Skip to main content
sharethis

สถานีวิทยุเอเชียเสรี สัมภาษณ์ แอน-โซฟี กินดรอซ ซึ่งเคยทำงานด้านมนุษยธรรมในลาวและถูกเนรเทศ เธอเขียนหนังสือเล่มใหม่ "ลาว, กดขี่ภายใต้ความเงียบ"  เผยให้เห็นปัญหาการทำงานพัฒนาในลาวและเตือนว่าองค์กรนานาชาติที่ให้ความช่วยเหลือไม่ควรประเมินต่ำเรื่องที่รัฐบาลลาวจำกัดเสรีภาพการแสดงออก คุกคามชาวบ้าน ควบคุมสื่อ ซึ่งล้วนกระทบต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลาว

ที่มาของภาพ: วิทยุเอเชียเสรี

การคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่จัดโดยกลุ่มประชาสังคมในไทย
ภาพถ่ายเมื่อปี 2555 (ที่มา: ประชาไท)

แอน-โซฟี กินดรอซ (Anne-Sophie Gindroz) ชาวสวิตเซอร์แลนด์ เคยทำงานด้านมนุษยธรรมในประเทศลาว และได้ประสบกับเรื่องราวการบังคับให้อพยพและการไล่รื้อชุมชนในชนบทเพื่อเปิดพื้นที่ให้โครงการเขื่อนและโครงการที่เป็นข้อพิพาทอื่นๆ เช่น โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและฟาร์มเพาะปลูกขนาดใหญ่ในลาว

กินดรอซ เคยเป็นผู้อำนวยการองค์กร Helvetas Swiss Intercooperation แต่ถูกเนรเทศจากลาวเมื่อปี 2555 เพราะวิจารณ์ลาวในจดหมายถึงแหล่งทุนว่าการปกครองแบบพรรคเดียวของลาวจำกัดการถกเถียงและสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการทำงานขององค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือ

กินดรอซ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าววิทยุเอเชียเสรี หรือ RFA เกี่ยวกับหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด "ลาว, กดขี่ภายใต้ความเงียบ" ( "Au Laos, La Répression Silencieuse)" ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส และกำลังจะตีพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษในชื่อ "Laos, The Silent Repression"

RFA: ทำไมคุณจึงเขียนหนังสือเล่มนี้

กินดรอซ: หนังสือเล่มนี้เป็นคำให้การ หลังจากที่ฉันโดนเนรเทศจากลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ สมบัด สมพอน ถูกทำให้หายตัวไปเมื่อปี 2555

ฉันคิดว่ามันจำเป็นที่จะเล่าประสบการณ์ระหว่างที่ฉันทำงานที่ลาว โดยเฉพาะเรื่องราวการกดขี่ต่อนักเคลื่อนไหวทางสังคม หนังสือเล่มนี้ยังเป็นอีกทางหนึ่งที่ฉันแสดงความเคารพต่อสมบัดและคนอื่นๆ ที่น่ายกย่อง ที่ฉันมีโอกาสทำงานด้วย

RFA: ความสนใจของคุณมุ่งไปที่เรื่องใด

กินดรอซ: ฉันบอกเล่าถึงน้ำตาและความยากลำบากของชุมชนที่ต้องสูญเสียที่ดินของพวกเขา เล่าถึงการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานและความกลัว

ฉันเล่าว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนที่สมบัดจะโดนทำให้หายตัวไป แรงกดดันที่สูงขึ้น การคุกคาม และฉันเล่าเกี่ยวกับพันธมิตรเครือข่ายที่ทำงานด้านการพัฒนาที่เลือกจะทำตัวเงียบๆ ... มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกดขี่อย่างเงียบๆ ในลาว

RFA: การที่คุณเขียนหนังสือเล่มนี้ คุณอยากจะสื่อสารกับใคร

กินดรอซ: องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือและองค์กรนานาชาติที่ทำงานในลาวไม่ควรประเมินต่ำเกินไป ถึงปัญหาการไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก ข้อจำกัดต่างๆ ขององค์กรในท้องถิ่น การควบคุมสื่อและข้อมูลข่าวสาร สิ่งเหล่านี้กำลังคุกคามการพัฒนาอย่างยั่งยืนของลาว

การทำงานกับประเทศเผด็จการนั้น คุณจำเป็นจะต้องเลือกคนที่คุณทำงานร่วมด้วยอย่างระมัดระวัง เพื่อที่คุณจะสามารถเสริมศักยภาพแก่คนที่มีความก้าวหน้าที่ทำงานในหน่วยงานรัฐ รัฐสภา และภาคประชาสังคม

และเมื่อรายการวิทยุถูกปิด ชาวบ้านโดนข่มขู่และถูกจับเพราะแสดงออก ผู้คนถูกทำให้หายตัวไป การเจรจาทางการเมือง และทุนช่วยเหลือควรถูกใช้เพื่อหนุนเสริมการพูดคุยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเหล่านี้ เพราะการที่คุณเงียบ มันไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นกลาง ความเงียบหมายความว่าคุณกำลังเลือกข้าง

RFA: คุณมีความคาดหวังอย่างไรกับหนังสือเล่มนี้

กินดรอซ: ฉันหวังว่างานเขียนของฉันจะสนับสนุนงานของสมบัด และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิหรือผู้ที่อยู่ภายใต้ภาวะเสี่ยงในลาว

การแชร์ข้อมูลข่าวสารเป็นก้าวแรกของการสร้างความสมานฉันท์ ฉันหวังว่าคำให้การของฉันจะกระตุ้นให้องค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาได้สะท้อนสิ่งที่กำลังทำและการกระทำเหล่านั้นจะนำไปใช้เพื่อสู้กับบรรยากาศความกลัวในลาว เพราะคนที่กำลังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกคู่ควรกับอะไรที่มากไปกว่าความเงียบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net