เปิดตัวคลิป-คู่มือ ‘เมื่อดิฉันต้องไปเกณฑ์ทหาร’ แนะนำข้อควรปฏิบัติให้คนข้ามเพศ-ทหาร

เครือข่ายเพื่อนกะเทย และAPTN จัดงานแถลงข่าว “เมื่อดิฉันต้องไปเกณฑ์ทหาร” พร้อมเปิดตัวคู่มือและวีดิทัศน์ ‘เมื่อดิฉันต้องไปเกณฑ์ทหาร’ เพื่อสร้างความเข้าใจในการคัดเลือกทหารกองเกินสำหรับคนข้ามเพศ 

19 ก.พ. 2559 โครงการจัดตั้งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และมูลนิธิเอเชียแปซิฟิก ทรานส์เจนเดอร์ เนตเวิร์ค(APTN) จัดงานแถลงข่าว “เมื่อดิฉันต้องไปเกณฑ์ทหาร” ณ โรงแรมเอเชีย โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จากเครือข่ายต่างๆ เช่น สมาคมฟ้าสีรุ้ง, มูลนิธิซิสเตอร์ พัทยา และได้รับความสนใจจากสื่อหลายสำนัก

วิทยากรในวงเสวนา ประกอบไปด้วย รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานโครงการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน, พันโทปิยะชาติ ประสานนาม นายทหารการสัสดี หน่วยบังคับบัญชาการรักษาดินแดน และเจษฎา แต้สมบัติ ผู้ดำเนินรายการ

การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่เครือข่ายความหลากหลายทางเพศได้ยื่นฟ้องศาลปกครองให้กระทรวงกลาโหมแก้ไขข้อความในใบรับรองผลการตรวจคัดเลือกทหารกองเกิน โดยขอให้เพิกถอนข้อความที่ระบุว่า ‘เป็นโรคจิตถาวร ’ ซึ่งเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และทำให้เสื่อมเสีย จนเมื่อ 29 พ.ย. 2549 ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาเพิกถอนใบสำคัญดังกล่าว และแก้ไขจาก ‘เป็นโรคจิตถาวร’ เป็น ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ ซึ่งถือได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ทำให้เห็นความก้าวหน้าในด้านกฎหมาย และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกะเทย สาวประเภทสอง และคนข้ามเพศ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนกะเทย สาวประเภทสอง และคนข้ามเพศในการเตรียมพร้อมเข้ารับคัดเลือกทหารกองประจำการ ซึ่งมีความซับซ้อน จึงได้ผลิตคู่มือ และวีดิทัศน์ ‘เมื่อดิฉันต้องเกณฑ์ทหาร’ รวมทั้งคู่มือ ‘เมื่อพี่ทหารต้องปฏิบัติงานกับน้องกะเทย’ เพื่อให้ทหารได้ทราบถึงข้อควรปฏิบัติ โดยผลิตขึ้นจากชุดประสบการณ์ของชุมชน  เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่เข้าใจง่าย และถูกต้อง

คลิปวิดีโอ กะเทยกับการเกณฑ์ทหาร (Thai transgender military recruit)


คู่มือ ‘เมื่อพี่ทหารต้องปฏิบัติงานกับน้องกะเทย’ (คลิกที่ภาพ เพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

 

รณภูมิ สามัคคีคารมย์ กล่าวว่า การเกณฑ์ทหารนั้นเกิดขึ้นทุกๆ ปี ในวันที่ 1 – 12 เมษายน ซึ่งที่ผ่านมา มีคนข้ามเพศเข้าร่วมกว่า 900 คนต่อปี จากสถานการณ์เดิม เมื่อมีคนข้ามเพศเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ก็จะถูกคัดออก โดยให้เหตุผลว่า ‘เป็นโรคจิตชนิดถาวร’ ซึ่งคำๆ นี้สร้างภาพจำ จนทำให้อาจเกิดการเข้าใจผิด และถูกปฏิเสธจากการทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ เช่น สมัครเรียน หรือเข้าทำงาน จนเมื่อปี 2549 กรณีของ ‘น้ำหวาน’ สามารถ มีเจริญ ซึ่งลุกขึ้นมายื่นฟ้อง รมว.กลาโหม หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน สัสดีในครั้งนั้น ทำให้เกิดจุดยืนใหม่ พร้อมระบุศัพท์ใหม่ว่า ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ พร้อมทั้งผลักดันให้หน่วยทหารพกคู่มือ 'เมื่อพี่ทหารต้องปฏิบัติงานกับน้องกะเทย’ เมื่อต้องปฏิบัติงานจริง

ทั้งนี้ รณภูมิกล่าวต่อว่าที่ผ่านมา พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่ที่มีความละเอียดอ่อน ดูแลและให้เกียรติคนข้ามเพศมากขึ้น แต่ก็ยังพบปัญหาในบางส่วน เช่น ยังมีการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม การขอดูอวัยวะที่แปลงเพศมาแล้ว หรือการแสดงท่าทางที่ทำให้คนข้ามเพศดูเป็นตัวตลก รวมทั้งยังมีสื่อต่างๆ ที่ต้องการเอาเรื่องเหล่านี้ไปนำเสนอ จึงทำให้เกิดการผลิตภาพซ้ำอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เขากล่าวเพิ่มเติมว่า หากใครที่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สามารถนำเอาใบ สด.43 มาแก้ไขได้ เพื่อลดการถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นบุคคลที่มีภาวะโรคจิต

ทางด้าน พ.ท. ปิยะชาติ ประสานนาม กล่าวว่า จากกรณีของน้ำหวาน ตั้งแต่ปี 2549 จึงทำให้เกิดการผลักดันอย่างมากตลอดระยะเวลา 6 ปี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น นักสิทธิมนุษยชน แพทย์ สาธารณสุข ฯลฯ จนปี 2555 จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อใช้กับคนข้ามเพศ โดยให้ระบุว่าเป็นบุคคลที่เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานสัสดี 928 แห่งทั่วประเทศ ไม่ให้ใช้คำว่า 'โรคจิตถาวร' อีกต่อไป

ในด้านนโยบายการตรวจเลือกนั้น ให้มีการปฏิบัติต่อคนข้ามเพศเช่นเดียวกับสุภาพสตรี และในกรณีการตรวจร่างกาย จะต้องทำในห้องลับ และมีเพียง 3 คนที่มีอำนาจในการตรวจ ได้แก่ ประธานกรรมการตรวจเลือกฯ แพทย์ และสัสดีจังหวัด อีกทั้งมีการจัดชุดสังเกตการณ์ หากมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ก็จะมีบทลงโทษต่อไป รวมทั้งตัวคนข้ามเพศเองก็มีสิทธิที่จะร้องเรียน หากมีการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ภายในวันที่ 30 เมษายน ของปีที่เข้ารับการคัดเลือก

สำหรับหลักเกณฑ์ในการตรวจนั้น พ.ท.ปิยะชาติกล่าวว่า ใช้หลักการตรวจแบบ GID (Gender identity disorder) ซึ่งมี 3 หลักเกณฑ์ได้แก่ (1) มีการปรับเปลี่ยนร่างกาย หรือทางกายภาพอย่างชัดเจน (2) ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนทางด้านร่างกายที่ชัดเจน แต่มีการใช้ฮอร์โมน ซึ่งอาจทำให้มีหน้าอก (3) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย แต่มีสภาพจิตใจที่เป็นหญิง ซึ่งต้องดำเนินการตรวจประเมินที่ รพ.ในสังกัดทหาร เช่น สถาบันราชนครินทร์

พ.ท.ปิยะชาติ ชี้ข้อควรระวังไว้ว่า มีคนข้ามเพศจำนวนมากที่ไม่เข้าใจในหลักการการคัดเลือก จนอาจจะทำให้เกิดความกลัวและไม่มาเข้ารับคัดเลือกตามกำหนดเวลา ซึ่งหากเกิดกรณีเช่นนั้น จะต้องถูกส่งดำเนินคดี ซึ่งส่งผลให้เมื่อพ้นคดีในปีถัดไปจะต้องมาเกณฑ์ทหารอีกครั้ง และจะถูกบังคับให้เป็นทหารโดยอัตโนมัติ 

ปานหนุ่ย ธาตุไพบูลย์ ตัวแทนจากมูลนิธิซิสเตอร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้าที่จะไปเกณฑ์ทหาร รู้สึกตื่นเต้นพร้อมๆ กับกลัว  เพราะตอนนั้นยังไม่มีการออกกฎระเบียบข้อบังคับดังกล่าว รวมทั้งมีความกังวลใจว่าจะต้องเป็นทหารหรือไม่ เพราะ ณ ขณะนั้นเธอเองยังไม่ได้ทำหน้าอก จึงทำให้เหตุผลในการคัดออกของเธอคือ ‘หน้าอกผิดรูป’ เพราะไม่สามารถหาคำอื่นเพื่อเป็นเหตุผลได้ พร้อมทั้งกล่าวว่า การได้มาทำงานกับซิสเตอร์ทำให้เธอรู้สึกภาคภูมิใจ และน่าจะดี หากน้องๆ รุ่นต่อๆ ไปที่จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร มีรุ่นพี่ที่เคยผ่านประสบการณ์นั้นๆ แล้วคอยให้คำปรึกษา

วีระชาติ สิริสุริยกมลชัย  จากสมาคมฟ้าสีรุ้ง ให้สัมภาษณ์ว่า เธอต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารในปีนี้ และรู้สึกกังวลใจอย่างมาก เพราะยังไม่ได้แปลงเพศ และเป็นคนขี้อาย จึงกังวลมากหากต้องไปถอดเสื้อเพื่อตรวจร่างกาย แต่เมื่อได้รับความรู้เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารในครั้งนี้ก็รู้สึกอุ่นใจ และรู้ว่าหากมีการล่วงละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน ตนเองก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธหรือร้องเรียนได้เช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท