Skip to main content
sharethis

<--break- />

นับจากปี พ.ศ. 2547 จนถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 12 ปีแล้วที่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ กลายเป็นพื้นที่ความรุนแรง คนในพื้นที่จำนวนมากต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเหยื่อความรุนแรง หรือต้องพบเจอความทุกข์ทรมานจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

ผลพวงของสถานการณ์ความรุนแรงส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ เช่น ความกลัว ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงดังกล่าว กลุ่มประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุและเด็ก

สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลอาจมองเห็นเหตุการลอบยิง ลอบวางระเบิด ฯลฯ เป็นข่าวอาชญากรรมรายวันและมีความรู้สึกชินชาไปเสียแล้ว แต่สำหรับคนที่นั่นโดยเฉพาะเด็กๆ นี่ไม่ใช่เพียงเรื่องราวความสูญเสียไม่กี่บรรทัดดังที่ปรากฏในรายงานข่าว

รายงานนี้จะพาผู้อ่านไปติดตามชีวิตของเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ หลายคนรอดพ้นจากความตายจากกราดยิง ปัจจุบันพวกเขาเป็นอยู่กันแบบไหน สภาพจิตใจเป็นอย่างไร และมีใครที่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือดูแล รวมถึงการบอกระบายถึงวินาทีการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

เด็กชายผู้เต็มไปด้วย 'รอยแผลเป็น' ของอดีต

น้องมัง เป็นเด็กชายผิวขาว ตามร่างกายเต็มไปด้วยรอยแผลเป็นจากการถูกยิง 8 นัด บริเวณต้นแขนและหน้าท้อง เขาอายุ 13 ปี รอดจากเหตุการณ์กราดยิงในพื้นที่อ.บันนังสตา จ.ยะลา

“ตอนนั้นผมไปทำสวนกับพ่อ พวกเขามากับรถกระบะ ใช้ปืนยิง ผมก็โดนกับพ่อด้วย ความรู้สึกตอนนั้นตามตัวผมชาไปหมด ร้องไม่ออก นอนอยู่โรงพยาบาล 20 กว่าวัน ตอนอยู่โรงพยาบาลผมก็ถามแม่ แต่ทำใจไว้แล้วครับ รู้แล้วว่าพ่อต้องไม่อยู่ ก็ถามตัวเองว่า เขาทำทำไม ทุกวันนี้ก็ยังถามอยู่แต่หาคำตอบไม่ได้” แววตาของเขายังคงดูเศร้าหมองเมื่อพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

แม่ของน้องมังอธิบายเพิ่มเติมว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2554 เวลาประมาณ 6 โมงเย็น บริเวณหน้าบ้าน ขณะที่ทั้งครอบครัวกำลังเตรียมขนปุ๋ยใส่รถเพื่อไปใส่ปุ๋ยต้นยางที่สวน

“ปกติครอบครัวเราไม่เคยมีปัญหากับใครเลย ตอนนั้นพ่อกำลังยกกระสอบขึ้นท้ายกระบะแล้วก็ปิดประตูรถ น้องมังก็อยู่หลังรถด้วย แล้วก็มีรถกระบะคันหนึ่งวิ่งมา จากนั้นก็เอาปืนกราดยิงเลย”

เหตุการณ์นี้ยังคงสร้างความสะเทือนใจอย่างถึงที่สุดสำหรับคนในครอบครัว ทุกวันนี้บาดแผลของน้องมังเป็นรูปธรรมที่คอยย้ำเตือนเขาถึงเรื่องราวในอดีตไม่ให้จางหาย

“พอไปอยู่ที่โรงพยาบาลน้องมังก็ถามหาแต่พ่อ แม่ก็ไม่บอก ถามเซ้าซี้อยู่นั่น จนแม่ต้องบอก ต่อจากนั้นน้องมังก็ขอรูปพ่อ อยากดูอยากเห็นหน้า วันนั้นตัวของแม่เองก็บอกไม่ถูกเหมือนกัน จะร้องไห้อย่างเดียว แม่ก็เป็นลมเข้าโรงพยาบาลเหมือนกัน”

“เราเอาศพพ่อกลับบ้าน ผู้นำทางศาสนามาดู มาช่วยจัดการทางศาสนาให้ มาพูดคุยแต่จะช่วยเรียกร้องอะไรก็ไม่มีนะ แล้วกลุ่มลูกเหรียงเขาก็มาดูแล ศาลากลางก็นำเงินมามอบให้ 25,000 บาท มาจากกรมพัฒนาสังคม หลังจากนั้นก็ให้มาอีก 75,000 บาท ให้มาในนามพ่อน้องมังอย่างเดียว จากนั้นเรื่องก็เงียบไป”

รอยแผลเป็นบริเวณแขน จากเหตุการณ์ที่ถูกยิงพร้อมกับพ่อ ขณะที่ไปใส่ปุ๋ยในสวนยาง อ.บันนังสะตา จ.ยะลา

“ตัวของน้องมัง พอออกจากโรงพยาบาลเขาก็ยังกลัว เวลาค่ำๆ 5 โมง 6 โมง เขาก็ให้ปิดประตูบ้านเลย เขากลัว อาการเขาก็ยังเจ็บมากเวลาขึ้นบันได ยิ่งเวลาฝนตกนะ อากาศเย็นๆ ชื้นๆ แผลที่เขาโดนยิงก็แสบก็ร้อนขึ้นมา ต้องเอาผ้ามาประคบไว้ตลอด อยู่แบบนี้เป็นปีเลย ไปโรงเรียนก็พกผ้า อยู่ก็ผวา เป็นปีเลยต้องรักษากันนาน พาไปหาหมอบ้านบ้าง ปลอบใจกันบ้าง”

“ตอนนี้ผมเริ่มที่จะใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว กำลังเรียนม.1 โรงเรียนใกล้ๆ บ้าน เดินทางไปโรงเรียนกับลูกพี่ลูกน้องด้วยรถมอเตอร์ไซค์ทุกวัน อาการผวาผมไม่ค่อยจะมีแล้วครับ กลับจากโรงเรียนผมก็จะไปเล่นบอลกับเพื่อนๆ เวลาวันเสาร์อาทิตย์ช่วงเย็นๆ ผมก็จะช่วยแม่ดูแลหลานๆ พาหลานไปขี่มอเตอร์ไซค์เล่น ทำกับข้าวบ้างครับ”

“ผมโตขึ้นผมอยากเป็นตำรวจ ผมจะสร้างสันติภาพให้กับคนในพื้นที่ครับ” เขาเล่าความฝันในอนาคต

“น้องมังเขาดูโตขึ้น รู้จักคิดขึ้น เขาพูดกับแม่ตลอดว่าเขาจะดูแลแม่เอง เพราะแม่เคยคิดที่จะไปอยู่ปอเนาะคนชราจะไปปฏิบัติศาสนกิจที่นั่น แต่เขาก็ไม่ให้ไป เขาบอกว่าอยู่ที่บ้านก็ได้เขาจะดูแลทุกคนเอง” แม่อมยิ้มด้วยความภาคภูมิใจขณะเล่า น้องมังที่นั่งอยู่ข้างๆ เข้าไปหอมแก้มแม่

อิสมาแอ ตอกอย เจ้าหน้าที่ในสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือ กลุ่มลูกเหรียง ซึ่งเป็นผู้ดูแลกรณีของน้องมัง ให้ข้อมูลว่า พี่สาวของน้องมังมีโอกาสทำงานเป็นอาสาสมัครที่กลุ่มลูกเหรียง ช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงปิดเทอมพอดีและกลายเป็นว่าพี่สาวของน้องมังที่มักลงพื้นที่ช่วยเหลือครอบครัวอื่นๆ ต้องมาช่วยเหลือครอบครัวตัวเอง เราประสานงานกับองค์กรต่างๆ เช่น กรมพัฒนาสังคมที่ได้มอบเงินมาช่วยเหลือ 100,000 บาท แล้วก็ช่วยไปแจ้งความดำเนินคดี แต่ท้ายที่สุดเรื่องก็เงียบหายไปเมื่อไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ ในส่วนของน้องมังทางลูกเหรียงก็ช่วยเยียวยาสภาพจิตใจ ช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษา

“น้องเก่งมากนะ เรียนจบชั้นประถมด้วยเกรดเฉลี่ย 3.55 ตอนนี้เขาเรียนม.1 แล้ว ทางเราก็ช่วยเรื่องค่าเทอมน้อง รองเท้า อุปกรณ์การเรียน และทุกครั้งที่จัดกิจกรรมของกลุ่มเราก็จะพาน้องไปร่วม มารับน้องจากบ้านไปยะลา เพราะเหมือนถ้าให้เด็กๆ เขาไปเองมันก็ต้องลำบากผู้ปกครองอีก เลยดูแลให้ทั้งหมด” อิสมาแอเล่า

พี่สาวคือคนใกล้ชิดที่มีบทบาทมากที่สุดในการเยียวยาสภาพจิตใจน้องมังในช่วงแรก น้องมังเล่าว่า “พี่ผมเข้ามาปลอบใจเวลาที่ผมเงียบ ผมกลัว แล้วก็บอกว่าทุกอย่างอัลลอฮ์เขากำหนดไว้แล้ว เราต้องยอมรับ ตอนนี้มันผ่านไปแล้ว อัลลอฮคุ้มครองเราแล้ว เราอยู่ในบ้านเราปลอดภัย เพราะมีพี่ มีแม่ มีหลายคน ผมเชื่อนะ ยิ่งตอนที่ร้องออกมาเสียงดัง พี่ก็เข้าคุย เวลาไปทำกิจกรรมของลูกเหรียงผมได้เจอเพื่อนที่เหมือนผม พี่ลูกเหรียงก็คุยก็เล่นด้วยเหมือนเป็นพี่เราจริงๆ ผมชอบ”

ทุกวันนี้น้องมังเด็กผู้ชายผิวขาว และมีรอยแผลเป็นที่ไม่มีวันจางหายกลับมาใช้ชีวิตประจำวันปกติได้เหมือนเด็กคนอื่นๆ พร้อมความใฝ่ฝันที่จะเป็นตำรวจผู้พิพากษสันติราษฎร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เด็กน้อยตัวกลม ยิ้มสดใส และความทรงจำที่ไม่มีวันลืม

น้องโอม สูญเสียพ่อไปตั้งแต่เขายังเล็ก แต่เหตุการณ์วันนั้นที่เขาประสบก็ยังเป็นภาพติดตา เขาเล่าเหตุการณ์วันนั้นให้ฟังว่า

“วันนั้นพ่อกับแม่พาผมไปตลาด ตอนที่กำลังซื้อของอยู่ก็มีรถกระบะแล้วก็มีคนอยู่บนนั้นถือปืนมา แล้วยิงคนในตลาด พ่อผมโดนยิงจากด้านหลังแล้วก็ล้มไป ส่วนแม่ก็อุ้มผมไปที่อื่น ตอนนั้นผมยังพูดไม่ได้ แต่ผมจำได้ แล้วผู้ใหญ่ก็เล่าให้ผมฟังเวลาที่ผมถาม” โอมเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงราบเรียบปกติ

อาจเป็นเพราะว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับน้องโอมนานมาแล้ว ขณะเดียวกันกลุ่มลูกเหรียงก็ได้เข้ามาช่วยดูแลเยียวยาสภาพจิตใจจนน้องโอมดีขึ้นมากแล้ว แตกต่างจากกรณีของเด็กคนอื่นๆ อีกหลายคนที่เหตุการณ์ยังสดใหม่ และพวกเขาอยู่ในวัยที่จดจำสิ่งต่างๆ ได้มากกว่า

น้องโอมกำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อาศัยอยู่กับครอบครัวของน้าชาย เนื่องจากแม่มีครอบครัวใหม่ แต่แม่ของเขาก็ยังส่งเสียดูแลค่าใช้จ่ายให้บ้าง

“ทุกวันนี้ผมอยู่กับน้าครับ น้าเป็นช่างแอร์ อยู่กับครอบครัวของน้า มีลูกของน้าด้วย ผมก็ช่วยน้าเล่นกับน้อง ช่วยทำงานบ้าน กรอกน้ำใส่ตู้เย็น ล้างจานด้วยบางที น้าดูแลผมดีมาก ทุกเช้าเวลาไปเรียนผมจะขี่จักรยานที่แม่ซื้อให้ไปโรงเรียนด้วย ตอนเย็นก็กลับมาเล่น แล้วก็ทำการบ้าน” โอมเล่า

กลุ่มลูกเหรียงได้เข้ามาช่วยเหลือดูแลกรณีนี้เมื่อมีการลงพื้นที่ทำกิจกรรมในหมู่บ้าน และได้มีโอกาสพบกับน้องโอม พวกเขาทำกิจกรรมกันเรื่อยมา จนกระทั่งโอมได้รับการคัดเลือกให้เป็นเด็กทุนลูกเหรียง

นายซาหดัม แวยูโซะ เจ้าหน้าที่กลุ่มลูกเหรียงซึ่งมีความสนิทกับน้องโอมได้ให้สัมภาษณ์ว่า จากการพบกันในครั้งลงพื้นที่ ก็มีการไปเยี่ยมบ้านน้องอีกหลายครั้งจนกระทั่งมีความสนิทสนมกัน

“กรณีที่ไปเยี่ยมบ้านน้องโอมได้เพราะหน่วยงานราชการไป คือส่วนของ กอ.รมน. เขาแนะนำมาว่าอยากให้ไป กรณีแบบนี้บางทีเราก็ไม่สามารถรู้เบาะแสได้เองเพราะเกิดเหตุการณ์นานแล้ว เรื่องมันเงียบไปแล้ว แต่ถ้าเหตุการณ์เพิ่งเกิด เราจะรู้ เราจะตามทันที  ตอนไปหาน้องโอมเราก็โทรไปที่บ้านนะว่าเราจะไปเยี่ยมบ้านกับ กอรมน. ทางน้าเขาก็ยินดี” อิสมาแอ กล่าวเสริม

ชีวิตของน้องโอมแม้ว่าจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากครอบครัวของน้าชาย แต่ในใจเขาก็ยังคิดถึงพ่อที่จากไปเมื่อเขายังเด็ก

“ที่จริงจำหน้าพ่อไม่ได้เพราะพ่อเสียไปนานแล้ว แต่ทุกครั้งที่โอมคิดถึงก็ดูรูปถ่ายของพ่อตลอด” เขาเล่าพร้อมกับก้มหน้าหลบสายตาและเหมือนพยายามกลั้นไม่ให้น้ำตาไหลออกมา เขาเล่าด้วยว่า ตั้งแต่เรียนชั้นประถมเขาจะไปบวชภาคฤดูร้อนเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับพ่อเสมอ

“เวลาปิดเทอมผมจะไปบวชให้พ่อทุกครั้งเลย พระอาจารย์สอนให้ผมทำความดี สวดมนต์แผ่เมตตา ช่วยทำความสะอาดวัด แล้วตัวผมก็สบายเวลาที่ทำความดี”

ส่วนอนาคตน้องโอมใฝ่ฝันอยากจะประกอบอาชีพเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ด้วยเหตุผลเดียวกับน้องมังคือ ต้องการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้นั่นเอง

หนุ่มน้อยวัย17 กับคำล้อ “ไอ้ลูกไม่มีพ่อ”

น้องแป๊ะ เด็กหนุ่มหน้าตาดี ชีวิตภายนอกของเขาดูเหมือนวัยรุ่นที่กำลังตามหาฝันของตัวเอง ใช้ชีวิตที่มีพร้อมทุกอย่าง ทั้งรถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่ที่ใช้เป็นพาหนะไปเรียนหนังสือ การแต่งตัวที่สะอาดดูมีสไตล์ เล่นกีฬาสุดโปรดอย่างสเกตบอร์ด แต่ใครจะรู้ว่าเด็กหนุ่มคนนี้ในอดีตผ่านอะไรมาบ้าง

น้องแป๊ะเป็นเยาวชนอีกคนหนึ่งที่อยู่ในความดูแลของกลุ่มลูกเหรียง ปัจจุบันเขาก็อาศัยอยู่ในบ้านพักของกลุ่มลูกเหรียงโดยมี ‘พี่ชมพู่’ ประธานกลุ่มลูกเหรียง และพี่ๆ เจ้าหน้าที่คอยดูแลเป็นผู้ปกครองและจะว่าไปก็เปรียบเหมือนครอบครัวจริงของพวกเขาด้วย เราได้พบกับน้องแป๊ะในช่วงที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านพักกลุ่มลูกเหรียง  เพื่อทำความรู้จักพูดคุยและตามไปดูการใช้ชีวิตของเขาตลอดทั้งวัน

แป๊ะเล่าชีวิตของเขาก่อนที่จะมาอยู่ที่บ้านลูกเหรียงว่า “ผมเป็นเด็กกำพร้า เพื่อนๆ ที่โรงเรียนล้อผมว่า ไอ้ลูกไม่มีพ่อ อาจเป็นเพราะว่าผมได้รับทุนจากโรงเรียนบ่อย ผมมีพี่น้องสามคน”

“พ่อผมเสียชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิงบนภูเขา แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนผมอายุ 3 เดือน ผมไม่เคยเห็นหน้าพ่อ ก่อนหน้านี้อยู่กับยายมาตลอด แม่ไปทำงานที่ปัตตานีบ้าง หาดใหญ่บ้าง แล้วก็แต่งงานใหม่ ส่งเงินมาให้ยาย มาเยี่ยมผมกับพี่ๆ บางครั้งเวลาว่าง”

“ยายผมมีอาชีพกรีดยาง ค้าขาย เอาเงินมาเลี้ยงเด็กสามคน มันก็ไม่พออยู่ดี มีอะไรก็กินอันนั้น ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย ผมได้เงินไปโรงเรียนวัน 40 บาท บางวันผมไม่ได้กินข้าวที่โรงเรียน เพราะต้องจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียน จ่ายค่ารายงาน พอต้องมาเรียนในตัวเมืองผมก็ต้องมาเช่าหอ ค่าหอเดือนละ 2,500 บาท แต่แม่ให้เงินใช้เดือนละ 2,000 บาท มันก็ไม่พอ ผมเลยต้องไปช่วยเพื่อนขายน้ำชา”

“ผมเคยคิดว่าชีวิตผมพังไปแล้ว เพราะเด็ก ม.2 ต้องรับผิดชอบตัวเอง ไม่มีเงิน ผมต้องออกไปทำงานร้านน้ำชาตั้งแต่ 1 ทุ่มเลิกเที่ยงคืน วันหยุดคือคืนวันศุกร์คืนเดียว แต่พอมีทุนของกลุ่มลูกเหรียงเข้ามาที่โรงเรียน ผมก็ได้รับคัดเลือก แล้วพี่ๆ เขาก็ชวนมาอยู่ที่บ้าน ช่วยดูแลทุกเรื่อง ดีครับ”

ชีวิตเขาตั้งแต่ได้รู้จักจากกลุ่มลูกเหรียง ได้เข้ามาอยู่ที่บ้านชีวิตเปลี่ยนไปมากจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาเล่าบรรยากาศครอบครัวในบ้านพักลูกเหรียงให้ฟังว่า ที่นั่นเหมือนครอบครัว มีสมาชิกทั้งหมด 22 คน ทั้งผู้หญิงผู้ชาย มีพี่ๆ คอยดูแลเรื่องกับข้าว ตอนเช้าก็แล้วแต่เราจะทานอะไรเพราะในครัวมีทุกอย่าง แล้วเราก็มาทานข้าวพร้อมกันในตอนเย็น

“แม่ชมพู่คอยให้กำลังใจ คอยเตือน คอยสั่งสอนในทางที่ดี พี่ๆ ก็กันเองมาก ไม่เหมือนว่าเรามาจากที่อื่น แต่เหมือนเราโตด้วยกัน มันอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ แต่มันรู้สึกครับ”

น้องแป๊ะเล่าถึงความโชคร้ายของชะตาชีวิตที่พลิกผันเพราะความไม่สงบในพื้นที่ให้ฟังว่า

“พ่อผมเป็นนักการเมืองในเขตจังหวัดยะลา ก่อนพ่อผมโดนยิงตาย พ่อขึ้นไปตัดหญ้าบนภูเขา ประมาณช่วงเย็น ราวๆ หกโมงก็มีกลุ่มคนจำนวน 1 คันกระบะขับรถขึ้นมาแล้วลอบยิงจนเสียชีวิต หลังจากที่พ่อผมเสียชีวิตไปนั้น อาก็ได้ขายที่ดินซึ่งเป็นมรดกที่โต๊ะอีหม่ามได้แบ่งไว้ตามหลักการศาสนาเอาไปขายให้กับคนรู้จัก เมื่อต้องขึ้นศาล ผลการตัดสินของศาลก็ให้ครอบครัวผมแพ้ความ หลังจากนั้นแม่ก็ต้องชดใช้หนี้สินเกี่ยวกับโฉนดที่ดินนั้น เนื่องจากก่อนพ่อเสียชีวิตก็ได้พาที่ดินไปจำนองเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว หลังจากพ่อเสียชีวิตทุกอย่างก็แย่ลงในทุกด้าน ยายก็ต้องรับผิดชอบอย่างที่เล่าไป”

ปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าชีวิตน้องแป๊ะจะดูสมบูรณ์แบบในสายตาของเพื่อนๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปและต้องการที่จะเรียกร้องอยู่ตลอดเวลาคือชีวิตของพ่อนั่นเอง

“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากได้คืน คือ พ่อ ผมอยากให้พ่ออยู่กับผม รถหรืออะไรที่ผมมี ผมต้องเก็บเงินต้องแลกกับอะไรมามาก แต่พ่อคือสิ่งที่ทำให้ผมมีแต่แรก แต่เรากลับไม่ได้อยู่ด้วยกัน ผมเคยถามว่าทำไมต้องมีเรื่องแบบนี้ แต่ผมก็หาคำตอบไม่เจอ ต้องทำใจยอมรับอย่างเดียว”

ซาหดัม แวยูโซะ เจ้าหน้าที่กลุ่มลูกเหรียงซึ่งมีความใกล้ชิดและหมั่นสังเกตพฤติกรรมของแป๊ะเล่าว่า “เขามีมุมของเขานะ เวลาเงียบๆ เขาจะเหม่อ จะเศร้า จะดูเหนื่อย บางทีเขาก็นอกกรอบไป เราต้องเตือนเขา เข้าไปคุย ต้องบอกเขาถ้าเขาเริ่มนอกกรอบไปแล้ว เช่น ตอนนี้นะ น้องไม่โอเคแล้วนะ ทำตัวไม่ดีผู้ใหญ่เขาเสียใจนะ แล้วเขาจะไม่สนับสนุนเรานะ เพราะเขาเป็นวัยรุ่นแล้วไง ต้องใช้เหตุผลคุย”


รูปห้องนอนของเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้
กลุ่มลูกเหรียงได้รับบริจาคบ้านหลังดังกล่าวเพื่อเป็นสำนักงานและที่พักของเด็กๆ

“ลูกเหรียง” องค์กรช่วยเหลือและเยียวยา

 “พี่มีโอกาสได้ไปเยี่ยม ทุกครอบครัวที่เขาเจอนั้นเหมือนเรา เขาเศร้า เขาร้องไห้ เขาเสียใจ สูญเสียผู้นำครอบครัว มีผู้หญิง มีคนแก่ นั่งร้องไห้ มีเด็กที่นั่งนิ่งๆ อยู่เยอะมาก” ตอนหนึ่งจากคำสัมภาษณ์ของชมพู่ วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือกลุ่มลูกเหรียง เล่าแรงบันดาลใจของการก่อตั้งกลุ่มลูกเหรียง และการจัดบ้านพักรองรับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงขึ้นในจังหวัดยะลา

ชมพู่ เล่าว่า ในองค์กรมีเจ้าหน้าที่รวม 8 คน ส่วนใหญ่จะช่วยกันทำงาน ตัวเธอเองดูแลทั่วไป โดยเฉพาะงานงบประมาณซึ่งเป็นงานที่หนัก

“มีเด็กมากมายที่ยังรอความช่วยเหลือ การหางบประมาณก็จากผู้ใหญ่ในสังคมบ้าง จากคนใจดีบ้าง บางท่านเขาก็ช่วยเป็นผู้อุปการะให้เด็กๆ”

ชมพู่บอกด้วยลักษณะขององค์กรและการทำงานของกลุ่มลูกเหรียงทำให้ทำงานได้รวดเร็วกว่ารัฐ

“เราจะทำงานเร็วกว่าภาครัฐนิดหนึ่ง เช่นเมื่อได้รับข่าวมาเราก็จะติดตามโดยเว้นระยะ 3 วันเพื่อให้ครอบครัวของผู้สูญเสียทำใจ แต่ทางรัฐเขาจะทำตามขั้นตอนก็ต่อเมื่อมีการแจ้งไป ส่วนการให้ความช่วยเหลือของรัฐในพื้นที่ เขาเห็นการทำงานของเรานะ เขาก็ช่วยเต็มที่ ส่วนไหนที่ต้องแก้ไขเราก็จะบอกเขาไปตรงๆ สิ่งไหนที่เขาช่วยเราได้เขาก็มา เพราะต้องทำงานร่วมกัน”

อิสมาแอ ตอยกอ เจ้าหน้าที่กลุ่มลูกเหรียงเล่าถึงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ให้เราทราบว่าแม้องค์กรของเขาจะทำงานมายาวนานแต่ก็ยังมีปัญหาในการเข้าถึงกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้น

“ถ้าลงพื้นที่ ผู้ปกครองเด็ก เขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร ลูกเหรียงคืออะไร ไม่กล้าให้น้องมาทำกิจกรรมกับเรา มันติดที่เขามองภาพลักษณ์ที่ไม่ดีมาก่อน ก็เลยกลัว แรกๆ ก็ไม่กล้าให้ข้อมูล แต่พอไปเรื่อยๆ เขาก็ไว้วางใจมากขึ้น”

ซาหดัม แวยูโซะ เจ้าหน้าที่กลุ่มลูกเหรียงอีกคนหนึ่งอธิบายเพิ่มเติมว่า “บางทีเขาไม่ไว้ใจเรา อย่างที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เขาจะถามเราว่าทหารมาหรือเปล่า ถามว่าเขากลัวทหารไหมก็ไม่แน่ใจ บอกไม่ได้เหมือนกัน ส่วนด้านความปลอดภัย เมื่อก่อนอยู่ที่ห้าสิบต่อห้าสิบแต่ตอนนี้ไม่กลัวแล้ว หรือบางทีก็มีผู้ปกครองเด็กมาโวยวาย เพราะเขาไม่เข้าใจระบบงานของเรา ปัญหาก็มีแค่นี้เอง”

สำหรับหัวหน้าองค์กรอย่างชมพู่เธอบอกว่าเธอตั้งองค์กรอย่างเปิดเผยและโดยความเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี เนื่องจากเธอสูญเสียพี่ชายและพี่สาวจากเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน และหลานๆ ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า

“สำหรับพี่ไม่มีอะไรน่ากลัว การที่พี่ตั้งองค์กรขึ้นมาก็เป็นเพราะตัวพี่เองได้รับผลกระทบเหมือนกัน และเข้าใจเด็กๆ เหล่านั้น” ชมพู่กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net