รอบโลกแรงงานกุมภาพันธ์ 2559

ที่ทำงานในสิงคโปร์เปิดศูนย์เลี้ยงดูเด็กเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น โดยสิงคโปร์มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กในที่ทำงานถึงร้อยละ 31 จากศูนย์รับเลี้ยงเด็กทั้งหมดประมาณ 1,200 แห่งทั่วประเทศ … และอ่านรอบโลกแรงงานอื่น ๆ ประจำเดือน ก.พ. 2559

สิงคโปร์เปิดศูนย์เลี้ยงดูเด็กในที่ทำงานเพิ่มขึ้นมาก

สิงคโปร์มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก 1,200 แห่งทั่วประเทศโดยมีสัดส่วนร้อยละ 31 ของศูนย์ทั้งหมดอยู่ในที่ทำงาน (ที่มาภาพ: straitstimes.com)

เว็บไซต์สเตรตส์ไทม์รายงานว่าสถานที่ทำงานในสิงคโปร์เปิดศูนย์เลี้ยงดูเด็กเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากผู้หญิงสิงคโปร์เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น โดยในปีที่แล้วมีศูนย์เด็กเล็กในที่ทำงาน 390 แห่งเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2555 

ทั้งนี้รัฐบาลได้ผลักดันให้มีการตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กในที่ทำงานกันมากขึ้นโดยมีโครงการให้เงินอุดหนุนครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมดแก่เจ้าของอาคารหรือนายจ้างที่กันพื้นที่ส่วนหนึ่งในอาคารสำนักงานเพื่อทำเป็นศูนย์เด็กเล็ก แต่แม้ว่าแนวโน้มของการจัดทำศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ทำงานแม้จะเพิ่มขึ้นแต่มีบางบริษัทหรือเจ้าของอาคารบางแห่งกลับไม่นิยมให้มีการทำศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กภายในอาคารเพราะรู้สึกว่าจะทำให้มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ส่วนบริษัทหรือเจ้าของอาคารบางแห่งอีกกลุ่มหนึ่งสนับสนุนการสร้างศูนย์เด็กเล็กในที่ทำงานเนื่องจากสำรวจพบว่าการมีศูนย์เด็กเล็กทำให้พนักงานทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ค่อยมีการทำงานสายหรือลางาน

เมื่อปีที่แล้ว (2558) สิงคโปร์มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กประมาณ 1,200 แห่งทั่วประเทศ โดยมีศูนย์รับเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน เป็นสัดส่วนร้อยละ 31 ของศูนย์รับเลี้ยงเด็กทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี 2555

ที่มา: straitstimes.com, 1/2/2559

ยาฮู เตรียมปลดพนักงาน 1,700 ตำแหน่ง พร้อมปรับโครงสร้างธุรกิจ

บริษัท ยาฮู (Yahoo) เปิดเผยบริษัทเตรียมปลดพนักงานออกร้อยละ 15 หรือประมาณ 1,700 คน พร้อมกับปรับโครงสร้างธุรกิจ ทั้งนี้คาดว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจจะช่วยให้ยาฮูสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้

ที่มา: wired.com, 2/2/2559

บริษัทบีพีปลดพนักงาน 7,000 คน

บีพี (BP) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานเปิดเผยว่าบริษัทประสบภาวะขาดทุน 6,500 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว และจะมีการปลดพนักงาน 7,000 คน ภายในปลายปี 2560 หรือราวร้อยละ 9 ของพนักงานทั้งหมด

ที่มา: rsc.org, 4/2/2559

พนักงานสายการบินแห่งชาติปากีสถานประท้วงใหญ่-ระงับเที่ยวบินทั้งหมด หลังมีพนักงานเสียชีวิตจากการปะทะตำรวจ

พนักงานของสายการบินแห่งชาติปากีสถานหรือพีไอเอ (PIA) ประท้วงครั้งใหญ่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 ก.พ.) เพื่อต่อต้านแผนการแปรรูปสายการบินดังกล่าว ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลปากีสถาน โดยการประท้วงเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ถือว่าเป็นการประท้วงครั้งใหญ่กว่าทุกครั้ง หลังจากมีพนักงานของสายการบินเสียชีวิตด้วยกระสุนปืนในการปะทะกับตำรวจในระหว่างการประท้วงเมื่อวันอังคารที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมาที่สนามบินนานาชาติในนครการาจี เมืองทางตอนใต้ของปากีสถาน ทำให้สมาคมนักบินแห่งชาติของปากีสถานเรียกร้องให้นักบินทั้งหมดผละงาน

ที่มา: aljazeera.com, 3/2/2559

สหภาพแรงงานกรีซประท้วงทั่วประเทศ

สมาชิกสหภาพแรงงานกรีซจำนวนหลายหมื่นคนพากันผละงานประท้วงทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาคการขนส่ง ทั้งการบิน และเรือเฟอร์รี่ เป็นอัมพาต ขณะที่มีการปิดโรงเรียน และศาล ส่วนโรงพยาบาลเปิดให้บริการเพียงผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งนี้ การประท้วงดังกล่าวเป็นประท้วงแผนปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเพื่อแลกกับการได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากเจ้าหนี้ต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ชาวกรีซต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมากขึ้น

ที่มา: abc.net.au, 5/2/2559

‘แบล็กเบอร์รี’ ปลดพนักงานอีก 200 ตำแหน่งในสหรัฐ-แคนาดา

8 ก.พ. 2559 แบล็กเบอร์รี (BlackBerry) บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและซอฟต์แวร์สัญชาติแคนาดา เตรียมปลดพนักงานออกอีก 200 ตำแหน่งในสาขาของบริษัทที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และรัฐออนแทริโอของแคนาดา

ที่มา: theverge.com, 5/2/2559

คนงานอินโดนีเซียประท้วงกรณีการเลิกจ้าง

6 ก.พ. 2559 คนงานชาวอินโดนีเซียหลายพันคนพากันเดินขบวนตามท้องถนนในวันนี้เพื่อประท้วงการเลิกจ้างในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุที่กิจการต่าง ๆ ปลดพนักงาน เนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกซบเซา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับตัวลดลง ทำให้ภาคธุรกิจต้องลดอัตรากำลังผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้ประท้วงคาดว่า จะเดินขบวนในเมืองสำคัญหลาย ๆ เมือง ของชวาตะวันตก ชวาตะวันออก สุมาตราเหนือ และสุลาเวสีใต้

ที่มา: channelnewsasia.com, 6/2/2559

ฮังการีหลายพันคนรวมตัวประท้วงต้านมาตรการปฏิรูปของรัฐบาล

ประชาชนชาวฮังการีจำนวนหลายพันคน รวมตัวเดินขบวนประท้วงในวันเสาร์ (13 ก.พ.) เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านแผนปฏิรูปด้านการศึกษาล่าสุดที่พยายามดำเนินนโยบายเพิ่มบทบาทของรัฐบาลกลางฮังการี ด้วยการเพิ่มการควบคุมของอำนาจรัฐและการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยผู้เข้าร่วมการประท้วงในครั้งนี้มีทั้งครู อาจารย์ ที่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลยอมลดชั่วโมงการทำงานของวิชาชีพของตน รวมถึงเหล่านักศึกษาที่ต้องการได้สิทธิ์ในการเลือกแบบเรียนด้วยตนเอง

ที่มา: hungarianfreepress.com, 13/2/2559

เวียดนามผ่อนปรนกฎเปิดช่องธุรกิจจ้างแรงงานต่างชาติได้ทุกระดับ

รัฐบาลเวียดนามได้ปรับกฎระเบียบข้อบังคับให้ภาคธุรกิจสามารถจ้างงานแรงงานต่างชาติได้ทุกประเภท ซึ่งรวมถึงแรงงานไร้ฝีมือด้วย โดยข้อบังคับการจ้างงานใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2559 เป็นต้นไป ระบุให้บริษัทเอกชนของเวียดนามต้องพยายามหาแรงงานชาวเวียดนามก่อน แต่หากไม่สามารถหาแรงงานท้องถิ่นได้ภายในระยะเวลาหนึ่ง ก็สามารถจะจ้างงานแรงงานต่างชาติได้

ที่มา: vietnamnet.vn, 18/2/2559

มาเลเซียงดนำเข้าแรงงานต่างชาติชั่วคราว

รัฐบาลมาเลเซียประกาศว่าจะระงับการนำเข้าแรงงานต่างชาติทั้งหมดไว้ก่อน เพื่อทบทวนนโยบายการจ้างงาน หลังเกิดการประท้วงใหญ่ต่อต้านแผนการที่รัฐบาลจะนำเข้าแรงงานบังกลาเทศ 1.5 ล้านคน เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหรรมในประเทศ

ที่มา: bloomberg.com, 19/2/2559

สหรัฐบังคับใช้กฎหมายแบนสินค้าจากแรงงานทาสซีฟู้ดติดลิสต์

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barack Obama) ผู้นำสหรัฐอเมริกาลงนามรับรองกฎหมายที่อุดช่องโหว่เพื่อหยุดการนำเข้าสินค้าที่ใช้แรงงานทาส กฎหมายใหม่นี้จะมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าหลายประเภทจากเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากการลงนามครั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ใน 15 วัน หน่วยงานของสหประชาชาติกล่าวว่ามีการบังคับใช้แรงงาน 21 ล้านคนทั่วโลกและกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในเอเชียแปซิฟิก

ที่มา: VOA, 26/2/2559

จีนเล็งกำหนดการปรับเพิ่มอายุการเกษียณ

มีการเปิดเผยว่า จีนมีแผนจะกำหนดการปรับเพิ่มอายุการเกษียณงาน เพื่อลดแรงกดดันจากปัญหาประชากรสูงอายุ โดยแผนดังกล่าวมีแนวโน้มที่บังคับใช้ในปี 2565 หลังเปลี่ยนไปใช้แผน 5 ปีฉบับใหม่ ทั้งนี้รัฐบาลจีนกำลังเตรียมขยายอายุการเกษียณงานเนื่องจากจำนวนแรงงานที่ลดลงได้เริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานและระบบเงินบำนาญของประเทศ สถิติอย่างเป็นทางการบ่งชี้ว่า จำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 16-60 ปีของจีนลดลง 4.87 ล้านคนมาอยู่ที่ 911 ล้านในปี 2558 ทำสถิติลดลงเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

ที่มา: business-standard.com, 28/2/2559

สหภาพแรงงานไอจีเมตัลของเยอรมนีเรียกร้องขึ้นค่าแรงร้อยละ 5

ไอจี เมทัล (IG Metall) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีเรียกร้องการขึ้นค่าแรงร้อยละ 5 สำหรับแรงงานจำนวน 3.8 ล้านคนในประเทศ โดยการเรียกร้องค่าแรงดังกล่าวมีขึ้น ก่อนที่การเจรจากับฝ่ายนายจ้างในอุตสาหกรรมรถยนต์ และเครื่องจักร รวมทั้งอีกหลายภาคอุตสาหกรรม จะเริ่มขึ้นในวันที่ 9 มี.ค. 2559

ที่มา: plant.ca, 29/2/2559

จีนเล็งปลดแรงงาน 1.8 ล้านคนในอุตสาหกรรมถ่านหิน-เหล็ก

ทางการจีนเปิดเผยว่าจีนจะปลดแรงงานจำนวน 1.8 ล้านคนในอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็ก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของแรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะปรับลดประสิทธิภาพการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี จีนไม่ได้ระบุถึงกำหนดเวลาในการดำเนินการดังกล่าว โดยภาคอุตสาหกรรมถ่านหินจะปลดแรงงานจำนวน 1.3 ล้านคน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเหล็กจะปลดแรงงานจำนวน 5 แสนคน ทั้งนี้อุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กมีการจ้างแรงงานรวม 12 ล้านคน

ที่มา: ibtimes.co.uk, 29/2/2559

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท