เศรษฐศาสตร์กับการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง (Gravitational Wave) ตอนที่ 1

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ที่มาภาพ: R. Hurt/Caltech-JPL/NASA

เมื่อวาน (18 กุมภาพันธ์ 2559) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา “คลื่นความโน้มถ่วง: เครื่องมือไขปริศนาจักรวาลและอนาคตแห่งมนุษยชาติ” ขึ้น โดยมีนักวิทยากรหลายท่านเข้าร่วม ประกอบด้วย รศ.ดร.ปิยบุตร บุรีคำ ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อ.ดร.ทศพร อังสาชน ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ จาก สวทช. และผม อ.ชล บุนนาค จากคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ...คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากงานนี้ถูกประชาสัมพันธ์ออกไปก็คือ อาจารย์เศรษฐศาสตร์มาเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้

วิชาเศรษฐศาสตร์อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่อง Gravitational Wave ในแง่ของเนื้อหา สิ่งที่เศรษฐศาสตร์พอจะช่วยตอบได้เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ งานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานแบบ Gravitational Wave ลงทุนไปแล้วจะคุ้มหรือ? และอีกคำถามหนึ่งก็คือ การศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานลักษณะนี้มีประโยชน์หรือไม่ต่อประเทศรายได้ขั้นกลางอย่างประเทศไทย?

ลงทุนในงานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานลักษณะนี้ คุ้มหรือไม่? ประโยชน์ทางเศรษฐกิจคืออะไร?

สำหรับคำถามแรก งานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานแบบนี้ลงทุนไปแล้วจะคุ้มหรือ? ผมคาดเอาเองว่านี่น่าจะเป็นคำถามที่อยู่ในใจหลายๆ คนรวมทั้งผู้กำหนดนโยบายที่มีอำนาจจัดสรรงบประมาณมาให้กับงานวิจัยลักษณะนี้ หากเราคิดกันง่ายๆ อาจจะนำไปสู่ข้อสรุปว่า ไม่คุ้มหรอก เพราะงานวิจัยลักษณะนี้ทำออกมาแล้ว ผลก็นำไปใช้อะไรไม่ได้ทันที และการทำวิจัยเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะประสบผลสำเร็จเสมอไป หรือไม่รู้ว่าเมื่อใดจะประสบผลสำเร็จ อย่างกรณีของ LIGO ในสหรัฐอเมริกาที่ตรวจจับคลื่นนี้ได้ก็ใช้เวลาถึง 40 ปี และยิ่งถ้าต้องสร้าง research facility ที่ใหญ่โตขนาดนี้แล้วละก็ การปัดตกข้อเสนอของงานวิจัยและการสร้าง research facility แบบนี้ยิ่งทำได้ง่ายใหญ่ เพราะน่าจะไม่คุ้มเอาจริงๆ เอาเงินวิจัยจัดสรรไปให้กับงานวิจัยที่จะเกิดนวัตกรรมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดีกว่า

ข้อบกพร่องของความคิดแบบนี้ก็คือ มองเฉพาะผลปลายทางที่เป็นผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น และต้องการผลแบบนี้อย่างรวดเร็วทันการณ์ด้วย สิ่งที่ถูกมองข้ามไปก็คือ ในการสร้าง research facility ลักษณะนี้และโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานเหล่านี้นั้น หากอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมันเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มสร้างและดำเนินการ ก่อนที่ผลการวิจัยจะประสบความสำเร็จเสียอีก

ข้อเสนอด้านการออกแบบและความเป็นไปได้ในการสร้าง Australian International Gravitational Wave Observatory (GWO) ในเขต Gingin Shire ใน รัฐ Western Australia ประเทศออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการสร้าง research facility นี้และการทำวิจัยในด้านนี้ได้ค่อนข้างชัดเจน จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง และอาจผสมผสานเนื้อหาที่มีการแลกเปลี่ยนจากการเสวนาลงไปด้วยบางส่วน

GWO ในประเทศออสเตรเลียนั้นเป็นที่ต้องการมากมิใช่เพียงในวงวิชาการฟิสิกส์ในประเทศ แต่รวมถึงนักฟิสิกส์อีกพันกว่าคนทั่วโลกที่จะได้ประโยชน์จากการสร้าง facility นี้ ทั้งนี้เพราะ GWO ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือทั้งหมด (กล่าวคือ LIGO 2 แห่งในสหรัฐอเมริกา, VIRGO ในอิตาลี, TAMA ในประเทศญี่ปุ่น (กำลังก่อสร้าง) และในประเทศอินเดีย ที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง) การมี GWO ในซีกโลกใต้จะช่วยเพิ่มข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการศึกษาวิจัยด้านนี้

แต่สร้างแล้วประเทศออสเตรเลียได้อะไร?
ประการแรก ได้ความขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์กับประเทศอื่นๆ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและเยอรมนี จะร่วมทุนในการสร้าง facility นี้ European Gravitational Observatory และ China Gravitational Wave Working Group แสดงความจำนงว่าจะเป็นหุ้นส่วนด้านงานวิจัย และคาดว่าจะมีการเซ็นข้อตกลความร่วมมือกับอีกหลายประเทศ

ประการที่ 2 ได้ประโยชน์จากการจ้างงานในอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ ที่สนับสนุนนักวิจัยและการก่อสร้างและดำเนินการภายใน GWO เช่น

  • การที่นักวิจัยจำนวน 50 คนและครอบครัว มาพักอาศัยและทำงานในบริเวณนี้ และนักวิจัยจากต่างถิ่นมาพำนักและทำวิจัยชั่วคราวจะนำมาซึ่งความต้องการ ที่พักอาศัย อาหาร โรงเรียน และบริการอื่นๆ ในการดำเนินชีวิต
     
  • อุตสาหกรรมและบริการที่สนับสนุนการสร้างและดำเนินการ ตั้งแต่อุตสาหกรรมและบริการพื้นฐานเช่น ไฟฟ้า ประปา อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ วิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องกล โยธา ไปจนถึงเทคโนโลยีในการทำพื้นที่สุญญากาศ (Vacuum Technology) เป็นต้น
     
  • อุตสาหกรรมในข้อ 2 นั้นนอกจากการจ้างงานแล้วจะได้การพัฒนาทักษะความสามารถของตนเองอย่างยิ่งด้วย และสามารถใช้ทักษะทำนองเดียวกันนี้ไปให้บริการสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากการสร้าง GWO ได้อีก (Spin-off and Commercialisation) ดร.บัญชา จาก สวทช. เล่าให้ฟังในงานเสวนาว่า บริษัทคนไทยที่ทำ Vacuum Technology ที่สร้าง research facility ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปัจจุบันเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญเรื่อง Vacuum Technology ระดับต้นๆ ของเอเชียเลยทีเดียว
     
  • เมื่อต้องมีการก่อสร้าง GWO แรงงานของธุรกิจก่อสร้างก็ได้ประโยชน์โดยตรงจากการก่อสร้าง
     
  • GWO ยังจะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวและเยี่ยมชมด้านการศึกษาด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะ GWO เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างเขตการวิจัยด้าน Gravitational Wave อยู่แล้ว และนี่เป็นเฟสที่ 3 เฟสก่อนหน้านี้เป็นการสร้างศูนย์วิจัย และศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดให้นักเรียน นักศึกษาทั้งในและต่างประเทศเดินทางมาเยี่ยมชมและเรียนรู้ ตามแผนคือต้องการให้พื้นที่วิจัยนี้เป็นเหมือน CERN ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ทำการวิจัยด้าน Particle Physics และก็มีผู้คนเดินทางมาเยี่ยมชมและเรียนรู้ สร้างรายได้ให้กับศูนย์และประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไปด้วย
     
  • นักเรียนนักศึกษาในประเทศออสเตรเลียโดยเฉพาะในภูมิภาคนั้นก็ได้ประโยชน์ในเชิงการศึกษาจากศูนย์วิจัย

ประการที่ 3 การวิจัยที่เกิดขึ้นนั้นอาจนำไปสู่การค้นพบและการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เฉพาะในประเด็นเรื่อง Gravitational Wave เท่านั้น แต่รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่นำมาซึ่งการศึกษา Gravitational Wave ด้วย ทั้งนี้เพราะการตรวจจับ Gravitational Wave เป็นเรื่องใหม่ ต้องประยุกต์เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีอยู่แล้วมาใช้ การประยุกต์นี้เองที่ทำให้ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ รอบๆ การสร้าง GWO พัฒนาขึ้นตามไปด้วย

ฉะนั้น ในประเด็นคำถามแรกว่า คุ้มหรือไม่ จากประสบการณ์ของออสเตรเลียนั้นก็อาจตอบได้ว่า มันอาจจะคุ้มและมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อโครงการวิจัยนั้นเหนี่ยวนำให้เกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และองค์ความรู้ด้านต่างๆ ภายในประเทศนั้นๆ หากจะสร้าง GWO แต่นำเข้าผู้เชี่ยวชาญและแรงงานที่จะทำการสร้างและพัฒนาศูนย์ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็อาจจะน้อยลงไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ดี การจะตอบแบบฟันธงว่าคุ้มหรือไม่คุ้มจำเป็นจะต้องมาดูกันในรายละเอียดของต้นทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับทั้งเกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท