Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายฯเปิดบทสัมภาษณ์ก่อนเสียชีวิตของ ช.อ้วน หรือ ศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา แกนนำชมรมคนรักทักษิณอุบลฯ เจ้าตัวระบุเกิดความเครียดจากการถูกคุกคาม กดดันอย่างต่อเนื่องจากทหาร ต้องเข้ารายงานตัวกับทหารทุกสัปดาห์  และรู้สึกผิดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมในคดีสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53


ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Krekyut Competdee

รายงานระบุว่า 23 ก.พ. 59 ศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา หรือ ช.อ้วน แกนนำชมรมคนรักทักษิณอุบลฯ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี จากสาเหตุ เส้นเลือดในสมองแตก ด้วยวัย 52 ปี

คนใกล้ชิดเล่าว่า ก่อนเสียชีวิต ศักดิ์สิทธิ์ มีความเครียดจากการถูกทหารติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยเขาต้องเข้าไปรายงานตัวที่มณฑลทหารบกที่ 22 (มทบ.22) จ.อุบลราชธานี ทุกวันจันทร์ ยิ่งกว่านั้น ทหารยังโทรศัพท์หา หรือไปพบที่บ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์หรือการเคลื่อนไหวสำคัญๆ

ก่อนหน้าวันที่ 1 พ.ย.58 ที่คนเสื้อแดงนัดกันใส่เสื้อแดง ทหารประมาณ 10 นาย มาพบศักดิ์สิทธิ์ที่บ้าน  และสั่งห้ามไม่ให้เขาออกมาเคลื่อนไหวใดๆ  ช่วงปีใหม่ เขาตั้งใจเอาปฏิทินที่พิมพ์ภาพ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ มาแจกคนรู้จัก แต่เพิ่งแจกไปได้ไม่กี่ใบ ทหารก็มายึดปฏิทินที่เหลือกว่าร้อยใบไป เขาเล่าให้คนรู้จักฟังว่า ‘ผู้การ’ มาพบเขาเอง และขอไม่ให้แจกปฏิทินเหล่านั้น กรณีนี้กระทบความรู้สึกของศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก คนใกล้ชิดตั้งข้อสังเกตว่า “เป็นเรื่องหนักมากสำหรับเขา”

ไม่นับถึงสถานการณ์ทางการเมือง ที่ศักดิ์สิทธิ์เอาใจใส่ติดตาม และมักบ่นเสมอว่า “เราจะอยู่กันได้ยังไง” โดยเฉพาะคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้องยืนตามชั้นต้น ความเห็นของเขาคือ “ไม่ยุติธรรม”

จันทร์ที่ 22 ก.พ.59 ศักดิ์สิทธิ์เข้าไปรายงานตัวที่ มทบ.22 ตามปกติที่เขาปฏิบัติมา นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.57 หลังออกจากค่ายทหาร เขามีอาการปวดหัวจนครอบครัวต้องนำส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 23 ก.พ.59

ในรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าได้สัมภาษณ์ ศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา เมื่อเดือนกันยายน 2558 เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลผู้ถูกคุกคามหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  โดยได้ซักถามในประเด็นเรื่องการถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารเป็นเวลา 6 วัน ในช่วงหลังการรัฐประหาร และถูกทหารติดตามมาโดยตลอดหลังจากนั้น ศักดิ์สิทธิ ได้กล่าวความรู้สึกกับศูนย์ทนายความเพื่อสิืทธิมนุษยชนว่า

“เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นที่รุนแรง… ผมรู้สึกว่าผมกำลังถูกกดขี่ ข่มเหง โดนกระทำ… ทหารมาวันไหนผมจะซึมเศร้าทั้งวัน”

และศูนย์ทนายฯ ได้นำบทบันทึกการพูดคุยในครั้งนั้นมาเผยแพร่ ดังต่อไปนี้

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Krekyut Competdee

ขอถามถึงความเป็นมาก่อนที่จะถูกเอาตัวไปปรับทัศนคติ

ผมเห็นว่าการเมืองไทยไม่มีความจริงใจ ไม่มีความเท่าเทียม และที่สำคัญมีการปล้นอำนาจของประชาชนโดยทหาร มีการปิดหู ปิดตาประชาชน มีการละเมิดสิทธิประชาชน คนที่คิดต่างไม่สามารถอยู่ได้ รู้สึกว่าถูกรังแก กดขี่ ผมจึงยึดมั่นอุดมการณ์ว่า “ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้”

ผมรู้สึกถูกกดขี่และไม่พอใจในระบอบการปกครองที่มีการกดขี่ ข่มแหง ไม่ให้ความยุติธรรม สองมาตรฐานกับคนบางกลุ่ม ดังนั้น ผมต้องลุกมาต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ สัญลักษณ์การต่อสู้ของผมคือ ‘สีแดง’

ผมเริ่มเคลื่อนไหวและมีความคิดที่ต่อต้านระบบที่กดขี่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 หลังการรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ เพราะเป็นช่วงที่นายกฯ ทักษิณ ถูกกระทำจากอำนาจนอกระบบ ซึ่งท่านเป็นนายกฯ ที่มาจากประชาชนเลือกและเราศรัทธา จึงทำให้ผมเป็นแบบทุกวันนี้คือ ต่อต้านความไม่เป็นธรรมทางการเมือง

ช่วงการเคลื่อนไหวของ กปปส. ผมก็เข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้และแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่ยอมรับความคิดเห็นของ กปปส. จนถึงวันที่ทหารเข้ารัฐประหารรัฐบาลที่มาจากประชาชนอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557


ช่วยเล่าเหตุการณ์ช่วงที่ถูกทหารเอาตัวไปปรับทัศนคติ

ก่อนที่จะถูกทหารมาที่บ้านแล้วเชิญไปปรับทัศนคติ ผมก็ใช้ชีวิตปกติ ค้าขาย ช่วงก่อนหน้านั้นที่บ้านผมก็มีการประชุม รวมกลุ่มพูดคุยทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์การเมืองและความเห็นทางการเมืองของ กปปส.  ที่บ้านผมเหมือนเป็นที่ประสานงานของ ‘ชมรมคนรักทักษิณอุบลฯ’

วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ประมาณ 10 โมงเช้า กำลังทหารจากค่าย มทบ.22 มาที่บ้านซึ่งบอกผมว่ามาเชิญตัวเพราะ “นายจะคุยด้วย” ทหารบอกแค่นี้

รถฮัมวี่ รถเก๋ง 2 คัน รถกระบะ 2 คัน รถจีเอ็มซีพร้อมทหารในชุดพร้อมรบได้วางกำลังล้อมบ้านผม และมีการขอค้นบ้าน ผมไม่ให้ค้น ผมบอกว่า “ไม่มีอะไรในบ้าน”

ทหารชี้แจงรายละเอียดในการเชิญตัว ประมาณ 20 นาที แล้วบอกให้ผมเก็บร้านค้าขึ้นรถไปกับพวกเขา ผมนั่งในรถฮัมวี่มีทหารอาวุธครบมือนั่งแนบข้างผมทั้งสองข้าง ไม่มีการปิดตา ทหารพูดคุยกัน แต่ผมไม่พูด มีแต่ทหารยศใหญ่ที่พูดคุย ผมจำเส้นทางได้หมดว่าจะพาไปไหน

ทหารยังไม่บอกว่าจะเชิญตัวไปไหน ทำอะไร ทหารปฏิบัติกับผมดี ไม่มีการฉุดกระชาก พวกเขาเชิญขึ้นรถแบบให้เกียรติ ไม่ได้แตะเนื้อต้องตัวหรือพูดจารุนแรงกระทบจิตใจผม

ตอนนั้นครอบครัวของผมไม่อยู่ แต่ไม่ถึงสิบนาทีที่ทหารเชิญตัวไปเขาก็ทราบข่าว เพราะญาติพี่น้องแถวนั้นบอก

พอไปถึงที่ค่าย มทบ.22 ผมอยู่ในห้องรับรอง เป็นลักษณะห้องโถง มีหน้าต่างยาว ผมคิดว่าเป็นห้องทำงาน แต่มีการเก็บเฉพาะเพื่อให้ผมไปอยู่ ตอนแรกผมไม่รู้ว่าตัวเองจะได้ค้างคืน ผมไม่ได้เอาเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัวไปด้วย

ไปถึงที่นั่นก็นั่งรอเจ้าหน้าที่ที่จะมาคุยกับเรา โดยเป็นเจ้าหน้าที่คนละชุดที่ไปเชิญตัวผมมาจากบ้าน พวกเขาก็ชี้แจงเหตุผลที่ได้เชิญตัวมาว่า “ต้องได้พักที่นี่ซักระยะหนึ่ง บอกไม่ได้ว่ากี่วัน เจ้านายอยากจะสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลหลาย ๆ เรื่อง พวกเราขอเก็บโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสารทั้งหมด และขอช่วงนี้ไม่ให้พบญาติหรือเพื่อน ไม่ให้ติดต่อกับคนภายนอก”

ผมถูกควบคุมตัวอยู่ที่นั่น ทั้งหมด 6 วัน มีอาหารให้ครบทุกมื้อ กาแฟ ของว่างด้วย ในห้องมีแอร์ มีทีวี ที่รับได้แต่ช่องประกาศของคณะ คสช. ในห้องนั้นมีเพื่อนอยู่อีก 3 คน ที่นอนมีแค่เบาะ หมอน ผ้าห่มเล็ก ๆ ให้ ผมจำได้มีวันหนึ่งมีการตรวจร่างกาย ตรวจสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ว่ามีจิตบกพร่องหรือไม่ โดยแพทย์ของทหารมาตรวจ

จากนั้นเจ้าหน้าที่จากสถานีตำรวจก็มาสอบปากคำ เหมือนการสอบผู้ต้องหา โดยถามว่า “ทำไมต้องเป็นเสื้อแดง” “เราต่อสู้เพื่ออะไร” “จะล้มล้างระบอบการปกครองหรือมีการติดอาวุธหรือไม่” การสอบปากคำครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เป็นอย่างต่ำ เพราะว่าคำถามยาวมาก การสอบปากคำมีครั้งเดียว แล้วลงลายมือชื่อผู้ที่ให้ปากคำ

ก่อนออกจากค่ายก็มีเอกสารมาให้เซ็นความร่วมมือต่าง ๆ กับทางเจ้าหน้าที่ เช่น การห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น ไม่มีการซ้อมทรมาน หรือใช้ความรุนแรง แม้กระทั่งการตอบคำถามต่าง ๆ ทหารไม่บังคับให้ตอบ

หลังจากออกจากค่ายมาผมบันทึกความรู้สึกหรือคำพูดอะไรต่าง ๆ ของผมและเจ้าหน้าที่ตอนถูกควบคุมตัวไว้ แต่ผมฉีกมันทิ้งแล้ว เพราะผมไม่อยากจำ มันเป็นความทรงจำที่เลวร้าย


ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Krekyut Competdee

หลังจากนั้นแล้ว ทหารยังติดตามดูความเคลื่อนไหวของเราอีกมั้ย

จนถึงทุกวันนี้ ทหารก็ยังติดตามมาหาที่บ้านตลอด มาถ่ายรูปเพื่อรายงานเจ้านายของพวกเขา บางครั้งโทรศัพท์มาถามว่า “ทำอะไร อยู่ในพื้นที่หรือไม่ จะไปหาที่บ้านนะว่าจะถ่ายรูป พูดคุยด้วย” ผมสังเกตว่า ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ทหารก็จะมาหาผมตลอด แม้แต่เหตุการณ์ระเบิดกลางกรุงเทพฯ ล่าสุด ก็เช่นกัน หลังๆ ยังเพิ่มหน่วยงาน มี กอ.รมน และสันติบาลมาด้วย และทุกวันจันทร์ผมก็ต้องเข้าค่ายไปรายงานตัว ให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าผมยังอยู่ที่อุบลฯ

บางครั้งทหารเชิญไปร่วมงานปรองดองที่โคราช ให้ค่าเดินทางผมแค่ 500 บาท ผมปฏิเสธไม่ได้ต้องไปตามคำสั่งเขา

 

รู้สึกอย่างไรบ้างกับสิ่งที่เกิดขึ้น

สำหรับผมการที่ทหารทำกับผมและครอบครัวผมแบบนี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นที่รุนแรง เริ่มตั้งแต่การนำกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือมาล้อมบ้านผม ทำเหมือนผมเป็นผู้ร้ายอาชญากรรมรุนแรง และควบคุมตัวผมไปโดยไม่บอกสาเหตุ ควบคุมตัวผมไว้ที่ค่ายทหารไม่ให้รับรู้ข่าวสารโลกภายนอกทั้งหมด 6 วัน ถึงจะไม่มีการใช้ความรุนแรงกับผม แต่ในใจลึก ๆ ผมรู้สึกว่าผมกำลังถูกกดขี่ ข่มเหง โดนกระทำ บอกว่าเจ็บกายหรือไม่ ไม่เจ็บ แต่เจ็บใจหรือไม่ โคตรเจ็บ จนเรากลืนความเจ็บปวดนั้นไว้และครอบครัวก็ไม่อยากรับสภาพแบบนี้ มีครั้งหนึ่งครอบครัวเคยบ่นไม่อยากต้อนรับทหาร เพราะบางครั้งผมต้องออกจากบ้าน ถ้ารู้ว่าทหารจะมา แต่ครอบครัวก็ต้องรับหน้าแทน ถ้าวันไหนลูกผมอยู่บ้าน ก็ต้องรับหน้าแทนผม แล้วทหารก็ถามหาผมว่าผมไปไหน ผ่านครอบครัว ผมรู้สึกรำคาญ ทหารมาวันไหนผมจะซึมเศร้าทั้งวัน


มีสิ่งที่ยังไม่ได้ถาม แต่อยากพูดมั้ย

ผมไม่ถือว่ากลุ่มที่บริหารประเทศอยู่ตอนนี้เป็นรัฐบาล ผมถือว่าพวกนี้เป็นกบฏ ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสภาผู้แทนฯ ของประชาชน นายกฯ ผมไม่เรียกว่าเป็นนายกฯ ผมเรียกว่าผู้นำกบฏ เพราะไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนไม่ได้เลือกเข้ามา ต่างชาติไม่ยอมรับ ผมไม่ยอมรับอำนาจเถื่อนนี้ทุกกรณี ขอให้รีบลงจากอำนาจ

 

หมายเหตุ: พิธีฌาปนกิจศพ นายศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 27 ก.พ.59 ณ วัดป่าบ้านหว่านไฟ ม.8 ต.บ้านดู่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net