3ปี กับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานี อุปสรรคและความท้าทายของทั้งสองฝ่าย?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วิกฤติความขัดแย้งปาตานีที่ได้อุบัติขึ้นมาอย่างยาวนาน จนในที่สุดการแสวงหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เดินทางมาถึง ณ จุดที่สังคมต่างรอคอย เมื่อความพยายามของภาครัฐที่ได้ดำเนินการมาอย่างทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบ สันติ ร่มเย็นให้กับคนในพื้นที่ หลังจากความขัดแย้งทางความคิดได้แปรสภาพจากความรู้สึกกดทับในความไม่เป็นธรรม กลายมาเป็นการก่อขบวนเพื่อต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เคยน้อมรับความปรารถนาของคนในพื้นที่ ที่อยู่ทางภาคใต้ตอนล่าง (ปาตานี) ที่ดำเนินการเรียกร้องสิทธิของตนเองมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการปกป้องอัตลักษณ์แห่งชาติพันธ์ ที่ต้องดำรงอยู่ในภูมิประเทศที่ปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง ที่มีความแตกต่างทางบุคลิกชาติกับคนในพื้นที่อย่างสิ้นเชิง โดยไม่แยแสต่อชนกลุ่มน้อยที่มีอัติลักษณ์ของตนเอง

หากจะนับจุดเริ่มต้นของปฐมบทของความรุนแรง ที่ได้ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน ที่สุดท้ายล้วนนำมาซึ่งความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญที่ล้วนตกเป็นแพะรับบาปมาตลอดช่วงระยะเวลาของการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกลายเป็นปัญหาที่คาราคาซัง ที่ไม่มีทางแก้ไขได้

เมื่อต่างฝ่ายต่างใช้วิธีความรุนแรงในการตอบโต้ ที่ปรารถนาผลพลอยได้ในทางการเมือง แต่สุดท้ายล้วนลงเอยด้วยการปราบปรามอย่างสุดขีด ตามอุณหภูมิของการเมือง และแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลส่วนกลาง ที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม นั่นก็คือ การใช้วิธีเด็ดขาด เพื่อสยบอุดมการณ์ของกลุ่มขบวนการที่พยายามก่อขบวนเป็นระยะๆ ตามสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย แต่สุดท้ายทั้งสองฝ่ายล้วนเป็นตาบอดคลำช้างไปตามๆ กัน กล่าวคือ ฝ่ายรัฐเองมิสามารถยับยั้งการเจริญงอกงามของอุดมการณ์การต่อสู้ของประชนปาตานีได้ นอกจากการปราบปราม จับกุม แบบเหวี่ยงแห่ ตามกลยุทธ์ที่เคยใช้มาตั้งแต่อดีต ในขณะที่ฝ่ายต่อสู้ปาตานีมีการแตกกลุ่มเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ตามเข็มมุ่งของแต่ละปัจเจกปัญญาชนที่มีความคิดก้าวหน้าแห่งยุคสมัย ที่ต่างคนต่างก่อร่างสร้างบ้านขึ้นมาใหม่อย่างทุลักทุเล ตามทัศนะวิสัยของกลุ่มขบวน ณ ขณะนั้น

จนในที่สุดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงหรือการก่อความไม่สงบของรัฐ เริ่มมีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อกลุ่มขบวนการต่อสู้ปาตานี ได้แยกออกเป็นหลายกลุ่มที่มีวิธีการเฉพาะของแต่ละกลุ่ม ถึงแม้ว่าจะมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือ การปลดปล่อยพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นอิสระจากอาณัติของรัฐไทย

จะยังไรก็ตามถึงแม้กลุ่มขบวนการต่อสู้ปาตานีจะแตกออกเป็นหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่มีอิทธิพลและกลุ่มที่ไม่ค่อยมีอิทธิพลในพื้นที่ ต่างก็มีพัฒนาการไปตามลำดับ บางกลุ่มก็ดับสลายท่ามกลางความชราภาพของผู้นำขบวนที่ลับหายตายจากไปทีละคนสองคนโดยไม่มีการสานต่อจากชนรุ่นหลัง บางกลุ่มยังคงสภาพจากอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างสง่าผ่าเผย จนสามารถขับเคลื่อนอุดมการณ์ได้อย่างราบรื่นตามบริบทแบบแผนของธรรมนูญของกลุ่ม ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้กลุ่มที่ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่มีดังนี้

1. แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (คณะผู้ก่อการใน BRN)
2. แนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปาตานี (BIPP)
3. องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-P4)
4. องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-dspp)
5. องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-mkp)
6. ขบวนการมูญาฮิดีนอิสลามปาตานี (GMIP)

ซึ่งในช่วงก่อนที่จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงในเชิงการทหารอย่างประจักษ์ ที่ปะทุขึ้นเมื่อต้นปี 2547 กลุ่มขบวนการดังกล่าวแทบไม่เคยได้รับการยอมรับสนใจจากรัฐบาลไทยแต่อย่างใด ถึงแม้นในทางลับรัฐบาลไทยพอจะทราบเบาะแสความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงขนาดให้ความสนใจที่จะร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาความขัดแย้งปาตานีแต่ประการใด อย่างน้อยเป็นการปฏิบัติภารกิจตามนโยบายของสภาความมั่นคงเท่านั้น ที่มีเป้าหมายเพื่อสลายโครงสร้างของขบวนการมากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาที่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ

ด้วยระยะทางของความรุนแรงที่ดำเนินมาอย่างยาวนานและยืดเยื้อ ที่ไม่มีทีท่าว่าจะลงเอยเมื่อใด ทำให้รัฐบาลไทยเองมิอาจนิ่งเฉยกระพริบตาอย่างไม่รู้เดียงสาได้อีกต่อไป บวกกับการเข้ามาของหน่วยงานระหว่างประเทศ ที่พยายามแทรกตัวที่จะมีบทบาทในการช่วยคลี่คลายปัญหาของประเทศ ที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้คนกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายฉบับพิเศษ เพื่อเป็นเครื่องมือในการยับยั้งการก่อเหตุ ซึ่งเป็นการมุ่งแก้ไขปัญหาปลายเหตุ มากกว่าที่จะแก้ไขต้นเหตุของปัญหา

จนในที่สุดเมื่อความรุนแรงยังคงดำเนินอยู่อย่างยืดเยื้ออย่างมีพัฒนาการ ทั้งในทางการเมืองและการปฏิบัติการทางทหาร ที่ได้คร่าชีวิตของพลเรือนและเจ้าหน้าที่อย่างที่ไม่เคยปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ ที่การต่อสู้ของประชาชนปาตานี จะคงทนถาวร เหมือนไม่มีผลกระทบใดๆ จากการประกาศใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ หนำซ้ำยิ่งเป็นสิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ขบวนการต่อสู้ของประชาชนปาตานี ที่มีเป้าหมายทางการเมืองนั้น กลับมีการรับมือวางเกมในการรุกถอยอย่างแนบเนียน ชนิดหมัดต่อหมัด ก้าวต่อก้าวเลยทีเดียว

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า บางครั้งการต่อสู้ของประชาชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเองด้วยหลักอหิงสาหรือสันติ อาจต้องอาศัยวิธีการที่รุนแรงเพื่อเป็นเครื่องต่อรองในทางการเมือง เพื่อที่ว่ารัฐบาลส่วนกลางอาจใช้นโยบายที่ดีกว่าเดิมในการจัดการกับปัญหา ที่ยังไม่มีรัฐบาลชุดใดแก้ไขปัญหาได้อย่างสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

หนึ่งทศวรรษของความรุนแรงกับการริเริ่มของกระบวนการสันติภาพปาตานี

การลงนามพูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นทั้งความหวัง ความฝันของคนในสังคม ซึ่งปีนี้ครบรอบสามปีนับตั้งแต่การลงนามอย่างเป็นทางการ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งปาตานีด้วยสันติวิธี ถึงแม้จะมีการโต้แย้งในการใช้ศัพท์ทางการเมืองอยู่บ้าง แต่นั่นถือเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการพูดคุย ที่มีมาเลเซียรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งถือเป็นการรับหน้าที่อย่างยากลำบากเช่นกันในการอำนวยการในเรื่องนี้

นับตั้งแต่การลงนามการพูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อปี 2556 เป็นต้นมา สิ่งที่มิอาจหลีกพ้นได้ก็คืออุปสรรคและความท้าทายที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องเผชิญที่ต้องรับมืออย่างหนักหนาสาหัสพอๆ กันกับการเผชิญหน้ากันระหว่างคู่ขัดแย้ง ที่ต้องมีไหวพริบและปัญญาญาณ ในการตอบคำถามของสังคม ที่ถูกตั้งคำถามมากมายจากภายในของแต่ละฝ่าย

อุปสรรคและความท้าทายของทั้งสองฝ่าย

ศักดิ์ศรีและจุดยืนของแต่ละฝ่ายถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นทางด้านฝ่ายขบวนการต่อสู้ปาตานีและรัฐไทยเอง ที่ต่างฝ่ายต่างมีความกดดันและความท้าทายที่ได้ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ทางรัฐไทยเองถือเป็นการก้าวข้ามความโอหังที่มีต่อกลุ่มต่อสู้ชาวมลายูปาตานีเป็นครั้งแรก ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยปรากฏการลงทุนของรัฐไทยถึงขั้นนี้ ด้วยการยอมลงนามเพื่อพูดคุยกับกลุ่มขบวนการ ในฐานะเป็นผู้มีความผิดอาญาแผ่นดิน ที่มิอาจชนเข่าคุยกันอย่างเปิดเผยต่อสาธารณและเป็นทางการเช่นนี้ได้

ส่วนฝ่ายขบวนการเอง ถือว่าได้ก้าวข้ามความมีวินัยในจุดยืนที่จะไม่มีการเจรจาใดๆ กับรัฐบาลไทย จนกว่าจะถึงกาลเวลาที่เหมาะสม ถึงแม้การลงนามในครั้งนั้นปฐมเหตุแห่งปัจจัยจะมาจากการวางเกมของผู้มีอำนาจของทั้งสองประเทศ จนขบวนการต้องฝืนกลืนยอมรับในการรับหน้าที่แสดงเฉพาะหน้าดังกล่าวนี้ แต่สุดท้ายด้วยการริเริ่ม ณ วันนั้น จนได้พัฒนาสู่การขับเคลื่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนขบวนการเองมีความรู้สึกถึงความไม่ชอบมากลอยู่เนืองนิตย์ ทำให้บ่อยครั้งได้เกิดการปฏิวัติภายในชนิดรัฐไทยเองต่างคาดการณ์ไม่ถูกถึงความน่าเป็นในภายภาคหน้า สำหรับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานีในอนาคตและก้าวต่อไป

นี่คือส่วนหนึ่งของหลายๆ ข้อของอุปสรรคและความท้าทายของทั้งสองฝ่าย ที่ค่อนข้างเกิดความชุลมุนอยู่พอสมควร ยิ่งการเมืองภายในของไทยเอง ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างเร่าร้อน จนส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่การรัฐประหารในที่สุด

จะยังไรก็ตามเมื่อผู้นำรัฐบาลทหารของไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปเยือนประเทศมาเลเซียเพื่อแนะนำตัวอย่างเป็นทางการตามธรรมเนียมของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการพูดคุยสันติภาพขึ้นใหม่อีกครั้ง ถึงแม้จะเป็นการเปลี่ยนวาทกรรมจาก“สันติภาพ” เป็น “สันติสุข” ก็ตาม แต่อย่างน้อยเป็นการแสดงให้เห็นว่า กองทัพเองมิได้ปฏิเสธแนวทางการพูดคุยกับกลุ่มต่อสู้ปาตานีแต่อย่างใด

ส่วนหนทางข้างหน้าต่อจากนี้จะเป็นเช่นไร ก็ขึ้นอยู่กับแนวทางการต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย ที่อาจไม่มีความแน่นอนในความไม่แน่นอน รัฐบาลชุดนี้จะสามารถประคับประคองการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ได้หรือไม่ และการเมืองไทยจะเป็นเช่นไร ก็คงต้องลุ้นกันอีกยาว

 

ที่มา: http://www.fatonionline.com/1785

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท