เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ประกาศคว่ำร่าง พ.ร.บ.น้ำ ชี้รวบหัวรวบหางประชาชน

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ประกาศคว่ำร่าง พ.ร.บ.น้ำ ชี้กระบวนการไม่ชอบธรรมขาดการมีส่วนร่วม ซ้ำให้อำนาจรัฐมากกว่า เสมือนน้ำเป็นของรัฐ ประชาชนไม่มีส่วนกำหนดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

25 ก.พ. 2559 จากกรณีที่ทางกรมทรัพยากรน้ำ จะเปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการปรับปรุง พัฒนาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ในวันที่ 29 ก.พ. 59 ในส่วนกลาง เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...ให้เกิดความรอบคอบ อันก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในทุกภาคส่วน และลดข้อขัดแย้งในการเสนอร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....

สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน เปิดเผยว่า จากการติดตามกระบวนการร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้เห็นว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของกรมทรัพยากรน้ำในวันที่ 29 ก.พ.นี้ เป็นการจัดเวทีที่จะรวบหัวรวบหางประชาชน โดยให้กลุ่มคนไม่กี่ร้อยคนให้ความเห็นและตัดสินใจแทนคนส่วนใหญ่ของประเทศ อีกทั้งหลักการของเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงรวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการน้ำอยู่ที่รัฐ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำได้ ซึ่งมันเป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐผูกขาดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และกำหนดการพัฒนาแหล่งน้ำไปในทิศทางที่คนลุ่มน้ำไม่มีส่วนร่วม ดังนั้นจึงอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำนั้นๆ ได้

โดยผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ได้แจกแจงถึงปัญหาในร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ ว่า 
1) ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ไม่ได้ยึดโยงอำนาจประชาชนคนลุ่มน้ำผ่านการกระจายอำนาจที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะดูได้จากการจัดเวทีในครั้งนี้ 

2) สัดส่วนในการแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะมีแต่ตัวแทนจากภาครัฐ ส่วนภาคประชาชนแทบจะไม่มีพื้นที่ให้เลย  ซึ่งหน่วยงานภาครัฐหรือกรรมการนโยบายควรมีบทบาทหน้าที่ใน ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้เพียงแค่การติดตาม ส่งเสริมสนับสนุนองค์การภาคประชาชนให้ทำงานให้มีประสิทธิภาพ 

3) การกำหนดนโยบาย และแผนงานเป็นการกำหนดจากข้างบนลงมาล่าง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของภาครัฐต่อประชาชนลุ่มน้ำ ที่ควรให้อำนาจประชาชนลุ่มน้ำน้ำร่วมกันกำหนดจากข้างล่างขึ้นไปบน 

4) ในประเด็นการให้ข้อเสนอแนะที่มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ประจักษ์ในด้านเทคนิควิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำนั้น จะอาศัยบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ตามร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้คงไม่พอ เพราะผู้เชี่ยวชาญใช่ว่าจะเข้าใจสภาพภูมินิเวศในแหล่งน้ำที่มีรูปแบบการจัดการในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน  และ

5) ในร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ ไม่มีเนื้อหาที่กล่าวถึงการบูรณาการ ในการที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นระบบนิเวศสำคัญในการเชื่อมโยงกัน  แต่ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่การจัดสรรทรัพยากรน้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์มากกว่าที่จะดูองค์รวมของ ดิน น้ำ ป่า

“เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานขอประกาศ คว่ำ ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำ ฉบับรวบหัวรวบหางประชาชน เพราะขาดความชอบธรรมและไม่เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย” สิริศักดิ์กล่าว

ด้าน ประดิษฐ์  โกศล อุปนายกสมาคมคนทาม กล่าวว่า มองว่าร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ มีกระบวนการที่ไม่ถูกต้องเพราะภาคประชาชนหรือภาคเกษตรกรในระดับพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมเลย และร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ให้อำนาจรัฐมากกว่า เสมือนน้ำเป็นของรัฐ ประชาชนไม่ได้มีส่วนในการกำหนดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะรัฐเป็นผู้ควบคุมจัดสรร

"ผมไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับที่จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และผมมีข้อเสนอว่ารัฐจะต้องเปิดกว้างเพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่าง พ.ร.บ.น้ำ ถ้ากระบวนการยังเป็นแบบนี้อยู่เราก็คงไม่เข้าร่วมและจะค้านร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ต่อไป" ประดิษฐ์กล่าว

ด้าน สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า  การมี พ.ร.บ.น้ำ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เราจะต้องมาดูเจตจำนงของร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ว่า เพื่ออะไร ควรที่จะบอกให้ชัดว่าจะเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ หน่วยงานรัฐแทบจะไม่คำนึงถึงในจุดนี้จึงน่าเป็นห่วงว่าจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของระบบนิเวศ  โดยแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำควรเน้นที่กระบวนการมีส่วนร่วม ไม่ใช่หน่วยงานรัฐปักธงไว้แล้ว และมาบอกว่ารับฟังความคิดเห็นแต่มิได้ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่

"กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของร่าง พ.ร.บ.น้ำในครั้งนี้ รัฐมีธงไว้ชัดเจนแล้ว แต่จัดให้เป็นพิธีกรรม ผมมองว่าไม่มีประโยชน์  ถ้าจะให้มีประโยชน์จริงควรที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ตั้งแต่ต้น"

สันติภาพ กล่าวต่อว่า การรับฟังความคิดในเรื่องร่าง พ.ร.บ.น้ำ ที่จะเกิดขึ้นนี้จะมีปัญหาตามมาเหมือนเดิม เพราะรัฐไม่ให้ความสำคัญในหลักการและเนื้อหาที่เกี่ยวกับประชาชนในหลายด้าน เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำ กลุ่มหาปลา เป็นต้น และปัญหาที่จะกล่าวถึงก็คือ เกิดการอนุมัติโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ก็เป็นการปัดฝุ่นโครงการเก่าที่มีอยู่เดิม นำมาเสนอในยุคนี้ เช่น โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ซึ่งเป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบทางระบบนิเวศ ความไม่คุ้มค่าการลงทุน ประชาชนไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเป็นโครงการที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นี่คือปัญหาที่จะตามมา

"มันจะนำไปสู่กระบวนการของการแปรรูปน้ำหรือไม่ เพราะเป็นการนำน้ำไปตอบสนองภาคเศรษฐกิจ จะเป็นการให้เอกชนเข้ามาซื้อเพื่อสัมปทานน้ำ เพื่อป้อนอุตสาหกรรมที่กำลังจะผุดขึ้นในหลายพื้นที่ ฉะนั้นถ้าร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ไม่มีเจตจำนงที่จะให้ความสำคัญกับประชาชนก็เท่ากับเป็นการมองข้ามความสำคัญของคนลุ่มน้ำอย่างแน่นอน เพราะรัฐไม่มีแนวคิดความยั่งยืนของระบบนิเวศ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท