Skip to main content
sharethis

กว่าจะรู้ว่าเป็นความคิดที่ไม่ดีนักที่จะเขียนถึงชีวิต ‘คนรัก’ ของนักโทษคดี 112 ก็ต่อเมื่อต้องลงมือเขียนแล้ว เรื่องความสัมพันธ์ไม่(เคย)ง่าย ซับซ้อนและเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง กรณีนี้ยังซ้อนทับไปกับบาดแผลฉกรรจ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น อดีตอันเจ็บปวดถูกขุดคุ้ยให้ฟุ้งกระจาย ความรู้สึกไม่เป็นธรรมเหมือนถูกตอกย้ำด้วยการเล่าซ้ำ คำถามเรียบง่ายถึงอนาคตกลายเป็นเรื่องสะเทือนใจลึกล้ำ

แรงบันดาลใจเกิดจากการได้เห็นพวกเธอและเขาตระเวนเยี่ยมคนรักในเรือนจำอย่างมั่นคงเป็นแรมปี เห็นน้ำตาของพวกเธอและเขาหลายต่อหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม พลังงานมีเพียงพอสำหรับนำเสนอชีวิตของ ‘คนรัก’ เพียง 4 คนท่ามกลางคนรักของนักโทษทางความคิดอีกมากหลาย เป็นตัวอย่างชีวิตของ ‘ผู้อยู่เบื้องหลัง’ และผลกระทบที่เกิดขึ้น

ความรักออนไลน์ของหนุ่มโรงงาน ‘ฐนกร’

เรื่องของฐนกร หรือ เอฟ ออกจะ absurd ทั้งเหตุแห่งคดีที่เขาโดนและการดูแลประคับประคองชีวิตเขาหลังจากนั้น

ชายหนุ่มวัย 28 ปีเติบโตในครอบครัวคนชั้นล่าง เรียนจบชั้นม.3 แล้วเรียนต่อ ปวช.เพียงไม่นานก็ลาออกมาทำงานโรงงานเช่นเดียวกับพ่อและแม่ เพื่อให้น้องสาวที่อายุห่างจากเขา 12 ปีได้เรียนหนังสือต่อ แม่ของเขาเล่าว่าเขาทำงานโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์นับแต่นั้นมาจนปัจจุบัน ทำงานอย่างแข็งขันไม่เคยพลาดการทำโอที และนำเงินที่ได้มาให้แม่ใช้จ่ายในครอบครัวทั้งหมด เนื่องจากพ่อเลิกทำงานมาหลายปีเพราะป่วยด้วยหลายโรครุมเร้า น้องสาวกำลังเรียน ส่วนแม่ก็เริ่มออดๆ แอดๆ หลังทำงานหนักมาหลายสิบปี

ชายหนุ่มผู้อุทิศชีวิตให้ครอบครัว ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละ 6-7 วัน เขามีความรักอยู่ในโลกออนไลน์นานหลายเดือนก่อนเขาจะโดนจับ

ปัท หญิงสาววัยห่างกว่าเขา 7 ปีเรียนบัญชีและการเงิน หลักสูตร 2 ปีครึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งและกำลังจะจบการศึกษาในเดือนกันยายนนี้...คือหญิงสาวที่เขาหลงรัก พวกเขาพูดคุยกันทางกล่องข้อความเฟซบุ๊กอยู่ 8 เดือนโดยไม่ได้เห็นหน้าค่าตากัน

“เอฟแอดเพื่อนมาก็รับ ตั้งแต่ 17 เม.ย.ปีที่แล้ว คุยแบบเพื่อนแล้วพัฒนามาเรื่อยๆ แต่ว่าก็ยังไม่ได้อยากเจอกัน ต่างคนต่างเลิกกับแฟนคนเก่า อยากคุยๆ ดูๆ กันไปนานๆ หน่อย หนูก็เพิ่งรู้ว่าอายุเราห่างกัน 7 ปี เขาบอกว่ารุ่นเดียวกัน อายุจริง หน้าตาจริงๆ หนูเพิ่งมารู้วันที่โดนจับ”

เด็กสาวปลายสายเล่าเรื่องเนิบช้า ซื่อใส และด้วยน้ำเสียงที่ไม่ค่อยมั่นใจ

“ตอนแรกก็มีโกรธบ้าง วินาทีแรกที่รู้ก็สงสัยว่าโกหกทำไม แต่ก็มาคิดว่าเขาคงมีเหตุผลของเขาที่ต้องโกหกเรา เขาเห็นปัทเรียนกำลังใกล้จะจบ มีอนาคต ส่วนตัวเขาจบแค่ ม.3 เหมือนทุกครั้งที่ปัทไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำเขาพูดตลอดว่าออกมาอยากเรียนต่อ อยากจะมีวุฒิการศึกษาให้เท่ากับปัท”

“มันก็ผิดหวัง แต่สิ่งที่เขาทำให้มันเทียบกันไม่ได้ การกระทำที่เขามอบให้หลายเดือนที่ผ่านมา แม้เราไม่เคยเห็นหน้า ไม่รู้ว่าเขาเป็นยังไง แต่ความรู้สึกเขามอบแต่สิ่งดีๆ ให้ ไม่เคยทำให้เราเสียใจ ไม่เคยทำร้ายเรา”

พวกเขาโทรคุยกันทุกวัน วันละ 4 เวลา ปลุกกันไปเรียน ถามไถ่ตอนเลิกเรียน และได้คุยกันยาวหน่อยในช่วงกลางคืน เป็นเช่นนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งมีการนัดเจอกัน “เอฟบอกว่าจะพาปัทมาเจอพ่อแม่ตอนวันปีใหม่ แต่ก็มาเกิดเรื่องซะก่อน”

ฐนกรโดนจับวันที่ 8 ธ.ค.2557 ที่โรงงานที่เขาทำงานอยู่ ถูกคุมตัวในค่ายทหารหลายวัน ก่อนจะถูกนำตัวมาฝากขังด้วยความผิดจากการแชร์ “ผังโกงราชภักดิ์” ซึ่งสุดท้ายกลุ่ม NDM ประกาศว่าเป็นผู้จัดทำ แต่หนุ่มโรงงานผู้กดแชร์รูปผังดังกล่าวเป็นผู้ถูกดำเนินคดี และยังโดนแจ้งข้อหาเพิ่มในคดีความผิดตามมาตรา 112 จากการนำรูปคุณทองแดงมาโพสต์ด้วยถ้อยคำธรรมดาแต่ถูกตีความว่าเป็นการเสียดสี

ระหว่างที่ฐนกรถูกควบคุมตัวและหายเงียบไป แม่และปัทได้มีโอกาสเจอกันและพยายามตามหาเขาในหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจ ค่ายทหาร

“คืนนั้นปัทไม่นอนเลยแล้วก็คอยส่งข้อความตลอด แม่เครียดมาก ไม่สบาย ปัทโทรไปอีกเบอร์บังเอิญเจอแม่ แม่ไม่มีเสียงจะพูด ร้องไห้ทั้งคืน แกไม่ได้นอนเลยต้องกินยานอนหลับ ตอนนั้นคิดแต่ว่าจะติดต่อกับใครถึงจะได้เจอเอฟอีกครั้ง ไม่รู้จักใครเลย”

“พอออกมาฝากขังผัดแรก ปัทไปเยี่ยมที่คุก เจอกันครั้งแรกที่คุก ต่างคนต่างเงียบ เพราะไม่เคยเจอกันมาก่อน คำแรกที่พูดคือ เราชื่อเอฟ ปัทก็บอกเราชื่อปัท เขาถามว่ามาได้ยังไง ที่เขาหายไปปัทเป็นยังไงบ้าง ส่วนปัทก็ถามว่าทำไมเอฟผอมมาก เขาบอกว่าเครียด กินอะไรไม่ได้ มันเป็นบรรยากาศที่ต่างคนต่างไม่แน่ใจว่าควรคุยอะไรกัน แต่พอผ่านไปสองสามผัดเขาก็เริ่มเล่าว่า ทหารมีการเอาขวดน้ำตีข้างหลังเขา 3 ครั้งจนตะกุดที่เขาใส่ไว้หลุด ให้ตอบ แต่เขาบอกว่าเขาไม่ได้ทำจะให้รับได้อย่างไร แล้วตอนที่อยู่ที่นั่นก็โดนล่ามโซ่ ให้นอนอย่างนั้นทั้งคืน ตอนกินข้าวก็จะมีทหารหันหลังเอาข้าวมาส่งให้ อีกคนคลุมหน้า เอฟเขากินอะไรไม่ลงเลยผอมมาก”

“เอฟพูดคุยกับปัทก็ชอบส่งแต่รูปสุนัขรูปแมวมาให้ ส่งมาตลอดเขาเป็นรักสุนัข พออ่านข่าวว่าหมิ่นพระมหากษัตริย์ ปัทก็คิดแล้วว่าเขาจะไปหมิ่นยังไง เวลาว่างเขายังแทบไม่ค่อยจะมี ปัทไม่เชื่อว่าเขาทำ” (เสียงสั่นเครือ)

“พี่สาวติดต่อมาถาม ปัทก็บอกไปว่าทิ้งไม่ได้ เห็นสภาพเขา พ่อแม่ครอบครัวเขาแล้วมันทิ้งไม่ได้ กำลังแย่ ถ้าปัททิ้งไปอีกคนก็เหมือนซ้ำเติมเขา ก็เลยตัดสินใจไปดูแลแม่”

หลังจากนั้นหญิงสาวคนนี้ก็ตื่นตีห้าเพื่อนเดินทางไปเยี่ยมคนรักที่เพิ่งเห็นหน้ากันครั้งแรกในชุดนักโทษทุกวันจนถึงปัจจุบัน ฐนกรยื่นประกันตัวหลายครั้ง แต่ศาลทหารไม่อนุญาต ขณะนี้เขายังคงถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำ

ปัทสนิทกับแม่ของเอฟไปโดยปริยาย เธอไปเยี่ยมเอฟแทนแม่ซึ่งต้องทำงานแต่เช้า เสาร์ไหนที่เรือนจำเปิดรอบพิเศษให้ครอบครัวเยี่ยม เธอก็จะไปค้างบ้านเอฟเพื่อเดินทางไปเยี่ยมเอฟพร้อมแม่

“ตอนไปบ้านเอฟ พ่อเขากินข้าวเสร็จต้องกินยาหลายเม็ด ไม่สบายหลายโรค ส่วนแม่ทำโรงงานอะไหล่รถเครื่อง ต้องยกเหล็กหนักๆ ทำงานกะดึกบ้าง กะเช้าบ้าง เขาลำบากกันมาก ตอนเกิดเรื่องแม่ก็ยิ่งต้องทำงานหนัก ทำงานจนนิ้วล็อค เอฟเองก็ทำงานหนักมาตลอด วันที่ปัทไปที่บ้านเขาครั้งแรก เข้าไปดูห้องเขาเหมือนเห็นพวกแผงยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ เต็มไปหมด ปัทถามแม่ แม่ก็บอกว่าเอฟทำงานทุกวัน ทำโอทุกวัน ไม่สบายก็ไปทำ ไม่เคยขาดงาน และอาศัยกินยาพวกนี้บ่อยๆ”

นอกเหนือจากการไปเยี่ยมคนรักก่อนไปเรียนหนังสือทุกวัน ปัทยังต้องอดทนต่อแรงกดดันของเพื่อนรอบข้างที่รับไม่ได้กับข้อหาที่คนรักของเธอได้รับ พวกเขาแนะนำให้เธอออกมาจากจุดนั้นเสีย

“เพื่อนบางคนก็ซ้ำเติม บอกให้เลิกยุ่งกับเอฟ (เสียงสั่น) เพื่อนในกลุ่มปัทส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญแล้ว พอมีปัญหาเขาก็รับไม่ได้ แล้วจากที่เคยติวหนังสือให้พวกเขาตลอดตอนจะสอบ พอช่วงนี้ไม่ว่าง เขาก็อ้างว่าปัทจะไม่ติวหนังสือให้หรือเปล่า ในกลุ่มก็ไม่พูดกับปัท เหมือนกดดันให้ปัทออกจากกลุ่ม ปัทเลยออกจากกลุ่มเก่ามาอยู่กับกลุ่มใหม่ที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน พักอยู่ใกล้กัน”

เมื่อถามถึงอนาคต เธอบอกว่า เธอยังมีหวังว่าเอฟจะได้ออกจากเรือนจำมาบวชให้แม่ เรียน กศน. และหมั้นกับปัทตามที่เขาใฝ่ฝัน

“มีคนบอกว่ามาตรานี้ไม่ได้คุ้มครองสุนัข หนูคิดว่าเขาอาจจะโดนพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนั้น อีกไม่นานเราคงได้เจอกันข้างนอก”

ทนายหนุ่มคู่ทุกข์คู่ยากของ ‘กอล์ฟ เด็กปีศาจ’

ป๊อก ตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเดินทางไปเยี่ยมภรณ์ทิพย์ หรือ กอล์ฟ แฟนสาวนักแสดงละครเวทีแทบทุกวันตลอดปีกว่าที่ผ่านมา การรอคอย 2-3 ชั่วโมงเพื่อแลกกับ 20 นาทีเป็นวิถีอันปกติ เขาเยี่ยมคนรักตั้งแต่ตัวเองยังเป็นนักเรียนกฎหมายเมื่อปลายปี 2557 จนบัดนี้กลายเป็นทนายเต็มตัว อย่างไรก็ตาม การพูดคุยเรื่องรักกับชายหนุ่มเป็นไปด้วยความยากลำบาก การพยายามปิดบังความขวยเขิน หรือสะกดกั้นอารมณ์สะเทือนใจเกิดขึ้นเป็นระยะ

ปลายปี 2551 พวกเขาเจอกันที่ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทของมหาวิทยาลัยรามคำแหงและเริ่มต้นคบหากัน ป๊อกอธิบายสิ่งดึงดูดกันและกันว่า “คุยภาษาเดียวกัน เรื่องเดียวกัน” ทั้งคู่ต่างอ่านหนังสือการเมือง ประวัติศาสตร์การเมือง วรรณกรรมการเมือง วรรณกรรมเพื่อชีวิตกันมาตั้งแต่มัธยม

กอล์ฟมีความสนใจเรื่องการแสดงละครเวทีเป็นพิเศษ และอาศัยครูพักลักจำจากนักแสดงต่างๆ เคยได้เรียนเป็นเรื่องเป็นราวช่วงสั้นๆ จากกลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยว จากนั้นพวกเขาและเพื่อนกลุ่มเล็กๆ จึงเริ่มทำละครในปี 2553 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมซึ่งสะเทือนใจพวกเขาอย่างยิ่ง

“ผมไม่ได้ทำ แต่ไปช่วยเขา (หัวเราะ) สิ่งที่เขาอยากทำมากคือ ทำอะไรที่มันย่อยได้ง่ายๆ แบบที่คนธรรมดาสามัญสามารถเข้าถึงได้ ดูได้ ไม่ต้องเสียบัตรเสียตั๋วเข้าไปดู ความเป็นศิลปะหรือละครเวทีมันมีเส้นแบ่งอยู่ คนธรรมดาชาวบ้านจะไปดูก็ลำบาก ต้องเสียเวลา ต้องเสียเงิน คนที่ตั้งใจจริงๆ ถึงจะได้ดูศิลปะ แต่ในม็อบ ละครมันเปิดเผยตัวกับผู้คนตรงนั้นเลย ละครมันเป็นการตั้งคำถาม และบางทีมันก็เป็นคำตอบด้วยสำหรับประเด็นบางประเด็น แต่สำคัญคือมันชวนให้คิด”  

กอล์ฟชอบละครและชอบทำงานกับเด็ก เธอตระเวนใช้ละครเป็นเครื่องมือสร้างความสุขและความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กๆ หลายภูมิภาค เคยมีคนเล่าให้ฟังว่า ละครหลายต่อหลายเรื่องเกิดขึ้นโดยประชาธิปไตยทางตรง ทุกคนรวมหัวกันเขียนบทตรงนั้นและซ้อมกันไม่กี่ชั่วโมงก่อนแสดง

เส้นทางนี้ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งมีการแสดงในลักษณะสร้างบทหลวมๆ ปล่อยอารมณ์และคำพูดผู้แสดงไหลไปตามธรรมชาติในงานรำลึกครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเป็นบรรยากาศหลังสลายการชุมนุมปี 2553 ไม่นานนัก พรรคเพื่อไทยเพิ่งกลับมาชนะเลือกอีกครั้งและบรรยากาศสังคมค่อนข้างเปิด ในปีต่อมาการแสดงในหอประชุมก็ถูกจุดเป็นประเด็นขึ้นเมื่อเครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบันกษัตริย์แจ้งความกับ 13 สน.

หลังการรัฐประหารปี 2557 คดี 112 ทั้งหมดไม่ว่าเก่าหรือใหม่ถูกรื้อฟื้นและดำเนินการอย่างเร่งด่วนภายใต้กฎอัยการศึกซึ่งทหารสามารถบุกจับกุมผู้ต้องหาและควบคุมตัวโดยขาดการติดต่อกับโลกภายนอกได้ 7 วัน คณะผู้ร่วมแสดงละครรวมถึงผู้จัดงานรำลึกต่างแตกสานซ่านเซ็นเนื่องด้วยเกรงว่าจะโดนหางเลขไปด้วย ไม่นานปรากฏข่าว ‘แบงก์’ หนึ่งในนักแสดงถูกจับกุมดำเนินคดีในมาตรานี้ และวันถัดมาก็ถึงคราวของกอล์ฟ ผู้ซึ่งขณะนั้นเตรียมจะไปทำงานและเรียนต่อยังต่างประเทศ

“เขามาเล่าให้ผมฟังทีหลังว่า ตอนที่ถูกจับมีช่วงที่เขาขอตัวไปเข้าห้องน้ำ เขาคิดอยากฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ มันหมดแล้ว ความหวัง ความฝัน การหาเงิน การช่วยคนอื่น มันไม่ได้ไปต่อแล้ว เรากลัวตลอดเรื่องนี้ เพราะโดยอารมณ์เขามันขึ้นลงสูง จนมาถึงในเรือนจำเขาก็ยังมีอารมณ์แบบนี้อยู่พักใหญ่หลายเดือน มันมาเป็นระลอก ไม่อยากอยู่แล้ว มันแย่มากแล้ว ช่วงนั้นพนักงานสอบสวนเข้า อัยการเข้า มันบีบคั้นเขามาก”  

“เวลาอารมณ์เขาตกอยากทำร้ายตัวเอง ผมรู้สึกแย่มากๆๆๆๆๆ ผมก็ได้แค่ปลอบประโลมว่าอย่าทำ แล้วก็ฟัง ให้เขาได้พูด ในภาวะอย่างนั้นอารมณ์เขาอาจสวิงมาก แต่อย่างน้อยเขาพูดมันออกมา เรายังรับรู้ได้ว่าเขาเป็นยังไง”  

“เราไม่สามารถทิ้งใครในภาวะแบบนั้นได้ ตอนมีความสุขใครๆ ก็อยู่ด้วยกันได้ แต่ในภาวะยากลำบากขนาดนั้นมันจะมีซักกี่คนที่รับฟังกัน ที่พูดกันได้ ที่ดูแลกันได้”

“วันไปฝากขังที่ศาล กอล์ฟเข้าคุก ตกกลางคืนผมก็ไปรับแม่ที่พิษณุโลก ผมทำใจยากมากๆ ยังจำภาพมาม่าขึ้นอืดชามนั้นได้ แกกินอะไรไม่ลง ไปถึงผมยังไม่บอกอะไร เพียงแต่บอกให้ลงมากรุงเทพฯ ด้วยกันเฉยๆ กะว่าจะมาบอกที่เรือนจำเลย แต่แกก็พอจับทางได้แล้วเพราะติดต่อลูกไม่ได้เลย พอตัดสินใจบอกแก แกก็ร้องไห้ แต่พยายามทำความเข้าใจ ช่วงนั้นทำใจลำบากมากที่จะบอกว่า ลูกแม่ถูกจับแล้วนะ ผมมารับแม่ไปเยี่ยมเขา ตรงนั้นมันยากมากจริงๆ”

“คุกมันสูบความฝัน จินตนาการของเขาเหมือนกัน เป็นอารมณ์ที่ผมสัมผัสได้ เขาถามผมประจำเลยว่า ออกไปเราจะทำอะไรๆ แต่ด้วยความที่ฝันและจินตนาการของกอล์ฟมันล้นเกินอยู่แล้วมันเลยยังมีเหลือ ช่วงนี้เลยเรียนเยอะมาก เรียนภาษาอาหรับ เรียนช่างสิบหมู่ เรียนศาสนา เรียนมสธ. ยังอ่านหนังสืออยู่ วันก่อนนู้นบอกผมน้ำเสียงตื่นเต้นมาก หนังสือมีลายเซ็นพี่ภัควดี (วีระภาสพงษ์) ที่หน้าปกด้วย บอกว่า “มอบให้สมยศ พฤกษาเกษมสุข” แต่มันมาตกอยู่คุกหญิงได้ยังไงก็ไม่รู้ แต่ก็มีแนบท้ายด้วยว่า “อ่านไม่รู้เรื่องอะพี่ภัค” (หัวเราะ) มันเป็นนิยายแปลอะไรซักอย่างนี่แหละ”

“ฝันเดียวที่มั่นคงและกอล์ฟยืนยันตลอดคือ เขาอยากเปิดโรงเรียนเด็ก โรงเรียนธรรมชาติที่สอนทุกอย่าง อารมณ์แบบโรงเรียนต้นไม้อะไรแบบนั้น”

“คนที่มันโตมาแบบนี้ การเมืองมันกลายเป็นโมเลกุลนึงของเขาแล้ว เพียงแต่เราไม่รู้ว่าภาวะภายใต้กำแพงสูงจะลดทอนหรือเพิ่มในส่วนไหน และเขาออกมาแล้วจะจัดวางตัวยังไง”

6 ตุลาคมปีนี้ เป็นวันที่ กอล์ฟ จะได้รับอิสรภาพ ส่วนแบงค์คู่หูคู่คดีก็น่าจะออกในเวลาไล่เลี่ยกัน

หญิงสาวสามัญข้างกายนักร้องดัง ‘ทอม ดันดี’

หญิงสาวผู้สุภาพอ่อนหวานและยิ้มแย้มเสมอชื่อ นัน เธอเป็นพนักงานของบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เริ่มสนใจการเมืองหลังพันธมิตรฯ ปิดสนามบิน ไปๆ มาๆ โดยไม่ทันรู้ตัวก็เป็นเสื้อแดงเต็มตัว เธอเข้าร่วมการชุมนุมครั้งแรกปี 2553 เจอ ทอม ดันดี ปลายปี 2554 ที่เวทีปราศรัยหลายแห่ง อายุเขาและเธอห่างกันมาก ขนาดเรียกขานกันว่า อาทอม-น้องนัน แต่เมื่อมีโอกาสเจอกันบ่อยๆ เธอก็เริ่มมองเขาด้วยสายตาที่ต่างจากคนทั่วไป

“เขามาคนเดียว ขายซีดีคนเดียว คนนึกว่าเขารวย พอใกล้ชิดถึงได้รู้ว่าเขาเป็นดาราที่ลำบาก อยู่ตัวคนเดียว ตัดขาดจากครอบครัว แม้จะติดต่อรับผิดชอบกันอยู่ แต่เขาออกมาจากครอบครัว มาต่อสู้การเมืองอย่างเดียวเลย”

ความสัมพันธ์ของเขาและเธอพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ นันไปช่วยเป็นเลขาฯ ส่วนตัวคอยจัดคิวงานให้ทอม จนสุดท้ายก็ใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ยิ่งเขาทำกิจกรรมทางการเมืองมากเท่าไร งานคอนเสิร์ตก็ยิ่งลดลงเท่านั้น จนกระทั่งไม่เหลือเลยและต้องหันไปเป็นชาวไร่ นันเล่าว่าช่วงปี 2553 ทอมถูกยกเลิกสัญญาทัวร์คอนเสิร์ตกับบริษัทน้ำเมายักษ์ใหญ่ 75 แมตช์ แต่ละแมตช์ได้ค่าตอบแทนหลักหลายแสนบาทแต่ทอมก็ไม่เคยคิดจะหันหลังให้การเมือง

“เขาไม่เคยเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย แม้แต่ให้เขาตายไปตอนนี้ เขากลับภูมิใจที่ได้ทำตรงนี้ เขาบอกเสมอว่าทุกอย่างที่มีได้เพราะประชาชน จากเด็กวัดมายืนตรงนี้ก็เพราะประชาชน เขาดีใจที่ได้ตอบแทน ตอนแรกเราก็น้อยใจรู้สึกว่าเขาไม่รักเรา มันเหมือนวิ่งไปหาความตายทั้งที่คุณเลือกได้  ทำไมคุณเลือกการเมือง ทำไมไม่เลือกใช้ชีวิตกับฉันอย่างมีความสุข แต่สุดท้ายก็เข้าใจเขา เพราะเราอุดมการณ์เดียวกัน มันออกมาตรงนี้แล้วเห็นแก่ตัวไม่ได้”

คนทั่วไปอาจแปลกใจที่นักร้องคนหนึ่งบ้าการเมืองได้ขนาดนี้ แต่อันที่จริงเขามีพื้นฐานความคิดทางการเมืองมาตั้งแต่ยังหนุ่มแล้ว (อ่านที่นี่)

คู่รักคู่นี้เดินสายทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างไม่ลดละ ปี 2555 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวิตร นันเล่าว่าพวกเขาได้ร่วมทำกลุ่ม “เสียงประชาชน” หรือ สปช. เดินสายรับฟังปัญหาจากแกนนำเสื้อแดงแต่ละเขตใน กทม.จำนวน 50 เขตเพื่อนำเสนอรัฐบาล ปี 2555-2556 ทอมและนันทิ้งไร่หลายต่อหลายครั้งเดินสายออกต่างจังหวัดเพื่อร่วมเปิด “หมู่บ้านเสื้อแดง” และเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย สหกรณ์ชุมชน สวัสดิการสังคม มีการล่ารายชื่อชาวบ้านเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเงินสวัสดิการคนชรจากเดือนละ 600 เป็น 2,000 บาท

“ในสายตาคนอื่นอาจมองว่าเขาเจ้าชู้ เมียเยอะ แต่ตอนที่เราเจอเขา อยู่กับเรามันไม่ได้เป็นแบบนั้น นันเป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่งไม่คิดว่าจะได้เจอคนแบบนี้ เขาให้เกียรติเราทุกอย่าง ไม่เคยรังเกียจว่าเป็นเด็กบ้านนอก ทำงานไม่มั่นคง และที่ประทับใจมากคือเขาเปิดเผยกับคนอื่นๆ ตลอดว่าเราเป็นภรรยา เราเองไม่ค่อยมั่นใจ หน้าตาก็ไม่สวย แต่เขายืนยัน ฉันรักของฉันแบบนี้ เธอสวยในแบบของเธอ เรียกว่าเติมความมั่นใจให้เราตลอด”

“เวลาอยู่กับเขา เขาก็อ่อนโยนมาก ทำกับข้าว ช่วยทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า ทำทุกอย่างเท่าที่ช่วยได้ เราต่างคนต่างทำงานกันมาเหนื่อย เขาไม่คิดว่าเราเป็นเมียแล้วต้องดูแลเขา”

จากชีวิตชาวไร่ผสมนักกิจกรรมทางการเมือง หลังรัฐประหารชีวิตของทั้งคู่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อทอม ดันดี อยู่ในรายชื่อเรียกรายงานตัว เขาถูกจับวันที่ 9 มิ.ย.2557 (อ่านที่นี่) ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. จากนั้นไม่นานเขาก็ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในมาตรา 112 จากการปราศรัยของเขา 2 คดี ทั้งสองคดีบรรยายพฤติการณ์การกระทำผิดในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่ น่าแปลกที่เขาถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 1 คดี และศาลอาญา 1 คดี ทอมเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ตัดสินใจสู้คดี ขณะนี้คดียังไม่คืบหน้ามากนัก หลังเขาถูกคุมขังในเรือนจำมานาน 1 ปี 7 เดือน

“ตอนโดนคดี มันแทบล้มทั้งยืน ต้องทำทุกอย่างคนเดียว ทำได้แค่ไปเรือนจำทุกวัน ไปเติมความเข้มแข็งให้กันและกัน ซึ่งกว่าจะเข้มแข็งมาได้ทุกวันนี้ก็ผ่านมาเยอะ”

นันทิ้งสวนให้รกร้าง และขายรถกระบะมาเป็นค่าใช้จ่ายเช่าห้องอยู่ใกล้เรือนจำ เธอเดินทางไปเยี่ยมคนรักทุกวัน เธอเล่าว่าสภาพเธอโดดเดี่ยวมาก ต้องพยายามให้ ‘ดูเหมือน’ เข้มแข็งเสมอ ไม่ร้องให้ให้ทอมเห็นเพราะกลัวจะยิ่งสร้างความร้อนรนให้ผู้ไร้อิสรภาพ ไม่บอกครอบครัวของเธอเองในเรื่องราวที่กำลังเผชิญเพราะเกรงแม่ที่ป่วยชราจะหัวใจสลาย ไม่พูดคุยปรับทุกข์กับคนที่อยู่ในสภาพเดียวกันเพราะมีแต่น้ำตา

“ภรรยาผู้ต้องขังด้วยกันเราก็ไม่ค่อยจะคุยกันมาก เพราะเราต่างคนต่างมีความทุกข์ มันมีแต่ความทุกข์ คุยแล้วมันก็ทุกข์ขึ้นอีก เราอยากช่วยเขาแต่ช่วยไม่ได้ เราเล่าของเราให้เขาฟังเขาก็ทุกข์ขึ้นอีก มีแต่ร้องไห้ใส่กัน ไม่ว่าเป็นภรรยาท่านไหนก็อารมณ์นี้ทุกคน ก็เลยไม่คุยกันแบบลึกๆ ไม่ปรึกษาปรับทุกข์ ก่อนหน้านี้ทำ ยิ่งทำยิ่งเศร้า”

“ถ้าเขาไม่มีใครไปเยี่ยมเลยมันจะอยู่ยังไง คำว่ากำลังใจมันสำคัญมาก เขาถูกให้อยู่เฉยๆ วันๆ ได้แต่รอคนมาเยี่ยม จะทำกิจกรรมอะไรก็โดนจำกัดไปหมด จะร้องเพลง จะอ่านหนังสือก็ทำไม่ได้ ตอนนี้มีผู้คุมมาดูตลอด ทำได้อย่างมากแค่นั่งเขียนเพลงคนเดียว นั่งสมาธิ เราเข้าใจดีว่ามันเป็นยังไง ไปเยี่ยมทุกวันก็รับแต่เบอร์โทรของเพื่อนผู้ต้องขังที่ฝากเบอร์โทรมาตลอด ให้โทรหาญาติให้หน่อย บอกให้มาเยี่ยมหน่อย บางคนเป็นปีไม่เคยมีใครเยี่ยม”

เมื่อถามว่าคิดว่าจะทำแบบนี้ได้นานแค่ไหน เธอเงียบไปพักหนึ่งก่อนจะตอบว่านั่นเป็นจุดที่เธอท้อเพราะวันหนึ่งเงินคงหมด และเธอต้องไปทำงาน

“ใจเรามันไม่ถอยหรอก ยังไงก็ไม่ถอย เรามีโอกาสเข้ามาเรื่อยๆ เขาก็ไม่ยื้อเรา ถ้าเรามีโอกาสที่ดีกว่าก็ไปได้เลย อันนี้เปิดใจคุยกันแล้ว แต่เราไม่ไป ถ้าจะไปก็คือต้องไปทำงานหาเลี้ยงตัวเองนั่นแหละแต่จิตใจเรายังเหมือนเดิม นับวันมันยิ่งศรัทธาเขา”

“สู้คดีมันลำบาก ถึงเวลานัดสอบพยานก็เลื่อนไปเรื่อยๆ ระบบของศาลทหารไม่รู้เลยว่ามันจะจบเมื่อไหร่ หลายคนเลือกรับสารภาพ อย่างน้อยรู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่และขออภัยโทษได้ .....มันโดดเดี่ยว มันเสียใจ แต่ก็ทำใจยอมรับ เข้าใจเขาที่เขาสู้ตรงนี้ ถ้าเราไม่เข้าใจเขา เราก็ยิ่งหนัก คนไม่ผิดแล้วคุณจะยัดเยียดความผิดให้เขาจะอยู่ยังไง มันเป็นตราบาป จะอยู่ในสังคมยังไง มีทางเดียวที่จะอยู่ได้คือไปอยู่ต่างประเทศ แต่มันก็ไม่ใช่บ้านของเรา ถ้าให้นันเลือกนันก็คงเลือกแบบเขา”

สหายร่วมอุดมการณ์ของ ‘ใหญ่ แดงเดือด’

หากมองด้วยสายตาของคนภายนอก ไก่ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ดูมีพลังล้นเหลือ เป็นคนเซนสิทีฟ ร้องไห้ทุกครั้งเมื่อเล่าถึง ใหญ่ แดงเดือด คนรักของเธอที่ต้องโทษจำคุกถึง 25 ปีจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 5 ข้อความ เมื่อทั้งคู่เจอกันในเรือนจำ พวกเขามีน้ำตากันทั้งสองฝั่ง

เมื่อได้สนทนากันยาวนานจึงรู้ว่าพลังล้นเหลือนั้นมาจากโรคไฮเปอร์แอคทีฟส่วนหนึ่ง การต้องปากกัดตีนถีบเลี้ยงตัวเองและครอบครัวมาแต่เด็กส่วนหนึ่ง ส่วนน้ำตานั้นก็มีความซับซ้อนยิ่งนัก หลายเรื่องราวถมทับอยู่ในหัวใจสาวเสื้อแดงที่หันมาสนใจการเมืองหลังสงครามสีเสื้อ รู้ตัวอีกทีการเมืองได้เข้าไปอยู่ในเส้นเลือดของเธอเสียแล้ว

“พี่ไก่เกลียดความไม่เป็นธรรม” นั่นเป็นหลักใหญ่ใจความ จึงไม่แปลกที่เธอจะวิพากษ์วิจารณ์แม้แต่แกนนำฝั่งเดียวกันด้วย

ทุกครั้งที่ร้องไห้ หน้าของเธอจะแดงมากโดยเฉพาะเปลือกตา นั่นเป็นผลมาจากการศัลยกรรม ไม่ใช่เพื่อความสวยงามแต่เป็นเพราะถูกรถบรรทุกชนตอนวัยรุ่น เฉพาะใบหน้าก็เย็บเป็นร้อยเข็ม เธอรอดชีวิตมาได้ราวปาฏิหารย์

เธอมีลูกชาย 1 คนแยกทางกับสามีตั้งแต่ลูกเพิ่งคลอด ลูกของเธอเป็นโรคสมาธิสั้นทำให้มีผลต่อการเรียน แม้จะเรียนเก่งแต่ก็ไม่ค่อยยอมเรียนเหมือนเด็กอื่น นอกเหนือจากการดิ้นรนหารายได้แล้วเธอจึงมีความเครียดจากการเลี้ยงดูลูกชายด้วยโดยเฉพาะเมื่อกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น

เธอบอกว่า เธอเลือกคู่ชีวิตด้วยการให้ลูกเลือก หากลูกชอบ เธอก็ชอบ บางคนดีกับเธอมากแต่เธอก็ไม่อาจร่วมทางเพราะไม่ดีกับลูกของเธอ แต่ใหญ่คือผู้ชายที่ลูกชอบ พวกเขาดูบอลด้วยกัน พวกเขาสอนภาษาอังกฤษกัน และเรื่องราวของใหญ่สมัยเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกชายของเธอ นั่นสร้างรอยยิ้มและความอุ่นใจให้เธอได้ เธอพูดเสมอว่าตัวเธอเรียนหนังสือน้อยและอยากให้ลูกมีอนาคตที่ดีกว่า อยากมีเสาหลักที่สามารถชักนำชี้แนะแนวทางต่างๆ ให้กับลูกของเธอได้ โดยเฉพาะเมื่อลูกชายเริ่มมีช่องว่างกับแม่มากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงที่คบหากันแม้หน้าที่การงานของใหญ่จะไม่มั่นคงนัก แต่เขาก็กำลังจะได้โปรเจ็กต์ก่อสร้างโครงการใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน อีก 4 วันจะบินไปเซ็นสัญญาแต่ก็มาโดนจับเสียก่อน  (อ่านที่นี่)

“อนาคต” ของลูกจึงเป็นประเด็นสำคัญเสียยิ่งกว่าความรักหนุ่มสาว

ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ยึดโยงพวกเขาไว้ราวกับโซ่ตรวนที่มองไม่เห็นคือ “อุดมการณ์ทางการเมือง”

เธอเล่าว่า เธอและเขาเป็น “คู่หู” เป็น “สหาย” กันในเฟซบุ๊กมายาวนาน ต่างคนต่างแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเร่าร้อนรุนแรงตามแบบที่ตนเชื่อ โดยใหญ่จะเน้นข้อมูลส่วนไก่จะเน้นความเผ็ดร้อนดุดันในการโต้ตอบ เขาสองคนกลายเป็นคู่หูในการเปิดศึกกับฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาด่าทอโต้เถียงในพื้นที่ของพวกเขา จนก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์นอกโลกออนไลน์ เพราะใหญ่เองก็เพิ่งแยกทางกับครอบครัวโดยมีปัญหาของตัวเองอีกหลายปม

เมื่อทั้งคู่มาใช้ชีวิตร่วมกัน ปมปัญหาในชีวิตของใหญ่จึงเกี่ยวพันและกลายเป็นปมในชีวิตของไก่ด้วยเช่นกัน แม้ความสัมพันธ์แบบครอบครัวกำลังเริ่มก่อตัว แต่มันก็ยังไม่นานพอที่จะทำให้ทั้งคู่ผ่านบทพิสูจน์จนปราศจากข้อกังขาใดๆ หลังอยู่ด้วยกันราว 7-8 เดือน ใหญ่ก็ถูกจับและอยู่ในเรือนจำจนปัจจุบัน นับเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน มากกว่าเวลาที่เขาคบหากันเสียอีก

ระหว่างที่ใหญ่อยู่ในเรือนจำ เขาโดดเดี่ยวและมีเพียงไก่คนเดียวที่คอยเดินทางมาเยี่ยม นครปฐม-กรุงเทพฯ ทุกสัปดาห์ ไม่เคยขาด ขณะที่ร้านขายของเบ็ดเตล็ดของเธอก็สร้างรายได้น้อยลงเรื่อยๆ หนี้สินเริ่มเพิ่มพูน เธอไม่อาจเอ่ยปากหยิบยืมพึ่งพาพ่อแม่ญาติพี่น้อง เพื่อทำให้ทุกคนสบายใจ เธอขายทองเอาเงินมาใช้จ่ายโดยบอกพ่อแม่ของเธอว่าเป็นเงินก้อนที่ใหญ่ให้ไว้ 

หลายเดือนผ่านไป ครอบครัวเก่าของใหญ่ติดต่อมาแสดงความต้องการเข้าเยี่ยมเขา เธอเปิดใจต่อการพบเจอครอบครัวและบอกตัวเองว่าหากพวกเขาจะกลับไปเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ได้อีกครั้ง เธอยินดี แต่หลังจากนั้นก็เหลือเธอตระเวนเยี่ยมเพียงลำพังอีกเช่นเดิม

ความสัมพันธ์ของพวกเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้ยามพบเจอกันทั้งคู่ต่างมีน้ำตา แต่นั่นไม่ใช่เพียงเพราะการโหยหาอิสรภาพ ไม่ใช่เพียงเพราะความเห็นอกเห็นใจต่อชะตากรรมของกันและกัน ไม่ใช่เพียงเพราะความคับแค้นต่อสิ่งที่เขาเห็นว่าอยุติธรรม พวกเขามีปมปัญหาส่วนตัวที่ค้างคาใจกันอยู่ ด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ไก่ตั้งคำถามต่อ “ความรัก” ที่ผ่านมา นี่เป็นสภาวะที่ยากลำบากสำหรับใหญ่ด้วยเพราะเขาไม่มีโอกาสได้ออกมาชี้แจง แสดงให้เห็น หรือยืนยันความรักนั้น เราจึงเห็นน้ำตาของเขาเสมอแม้เพียงเอ่ยชื่อ ไก่ มันอาจเป็นน้ำตาแห่งความซาบซึ้งใจ หรือความรู้สึกผิด หรือความไม่มั่นคง อาจใช่ทั้งหมด หรือไม่ใช่เลย

แต่ไม่ว่าสถานการณ์ภายในความสัมพันธ์หรือสถานการณ์ปากกัดตีนถีบภายนอกจะบีบคั้นเธอเพียงไหน เธอก็ยังยืนยันว่า เธอจะดูแลผู้ชายคนนี้จนกว่าเขาจะได้รับอิสรภาพ อนาคตหลังจากนั้นให้เป็นการตัดสินใจของเขาอีกครั้ง

“นานแค่ไหนก็จะทน ลำบากแค่ไหนก็จะทำ”

เหตุผลอาจไม่ได้โรแมนติกดังที่ใครคาดคิด

“เราเป็นสหายกัน เราคือเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน และนั่นคือสิ่งที่ยั่งยืน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net