท์เบียร์เล็กๆ เหล่านี้ส่งผลสะเทือนในระดับที่ทำให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ ผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้คือเมนเนตต์ เชอร์รี ศาตราจารย์ด้านบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยซานมาร์กอสแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย เขายังประเมินแนวโน้มอีกว่ากลุ่มคราฟท์เบียร์ท้องถิ่นเหล่านี้ไม่น่าจะถูกกลืนโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ได้จากที่พวกเขามีการรักษาจรรยาบรรณที่จะเป็นอิสระจากบรรษัทเหล่านี้

เชอร์รี่นำวิธีการประกอบกิจการเชิงชุมชนไปบรรยายโดยยกตัวอย่างกรณีที่ Stone Brewing Co. กิจการคราฟทืเบียร์ท้องถิ่นที่ทำกำไรได้มากให้ทุนแก่กิจการอื่น อย่าง Plan 9 Ale House ในแคลิฟอร์เนีย ทั้งนี้ยังมีลักษณะความสัมพันธ์แบบที่เคยเป็นอดีตคู่แข่งแต่ก็มีการร่วมมือกันในเชิงเอื้อประโยชน์ รวมถึงการที่สมาคมโรงกลั่นท้องถิ่นในแอชวิลล์ลงมติอนุญาตให้ Sierra Nevada กิจการโรงกลั่นจากท้องถิ่นอื่นมีการขยายสาขาเข้ามาในท้องถิ่นของตนทำให้ Sierra Nevada นำวัตถุดิบอย่างธัญพืชและมอลท์เข้ามาให้คู่แข่งรายย่อยซื้อได้จากที่ก่อนหน้านี้โรงกลั่นรายเล็กถูกบีบให้ต้องซื้อวัตถุดิบในราคาสูง แต่หลังจาก Sierra Nevada เข้ามาทำให้พวกเขาสามารถซื้อวัตถุดิบได้ในราคาต่ำกว่าเดิมร้อยละ 50

ไบรอัน กรอสแมน ผู้จัดการทั่วไปของ Sierra Nevada กล่าวว่าการที่สามารถเพิ่มจำนวนนักดื่มให้หันมาดื่มคราฟท์เบียร์เพิ่มมากขึ้นได้ถือเป็นชัยชนะสำหรับคนทำโรงกลั่นเบียร์ทกคนไม่ว่าจะดื่มที่ไหนก็ตาม เชอร์รีอธิบายถึงแนวคิดแบบของ Sierra Nevada และ Stone Brewing Co. ว่าเป็นกลยุทธ์การ "ขยายชิ้นพาย" หรือก็คือการขยายขนาดของตลาดโดยอาศัยความร่วมมือจากกิจการเล็กๆ เหล่านี้ แทนที่จะเน้นการเข้าไป "แย่งชิ้นพาย" กันอย่างเดียว

การ "ขยายชิ้นพาย" ดังกล่าวนี้ได้ผลจริงในกรณีนอร์ทแคโรไลนาที่มีการขยายจำนวนโรงกลั่นรายย่อยจาก 45 เป็น 120 แห่ง ระหว่างปี 2553-2557 ซึ่งวัฒนธรมคราฟท์เบียร์และการจัดทัวร์หรือจัดงานเกียวกับสินค้าทำมือนี้ส่งผลดึงดูดการท่องเที่ยวไปในตัวด้วย ทำให้การท่องเที่ยวเติบโตขึ้นระหว่างปี 2555-2556 ร้อยละ 8

ทั้งนี้กลุ่มคราฟท์เบียร์รายย่อยยังมีการระดมทุนเพื่อการกุศลซึ่งมีการบริจาคโดยเฉลี่ย 3.25 ดอลลาร์ต่อจำนวนเบียร์ที่กลั่นได้ 1 บาร์เรล เทียบกับบรรษัทยักษ์ใหญ่อย่าง AB InBev แล้วพวกเขามีโครงการการกุศลที่ให้เงินบริจาคโดยเฉลี่ยแค่ 0.35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น

"ผู้ผลิตเบียร์รายย่อยเหล่านี้ไม่ได้เปิดธุรกิจเพียงเพื่อผลกำไรเพียงอย่างเดียว พวกเขามีอเมริกันดรีม (การไขว่คว้าความฝันเพื่อ "ประสบความสำเร็จ" ในแบบอเมริกันชน) ในอีกแบบหนึ่ง ที่คุณสามารถใช้โรงกลั่นของคุณเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชุมชนของคุณได้" เฮิร์ซกล่าว

ถึงแม้ว่าบรรษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่จะใช้วิธีการซื้อกิจการโรงกลั่นท้องถิ่นและมีการเปิดบาร์เบียร์ในชุมชน แต่ในเรื่องนี้ก็ไม่สามารถบีบให้กลุ่มกิจการท้องถิ่นต้องปิดตัวลงไปได้ เฮิร์ซและคนอื่นๆมองว่าคนดื่มคราฟท์เบียร์ส่วนใหญ่ฉลาดพอที่จะแยกแยกออกว่าเบียร์ไหนเป็นของโรงกลั่นท้องถิ่นที่ดื่มแล้วจะถือเป็นการอุดหนุนชุมชน และเบียร์ไหนจะเป็นการส่งเงินไปให้กับบรรษัทยักษ์ กลุ่มคนรักเบียร์บางคนถึงขั้นร่วมกันฟ้องร้องในกรณีที่บรรษัทยักษ์พยายามควบรวมกิจการท้องถิ่นขนาดเล็กถือเป็นการละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด

ในเรื่องนี้บทความของ Yes! ชื่นชมว่าขบวนการคราฟท์เบียร์มีการจัดตั้งและการจัดการที่ดีมากๆ ในแอชวิลล์กลุ่มโรงกลั่นทั้งหลายมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องตั้งแต่การเรียกร้องกฎหมายเบียร์ที่เป็นธรรมมากขึ้นไปจนถึงเรียกร้องการปรับปรุงให้เมืองน่าเดินมากขึ้น เป็นไปได้ว่าพวกเขาเหล่านี้จะรวมตัวกันรอบถังเครื่องดื่มเอลกลิ่นพีช-ฟักทอง ร่วมกันออกแบบว่าจะสร้างความมั่งคั่งในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างไร

 

เรียบเรียงจาก

Craft Beer vs. Budweiser: How Small-Brewers Are Winning Back the Neighborhood, Yes! Magazine, 0-03-2016 http://www.yesmagazine.org/new-economy/craft-beer-vs-budweiser-how-small-brewers-are-winning-back-the-neighborhood-20160302

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Anheuser-Busch_InBev

https://www.brewersassociation.org/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net