โฆษก รบ.เผยจับตากรณีคนงาน รง.ปลากระป๋องเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำย้อนหลัง หวั่นเอ็นจีโอทำโลกเข้าใจผิด

ความคืบหน้ากรณีลูกจ้างโรงงานปลากระป๋อง บริษัทโกลเด้นไพร้ซ์ แคนนิ่งจํากัด ที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำและค่าทำงานล่วงเวลาย้อนหลังจากนายจ้าง วันนี้ มีการนัดหยุดงานและเปิดการเจรจาหลายฝ่าย ขณะโฆษกรัฐบาลระบุเป็นกรณีที่รัฐบาลจับตาใกล้ชิดเพราะเกี่ยวพันกับแรงงานข้ามชาติ พร้อมตั้งข้อสังเกตกลุ่มเอ็นจีโอปั่นกระแสเกินจริงผ่านสื่อต่างชาติ ทำให้โลกเข้าใจประเทศไทยผิด

26 ก.พ. 2559 สำนักข่าวบีบีซีไทย รายงานความคืบหน้ากรณีลูกจ้างโรงงานปลากระป๋อง บริษัทโกลเด้นไพร้ซ์ แคนนิ่งจํากัด ที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำและค่าทำงานล่วงเวลาย้อนหลังจากนายจ้าง วันนี้ มีการนัดหยุดงานและเปิดการเจรจาหลายฝ่าย โดยมีทั้งฝ่ายตัวแทนลูกจ้าง นายจ้าง สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ทหารและตำรวจ ร่วมเจรจา ขณะที่โฆษกรัฐบาลระบุเป็นกรณีที่รัฐบาลจับตาใกล้ชิดเพราะเกี่ยวพันกับแรงงานข้ามชาติ พร้อมตั้งข้อสังเกตกลุ่มเอ็นจีโอปั่นกระแสเกินจริงผ่านสื่อต่างชาติ ทำให้โลกเข้าใจประเทศไทยผิด

พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้รับรายงานว่ามีพนักงานจำนวนหนึ่งของบริษัทโกลเด้นไพร้ซ์ แคนนิ่งจํากัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตปลากระป๋องส่งออก โดยโรงงานแห่งนี้มีแรงงานประมาณ 1,700 คน ทั้งแรงงานชาวไทย และแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเมียนมาข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าเป็นข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เรื่องค่าจ้างและสวัสดิการซึ่งเกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่กรณีนี้อาจอ่อนไหวเป็นพิเศษ เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวร่วมอยู่ด้วย

"รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ ศปมผ. เข้าไปแก้ไขปัญหาร่วมกับ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ตัวแทนนายจ้าง และผู้แทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อให้ปัญหายุติโดยเร็วที่สุด รวมทั้งรับคำร้องจากลูกจ้างจำนวน 213 คน และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ได้รับรายงานว่า มีกลุ่มเอ็นจีโอบางกลุ่มกำลังเคลื่อนไหวในพื้นที่ เพื่อพยายามสร้างกระแสให้เรื่องร้ายแรงเกินเลยกว่าความเป็นจริงโดยอาศัยจังหวะที่ผู้ร่วมนัดหยุดงานอาจจะมีแรงงานต่างด้าวด้วย แล้วบิดเบือนให้สังคมโลกเข้าใจประเทศไทยผิดๆ ผ่านสื่อต่างประเทศ จึงอยากฝากเตือนไปยังกลุ่มเหล่านี้ว่าขอให้ยุติการกระทำเสีย หากมีความต้องการช่วยเหลือแรงงานอย่างแท้จริง ควรให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาและสร้างทางออกร่วมกัน

พลตรีสรรเสริญ กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายและจุดยืนชัดเจนว่าแรงงานทุกคนบนแผ่นดินไทยไม่ว่าเชื้อชาติใดก็ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ ขณะเดียวกันหากทุกอย่างดำเนินไปตามระเบียบกฎหมายแล้ว แต่ลูกจ้างยังไม่พอใจค่าจ้างแรงงานหรือสวัสดิการที่ได้รับ ย่อมเป็นสิทธิโดยอิสระที่จะลาออก ย้ายงาน และนายจ้างจะกีดกันหรือเหนี่ยวรั้งไม่ได้

ด้าน น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เจ้าหน้าที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ซึ่งทำงานในพื้นที่ดังกล่าวในด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิของแรงงานว่า ข้อสังเกตของโฆษกรัฐบาลที่บอกว่าเอ็นจีโอส่วนหนึ่งพยายามที่จะสร้างกระแสให้เรื่องใหญ่โตนั้นไม่เป็นความจริง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาวนานมากเนื่องจากคนงานไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ตั้งแต่มีการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 เป็นต้นมา รวมทั้งไม่ไดรับโอที ไม่มีการนำเข้าระบบประกันสังคม ไม่มีวันหยุดพักร้อนและวันหยุดตามประเพณี และกรณีที่เจ็บป่วยแม้จะมีใบรับรองแพทย์มายืนยันก็ยังถูกหักเงินเดือนออกไปโดยถือว่าลูกจ้างหยุดงาน ในช่วงแรกนั้นองค์กร MWRN ได้จัดอบรมทำงานให้คนงานได้รู้สิทธิและเจรจาได้ และได้ทำหน้าที่เจรจาให้กับฝ่ายลูกจ้างมาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ลูกจ้างจึงขอเจรจาด้วยตนเอง ขณะที่ฝ่ายนายจ้างก็ยืนยันว่าตนปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้อง จนกระทั่งไม่สามารถตกลงกันได้ และนำมาสู่การยื่นคำร้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรสาคร ดังที่เป็นข่าวไปวานนี้

สำหรับบรรยากาศในโรงงาน วานนี้หลังมีข่าวว่าลูกจ้างจะนัดหยุดงาน มีการติดป้ายประกาศเป็นภาษาเมียนมาว่าหากลูกจ้างคนใดหยุดงานโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายจ้างจะถูกไล่ออก แต่เช้านี้ ป้ายดังกล่าวถูกถอดออกไปแล้ว

อนึ่ง วานนี้ ลูกจ้างโรงงานปลากระป๋อง บริษัทโกลเด้นไพร้ซ์ แคนนิ่งจํากัด ในจังหวัดสมุทรสาคร ราว 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาร์ และลูกจ้างชาวไทยบางส่วนทยอยไปรวมตัวกันที่สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่ช่วงสาย เพื่อยื่นคำร้องขอให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำย้อนหลัง รวมถึงค่าทำงานล่วงเวลา นอกจากกลุ่มนี้แล้ว ยังมีลูกจ้างอีกกว่า 1,000 รายที่ต้องการเรียกร้องสิทธิค่าจ้างขั้นต่ำเช่นกันแต่ยังไม่ได้เดินทางไปยื่นคำร้อง

นายเส่ง เท ตัวแทนแรงงานชาวเมียนมาร์ที่ไปยื่นคำร้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ. สมุทรสาคร ระบุว่า แรงงานที่นี่เคยประท้วงเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพราะไม่ได้ค่าแรงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงได้ไปติดตามเรื่องจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งกรมได้แจ้งให้ลูกจ้างเขียนคำร้องเพื่อให้ทางกรมพิจารณาและมีคำสั่งไปยังนายจ้างต่อไป

“ทางบริษัทจ่ายค่าแรงงานไม่ครบตามที่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ลูกจ้างส่วนใหญ่ได้ 240-250 บาทต่อวัน เฉลี่ยชั่วโมงละ 30 บาท แรงงานก็เลยขอร้องเรียนให้จ่ายย้อนหลัง รวมตัวกันหลายๆ คน ขอค่าจ้างตามกฎหมาย และขอให้จ่ายย้อนหลังให้ลูกจ้างทั้ง 1,500 คน”

ด้านนายบุญลือ ศาสตร์เพ็ชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่าหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่มีเวลา 60 วันในการสอบข้อเท็จจริงจากหลักฐานต่างๆ เช่น สลิปเงินเดือนและบัญชีของนายจ้าง เพื่อวินิจฉัยว่าลูกจ้างคนใดจะได้ค่าแรงและค่าทำงานล่วงเวลาย้อนหลังเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล ทั้งนี้หากการวินิจฉัยไม่เสร็จสิ้นภายใน 60 วันจะต้องขอขยายเวลาในการวินิจฉัยต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งขยายต่อไปได้ 30 วัน โดยนายบุญลือระบุว่า ลูกจ้างที่มีสิทธิยื่นคำร้องมีทั้งสิ้นเกือบ 1,600 คน ซึ่งค่อนข้างเป็นจำนวนที่มาก เพราะเจ้าหน้าที่ที่จะวินิจฉัยคำร้องขณะนี้มีเพียง 5 คนเท่านั้น

 

ที่มา: บีบีซีไทย (1, 2)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท