Skip to main content
sharethis

กรมจัดหางานเผยทิศทางตลาดแรงงานปี 2559 ชี้ ขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์และของใช้ ต้องการคนงานมากที่สุด

นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน  เปิดเผยว่า จากทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอาชีพในปี 2558-2562 นั้นพบว่า ความต้องการแรงงานในปี 2559 มีจำนวน 38.29 ล้านคน โดยในภาคอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์และของใช้ เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ปีละ 196,502 คน คิดเป็นร้อยละ 3.08 รองลงมาคือ กิจกรรมเกี่ยวอสังหาริมทรัพย์ วิทยาศาสตร์ วิชาการ ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 62,542 คน คิดเป็นร้อยละ 3.12 การศึกษา เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ปีละ 43,036 คน คิดเป็นร้อยละ 3.46 ตามมาด้วย การก่อสร้าง เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 41,877 คน คิดเป็นร้อยละ 1.81 ที่พักแรมและบริการ ด้านอาหาร เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 36,440 คน คิดเป็นร้อยละ 1.40 กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 27,628 คน คิดเป็นร้อยละ 3.89 ซึ่ง เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่ากลุ่มอาชีพด้านการขาย การบริการต่างๆ และการซ่อมแซมยานยนต์ มีแนวโน้มขยายตัวค่อนข้างมาก เป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
 
นายอารักษ์ กล่าวต่อว่า กรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในด้านส่งเสริมให้ คนไทยทุกคนมีงานทำ จึงขอแนะนำให้นักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในช่วงกำลังเลือกศึกษาต่อเลือกเรียนในสายที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเพื่อป้องกันการว่างงานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
 
 
สกอ.ดันร่างกฎหมายบริหารงานบุคคล ผุด ก.บ.อ.องค์กรกลาง-ทีมอุทธรณ์ร้องทุกข์ เสริมขวัญกำลังใจพนักงาน
 
จากการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ... จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ ส่งผลให้ระบบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญญาจ้างรายปี ทำให้ขาดความมั่นคงในอาชีพและขาดขวัญและกำลังใจ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวแล้ว เห็นว่าควรมีการจัดทำกฎหมายสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นการเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.... ให้ครอบคลุมบุคลากร 3 กลุ่ม ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา,พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา และลูกจ้างในสถาบันอุดมศึกษา โดยมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ก.บ.อ. ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคล และกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณีบุคลากรหรือลูกจ้างถูกสั่งให้ออกจากราชการหรือถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก
 
เลขาธิการ กกอ.กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้มีผู้เห็นด้วยและคัดค้าน แต่ส่วนตัวเห็นว่ากฎหมายนี้มีประโยชน์ เพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีคณะกรรมการบริหารงานบุคคล ซึ่งก็คือ ก.บ.อ. และมีคณะกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์ ซึ่งเดิมไม่มี อย่างไรก็ตาม สกอ.ยืนยันที่จะเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.นี้ ทั้งจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นแก้ไขจุดบกพร่อง เพื่อนำไปแก้ไข จากนั้นจะเสนอ ก.พ.อ. และ รมว.ศึกษาธิการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป
 
 
ไทย-พม่า ลงนามความร่วมมือกำหนดแนวทางและรูปแบบ ให้แรงงานพม่าทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์
       
(13 ก.พ.) นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย และนายเมียว อ่อง (H.E.U Myo Aung) อธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงาน การจ้างงาน และการประกันสังคม สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายพม่า และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย เข้าร่วมการประชุมระดับวิชาการไทย-พม่า Thailand-Myanmar Technical Meeting ที่จัดขึ้นที่โรงแรม เดอะ เฮอริเทจ พัทยา บีช รีสอร์ท จ.ชลบุรี
       
การประชุมครั้งนี้เป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันที่บรรลุผลสำเร็จด้วยดี โดยมีข้อตกลงร่วมกันสรุปเป็นสาระสำคัญได้ 3 ข้อ คือ
       
1.ทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบต่อแรงงาน และการค้ามนุษย์
 
2.ทั้งสองฝ่ายจะมีการรณรงค์ร่วมกันเพื่อให้มีการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะดำเนินการให้มีความสะดวก รวดเร็ว ในการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อลดปัญหาการลักลอบเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย ลดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบต่อแรงงาน และป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
       
3.ทั้งสองฝ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของแรงงานพม่าทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกัน เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการของทั้งสองฝ่าย ป้องกันปัญหาต่างๆ ด้านแรงงาน
       
ทั้งนี้ฝ่ายพม่าได้สอบถามการดำเนินการหลังวันที่ 31 มีนาคม 2559 ซึ่งแรงงานพม่าจะสิ้นสุดการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร และอนุญาตให้ทำงานเป็นการชั่วคราว ซึ่งกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยเร็ว
       
ขณะที่กรมการจัดหางาน เร่งรัดให้มีการดำเนินการตรวจสัญชาติที่ทางการพม่าเป็นผู้รับผิดชอบ โดยขอให้พิจารณาดำเนินการอย่างโปร่งใส รวดเร็ว เพื่อลดปัญหาของสายนายหน้าในการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากแรงงานที่ต้องการจะเข้ารับการตรวจสัญชาติด้วยเช่นกัน 
 
 
นักบินนกแอร์ประท้วงทำ 13 ไฟลท์ยกเลิก
 
นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีการยกเลิกเที่ยวบิน วันนี้ (14 ก.พ.) รวม 13 เที่ยวบิน ว่าเกิดปัญหาจากมีนักบินกลุ่มหนึ่งประมาณกว่า 10 คนได้ทำการประท้วง เนื่องจากไม่พอใจที่ทางบริษัทมีการปรับเพิ่มมาตรฐานการ Audit การบริหารงานของฝ่ายบิน โดยอิงมาตรฐานของเอียซ่า ปรากฏว่ามีนักบินบางส่วนไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว จึงได้สร้างความไม่พอใจและประท้วงหยุดบิน ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุดทำให้ต้องตัดสินใจยกเลิกการบินพร้อมกับประสานในการดูแลผู้โดยสารเหล่านี้ทั้งหมดในการจัดหาเที่ยวบินอื่นหรือคืนเงินเมื่อมีการยกเลิกเที่ยวบิน
 
 
แรงงาน รสก.สัมพันธ์ ยื่นข้อเสนอร่าง รธน. 
  
15 ก.พ. 2559 เมื่อเวลา 10.45 น.ที่รัฐสภา นายสาธุ อนุโมทามิ เลขานุการเครือข่ายพสกนิกรไทย รวมใจสามัคคี (คพ.รส.) พร้อมด้วยสมาชิก ได้เดินทางมายื่นข้อเสนอการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อ กรธ. โดยเนื้อหาที่สำคัญของข้อเสนอนั้นต้องการให้ กรธ.บัญญัติให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจซึ่งการประกาศกฎอัยการศึก ต้องการให้องค์ประกอบ ส.ส. มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจำนวน 350 คน มาจากสมาชิกที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองจังหวัดละ 2 คน ยกเว้นจัดหวัดที่มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 1 คน ก็ให้มี ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองได้อีก 1 คน ให้ ส.ว. มีจำนวนไม่เกิน 350 คน โดยมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์จำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองตามกลุ่มสาขาและกลุ่มอาชีพอีก 150 คน
  
นายสาธุกล่าวอีกว่าทางเครือข่ายต้องการให้บัญญัติว่า ร่าง พ.ร.บ.ใดที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นชอบ และพระราชทานคืนมายังรัฐสภาหรือพ้น 90 วันไปแล้วยังไม่ได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่าง พ.ร.บ.นั้นใหม่ ถ้ารัฐสภายืนยันด้วยเลียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้ง 2 สภา ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้า แต่ถ้าพระมหากษัตริย์ยังไม่ได้ลงพระปรมาภิไธย หรือไม่ได้พระราชทานคืนมาภายใน 30 วันก็ให้ร่าง พ.ร.บ.นั้นตกไปและห้ามนำกลับมาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภาชุดนั้นได้อีก ส่วนกรณีที่เคยเป็นมาตรา 7 ที่ระบุถึงการแก้ปัญหาที่ไม่มีบทบัญญัติได้ระบุไว้นั้น ทางเครือข่ายได้เรียกร้องให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจเพื่อแก้ไขวิกฤติของชาติ
  
ต่อมามี นางวิไลวรรณ แซ่เตียเป็นประธาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)และ นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้เดินทางมายื่นข้อเสนอการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) โดยรายละเอียดของข้อเสนอนั้นเรียกร้องให้ กรธ.แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยบัญญัติว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนสามารถเข้าชื่อเสนอให้มีการบัญญัติกฎหมายจามหมวด 3 หรือหมวด 6 ได้ เสนอให้บัญญัติในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห้งรัฐว่าจะต้องส่งเสริมประชากรในวัยทำงาน คุ้มครองแรงงานเด็ก สตรี ผู้พิการและผู้ทุพพลภาพ ให้มีการปฏิรูปแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงาน และให้แรงงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีหลักประกันความปลอดภัย ส่วนเรื่องที่มา ส.ว. นั้น ทาง คสรท.ได้เสนอว่าควรจะมีไม่เกิน 200 มีที่มาจาก การเลือกกันเองในกลุ่มวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายไม่เกิน 10 คน ที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตร แรงงาน วิชาการ ด้านชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรด้านอื่นอีกไม่เกิน 10 คน และที่เหลือนั้นมาจากการเลือกตั้งทางตรงและทางอ้อม ของผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้าน
  
ทางด้านนายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย ประธานอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ ในกรธ.ซึ่งเป็นผู้ลงมารับข้อเสนอได้กล่าวว่าในวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่ กรธ.รับฟังความเห็น ถ้าหากมีการมาเสนอความเห็นหลังจากวันนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะ กรธ.จะต้องย้อนกลับไปพิจารณามาตราที่ผ่านการพิจารณามาแล้วอยู่บ่อยๆ ซึ่งจะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่เสร็จเสียที สำหรับความเห็นขององค์กรต่างๆหรือจากส่วนราชการ รัฐบาลและพรรคการเมืองต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ควรจะเสนอมาในวันนี้เช่นกัน ทั้งนี้ขอยืนยันว่า กรธ.นั้นได้รวบรวมความเห็นต่างๆจากทุกกลุ่มซึ่งรวมไปถึงบทความที่ปรากฏบนสื่อมวลชนต่างๆด้วย ทั้งนี้คาดว่าความเห็นของประชาชนที่ให้มาแบบเล็กน้อยๆนั้นคงไม่ได้กับตัวร่างรัฐธรรมนูญมากนัก
 
 
กนร.ไฟเขียวขยายเวลาผ่อนผันต่างด้าว 3 สัญชาติ
 
15 ก.พ. 2559 ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ครั้งที่ 2/2559  โดยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า ที่ประชุมจะหารือถึงข้อเสนอของทางการเมียนมา ที่จะเข้ามาตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในไทย 6 แห่ง ทั้งนี้ตนเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น ซึ่งจะหารือกับที่ประชุมเพื่อกำหนดทิศทางในการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวในประเทศต้นทางก่อนเข้ามาทำงานในประเทศไทย ต่อมานายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบขยายเวลาการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 มี.ค.นี้ จำนวนกว่า 1 ล้านคน ให้สามารถพำนักและทำงานในประเทศไทยชั่วคราวได้หลังครบกำหนด แต่ระยะเวลาขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการออกใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวเป็นครั้งละ 2 ปี จากเดิมครั้งละ 1 ปี และยังเห็นชอบให้จัดแรงงานคัดแยกปลาและสัตว์น้ำอยู่ในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อให้สามารถจดทะเบียนเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 23 ก.พ. นี้ ส่วนแรงงานเวียดนามนั้นที่ประชุมเห็นชอบวิธีการนำเข้า โดยนายจ้างสามารถยื่นขอนำเข้าเอง หรือยื่นผ่านบริษัทจัดหางานที่ขึ้นทะเบียนกับ กกจ.ได้ เพื่อนำเข้ามาทำงานในกิจการประมงและก่อสร้าง คาดว่าในเดือนมี.ค.นี้จะมีความชัดเจน ขณะเดียวกันประชุมยังให้กกจ.ไปศึกษาแนวทางการจัดตั้งส่วนงานราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากรม เพื่อบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 3 เดือน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ จะเข้ามาร่วมให้ความเห็นด้วย เบื้องต้นมองว่าจะตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวต้องออกกฎหมายรองรับ เพื่อให้มีอำนาจดำเนินการได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถิติการดำเนินงานตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานชั่วคราวภายในประเทศไทย  ที่ผ่านมามีแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนทั้งสิ้น  1,049,326 คน โดยในจำนวนนี้เข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติแล้ว 681,991 คน ทั้งนี้มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราและได้รับใบอนุญาตทำงานทั้งสิ้น 58,708 คน.
 
 
"เครือข่ายแรงงานฯ" ยื่น กรธ.ปฏิรูปแรงงาน หนุนตั้งธนาคารแรงงาน
 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อเสนอประเด็นเกี่ยวกับแรงงานที่ควรบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กรธ. ในฐานะคณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็น เป็นผู้รับหนังสือ ทั้งนี้ ประเด็นที่ คสรท.ได้เสนอให้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ คือ 1.สิทธิและเสรีภาพของบุคคล เรื่องพลเมืองผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 2.แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในเรื่องการส่งเสริมประชากรวัยทำงาน 3.การปฏิรูปด้านแรงงาน โดยต้องมีกฎหมายรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นกองทุนการเงินส่งเสริมการออมของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงสิทธิรับค่าจ้างที่เป็นธรรม 4.การปฏิรูปด้านสังคม โดยจัดให้มีประกันสังคมแก่ทุกกลุ่มทุกวัย และ 5.ที่มาของวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องมีจำนวนไม่เกิน 220 คน โดยมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้งซึ่งเลือกกันเอง ผู้มาจากการเลือกตั้งกันเองขององค์กรด้านเกษตรกรรม และอื่น ๆ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม ซึ่งผ่านการเลือกตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม
 
ขณะที่ เครือข่ายพสกนิกรไทยรวมใจสามัคคี (คพ.รส.) ได้ยื่นหนังสือต่อ กรธ.เพื่อเสนอประเด็นที่ควรปรับแก้ในร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท ไม่เกิน 500 คน ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจำนวน 350 คน และประเภทที่ 2 มาจากการเลือกตั้งจากบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง จังหวัดละ 2 คน ยกเว้นจังหวัดใดที่มีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 คน ก็ให้มีสมาชิกประเภทที่ 2 ได้เพียง 1 คนเช่นกัน สำหรับ ส.ว.ให้มีจำนวนไม่เกิน 350 คน โดยมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ตามพระอัธยาศัย จำนวน 200 คน และมาจากผู้แทนแต่ละสาขาอาชีพไม่เกิน 150 คน นอกจากนี้ หากไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสูงสุด ทรงใช้อำนาจในการแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ เพื่อบรรเทาปัญหาและไม่ให้ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ
 
 
'ประยุทธ์' ขอสหรัฐใช้กม.แรงงานโปร่งใส ป้องกันกีดกันการค้า
 
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่ ซันนีแลนด์ เมืองรานโช มิราจ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมช่วงที่ 2 (Retreat II) ของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ และได้กล่าวถ้อยแถลง ในหัวข้อ “Protecting Peace, Prosperity, and Security in the Asia-Pacific”
 
โดย พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมว่า การประชุมช่วงที่ 2 (Retreat II) การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ในหัวข้อ “Protecting Peace, Prosperity, and Security in the Asia-Pacific” ที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่างๆ ครอบคลุม การก่อการร้าย การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของโลก การสาธารณสุข และปัญหาการค้ามนุษย์
 
นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับอาเซียนและสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับประเด็นท้าทายข้ามชาติ ซึ่งเป็นทั้งภัยเร่งด่วนและไม่สามารถแก้ไขโดยประเทศใดประเทศหนึ่งได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ
 
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงงานสาธารณสุข โดยชื่นชมความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีโอบามาและสหรัฐที่มีส่วนสำคัญ ในการช่วยยุติการระบาดของไวรัสอีโบลาไม่ให้แพร่กระจายไปทั่วโลก และยังได้ริเริ่มวาระความมั่นคงทางสุขภาพระดับโลก (GHSA) ช่วยคุ้มครองโลกจากภัยคุกคามของโรคระบาด อื่นๆ เช่นไวรัสซิกา ในอนาคตได้ ในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำ (lead country) ไทยพร้อมสนับสนุนและร่วมมือในกรอบด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนากำลังคน และสนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะของห้องแล็บทางการแพทย์ การฝึกอบรมบุคลากรจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยได้มีความร่วมมือด้านสาธารณสุขภายใต้กรอบอาเซียนด้วยแล้ว
 
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC (ซีดีซี) ได้ให้ความช่วยเสริมในการส่งเสริมสมรรถภาพของหน่วยงานไทยในการป้องกันและควบคุมโรคและลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดโรค ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งระดับภูมิภาค
 
ขณะเดียวกัน ในระดับทวิภาคี ไทยและสหรัฐ ฯ ก็มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดผ่านสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร หรือ AFRIMS (แอ็ฟฟริมส์) ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย มีผลงานโดดเด่นในด้านการค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่อและล่าสุด ไทยได้รับความเห็นชอบให้เป็นที่ตั้งของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ด้วย
 
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรทรัพยากรทั้งเวลา บุคคลากรและทุน เพื่อปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบ โดยเฉพาะการปรับแก้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้น การลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด การนำผู้กระทำผิด โดยเฉพาะรายใหญ่ มาดำเนินคดี การเพิ่มประสิทธิภาพของการพิจารณาคดีและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และการคุ้มครองความปลอดภัยของเหยื่อ เพื่อแสดงถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ทุกมิติ รวมทั้งเร่งดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก
 
อย่างไรก็ตาม ไทยต้องแสวงหาความร่วมมือกับทุกฝ่ายทั้งในระดับทวิภาคี ซึ่งไทยมีความร่วมมือ อย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ อาทิ FBI กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ โดยเฉพาะสถาบันฝึกอบรมว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (ILEA) ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ช่วยฝึกอบรมหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายจากทั่วภูมิภาค เพื่อรับมือกับปัญหาการค้ามนุษย์และอาชญากรรมอื่นๆ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน องค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของทุกฝ่าย
 
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสนับสนุน กฎหมายที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดทางเพศต่อเด็ก ที่ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนาม ซึ่งไทยเองก็ให้ความสำคัญและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศต่างๆ ในการปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ต้องตกเป็นเหยื่อ
 
นอกจากนี้ ไทยยังให้มีการจริงจังในการแก้ไขปัญหาการประมง IUU ที่เกี่ยวเนื่องกับการค้ามนุษย์ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสร้างความมั่นใจว่าสินค้าของไทยถูกต้องตามจรรยาบรรณและได้มาตรฐานสากล และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐสภาสหรัฐฯ ก็เพิ่งผ่านกฎหมายเรื่องการอำนวยความสะดวกและการบังคับเรื่องการค้า โดยมีประเด็นเกี่ยวกับแรงงานบังคับด้วย ซึ่งไทยเองก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานของสหรัฐฯ จะนำเอากฎหมายฉบับนี้ไปปฏิบัติอย่างโปร่งใส เพื่อไม่ให้กลายเป็นเรื่องการกีดกันทางการค้าในทางปฏิบัติ
 
ทั้งนี้ การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในภูมิภาคต่างๆ ในปีที่ผ่านมายังส่งผลให้สถานการณ์การค้ามนุษย์มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องเป็นอย่างครอบคลุมและภายใต้หลักการแบ่งเบาภาระระหว่างประเทศ โดยอาเซียนได้แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการพยายามแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียทอย่างครอบคลุมและยั่งยืน สมาชิกอาเซียนมีส่วนร่วมที่แข็งขันในการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานฯ ทั้งสองครั้งในปีที่ผ่านมา เห็นได้อย่างชัดเจนจำนวนผู้อพยพชาวโรฮิงญาลดลงอย่างมากจากปีที่แล้ว
 
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณสหรัฐฯ ที่แสดงความพร้อมสนับสนุนอาเซียนในการพัฒนาศักยภาพด้านการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรับผู้โยกย้ายถิ่นฐานไปตั้งถิ่นฐานใหม่จำนวนหนึ่ง แม้จะมีภาระรับผู้พลัดถิ่นจากทั่วโลกจำนวนมากอยู่แล้วก็ตาม
 
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังหวังว่า สหรัฐฯ จะยังคงร่วมมือกับอาเซียนในการตอบโต้ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นภัยคุกคามอาเซียนอย่างรุนแรงในทุกปี และขอให้สหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของการปฏิบัติการด้านการบรรเทาทุกข์และการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติของอาเซียน ซึ่งอาเซียนกำลังจัดตั้งคลังเก็บสิ่งของบรรเทาทุกข์และให้ความช่วยเหลือในภูมิภาค โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเตือนภัยพิบัติและการแพทย์ฉุกเฉินด้วย
 
โดยภายหลังเสร็จสิ้นนายกรัฐมนตรีร่วมถ่ายภาพหมู่กับผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ด้วย จากนั้นในเวลาประมาณ 23.30 น. นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 13.30 น.
 
 
จิตอาสาเครียดผูกคอจบชีวิต ทำงานให้ สสส.เบิกเงินไม่ได้
 
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. พ.ต.ท.สุริยา แสงอ่อนตา พนักงานสอบสวนชำนาญการ สภ.เมืองร้อยเอ็ด รับแจ้งเหตุคนผู้คอเสียชีวิตภายในบ้านเลขที่ 11 ถนนบ้านท่านคร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด จึงพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ชีพนครสาเกตุ และแพทย์เวรจากโรงพยาบาลร้อยเอ็ด รุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ภายในห้องน้ำชั้นล่างของบ้านพบศพ จ.ส.ต ชาญชัย สกุลรักษ์ อายุ 54 ปี อดีตข้าราชการทหารจากโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จ.ร้อยเอ็ด ปัจจุบันได้เออรี่รีไทร์มาหลายปีแล้ว เสียชีวิตในสภาพใช้เชือกไนลอนผูกคอตัวเองกับคานห้องน้ำ ตามร่างกายไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่พบจดหมาย ที่ผู้ตายเขียนทิ้งไว้ให้ญหาติช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมจากกรณี สสส. ไม่จ่ายเงินค่าโครงการที่ทำ จนเป็นเหตุให้มีหนี้สินมากมาย นางอาภัสสร สกุลรักษ์ อายุ 49 ปี ภรรยาผู้ตาย กล่าวว่า ผู้ตายได้หายตัวไปตั้งแต่เวลา 2 ทุ่มวานนี้ ซึ่งตนเองและลูกชายได้ออกตามหาแต่ก็ไม่พบตัว จนกระทั่งช่วงเช้าตื่นมาเข้าห้องน้ำ จึงพบว่าสามีเป็นศพไปแล้ว ส่วนสาเหตุน่าจะมาจากที่ผู้ตายได้ทำงานจิตอาสา ในโครงการของ สสส. ชุมชนบ้านท่านครมาหลายปีแล้ว โดยผู้ตายจะเสนอเป็นโครงการไป ซึ่งที่ผ่านมาโครงการที่เสนอไปก็ได้รับการอนุมัติจาก สสส. แต่ให้ออกเงินตัวเองไปก่อน ที่ผ่านมาสามีตนเองเบิกเงินจากโครงการไม่ได้เลย จนทำให้ให้เป็นหนี้สินจำนวนมาก และถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลฟ้องร้องกันอยู่ในขณะนี้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุทำให้ผู้ตายคิดมากและผู้คอตายดังกล่าว
 
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แนะนักบินนกแอร์ ยื่นขอค่าชดเชย
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ บอกว่า กรณีสายการบินนกแอร์เกิดปัญหาจนเลิกเที่ยวบินไป 9 เที่ยวบิน ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้นกสร.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพบว่ามีการเลิกจ้างนายศานิต คงเพชร ผู้จัดการแผนกรักษามาตรฐานการบินและนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินใดๆ เนื่องจากจงใจกระทำความผิดร้ายแรงต่อบริษัท
 
โดยกรณีการเลิกจ้าง นายศานิต สามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยได้ 2 ทาง คือ การยื่นคำร้องคร.7กับพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อขอรับเงินค่าชดเชยบรรเทาความเดือดร้อน จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ส่วนการดำเนินการสอบสวนทางวินัยจำนวน 7 ราย ในจำนวนนี้ถูกสั่งพักงาน 2 ราย เป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 -23 ก.พ.นี้ ส่วนพนักงานที่ถูกสอบสวน 5 คน ยังปฏิบัติงานตามปกติ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่นายจ้างและลูกจ้างต้องทำความเข้าใจระหว่างกัน โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายน.ส.พรรณี บอกอีกว่า ส่วนพนักงานที่ถูกสั่งพักงานระหว่างสอบสวน 2 ราย นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไว้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนถูกสั่งพักงาน หากการสอบสวนแล้วเสร็จ ปรากฏว่าลูกจ้างไม่มีความผิดนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน
 
 
สมาคมนักบิน ไม่ฟันธงใครถูก-ผิด ปมนกแอร์ พร้อมช่วยกัปตันโดนไล่ออก
 
เมื่อวันที่ 17 ก.พ.59 กัปตันสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย เปิดเผยกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" กรณีสายการบินนกแอร์ มีคำสั่งเลิกจ้างนายศานิต คงเพชร ผู้จัดการแผนกรักษามาตรฐานการบิน และนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน เนื่องจากพบว่า ผิดวินัยร้ายแรง ส่วนคนที่เกี่ยวข้องที่เหลือ หากสอบสวนพบว่าผิดวินัยที่เป็นผลกระทบต่อบริษัทก็จะตัดสินยกเลิกการจ้างงาน
 
"กรณีนี้ยังคงต้องดูรายละเอียดขั้นตอนในเรื่องการเลิกจ้าง รวมถึงมีช่องทางตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อหาข้อยุติ ซึ่งทางสมาคมเอง ก็ยินดีช่วยเหลือนักบินเต็มที่ ในเรื่องแนะนำทนาย ข้อกฎหมายต่างๆ หากได้รับการร้องขอ"
 
ส่วนประเด็นที่ นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ ออกมาชี้แจงนั้น ยังคงต้องรับฟังข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย ดูในเรื่องพยานหลักฐานต่อไป สมาคมฯ ไม่มีหน้าที่ในการตัดสินว่าใครถูก ใครผิด แต่เรามีหน้าที่เข้ามาดูแลนักบิน และหาทางแก้ปัญหาเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในอนาคต
 
นายกสมาคมนักบินไทย กล่าวด้วยว่า หากดูจากสถิติเรื่องความปลอดภัย มาตรฐานนักบินไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งการที่ตัวสายการบินจะปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ มาตรฐานต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีในอนาคต ช่วยให้มั่นใจได้ว่า เมื่อผู้โดยสารเดินทางจะมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ก็ควรจะมีเวลาให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีการปรับตัวบ้างตามสมควร
 
ทั้งนี้ ประเด็นสายการบินที่เกี่ยวข้องประชุมจัดทำแผนฉุกเฉิน เบื้องต้น ยังไม่ได้รับรายงานใดๆ และขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานเช่นเดียวกันว่า นักบินที่เกี่ยวข้องคนใดผิดวินัยที่กระทบต่อบริษัทหรือไม่
 
"ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ที่มีการเพิ่มเที่ยวบินเพื่อรองรับผู้โดยสารจำนวนมาก ยังถือว่านักบินในประเทศไทยค่อนข้างขาดแคลน ฉะนั้น หากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน อาชีพต่างๆ ในอุตสาหกรรมการบินอย่างจริงจัง ก็จะเป็นประโยชน์มาก" กัปตันสนอง ระบุ
 
 
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพปี 2558 โต 4.7 หมื่นล้าน นายจ้างตั้งกองทุนเพิ่มกว่าพันราย
 
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า ภาพรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (เอ็นเอวี) ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 8.83 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.66 หมื่นล้านบาท หรือ 5.57% จากปีก่อนหน้ามีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิอยู่ที่ 8.37 หมื่นล้านบาท
          
นอกจากนี้ จำนวนนายจ้างจัดตั้งกองทุนเพิ่มขึ้น 1,174 ราย เป็น 16,607 ราย ณ สิ้นปี 2558 และมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 2.97 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 1.55 แสนราย จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 2.82 แสนราย
          
สำหรับเงินลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ในหลักทรัพย์รวม 6.71 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 75.99% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมและอยู่ในเงินฝากธนาคาร ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงินและบัตรเงินฝาก 2.14 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 24.25% ของมูลค่าสินทรัพย์รวม
          
ทั้งนี้ เงินลงทุนในหลักทรัพย์มีมูลค่าปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยมีเงินลงทุนในหุ้นกู้ 2.55 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 28.92% เพิ่มขึ้น 4.13 หมื่นล้านบาท หรือ 19.30% จากปี 2557 และอยู่ในพันธบัตร ตั๋วเงินคลังและตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน มูลค่า 2.05 แสนล้านบาท สัดส่วน 23.20% เพิ่มขึ้น 1.86 หมื่นล้านบาท หรือ 9.98% หุ้นสามัญ 1.32 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 14.98% เพิ่มขึ้น 3,017.18 ล้านบาท หรือ 2.33% และหน่วยลงทุน 7.80 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 8.83% เพิ่มขึ้น 1.31 หมื่นล้านบาท หรือ 20.14% เป็นต้น
          
สำหรับ 5 อันดับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงสุด ได้แก่ บลจ.เอ็มเอฟซี มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร 1.41 แสนล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 15.93% รองลงมา บลจ.กสิกรไทย มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 1.38 แสนล้านบาท ส่วนแบ่ง 15.61%
          
อันดับสาม บลจ.ทิสโก้ มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 1.19 แสนล้านบาท ส่วนแบ่ง 13.44% อันดับสี่ บลจ.ไทยพาณิชย์ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 1.18 แสนล้านบาท ส่วนแบ่ง 13.31% และอันดับห้า บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 8.94 หมื่นล้านบาท ส่วนแบ่ง 10.12%
          
สำหรับ 5 อันดับแรก พบว่า บลจ.กสิกรไทย มีมูลค่าสินทรัพย์ลดลง 6,127.99 ล้านบาท หรือ 4.25% จากสิ้นปี 2557 ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดจากอันดับหนึ่งลดลงมาอยู่อันดับสอง ส่วน บลจ.เอ็มเอฟซี จากอันดับสองขึ้นเป็นอันดับหนึ่งแทน
 
 
บีโอไอ ชวนมหา’ลัยจับมือสถานประกอบการ 6 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม จัดหลักสูตรสหกิจศึกษา
 
(17 ก.พ.) รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประธานเครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษา 9 เครือข่าย เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ชี้แจงถึงสิทธิประโยชน์ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยเชิญชวนให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมมือกับสถานประกอบการที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับ 6 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, ดิจิทัล, เกษตรแปรรูป และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จัดหลักสูตรสหกิจศึกษา เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ได้เข้าไปเรียนรู้ และฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่สถานประกอบการ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอด้วย“
 
รองเลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อไปว่า สถานประกอบการทั้ง 6 คลัสเตอร์ฯ ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นเรื่องต่างๆ ดังนี้ ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ และวัสดุจำเป็นที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก หักค่าขนส่ง ไฟฟ้า และประปา 2 เท่าเป็นเวลา 10 ปี หักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกได้ 25% ของเงินลงทุน นอกเหนือจากการหักค่าเสื่อมราคาปกติ ได้รับการอำนวยความสะดวกในการนำช่างต่างด้าวเข้ามาทำงาน นิติบุคคลต่างชาติสามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างดำเนินกิจการ และได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขในการส่งออกเงินตราต่างประเทศ ทั้งนี้สถานประกอบการต้องลงนามความร่วมมือในการจัดหลักสูตรสหกิจศึกษากับมหาวิทยาลัยภายในปี 2559 และเริ่มดำเนินการภายในปี 2560 เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว โดยสามารถดูรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์บีโอไอ www.boi.go.th
 
“ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่จัดหลักสูตรสหกิจศึกษาแล้ว แต่เวลานี้รัฐบาลต้องการให้มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือกับสถานประกอบใน 6 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ ซึ่งการจัดหลักสูตรสหกิจศึกษา จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้จากงานจริง เมื่อจบแล้วสามารถทำงานได้ทันที โดยจะช่วยแก้ปัญหาที่สถานประกอบการมักพูดเสมอว่า มหาวิทยาลัยสอนอะไรมา เด็กจบมาทำงานไม่เป็น รวมทั้งช่วยลดปัญหาจบปริญญามาไม่มีงานทำ และสถานประกอบการก็จะได้เด็กที่ตรงกับความต้องการด้วย” รศ.นพ.สรนิต กล่าว
 
 
แรงงาน เผย ยอด 'นายแบบ-นางแบบ' จดทะเบียนทำงานเพิ่ม หลังขู่คาดโทษ
 
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 59 นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากที่กรมการจัดหางานร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย ประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติที่ลักลอบทำงานในประเทศไทยกับบริษัทโมเดลลิ่ง ในอาชีพนางแบบ-นายแบบ โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว จะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ให้ถูกต้องก่อนนั้น ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลในช่วง 2 เดือน ที่ผ่านมา พบว่า มีคนต่างด้าวมาขอรับใบอนุญาตทำงานในตำแหน่งนางแบบ-นายแบบ จำนวน 130 คน แบ่งเป็นสัญชาติยูเครน 21 คน บราซิล 17 คน รัสเซีย 17 คน สหรัฐอเมริกา 14 คน และ ฝรั่งเศส 8 คน และสัญชาติอื่นๆ อีก 53 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวและการตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายของนายจ้าง และคนต่างด้าวที่ทำงานในตำแหน่งนางแบบ-นายแบบในไทย
 
"อย่างไรก็ตาม เพื่อกระตุ้นให้คนต่างชาติที่ยังลักลอบทำงานในประเทศไทย กับบริษัทโมเดลลิ่งในอาชีพนางแบบ นายแบบ เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอเตือนบริษัทโมเดลลิ่ง อีเวนต์ หรือนายจ้างที่จ้างนางแบบ-นายแบบชาวต่างชาติทำงานในไทย จะต้องขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อนการจ้างงาน มิฉะนั้นจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ส่วนนายจ้างที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานนั้น ก็ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมการจัดหางาน หมายเลขโทรศัพท์ 1694" นายอารักษ์ ระบุ
 
 
'อลงกรณ์' หารือแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิรูปประเทศกับ 17 สภาแรงงาน 
 
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิรูปประเทศกับ 17 สภาแรงงาน และสหพันธ์แรงงานระดับชาติ โดย นายอลงกรณ์ กล่าวว่า หารือในวันนี้เพื่อหาแนวทางในการร่วมเป็นเครือข่ายการปฏิรูปประเทศ และตั้งเป็นคณะกรรมการประสานงาน ดำเนินการตามวาระการปฏิรูปประเทศ 79 วาระ รวมกับรายงาน 3 ฉบับ อาทิ การก้าวเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว การสังเคราะห์การปฏิรูปประเทศ เพราะหากไทยสามารถยกระดับเป็นประเทศพัฒนาแล้ว รายได้ของประชาชนต่อหัวจะสูงขึ้น ปัญหาสังคมน้อยลง ทั้งปัญหาด้านการศึกษาและด้านการแพทย์ โดย สปท. มีเวลาดำเนินการภายในกรอบเวลา 20 เดือน แบ่งเป็นโรดแมป 1+1+18 ซึ่งจะแบ่งเป็นการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งและหลังจากการเลือกตั้ง แต่เนื่องจากในระยะที่ 2 จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเมืองตั้งที่มีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 4 ปี ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาประเทศเกิดความต่อเนื่อง จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเป็นแนวนโยบายให้ทุกรัฐบาลจะต้องดำเนินการ
 
 
'แรงงาน' ชี้ 'กาตาร์' เปิดรับแรงงานไทยทำงานกว่า 3 หมื่นคน
 
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 59 นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกาตาร์ เกี่ยวกับระเบียบการจ้างแรงงานไทยในรัฐกาตาร์ว่า ทางการกาตาร์ได้แจ้งว่าต้องการจ้างแรงงานไทย เพื่อไปทำงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทั้งระดับปฏิบัติการและระดับฝีมือ เพื่อไปทำงานในโครงการก่อสร้างสนามกีฬา ห้างสรรพสินค้าและอื่นๆ เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกในปี 2022 จำนวนกว่า 30,000 คน นอกจากนี้ยังมีความต้องการในตำแหน่งแพทย์และพยาบาล เพื่อรองรับการดูแลสาธารณสุข โดยจะใช้วิธีส่งแบบคู่ค้าระหว่างบริษัทจัดหางานไทย และบริษัทจัดหางานที่รัฐบาลกาตาร์รับรอง ทั้งนี้ผู้แทนกาตาร์ยืนยันว่าแรงงานไทยจะได้รับค่าจ้างที่ดี มีการดูแลสวัสดิการ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของกาตาร์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยตรวจสอบอย่างเคร่งครัด
 
นายอารักษ์ กล่าวต่อว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน พร้อมคณะ จะเดินทางไปเยือนประเทศกาตาร์ ในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อหารือถึงรายละเอียดการจัดส่งแรงงานไทย ทั้งการทำสัญญาจ้าง ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่พัก ค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมา เช่น การจ่ายค่าจ้างล่าช้า ไม่จ่ายค่าจ้างล่วงเวลา เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนช่วงกลางเดือน มี.ค.นี้ เนื่องจากกาตาร์มีความต้องการแรงงานอย่างเร่งด่วน
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net