Skip to main content
sharethis

เรื่องอยากเล่า

จำได้ว่าบ่ายวันเสาร์ที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา ผมเจอกับชิน เพื่อนรุ่นเดียวกันที่ทำงานกราฟฟิกให้กับนิตยสาร WAY โดยบังเอิญที่งานขายหนังสือของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งย่านพระรามเก้า โชคดีที่เขาจำผมได้เพราะก่อนหน้านี้เราเคยเจอกันแค่ครั้งเดียว จริงๆ ถือว่าเป็นโชคสองชั้นของวันนั้นก็ว่าได้

เริ่มกันที่โชคชั้นที่สองก่อน ผมกำลังจะได้คนแชร์ค่ารถแท็กซี่เพื่อที่จะไปร้าน The Writer’s Secret แน่ๆ เพราะงานที่ไรท์เตอร์ในเย็นวันนั้น ลูกพี่ใหญ่ ชินเรียกอธิคม คุณาวุฒิ ว่าอย่างนั้น จะมานั่งพูดคุยเรื่องเล่าความเป็นไปของนิตยสาร WAY ที่เพิ่งครบรอบ 9 ปี พร้อมกับประกาศเริ่มต้นเขี่ยลูกใหม่หลังเสียงนกหวีดครั้งที่ 10 ดังในสนามออนไลน์ อีกทั้งเล่าเรื่องราวส่วนตัว ประสบการณ์ทำงานในที่ต่างๆ จนกว่าจะมาเป็น บ.ก. อำมาตย์แห่งนิตยสาร WAY (เขาเรียกตัวเองอย่างนั้น)

หากพูดถึงพื้นที่ใหม่ในการเสพข้อมูลข่าวสาร ถ้าเอาคนรุ่นผม(ปลายๆ GEN-Y) เป็นบรรทัดฐาน หลายคนไม่ได้เปิดทีวีเพื่อรอดู ข่าวหรือรายการทีวี มาหลายปีแล้ว หนังสือพิมพ์รายวัน หรือรายสัปดาห์ เราก็อ่านอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับตอนก่อนหน้าที่จะมีสมาร์ทโฟน ถือว่าการอ่านผ่านหนังสือจริงๆ น้อยลงไปเยอะ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนอย่างพวกเราตัดขาดจากโลกข้อมูลข่าวสาร หากแต่เรามีพื้นที่ใหม่ในการเสพสิ่งเหล่านั้น ดูเหมือนจะเป็นโชคดีของพวกเราที่แทบจะทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากรู้ อยากเห็น สามารถเข้าถึงได้เพียงใช้นิ้ววิเศษจิ้มเบาๆ บนหน้าจอสมาร์ทโฟน แต่ดูจะเป็นความท้าทายของคนทำนิตยสารสิ่งพิมพ์อยู่ไม่น้อย เมื่อพฤติกรรมของคนอ่านเปลี่ยนไป และก็เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า นิตยสารหลายตัวต้องปิดตัวลง ไม่ก็ต้องเปลี่ยนพื้นที่เล่นใหม่ เข้ามาปรับตัวเล่นกับผู้อ่านในโลกออนไลน์มากขึ้น และนั้นเป็นสิ่งที่ WAY กำลังทำ

พวกเขาปรับตัวจากการเป็นนิตยสารรายเดือน สู่ราย 4 เดือน พร้อมกับเพิ่มคุณภาพ และคุณค่าให้กับมัน ขณะเดียวกันก็ยกเนื้อหาอีกส่วนหนึ่งที่ตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างฉับพลันเข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์

จำได้อีกว่าผมเคยเสนอทีเล่นทีจริงกับ บ.ก. อยู่ 2-3 ครั้งว่า อยากสัมภาษณ์ อธิคม แต่ตอนนั้นก็ยังคิดประเด็นไม่ออกว่าจะพูดถึงเรื่องอะไร รู้แค่ว่าเราอ่าน WAY มาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย แล้วมันมีส่วนช่วยฟอร์มวิธีคิดบางอย่าง พูดแบบเสกสรรค์ ประเสริฐกุล WAY เป็นนิตยสารที่กวนตีนอย่างมีรสนิยม ตรงนี้แหละมั้งที่เป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้เราอยากพูดคุยทำความรู้จักพวกเขา

ฉะนั้นโชคดีชั้นแรกคือ ผมไม่ต้องนั่งคิดประเด็นอะไรให้มากมาย เพราะไรท์เตอร์จัดงานเสวนาว่าด้วย ‘My WAY’ สัมภาษณ์สด อธิคม ให้เรียบร้อยแล้ว และมีนักข่าวค่ายมติชน เตย วจนา วรรลยางกูร เป็นมือปืนยิงคำถามเลี้ยงบทสนทนานานกว่าสองชั่วโมง

แต่ในโชคดีมักมีโชคร้ายอยู่ด้วยเสมอ... ผมเก็บเรื่องราวมาเล่าต่อได้เพียงแค่ 2/3 จากทั้งหมดเท่านั้น ด้วยเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นคือ เครื่องอัดเสียงถ่านหมดไปโดยไม่รู้ตัว... แต่ก็นั่นแหละ คิดเอาเองว่าแค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ ‘แฟนนานุแฟน’ ของ WAY เลื่อนอ่านไปจนจบ

00000

จากสิ่งพิมพ์ สู่สนามใหม่ในโลกออนไลน์

นิตยสารหลายหัว ทยอยปิดตัวไปตามกัน ในฐานะคนอ่านอาจจะดูหดหู่นิดนึง แต่มีหนึ่งความเคลื่อนไหวในแวดวงหนังสือที่เป็นข่าวดี คือ WAY ยังอยู่บนแผง เพราะทั้งเศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ WAY ก็มีทางของตัวเองคือ เลือกที่จะเปลี่ยน ภายใต้การนำของพี่คม และในความเปลี่ยนแปลงของวงการสิ่งพิมพ์ พี่ใช้เวลานานไหมที่คิดว่า WAY จะต้องเปลี่ยนจากรายเดือนมาเป็นราย 4 เดือนที่หนักแน่นขึ้น และยกเนื้อหาบางอย่างไปไว้ในสื่อออนไลน์

อธิคม : สวัสดีทุกท่านนะครับ ขอบคุณที่สละเวลาวันเสาร์ มานั่งฟังอะไรก็ไม่รู้ ขอบคุณพี่สุชาติ อุตส่าห์เดินทางไกลมา อันดับแรกผมของชี้แจงนิดนึง ผมไม่ได้เป็นบรรณาธิการ WAY มาพักใหญ่แล้ว บรรณาธิการตอนนี้เป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่อรุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ ผมเป็นอำมาตย์กว่านั้น เป็นคนค่อยบริหารองค์กร เพื่อให้มันมีชีวิตรอด เล้วก็พูดตามตรงเราไม่ได้มีความสามารถที่ลงไปดูรายละเอียดของ WAY ได้เหมือนแต่ก่อนแล้ว

เนี่ยคนนี้ อ้วนๆ เดินมานี่แหละ (รุ่งฤทธิ์ เปิดประตูร้านเดินเข้ามาพอดี)

เราเป็นบรรณาธิการอำมาตย์ เออ..ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสื่อสิ่งพิมพ์มันเกิดพักใหญ่แล้ว ถ้าคุณเป็นสื่อ คุณเป็นนักข่าว น่าจะสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ ควรจะรู้กระแส ได้กลิ่นตั้งแต่แรกๆ และเราก็พยายามที่จะสังเกตและทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ว่า ถ้าคลื่นมันมาแบบนี้แล้ว เราควรที่จะปรับอย่างไรเพื่อให้อยู่กับมัน

อธิบายอย่างเป็นรูปธรรมคือ ในยุค 10 ปีที่แล้ว ถ้ามีนิตยสารสักเล่มหนึ่งปิดตัวแล้วออกไปทำสื่อออนไลน์ หรือเว็บไซต์ ความหมายก็คือ มันไปไม่รอด แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่า การมาของโลกออนไลน์โดยเฉพาะโซเซียลมีเดีย มันพลิกเปลี่ยนพฤติกรรมคนไปไกลมาก พฤติกรรมคนในการอ่านข้อมูลข่าวสาร พฤติกรรมคนในการมีปฏิกริยากับข้อมูลข่าวสาร มันกลาย Interactive คนอ่านกลายเป็นผู้ผลิต Content ได้ ใครๆ ก็เป็นสำนักข่าวได้ เราสังเกตภูมิประเทศที่เปลี่ยนไปลักษณะนี้มาพักใหญ่

เล่าให้เป็นรูปธรรมชัดขึ้นมาอีกก็คือว่า เมื่อสัก 3 ปีที่แล้ว ผมไม่เคยเล่น Facebook วันดีคืนดีผมก็เห็นพี่ๆ ในกองบรรณาธิการเขาไปรุมโต๊ะหนึ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วก็ซุบซิบอะไรกันก็ไม่รู้ เราก็เข้าไปส่องๆ ดู มันทำอะไรกันว่ะ ปรากฏว่ากำลังทำ Facebook ของ WAY Magazine ก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจกับมันว่ามันเป็นเครื่องมือสื่อสารแบบนี้ ตอนแรกๆ เราเห็นก็มีคนติดตามอยู่ 2,000 กว่าคน ก็เลยเรียกเข้ามานั่งคุยกัน เพราะเรารู้แล้วว่านี่คือ ธรรมขาติ นี่คือเครื่องมือของคนยุคปัจจุบัน

เราเห็นด้วยว่าเครื่องมือแบบนี้จำเป็น แต่ถ้าพอเราจะทำให้มันเป็นองค์กรที่มีลักษณะของมืออาชีพมาขึ้น เราควรจะทำอะไรอีกบ้าง นอกเหนือจากการปล่อย Content ที่มันน่ารักจุ๋มจิ๋ม น่ารัก ฟรุ้งฟริ้ง เราควรจะทำอะไรอีกบางเพื่อให้หน้าเพจของ WAY มันแข็งแรง คู่ควรกับการเป็นสื่อ เราก็พยายามกันมา จาก 2,000 ก็กลายเป็น 120,000 นี่กลายเป็นหลักประกันว่าเรามีพื้นที่ ซึ่งเรายึดกุมได้ในโลกออนไลน์ นี่คือโจทย์ของที่ 1

โจทย์ข้อที่ 2 ก็คือ แม้ว่า WAY จะเป็นสื่อสิ่งที่ไม่ค่อยได้ข้องเกี่ยวกับธุรกิจโฆษณามากนัก มีบ้างแต่ก็ค่อนข้างน้อย ฉะนั้นผลกระทบในเชิงธุรกิจ จากการที่โฆษณาลงในสื่อสิ่งพิมพ์ลดน้อยถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ พูดตามตรงคือมันกระทบกับ WAY น้อย แต่เราพบข้อเท็จอย่างหนึ่งว่า แม้เราจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับโฆษณาโดยตรง แต่ว่าพฤติกรรมการบริโภคข้อมูลข่าวสารของคนมันเปลี่ยนไปจริงๆ คำถามที่กวนใจตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมาก็คือ เอ๊ะแล้ว Magazine รายเดือนมันยังมีฟังก์ชั่นอยู่จริงหรือเปล่า ตรงนี้สำคัญมากกว่าเรื่องทางธุรกิจ พูดให้น่าหมั่นไส้ก็คือว่า ทุกวันนี้เราจะทำ WAY รายเดือนก็ได้ ทำได้อีกพักใหญ่เลยล่ะ แต่ผมคิดว่า การปรับตัวน่าจะเป็นเรื่องที่คนฉลาดเขาทำกัน (ผู้ฟังหัวเราะ)

หมายความว่าเมื่อภูมิประเทศมันเปลี่ยน แน่นอนอย่าสงสัยเราว่าเรารักสิ่งพิมพ์หรือไม่ อย่ามาถามเราว่าเรารักหนังสือหรือเปล่า รัก Magazine ไหม เราโตมากับสิ่งนี้อยู่แล้ว แต่ว่าเมื่อภูมิประเทศมันเปลี่ยน ชัยภูมิเปลี่ยน สนามเปลี่ยน พฤติกรรมคนเปลี่ยน ทำอย่างไรในฐานะคนทำสื่อมันจึงจะยังรักษาฟังก์ชั่นของตัวเองอยู่ได้

ถ้าถามว่าทำรายเดือนยังทำได้มั้ย ทำได้ แต่ว่าทำได้โดยไม่มีฟังก์ชั่น ผมว่ามันน่าเศร้ามากกว่า

มองดูจากกระแสสื่อสิ่งพิมพ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกสื่อก็ได้รับผลกระทบ แต่พอจะบอกได้มั้ยว่าทำไม Magazine มันถึงไปก่อน

สิ่งที่ไปก่อนคือ สิ่งพิมพ์รายวัน สิ่งพิมพ์รายวาระ รายปัก รายสัปดาห์ รายเดือน มันล้มเป็นโดมิโน่อยู่แล้ว เหมือนที่พยายามพูดกับน้องๆ ที่เคยเข้ามาแลกเปลี่ยนบ่อยๆ ว่า ถ้าเราถามว่าฟังก์ชั่นของ Magazine คืออะไรไม่ต้องเป็น WAY หรอกดูที่หนังสือทั่วๆ ไป เราอยากจะอัพเดทข่าว เช่น ข่าวบันเทิง ข่าวฮอลลีวูด ฯลฯ เราจำเป็นต้องรอเหรอ ไม่เห็นต้องรอเลย

ทุกวันนี้คนเสพข่าว แบบเรียลไทม์ ฉะนั้นข้อนี้อย่าปากแข็ง อย่าปฏิเสธ และอย่าทำท่าโรแมนติก เพราะถ้าคนโรแมนติกแล้วคุณจะตาย การที่เราแข็งขืน และทำอะไรที่มันฝืนข้อเท็จจริงมันอาจจะดูโรแมนติกนะ แต่มันไม่เวิร์คหรอก ในระยะยาว

ฉะนั้นสุดท้ายแล้วเนี่ยสื่ออย่างกรณีรายเดือนมันก็ชัดเจนว่าไม่ต่างกัน ถ้าฟังค์ชั่นของ Magazine รายเดือนคือการตอบสนองไลฟ์สไตส์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแฟชั่น เรื่องรสนิยม การแต่งบ้าน การแต่งตัว มันไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะต้องรอสิ่งพิมพ์รายเดือนเลย คนเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หมดแล้ว

แล้วจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีวิธีการแยกอย่างไรว่า เนื้อหาแบบไหนควรจะอยู่บนออนไลน์ หรือว่าเนื้อหาแบบไหนที่จะอยู่ในหนังสือต่อไป

ธรรมชาติของงานออนไลน์มันคือ การตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นในชั่วโมงนั้นอย่างฉับพลัน เวลาที่ WAY ทำออนไลน์ก็ไม่ได้หมายความว่า เราถนัดในการส่งนักข่าวไปอยู่ในสถานการณ์ในเวลานั้นทันที เราไม่ได้เก่งที่จะไปถึงสถานที่เกิดเหตุก่อนใครเพื่อน เราไม่ได้เก่งเรื่องรายงาน 5 W 1 H โดยธรรมชาติเราไม่ใช่แบบนั้นอยู่แล้วแต่เราชำนาญเรื่อง การช่วงชิงจังหวะสอง

สิ่งที่เราพูดกันในกองบรรณาธิการก็คือ ถ้ามวยจังหวะสองเราชำนาญ เราชำนาญว่า เมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้นในขณะที่สังคมกำมึนๆ งงๆ เราอธิบายได้ หรืออย่างน้อยเรามีข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่งมาเสนอเพื่อทำให้เกิดความรอบด้านของข่าวนั้นได้ นี่คือลักษณะของเรา และลักษณะของคนทำงานใน WAY

แล้วตัวรูปเล่มที่จะทำต่อไปจะมีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหน

วิธีคิดเวลาเราทำสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะรายมากกว่าหนึ่งเดือน หรืออย่าง WAY ที่เราวางไว้ 4 เดือน วิธีคิดมันคือ ถามว่าข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในโลกออนไลน์มันจะเข้ามาแทนที่การอ่านบนหนังสืออย่างสิ้นเชิงหรือไม่ คำตอบที่เรานึกออก ผิดถูกยังไม่ทราบ เราคิดว่ามันไม่น่าจะเข้ามาแทนที่กันอย่างสิ้นเชิงขนาดนั้น อะไรที่ยังไม่ใช่การแทนที่อย่างสิ้นเชิง ก็คือการอ่านเนื้อหาเชิงลึก มันคือการสื่อสารด้วยเครื่องมือ ด้วยศิลปะของคนทำแม็กกาซีน ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราอ่านข่าวออนไลน์เราจะไม่เห็นศิลปะของการออกแบบรูปเล่ม เราอ่านข่าวออนไลน์ เราจะลืมมันภายในพรุ่งนี้ หรือภายในชั่วโมงถัดไป แต่ว่าเวลาเราทำสื่อสิ่งพิมพ์ที่ต้องยืนสู้ในชั่วโมงนี้ เราคิดถึงคุณว่า เมื่อซื้อมันแล้ว คุณอยากเก็บมัน

เราสามารถเข้า Itunes ซื้อเพลงออนไลน์ฟัง แต่ทำไมเราต้องซื้อแผ่นมาเปิดกับเครื่องเสียง ซึ่งเราอยากจะฟังในบางเวลา เราคิดว่าตำแหน่งแห่งที่ของสื่อสิ่งพิมพ์มันจะเคลื่อนไปสู่ตำแหน่งที่คล้ายๆ แผ่นเสียง คือมันมีความปราณีต มันมีความเป็นศิลปะ มันมีความเรียกร้องเวลา เรียกร้องสุนทรียะของการอ่าน การเสพ มันจะมากกว่าการที่คนอยากจะรู้ข้อมูลข่าวสาร แล้วก็อ่านให้จบๆ แต่มันจะมีเรื่องของศิลปะ การออกแบบรูปเล่ม มีภาพถ่ายที่อยู่บนกระดาษ ภาพถ่ายที่เห็นเป็นขาวดำ แต่จริงๆ เราใช่เพลท 4 สี พิมพ์ 4 เม็ด จะเห็นได้ก็ต้องส่องกล้องดูพระ ไอ้พวกเนี่ยที่เห็นว่ามันเป็นเรื่องของสุนทรียะ และยังนึกไม่ออกว่าอะไรจะมาแทนที่ได้ในระยะเวลาอันใกล้ ยกเว้นว่าคนเจนเนอเรชั่นหนึ่งจะล้มหายตายจากไป และเหลือแต่คนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่รู้ว่าสิ่งพิมพ์คืออะไร

แล้วในส่วนของคอลัมนิสต์ ยังเหมือนเดิมหรือเปล่า

ใครนิสัยดีก็รับไว้ (ผู้ฟังหัวเราะ) ไม่หรอก ก็ดูฟังก์ชั่น ว่าคอลัมนิสต์คนไหนที่น่าจะเหมาะสมกับการทำงานเชิงสถานการณ์ คนเหล่านี้ก็ต้องเอามาสู้กันในโลกออนไลน์ เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา เช่น ชาวเลหาดราไวย์ อธิบายอย่างไรเพื่อให้คนเข้าใจ และให้เห็นพื้นหลังที่มาที่ไป ก็ต้องอธิบายได้ทันทีในช่วงที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น

อย่างนี้ในส่วนของออฟฟิศ หรือทีมงานมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไหม

ไม่มี ไม่เปลี่ยนหรอก เปลี่ยนไม่ได้ เรารักกัน ยังอยู่เหมือนเดิม แล้วก็น่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะว่ามันมีการจัดสรรเวลาใหม่ เราจะไม่ถูกขังอยู่ในลูปของการผลิตสิ่งพิมพ์รายเดือน ซึ่งมันทรมานนะ คือเมื่อคุณถูกขังอยู่ในสายธารการผลิตสิ่งพิมพ์รายเดือน วันที่ 15 คุณนัดคอลัมนิสต์ส่ง วันที่ 20 คุณต้องส่งงานกอง บ.ก. 10-25 คุณเป็นซอมบี้อยู่ในออฟฟิศเพื่อจะดูอาร์ตเวิร์ค แก้แล้วแก้อีก วันที่ 27-30 คุณจะกลายเป็นซอมบี้อย่างเต็มตัว เดินเหวอๆ เพราะพลังงานมันถูกรีดออกไป นี่คือวัฏจักรของคนผลิตสิ่งพิมพ์รายเดือน

พอเราทลายตรงนี้ไป เราจะเหลือพลังงานในกาทำงานที่มากขึ้น เอาเวลาไปทำอย่างอื่น เราไม่ได้เอาเวลาไปกินเหล้ากันอย่างเดียว เหล้าก็กินบ้าง กอง บ.ก. บางคนที่เขาเรียกตัวเองหล่อๆ ว่าเป็น content makers เขาก็อาจจะเอาเวลาไปทำสารคดีโทรทัศน์ดีๆ ไปทำหนังสั้นดีๆ สักเรื่อง สมมตินะ

เรามีเวลาในการคิดความสวยงามของสิ่งพิมพ์ที่จะเป็นราย 4 เดือนได้มากขึ้น ฝ่ายกราฟฟิก อาร์ตไดเรคเตอร์ กราฟฟิกดีไซน์เนอร์มีเวลาทำงานมากขึ้น อันนี้พูดแบบโลกสวยมากเลยนะ เหมือนมันไปปลดล็อคบางอย่างเพื่อที่จะทำงานได้เน้นมากขึ้น

เราไม่ได้อยากจน แต่ความร่ำรวยมันต้องไม่สวนทางกับสิ่งที่เราเคยเขียนเคยพูด

ถ้าดูจากตัวเล่มที่เปลี่ยนไป มันจะทำให้คนอ่านหยิบได้ยากขึ้นหรือเปล่า เพราะว่าถ้าเป็นรายเดือนเราไม่ต้องคิดเยอะที่จะหยิบมาจ่ายตังค์ แล้วเอากลับไปอ่าน

อืม...ก็เป็นประเด็นที่คิดกันอยู่ คืออย่างนี้กรณี WAY มันดื้อดึง ทำหน้ามึนที่จะตั้งราคาปกแบบนั้น การตั้งราคาปกแบบนั้นเป็นการตั้งราคาปกของโครงสร้างแม็กกาซีนที่มีโฆษณา แต่ในความเป็นจริงต้นทุนมันสูงกว่านั้น แล้วเราไม่ควรที่จะหน้ามึน ถ้าเราจะยืนระยะชกนานๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ WAY ฉบับที่ 90 คือเราใช้โครงสร้างราคาที่ไม่ใช่โครงสร้างราคาแม็กกาซีน เราใช้โครงสร้างราคาของหนังสือเล่ม คือการตั้งราคาปกแปรผันตรงกับต้นทุนการผลิตจริง สรุปว่าเล่มนั้นสร้างกำไรให้กับบริษัท ตอนนั้นเราขาย 450 บาท ผมก็มองโลกสวยในแง่ดีว่า ท่านผู้มีอุปการะคุณทั้งหลายพอเล่ม 91 92 ออกมาก็คงซื้อกันอย่างนี้ต่อไป

ยังไม่หมดเลยน้อง พี่เพิ่งจิบได้ไปคำเดียวเอง เดี๋ยวพี่ต้อ(บินหลา สันกาลาคีรี)โกรธ แกอุส่าห์เอาให้ (อธิคมพูดกับคนทำงานไรท์เตอร์ที่เดินมาเก็บแก้วเหล้าออนเดอะร็อค เพราะคิดว่าไม่ดื่มแล้ว) (ผู้ฟังหัวเราะร่วน)

ไปต่อไม่ถูกเลย...อ๋อเมื่อกี้ที่พี่พูดว่าทำหนังสือแบบหน้ามึน เอาจริงๆ แล้วพี่คิดว่ากำลังทำหนังสือแบบอุดมคติอยู่หรือเปล่า ที่ปฏิเสธเรื่องการโฆษณาแฝง หรือเลือกโฆษณา คือโฆษณาใน WAY ก็เหมือนไม่มี

จะตอบไงเนี่ย..คือเราไม่ได้อยากจนนะอันดับแรก เราชอบมีเงินซื้อเหล้าซื้อเบียร์เลี้ยงน้อง เห็นน้องนุ่งมีคุณภาพชีวิตที่ดีเราชอบดิเราไม่ได้ปฏิเสธ แต่ว่าสิ่งที่ทำ หรือเงินทองความร่ำรวยที่มันไหลเข้ามาเนี่ย มันไม่ควรสวนทางกันสิ่งที่เราเคยเขียนเคยพูด เคยคิดใช่ป่ะ

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในธุรกิจสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะรายเดือนก็คือว่า ข้อเรียกร้องของการโฆษณามันไม่ได้จบอยู่ที่หน้าโฆษณา เขาจะค่อยมาสอนเราว่าต้องทำแมกกาซีนอย่างนั้นอย่างนี้มันจึงจะมีโฆษณาเข้า ตัวเราเองก็เคยเจอตอนทำปีแรกๆ เราก็พยายามที่จะหาตังค์ ไปคุยกับโฆษณา ไปคุยกับเอเจนซี่ เขาก็สั่งสอนเรามาว่า คุณต้องทำแบบนี้ ต้องเป็นโปรดักชั่นแบบนี้สิ 4 สี ทั้งเล่ม พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมัน ใส่กาว ยอดพิมพ์ 30,000 ขึ้น แล้วมันถึงจะมีโฆษณาเข้า

กติกาพวกนี้มันทำให้รูปแบบการผลิตแม็กกาซีนในบ้านเราส่วนใหญ่ที่เห็นจึงเป็นแบบนี้ทั้งหมด และล้มหายตายจากกันไปเยอะ เพราะว่าไปเล่นตามเกมส์นี้

อย่างที่บอกตอนแรกไม่ใช่ว่าเราอยากจน แต่เรารู้ว่าอะไรมันคือข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับสิ่งที่เราถนัด สอดคล้องกับสิ่งที่เราชำนาญ สอดคล้องกับสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข และเราภาคภูมิใจที่เราได้ทำ

พอจะบอกได้ไหมว่าทำได้อย่างไร เอาเข้าจริงแล้วคนทำสื่อทุกคนก็ไม่ได้อย่างจะขายวิญญาณ ไม่ได้อยากจะอิงอยู่กับโฆษณา

ช่วงทำงานใหม่ๆ มีคนนินทาว่า เราได้รับทุนจาก สสส. คือ สสส. น่ะต่อให้เขาจะอะไรก็ตามแต่นะ มันไม่ใครด้อยปัญญาถึงขนาดว่าให้ทุน แมกกาซีนเล่มหนึ่ง 10 ปีหรอก เราเองก็ไม่เคยมีภาพพจน์เป็นเด็กดีของใครด้วย เนี่ยออกสื่อเราก็กินเหล้า แต่ WAY มันอาจจะโดยชะตากรรม วาสนาของเราก็ได้ เรามีคนที่เขารักเราอยู่พอสมควร ตอนที่เราอยากจะทำ WAY เขาก็ถามว่าถ้าจะทำหนังสืออย่างที่อยากทำมันต้องใช้เงินต่อปีเท่าไหร่ เราก็ตอบตัวเลขไปแล้วเขาก็โยนเงินมาให้โดยไม่มีเงื่อนไข นั่นคือปีแรก แต่ปีที่เหลือก็สู้กันด้วยพละกำลัง ด้วยการทำงานหนัก และก็กลืนเลือดแกล้มเหล้าเป็นกิจวัตร มันสู้กันมาไม่มีอะไรได้เปล่าได้ฟรี

เคสอย่าง WAY อย่างน้อยที่สุดมันสะท้อนว่า ถ้าเผื่อว่าเราพอจะมีทักษะในการบริหารจัดการบ้าง และมีทักษะในการทำหนังสืออยู่จริง และมีความชำนาญในการที่จะผลิตเนื้อหา ฉะนั้นการยังดำรงอยู่ของ WAY มันสะท้อนว่า ถ้าคุณทำแบบนี้คุณทำได้ มันทำได้จริง แต่ต้องมีเงื่อนไข คือคุณต้องทำงานหนักมาก

กว่าจะมาเป็น บ.ก. อำมาตย์แห่งนิตยสาร WAY

อยากขอย้อนเข้าสู่ประสบการทำงานส่วนตัวหน่อย คือจากแนวคิดการก่อตั้ง WAY ซึ่งก็เป็นแนวคิดของพี่คม อยากรู้ว่ามีประสบการณ์ชีวิตช่วงไหนไหมที่ทำให้พี่รู้สึกว่ามันต้องทำ WAY แบบนี้ ทำแบบที่พี่บอกว่าตีหน้ามึนทำหนังสือไป

จู่ๆ มาตีหน้ามึนนี่ตายนะ ตายง่ายๆ คือบังเอิญว่าตอนทำ WAY เราอยู่ในช่วงของการทำงานที่เริ่มหนังหนา เริ่มมีภูมิคุ้มกัน ใครเตะใครต่อยใครถีบเริ่มไม่เจ็บ พูดง่ายคือเราสะสมประสบการณ์บางอย่างมาพอสมควร

ไอ้ประสบการณ์บางอย่างนี่เราก็ไปเรียนรู้มาจากที่ก่อนๆ ที่เราเคยเป็นลูกจ้างเขา พูดง่ายคือว่า ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยอยากจะเป็นเจ้าขององค์กร หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่เคยมีอยู่ในสมอง เกิดมาไม่เคยมีความอยากที่จะเป็นเลย ก็เหมือนกับเด็กหนุ่มทั่วไป เราเริ่มต้นด้วยการที่อยากจะเป็นคนเขียนหนังสือ อยากจะทำหนังสือ เราแค่รู้สึกตรงนั้น แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันชะตากรรมถีบทึ้งให้เป็นอย่างนี้ เราก็ทำๆ ทำก็ได้

ทราบว่าตอนเรียนมหาวิทยาลัยพี่เรียนคณะเศรษฐศาสตร์ และทำไมความรักหนังสือมันเกิดขึ้นมาได้ หรือไปเจออะไรถึงรู้สึกเปลี่ยนไป

เราไมได้เปลี่ยนอะไรมากเลย ถ้าเจอเพื่อนบางคน วันนี้มันรับปากว่าจะมา เพื่อนสมัยมหาลัย เป็นเพื่อนที่รักกันมาก มันก็จะบอกว่า มึงไม่เคยเปลี่ยนจากสมัยตอนเด็กที่รู้จักกัน...เราไม่เปลี่ยนมาก นี่เข้าสู่พาร์ทอัตชีวะประวัติของข้าพเจ้าแล้วใช่ไหม (ผู้ฟังหัวเราะ)

เราโตมาในสังคมชนบท พ่อแม่ก็ยากจน แม่ก็เป็นช่างเย็บผ้าจนๆ พ่อก็ไม่ทำงานเป็นหลักเป็นแหล่งอะไร แต่พ่อก็เป็นคนบ้านนอกที่ประหลาดคือ แกชอบอ่านหนังสือ มากรุงเทพทีก็จะพามาสนามหลวง เมื่อก่อนเป็นที่ขายหนังสือ แกมาซื้อหนังสือ แล้วก็จูงเรามา หนังสือที่แกซื้อก็ไม่ใช่หนังสือปัญญาชนมากมาย เป็นประเภทเรียนภาษาอังกฤษภายใน 72 ชั่วโมง คิดดูคนบ้านนอกจบ ป.4 จะเรียนภาษาอังกฤษได้ภายใน 72 ชั่วโมง หนังสืออื่นๆ ที่แกซื้อก็มีพวกงานเขียนในยุคสงครามเย็น หลังสงครามเย็น เราก็มีหนังสือพวกนี้อยู่ในบ้าน เด็กๆ เราก็ไม่รู้จะทำอะไร สมัยนั้นแท็บเล็ตก็ไม่มี เราก็อ่านหนังสือที่พ่อซื้อมา

พอมาเรียนหนังสือในช่วงมัธยม เราเดินไปเจอเพื่อนเจอฝูงที่เขามีพื้นพวกนี้ เขาก็แนะนำให้เราอ่าน อย่างงานของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เราอ่านตั้งแต่ ม.ปลาย อังคาร กัลยาณพงศ์ ก็อ่านมาตั้งแต่ ม.ปลาย

เดินเข้ามาในคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เรายังพกหนุ่มหน่ายคัมภีร์(โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ) ติดกระเป๋ามาเลย เพราะกลัวว่าใครจะมาโซตัสกับเรา จะได้สู้กับมัน ที่ไหนได้รุ่นพี่ชวนเล่นชิปปี้ชิป กูเตรียมมาสู้กับพวกมึง มึงชวนเล่นชิปปี้ชิป

เราไม่ได้มีจุดเปลี่ยนว่าเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วจะมาทำหนังสือ เราก็มาของเราเรื่อยๆ แบบนี้ แต่ว่าพอมาเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วเรารู้สึกว่ามันแปลกแยก เราไม่ได้ชอบดิฟท์กราฟ เศรษฐศาสตร์มันต้องเรียนอะไรพวกนี้ เราเรียนสายวิทย์-คณิตมา มันรู้สึกเบื่ออะไรพวกนี้แล้ว อยากจะไปเร็วๆ อยากจะไปสู่จุดที่คนอย่างอาจารย์ป๋วยเขียนบทความจากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน ทำไมถึงเขียนได้รวบรัด ง่ายขนาดนั้น แต่กลับคลุมหมดทุกอย่าง

ก็เลยเตลิดเปิดเปิง ไปทำนู่นทำนี่ทำกิจกรรม จริงๆ อย่าไปอ้างทำกิจกรรมมาก กินเหล้า เมายา อ่านหนังสือ เป็นพลเรือนเหงาๆ อยู่แถวท่าพระจันทร์ เป็นคนที่เคยฟังตำนานว่า ครั้งหนึ่งมีฤษีตนหนึ่งชื่อ พจนา จันทรสันติ อยู่แถวลานโพธิ์ เราก็ทำบ้าง เดินเหงาๆ อยู่แถวนั้น เพื่อนฝูงก็มีไม่กี่คนที่เขาพอจะกล้ำกลืนกับเราได้ เวลาคนอื่นเข้าเรียนเราก็ไปนั่งอ่านหนังสือที่ห้องสมุดท่าพระจันทร์ พอเพื่อนเลิกเรียนเราก็มากินเหล้ากัน

พอมาช่วงปลายๆ ก็ไปทำกิจกรรม ทำชมรมวรรณศิลป์ ออกค่าย ทำพรรคการเมือง จะเห็นได้ว่าเราไม่ได้มีจุดหักเหจากเศรษฐศาสตร์แล้วเปลี่ยนมาทำหนังสือ

จากเศรษฐศาสตร์ ก็เล่าให้ฟังก็ได้ว่า มันเรียนไม่จบ เราก็เลยย้ายคณะ หวังว่าจะได้เรียนคณะรัฐศาสตร์ เขาก็ไม่ให้ย้ายเพราะมันปิดวิชาบ้างตัวไปแล้ว ก็เลยต้องไปอาศัยคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ใช้เวลาอีกประมาณปีครึ่งก็จบ ใช้เวลาไปทั้งหมดก็ 7 ปี เต็มแม็ก

ทราบว่าย้ายคณะไป แต่ไม่เรียนกลับไปทำงานอื่นแทน

มันอาย ต้องอายสิ เรียน 4 ปีต้องให้แม่ส่งเรา พอมันพ้น 4 ปี มาเป็นรู้สึกว่า ความเกเรมันเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา แต่ว่าภาระของหญิงชราคนหนึ่งที่ต้องมาส่งลูกโง่ๆ เรียนมันไม่ใช่เรื่องของเขา เราก็เลยไปหาสมัครงาน เวลาหางานทำ เราก็ถามตัวเองถนัดทำอะไรที่สุดก็พบว่า น่าจะทำหนังสือเป็นมั้ง เพราะเราชอบอ่านหนังสือ ก็เลยมีพรรคพวกที่กินเหล้าเมายาด้วยกัน มันเรียนคณะวารสารแล้วมันเคยไปฝึกงานบางที และมันก็ชอบส่งงานไม่ทัน แล้วก็มาขอให้เราช่วยเขียนงานให้ เราก็เชียนดิ เขียนให้มัน มันจะได้มีเวลาไปกินเหล้ากับเรา หรือบางทีเห็นมันนั่งทำนานๆ กูรำคาญมึงเหลือเกินทำยังไงก็ทำไม่เสร็จ เดี๋ยวกูทำให้เอามานี่ ก็เขียนไป แล้ว บ.ก. ที่ฝึกงานมันชอบ เขาบอกสนุก แต่เขาก็ชมมันน่ะนะ ไม่ได้ชมเรา

สุดท้ายไอ้เพื่อนคนนี้ก็แนะนำไปสมัครงานที่อมรินทร์พริ้นติ้ง เมื่อก่อนนี้อยู่ตรงข้ามกับท่าพระจันทร์ เราก็ข้ามไปสมัคร คนที่รับสมัครงาน เขาก็ตกใจว่าไอ้นี่มึงหน้ามึน ยังเรียนไม่จบมาสมัครงานได้ยังไง เขาก็บอกให้ไปเขียนอะไรมาให้อ่านหน่อยซิ มันจะไปยากอะไรเราก็หยิบกระดาษมาเขียนสัมภาษณ์ตัวเองเลย คำถามที่สัมภาษณ์ก็เป็นคำถามที่เขาไม่ได้ถามเรา แต่เราอยากเล่า ก็เขียนส่งให้เขา เขาก็บอกเริ่มงานเดือนหน้า สบายละทีนี้ เงินเดือนเดือนแรกเอาไปเลี้ยงเหล้าเพื่อนทั้งคณะ

ทำที่อมรินทร์อยู่ 3 ปี แล้วก็เปลี่ยนงาน มันก็ตามประสาคนหนุ่มใช่ม่ะ พอเราเรียนจบเราก็ต้องเนรคุณกับองค์กร เขาอุส่าห์เลี้ยงเรามาตอนเรายังเรียนไม่จบ พอเราเรียนจบก็อืม...ตอนนั้นเราทำนิตยสารชื่อ trendy man พอทำๆ ไป... เล่าสภาพแวดล้อมทางสังคมตอนนั้นให้ฟังหน่อยว่า ในช่วงหลังปี 2533-2535 วงการสื่อมวลชนมันโตสูงมาก เพราะหนึ่งด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจฟองสบู่มันโต อสังหาริมทรัพย์โตขึ้นมา ตลาดหุ้นเริ่มบูม อันที่สองคือ กระแสสังคมในช่วงนั้นมีสองอย่างที่แรงมากๆ คือเรื่องสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการฆ่าตัวตายของพี่สืบ ในปี 33 พูดง่าย มันทำให้เกิดความตื่นตัวในสังคมค่อนข้างสูง หนังสือพิพม์ทุกหัวจะตัวมีหน้าข่าว 1-2 หน้า เป็นหน้าสิ่งแวดล้อม ถัดจากนั้นอีกสองปี เกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการได้สำแดงให้เห็นแล้วว่าการทำหนังสือพิมพ์อีกแบบหนึ่งก็ทำได้

คนอย่าง เกษียร เตชะพีระ นิธิ เอียวศรีวงศ์ รังสรรค์ ธนพรพรรณ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อยู่ที่ผู้จัดการ เป็นชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์ ซึ่งเราต้องค่อยอ่านว่า บรรดาปัญญาชนเหล่านี้คิดอะไร พูดอะไร

พูดง่ายๆ ว่าในช่วงนี้โต๊ะข่าวสองโต๊ะในสื่อที่แข็งแรงมาก โต๊ะแรกคือโต๊ะการเมือง โต๊ะที่สองคือโต๊ะสิ่งแวดล้อม สองโต๊ะนี้จะเป็นที่ชุมนุมของนักข่าวมือดี คนเก่งๆ จะมาอยู่สองโต๊ะนี้

เราก็อยากจะไป เพราะว่าเวลาเราทำงานแม็กกาซีนอย่าง trendy man เราก็ไม่รู้นะว่าเขียนแทบตายมันจะมีคนอ่านหรือเปล่า เหมือนปาก้อนหินไปแล้วเงียบหาย มันไม่เหมือนโลกที่มีอินเตอร์เน็ตไง บางทีเราตั้งใจเขียนมากแต่มันไม่รู้ว่ามีใครอ่านมันบ้าง แต่กับสิ่งพิมพ์รายวัน เราเห็น เรารู้ ฉะนั้นเราก็เคลื่อนตัวเองขอลาออกจากที่เดิม แล้วไปทำสิ่งพิมพ์รายวัน เพื่อที่จะไปหามือหาเท้าที่จะถีบที่ทึ้งเราให้เราแข็งแรงขึ้น

บังเอิญว่าได้งานที่โต๊ะจุดประกาย(กรุงเทพธุรกิจ) ซึ่งเป็นโต๊ะทำงานค่อนข้างวาไรตี้ และเราได้เข้าไปทำในส่วนของสกู๊ปหน้า 1 ซึ่งคลุมทุกเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ศิลปะ เราก็อยู่ตรงนั้น อีกขาหนึ่งก็คือว่าต้องไปเป็น รีไรท์เตอร์ ต้องคอยรีไรท์งานข่าวนักข่าวตามภูมิภาคที่เขาส่งมา คือเขาก็ส่งมาให้เราเหมือนกับเป็นลาบเลือดสักก้อนหนึ่ง ดิบมาก เราแปรสภาพมันให้ออกมาเป็นผัดกระเพราสุกๆ หน้าตาน่ากิน นั้นคืออาชีพ นั่นคือที่ที่เราได้ฝึกหาประเด็น ฝึกคิดประเด็น ฝึกการอีดิทงานคนอื่น

พูดได้ไหมว่าประสบการณ์ตอนอยู่กรุงเทพธิรกิจค่อนข้างจะสร้างพี่มามาก เพราะเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

คือทุกที่ก็สร้างแหละ อย่างกรณีอมรินทร์ก็สร้างเราขึ้นมา เราได้รู้ทุกขั้นตอนกระบวนการการทำแมกกาซีน แต่ว่าก็อาจจะเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลนะ คือเราไม่ได้อยู่แค่กอง บ.ก. เราจะไปคุยกับฝ่ายศิลป์ ทำไมทำแบบนี้ ทำไมเลือกฟรอนด์นี้ ทำไมเลย์เอาท์แบบนี้ ฯลฯ

เรื่องรูป เรื่องการถ่ายรูป ก็เป็นเรื่องปกติ เด็กผู้ชายก็จะชอบถ่ายรูปกันใช่ม่ะเราก็ชอบ เวลามาอยู่อมรินทร์นี่มันคือสวรรค์  โอ้โหเวลาไปต่างจังหวัดเบิกสไลด์ฟิล์มกันไป 30-40 ม้วน แล้วก็เอามาใช้งานในออฟฟิศประมาณ 6 ใบ ที่เหลือเอาไปเขียนจ๊อบส่งที่อื่น(ผู้ฟังหัวเราะ)

ทรัพยากรภายในของอัมรินทร์มันดีมาก เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกอย่างที่อยู่ในกระบวนการทำนิตยสาร ในยุคของเนชั่นเราได้ฝึกประเด็น ต้องหาให้ได้ว่าประเด็นที่จะพูดคืออะไร แล้วประเด็นที่จะพูดเนี่ยมันสำคัญแค่ไหน ทำไมต้องพูดประเด็นนี้ มีใครพูดไปก่อนหรือยังมันซ้ำกับคนอื่นหรือเปล่า

แล้วไปไงมาไงถึงได้ย้ายมาทำงานอีกที่หนึ่ง

อ๋อ...คนหนุ่มนี่ครับจะไปกลัวอะไรล่ะ ทำเสาร์สวัสดีอยู่สักพักก็คงมีคนเห็น เขาก็ชวนเราไปทำนิยสารข่าวรายสัปดาห์(aday weekly) ชั่วโมงนั้นเราไม่กลัวอะไรเลย ไม่รู้สึกว่าจะทำได้หรือเปล่า ไม่รู้สึกว่ามันยากไหม หรือว่าค่าตอบแทนมันมากน้อยประการใด เราแค่รู้สึกว่า เออไอ้โปรเจคนี้มันน่าทำ มันท้าทายการรีดศักยภาพของเราออกมา ประสาคนหนุ่มไม่ได้คิดหน้าคิดหลัง เงินเดือนก็ไม่ได้อะไรมากมาย แต่ทำ

คือจะตอบให้ดูเป็นบทเรียนสำหรับคนหนุ่มก็ได้ ที่ผ่านมาเราไม่เคยที่จะคิดว่ามันมั่นคงหรือเปล่า ทำแล้วมันจะตกงานไหม ทำได้สักหกเดือน ปีหนึ่ง เขาจะไล่เราออกหรือเปล่า จะมีโบนัสไหม เงินเดือนจะขึ้นไหม เราไม่คิดตรงนี้ เรารู้แค่ว่าเออให้ทำแบบนี้ใช่ไหม เช่นให้ทำหนังสือเล่มนี้ เราก็ทำ โจทย์คือทำหนังสือให้มันดี คิดแค่นั้นเอง ไม่ได้คิดหน้าคิดหลังว่า ชีวิตจะซื้อบ้านได้หรือเปล่า ผ่อนรถได้ไหมไม่คิดเลย

แล้วตอนนั้นคิดไหมว่าจะทำนิตยสารเป็นของตัวเอง

ไม่ได้คิด ก็อย่างที่บอกว่า การเป็นเจ้าของกิจการมันไม่อยู่ในหัวอยู่แล้ว เราเติบโตมากับสิ่งที่พี่สุชาติ สอนสั่งน่ะ เราต้องเป็นศิลปิน ต้องเป็นนักเขียน ต้องเป็นบรรณาธิการที่เข้มงวด แต่สุดท้ายแล้วเนี่ยพอชะตากรรมมันมาแบบนี้มันก็ฝึกทักษะเราอีกแบบหนึ่ง คือทักษะที่จำเป็นมากๆ ในการดำรงชีวิต ทั้งในวิชาชีพและชีวิตปกติทั่วไป ฝึกทักษะเรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งเราเองไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราทำได้ พอรู้ พอเข้าใจ ไม่เคยรู้มาก่อน แต่พอถูกบังคับให้ทำโดยเงื่อนไขเราก็ต้องทำ

มันต้องเป็นความรู้สึกแบบไหนที่ทำให้รู้สึกอย่างทำหนังสือขึ้นมา มันมีอะไรที่อยากจะพูด หรือว่างานที่ผ่านมามันยังไม่ได้ดั่งใจทั้งหมด

ตอบแบบให้คนฟังได้ประโยชน์นะ คือคนรุ่นเราโตมากับสิ่งพิมพ์ โตมากับนิตยสาร คนรุ่นเราโตมากับความรู้สึกว่า ถ้าได้ทำงานกับนิตยสารดีๆ สักเล่มหนึ่ง หรือมีข้อเขียนผ่านสิ่งพิมพ์ดีๆสักเล่มหนึ่งมันเป็นความ...ในสมัยนี้เขาเรียกว่า ความฟิน ความเก๋

โลกแวดวงนิตยสารคือ แม่เหล็กที่ดึงดูเอาคนหนุ่มคนสาวที่มีความคิดความฝันเขามาหามัน เพราะฉะนั้นโดยเงื่อนไขแบบนี้ มันจึงสร้างคนเจนเนอเรชั่นแบบพวกเราขึ้นมา

ตอนที่เราพูดกับพี่ที่โต๊ะตอนอยู่เนชั่นก่อนจะออกมา ก็บอกเขาว่า เดี๋ยวผมจะทำแมกกาซีนที่ผมชอบ แม่งทุกหน้าเลย ผมต้องชอบแม่งทุกหน้า ผมต้องชอบแม่งทุกคอลัมน์ หรืออย่างน้อยที่สุดผมต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ไอ้คอลัมน์นี้มันมีไปเพื่ออะไร ก็แค่นี้ มันเป็นความคิดความฝันของคนวัยนั้น

พี่คิดว่าพี่ใส่ความเป็นตัวเองลงไปใน WAY แค่ไหน

WAY มันมีพัฒนาการของมันในช่วง 10 ปีที่ผ่าน มีความคลี่คลายมีความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงแต่ละยุค แน่นอนตอนที่เราทำแรกๆ เราก็ทำแบบที่เราชอบอยู่แล้ว แต่พอเราชัดเจนแล้วว่า ภาระกิจของคนวัยขนาดนี้ มันไม่ใช่การแสดงคนเดียว มันไม่ใช่การแอ็คอยู่คนเดียวว่าข้าพเจ้าคือ บรรณาธิการ เมื่อเราคิดได้อย่างนั้นเราเลยพยายามชวนคนหนุ่มคนสาวที่เราเห็นแววให้มาเป็น บ.ก. แล้วเราก็ช่วยดูข้างหลังให้ ชวนดูข้างบนเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ คลื่นลมแปรปรวนแค่ไหน เราบอกให้ แต่มึงทำแบบของมึงบ้าง

ฉะนั้นถามว่า WAY ชั่วโมงนี้เนี่ยเป็นตัวอธิคมแค่ไหน คือไม่มีอะไรขัดแย้งแม้แต่น้อย แต่ส่วนที่มันเติมขึ้นมา มันสร้างขึ้นมาใหม่มันคือ เลือดเนื้อของคนรุ่นหลังที่เขาเติมมันเข้ามา เราแค่เซ็ตบางอย่างขึ้นไว้ คนรุ่น 30 กว่า เขาก็เติมเขามาภายใต้โครงกระดูกสันหลังที่เราเซ็ตไว้แล้ว

สำหรับคนทำสื่อก็ต้องคิดอยู่บ้างว่า เราอยากสร้างโลกสร้างสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับ WAY โลกแบบไหนที่ WAY มุ่งไป

คือของแบบนี้ก็คิดเองเงียบๆ ก็ได้ แต่มันไม่ควรจะพูด มันเอาไว้คิดเองเงียบๆในบ้าน วันหลังนั่งกินเหล้าคนเดียวในบ้าน เออกูสำคัญอย่างนี้เว้ย กูมีคุณค่าอย่างนี้เว้ย (ผู้ฟังหัวเราะ) แต่ให้พูดต่อหน้าคนอื่นจะไปพูดทำไม เราก็พูดแค่ว่า บางทีเราถึงจุดๆ หนึ่ง ที่มีคนถียงกันว่า เรามีส่วนอะไรกับโลก กับสังคมบ้าง เราตอบอย่างนี้เลยว่า เราไม่ได้มีส่วนสำคัญใดๆ กับโลก ไม่ได้มีส่วนสร้าง ไม่ได้ส่วนผลักดันอะไรกับโลกหรอก เราแค่ทำในสิ่งที่เราชอบ และเราถนัด ส่วนที่มันจะเกิดมรรคผล ใครจะได้อะไรไปมันไม่ใช่เรื่องของเรา

อันนี้พูดจริงนะ ใครมานั่งพูดว่าข้าพเจ้ามีบุญมีคุณต่อสังคมอย่างนั้นอย่างนี้ เราว่าแม่งบ้าแล้ว บนโต๊ะอาหาร ในวงเหล้ากับพี่กับเชื้อ กับคนที่เรารัก เราก็พูดแบบนี้ เราว่ามนุษย์ประเภทที่มองว่าตัวเองสลักสำคัญมีบุญมีคุณต่อสังคม มนุษย์พวกอันตรายมาก อย่าไปเข้าใกล้มัน อย่าไปกินเหล้ากับมัน

อธิคม กับจุดยืนที่ไม่อาจให้ใครล่วงล้ำ

ถามในแง่ส่วนบุคคล ในปีที่ผ่านมาเห็นพี่แสดงออกทางการเมือง อย่างการออกไปแสดงตัวว่าอยู่เบื้องหลังนักศึกษา

ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง คุณตำรวจครับผมไม่เกี่ยว (ผู้ฟังหัวเราะ)

เตยอยากถามว่าแค่ตัวหนังสือมันไม่พอเหรอ

ถ้าตามวิชาชีพสื่อ การแสดงออกจุดยืนทางตัวหนังสือก็ได้แล้ว ถือว่าโอเคนะสำหรับเรา ขอให้แสดงออกมาเถอะ แสดงออกมาอย่างสง่าผ่าเผยสง่างาม แต่ชีวิตมันยากอย่างหนึ่งคือว่า มันมีความสัมพันธ์ส่วนตัว ความสัมพันธ์ที่ว่าน้องคนนี้มันเคยกินเหล้ากับเรา แล้วมันข้อความมาหาเราว่า เห้ยพี่ผมเจองี้ว่ะ เราจะไปอยู่เฉยๆ ได้ไง เราก็ต้องไป

แต่ว่าแน่นอนในทางความสัมพันธ์มันต้องไปดูแลอยู่แล้ว แต่ในแง่ของการแสดงออกมันก็ต้องดูว่าแค่ไหนอย่างไรอีกเรื่องหนึ่ง หมายความว่า เมื่อไหร่ที่เราต้องแสดงออก คำตอบมันง่ายมากคือ เมื่อมีการล้ำหลักการบางอย่างเข้ามา เช่น แม้กระทั่งทุกวันนี้ ใครจะบอกว่ายังเชียร์อภิสิทธิ์อยู่เราก็ให้เขานะ เรามีเพื่อเป็นยุวประชาธิปัตย์ ไม่เป็นไร ใครยังเชียร์เพื่อไทย อ่ะว่าไป ไม่เป็นไร อันนี้เป็นพื้นที่ที่แต่ละคนจะต้องมี แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามแต่คุณล้ำหลักการบางอย่าง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญ และเป็นหลักการพื้นฐานอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น ล้ำหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องความเสมอภาค แบบนี้มันง่ายที่เราจะแสดงออก

สังคมไทยแม่ง จริงๆ ไม่ควรพูดความว่าแม่ง คือสังคมไทยมันมาถึงจุดที่คนพูดเรื่องพื้นฐานกลายเป็นคนที่อันตราย กลายเป็นคนที่เป็นปัญญาชน ทั้งๆ ที่ไอ้เนี่ยหลักการพื้นฐานมาก เราเป็นมนุษย์ที่อยู่ในโลกที่มันเคลื่อนมาไกลเกินกว่าที่จะกลับไปหาสังคมบุพกาล เราเคลื่อนมาตั้งแต่สามสี่ร้อยปีแล้ว ที่เราตกเรากันเรื่องสิทธิเสรีภาพเรื่องตกลงกันไปแล้ว อย่าพาเราย้อนหลังกลับไปเมื่อสามสี่ร้อยปีสิ มันเป็นเรื่องที่เราควรตกลงกันได้แล้ว

แล้วรู้สึกอึดอัดใจบ้างไหมที่เห็นคนวงการเดียวกัน เลือกที่จะไม่แสดงออก หรือแสดงออกโดยที่ไม่อยู่ในหลักการ

รู้สึกอยู่แล้ว แต่มันมีคนอย่างพี่สุชาติคอยหวดอยู่แล้วไง เราก็ไม่ต้องทำปล่อยให้พี่สุชาติแกทำไป ตื่นเช้ามาแกก็ด่า (ผู้ฟังหัวเราะ) มันรู้อยู่แล้ว คือเมื่อกี้ก็คุยกับหนึ่ง(วรพจน์ พันธุ์พงศ์) นะ งานที่ยากที่สุดคืองานเปลี่ยนคน พันธกิจของ WAY ที่เราคุยกันเสมอๆ ก็คือว่าเราทำ WAY เพื่อที่จะสื่อสารกับคน เราพยายามพูดในสิ่งที่ใครๆ ก็น่าจะฟังได้ ถ้ามีสติหน่อย เราไม่ได้พูดเรื่องยาก เราพูดเรื่องหลักการ เราพูดกับคนที่พูดง่ายๆ เราพูดกับคนที่เป็นสลิ่มก็ได้ เราสื่อสาร เรายึดพื้นที่ตรงนี้ว่า เอ้ยอ๊อดโต้แม่งอยู่ประชาไทแม่งยึดกุมฐานเสียงของฮาร์ทคอร์ ไม่คุยกับสลิ่ม เฮ้ยแต่ WAY คุยกับสลิ่มได้ พยายามคุยเฮ้ยมึงคิดงั้นจริงเหรอ Fact มันเป็นอย่างนี้นะ นี่คือหน้าที่ของ WAY และของเราไง เราพยายามสื่อสารให้เหตุผล ให้ข้อมูล

ส่วนความหงุดหงิดความรำคาญว่า ทำไมคนที่เราเคยเคารพ เคยรัก เคยคาดหวัง เขาเป็นแบบนี้ มันก็มีอยู่แล้ว

เคยถึงขั้นอกหักไหม

ไม่ มันเหมือนกับว่ามีอิสระภาพ เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ภายใต้ร่มเงาเขาอีกต้องไป ไม่ต้องคอยเงี่ยหูฟังเขาว่า เขาจะแสดงความเห็นเรื่องนั้นอย่างไร เขาเชื่อเรื่องนั้นอย่างไร เราไม่ต้องฟังแล้วเรามีอิสระเราเป็นไท เพราะกูไม่ฟังมึงแล้ว ต่อให้เคยเป็นมาอย่างไรก็ตามแต่

เราไม่ใช่คนที่กร้าวร้าวมาก อย่างไรก็ตามแต่เราเชื่อเรื่องสิ่งที่เขาเคยให้เรา เช่นเราเคยอ่านหนังสือเขาตอนเป็นเด็ก เราเคยติดนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง แต่ว่าพอถึงปัจจุบัน บรรณาธิการ หรือเจ้าของนิตยสารข่าวฉบับนั้นเขามีจุดยืนอีกแบบหนึ่งเราก็ไม่โกธรนะ สิ่งที่ทำได้ก็อาจจะห่างๆ กันไม่คุยกันมาก แต่ว่าช่วงที่เราโตมากับช่วงที่เขาทำมันอยู่ในตัวเราแล้วไง เช่น ในขณะที่คนทั้งประเทศด่าบิ๊กจิ๋ว เขาอธิบายว่าทำไมบิ๊กจิ๋วทำอย่างนั้น เขาอธิบายได้ว่าคนชนบทตั้งรัฐบาล คนกรุงล้มรัฐบาล เขาอธิบายได้ว่าทำพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นพรรคที่สามล้อไม่ให้ขี่ โสเภณีไม่ให้ขึ้นห้อง เขาอธิบายได้ และสิ่งเหล่านี้มันตกค้างมาถึงเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net