Skip to main content
sharethis

ศาลทหารนัดสอบคำให้การสองจำเลยในคดีระเบิดศาลพระพรหม จำเลยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอสู้คดี ทนายแถลงอาเดมถูกซ้อมระหว่างสอบสวน ส่วนไมไรลียังไม่มีทนาย-ขอทนายพลเรือน ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 20-22 เม.ย. 59

16 ก.พ. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 8.00 น. นายบิลาล โมฮำเหม็ด (หรืออาเดม คาราดัก) และนายไมไรลี ยูซุฟู  ถูกนำตัวจากเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี มทบ.11 ถ.พระราม 5 กรุงเทพฯ ถึงศาลทหารตามนัดสอบคำให้การในคดีเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 17 ส.ค. 2558 โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.11 ติดอาวุธสงครามคุ้มกันรถผู้ต้องขังมา แต่ยังไม่มีการพิจารณาคดี เนื่องจากล่ามภาษาอุยกูร์ยังเดินทางมาไม่ถึงศาลทหารและมีปัญหาเรื่องการจัดหาทนายให้นายไมไรลี

เวลา 11.45 น. ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีศาลแจ้งแก่นายไมไรลีว่าเนื่องจากทางสภาทนายความได้มีการติดต่อถึงศาลทหารในตอนเช้าว่าไม่สามารถจัดหาทนายความมาในวันนี้ได้ แม้ว่าจะมีการติดต่อจากศาลถึงสภาทนายความไปก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม จึงได้จัดหาทนายความทหารโดยให้ พ.อ.เขตต์ พงษ์ผล เข้ามาเป็นทนายความแก่นายไมไรลี เฉพาะในนัดสอบคำให้การครั้งนี้

ตุลาการฯ อ่านคำฟ้องสรุปความได้ว่าอัยการศาลทหารกรุงเทพโจทก์ได้ฟ้อง นายบิลาล โมฮำเหม็ด จำเลยที่ 1 และนายไมไรลี ยูซูฟู จำเลยที่ 2 ร่วมกันทั้งหมด 8 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนออกใบอนญาตให้ได้โดยฝ่าฝืนกฎหมาย และใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง ร่วมกันพยายามทำให้เกิดระเบิด ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย รับอันตรายสาหัสแก่กายและทรัพย์ ร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนนายบิลาลถูกฟ้องในข้อหาเป็นคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

คำฟ้องบรรยายพฤติการณ์ว่าจำเลยทั้งสองและพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้กระทำความผิดฐานร่วมกันมีและใช้วัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 50/2557 เรื่องให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม ลงวันที่ 30 พ.ค. 2557 ข้อ 1

คำฟ้องระบุด้วยว่า ในคืนวันที่ 17 ส.ค. 2558 จำเลยทั้งสองร่วมกันมีระเบิดแสวงเครื่อง 2 ชุด โดยจำเลยที่ 1 นำชุดหนึ่งไปที่ท่าเรือเจ้าพระยาปริ๊นเซส และให้จำเลยที่ 2 เป็นคนจุดชนวน แต่ไม่เกิดระเบิดขึ้นเนื่องจากระบบการจุดระเบิดไม่ทำงาน จากนั้นเวลา 18.00 น. จำเลยทั้งสองได้นำอีก 1 ชุด ไปที่ศาลท้าวมหาพรหม และในเวลา 18.50น. จำเลยที่สองได้นำระเบิดให้จำเลยที่ 1 ไปวางที่ศาลท้าวมหาพรหม จากนั้นจำเลยที่ 2 ได้จุดระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน และได้รับบาดเจ็บสาหัสจำนวน 53 คน ได้รับบาดเจ็บ 73 คน

นอกจากนั้น จำเลยทั้งสองยังร่วมกันมีสารเคมีหลายชนิด และฝักแคระเบิดจำนวน 12 อัน ไว้ในครอบครองอีกด้วย

ในประเด็นการเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในประเทศโดยผิดกฎหมายของนายบิลาลฟ้องบรรยายว่า นายบิลาลได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยบริเวณชายแดนจุดใดไม่ทราบแน่ชัดโดยไม่เข้าตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง และอยู่อาศัยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 จนถึงวันที่ถูกจับกุมในวันที่ 29 ส.ค. 2558 ซึ่งระหว่างกระบวนพิจารณานายบิลาลได้กล่าวแย้งว่าตนเข้ามาในประเทศวันที่ 21 ส.ค. 2558 ซึ่งประเด็นนี้เป็นข้อต่อสู้คดีของนายบิลาล

คำฟ้องระบุอีกว่าขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งสองชดใช้เป็นเงินทั้งหมดราว 1,500,000 บาท

หลังศาลอ่านคำฟ้องเสร็จสิ้นได้ถามคำให้การนายบิลาลและนายไมไรลีว่าจะให้การอย่างไร นายบิลาลได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและได้โต้แย้งในประเด็นว่าวันที่ถูกควบคุมตัวนั้นไม่ได้เป็นไปตามคำฟ้องที่ระบุว่ามีการควบคุมตัวในวันที่ 4 ก.ย. 2558 แต่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 2558 แล้ว และเมื่อศาลได้ถามที่อยู่ของนายบิลาลโดยละเอียด เขาให้การเพียงว่าอาศัยในเมืองอุลุมชิ เขตปกครองตนเองซินเจียง ประเทศจีน เนื่องจากเป็นเรื่องความปลอดภัยของครอบครัวที่อยู่ในประเทศจีน

ส่วนนายไมไรลีได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาด้วยเช่นกันและยังได้โต้แย้งในประเด็นวันที่ถูกจับกุมซึ่งคำฟ้องได้ระบุว่าเป็น 7 ก.ย. 2558 แต่นายไมไรลีกล่าวว่าตนถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2558 แล้ว อัยการศาลทหารได้อธิบายเพราะพวกเขาถูกควบคุมตัวในค่ายทหารก่อนเป็นเวลา 7 วันก่อนถูกควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งศาลได้ถามอัยการว่าจะคัดค้านคำให้การของจำเลยทั้งสองหรือไม่ อัยการไม่คัดค้าน

จากนั้นในช่วงการนัดวันเพื่อพิจารณาคดีในครั้งต่อไปอัยการศาลทหารแจ้งว่าต้องใช้เวลาในการตรวจสำนวนเพราะมีเป็นจำนวนมากถึง 55 แฟ้ม ทางทนายความจำเลยจึงได้ขอนัดต่อเนื่องเพื่อตรวจพยานหลักฐานเพราะไม่สามารถจะเสร็จสิ้นในวันเดียวได้ ศาลทหารจึงได้นัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 20-22 เม.ย.2559  แต่นายไมไรลีได้กล่าวว่าวันดังกล่าวรอนานเกินไป พร้อมกล่าวด้วยว่าเขาซึ่งเป็นมุสลิมและเป็นผู้บริสุทธิ์ถูกจองจำมานานกว่าหกเดือนแล้ว อยากจะขอให้กระบวนการดำเนินไปเร็วกว่านั้น ศาลตอบว่าเหตุไม่สามารถเร็วกว่านั้นได้เพราะติดวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทย

ภายหลังศาลสอบคำให้การเสร็จสิ้นศาลได้อ่านกระบวนพิจารณาวันนี้โดยศาลได้มีการประชุมอธิบายขั้นตอนการแปลในระหว่างการพิจารณาคดีร่วมกับทนายความ จำเลย และล่ามก่อนพิจารณาคดีเพื่อให้กระบวนการเป็นไปโดยรวดเร็ว ระหว่างที่ศาลอ่านถึงประเด็นการจัดหาทนายความให้แก่นายไมไรลีว่าศาลจะจัดหาทนายความจากสภาทนายความหรือทนายพลเรือนให้ นายไมไรลีได้กล่าวต่อศาลว่าตนมีความประสงค์ที่จะจัดหาทนายความเพื่อต่อสู้คดีด้วยตนเองและจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความเองอีกด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณาคดีนายชูชาติ กันภัย ทนายความของนายบิลาล ได้แจกจดหมายข่าวและให้สัมภาษณ์ว่านายบิลาลไม่ได้กลับคำให้การ แต่การให้สัมภาษณ์ของเขาครั้งก่อนที่ระบุว่าลูกความรับสารภาพนั้นเกิดจากข้อจำกัดในการพูดคุยกับจำเลย ทั้งนี้นายชูชาติระบุว่าลูกความแจ้งให้เขาทราบว่าถูกทำร้ายและข่มขู่โดยเอาน้ำเย็นกรอกจมูก เอาสุนัขตัวใหญ่มาเห่ารอบๆ รวมถึงการขู่ว่าจะส่งกลับเมืองจีน แต่ลูกความไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้กระทำเพราะผู้กระทำไม่ได้สวมเครื่องแบบ นายชูชาติได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการสอบสวนมิชอบต่อศาลแล้วแต่ศาลได้ยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากจำเลยสามารถใช้สิทธิในการถามค้านพยานได้ระหว่างการพิจารณาคดีอยู่แล้ว

นายชูชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนในกระบวนการพิจารณาครั้งนี้เนื่องจากต้องมีล่ามแปลภาษาถึงสองคน คือ พ.ต.ท.ทวยเทพ เดวิด วิบุลศิลป์ ล่ามแปลจากไทยเป็นภาษาอังกฤษและนายบาคาดิรอฟ สโรจิดดิน (Mr.Bakhadirov Srojiddin) ล่ามแปลจากอังกฤษเป็นภาษาอุยกูร์ จึงต้องมีการนัดแนะขั้นตอนการแปลระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีก่อนศาลเริ่มการพิจารณา

นอกจากการให้สัมภาษณ์ของทนายความแล้วในจดหมายข่าว ยังระบุถึงการข่มขู่และการซ้อมทรมานโดยละเอียดว่า นับตั้งแต่นายบิลาลถูกย้ายตัวจากเรือนจำมีนบุรีไปที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีในวันที่ 14 ก.ย. 2558 เจ้าพนักงานฝ่ายความมั่นคงและตำรวจมักจะเข้ามาข่มขู่หลายครั้งว่าหากไม่รับสารภาพว่าเป็นชายเสื้อเหลืองที่วางระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ จะถูกส่งตัวกลับให้ทางการรัฐบาลประเทศจีน

จากนั้นวันที่ 20-24 ก.ย.ในช่วงหัวค่ำจนถึงเช้าของอีกวันตลอดระยะเวลาดังกล่าว มีเจ้าพนักงานเข้ามาทำการสอบสวนนายบิลาลราว 10 นาย ได้สอบสวนและสอบถามให้เขารับว่าเป็นชายเสื้อเหลืองในภาพถ่าย เมื่อเขาปฏิเสธเขาถูกจับกรอกน้ำเย็นใส่จมูกหลายครั้ง ทำให้ทรมานมากแต่เขายังยืนยันปฏิเสธว่าไม่ใช่ชายเสื้อเหลือง มีการนำสุนัขทหารตัวใหญ่สีดำมาด้วย 1 ตัว และบังคับเปลือยและปิดตาไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งจูงสุนัขตัวดังกล่าวมาใกล้ตัวและปล่อยให้สุนัขเห่ากรรโชกเสียงดังใส่ นอกจากนั้นยังมีการให้นายบิลาลแต่งตัวเลียนแบบชายเสื้อเหลืองตามภาพและบันทึกภาพไว้และบังคับให้รับสารภาพ รวมถึงมีการชกต่อยที่ท้องของเขาจนทำให้เขาเจ็บท้องอย่างมาก ด้วยความกลัวเขาจึงยอมรับว่าเป็นบุคคลตามภาพที่เจ้าหน้าที่เอาให้ดู และเจ้าหน้าที่ยังมีการนำเอกสารมาให้เซ็นโดยไม่มีการแปลอธิบายว่าเนื้อหาในเอกสารเป็นอย่างไร

เอกสารระบุว่า นายบิลาลเจ็บท้องอย่างมากทำให้ไม่สามารถทานอาหารได้จึงได้ขอให้มีการตามแพทย์เข้ามารักษาตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. แต่ไม่ได้รับความสนใจจนกระทั่งวันที่ 23 ตอนบ่ายเขาอาเจียน จึงมีแพทย์เข้ามารักษา แต่เมื่อแพทย์ถามว่าเพราะเหตุใดทำให้เจ็บท้องเขาไม่กล้าตอบ แพทย์จึงฉีดยาและให้ยารับประทาน

ในกระบวนการพิจารณาคดีครั้งนี้นอกจากทนายความ ล่าม และจำเลยทั้งสองแล้ว ยังมีนักข่าวจากสำนักข่าวของไทยและต่างประเทศเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีเป็นจำนวนมาก แต่นักข่าวสำนักหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่าก่อนเข้าไปในบริเวณศาล เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งให้นักข่าวที่จะเข้าร่วมฟังการพิจารณาว่าห้ามนำสัมภาระใดๆ เข้าไป จึงไม่สามารถจดบันทึกกระบวนการพิจารณาในครั้งนี้ได้ โดยที่ผ่านมาแม้ว่าจะต้องวางกระเป๋าสัมภาระไว้หน้าห้องพิจารณาแต่ยังสามารถนำสมุดบันทึกเข้ามาในห้องพิจารณาคดีได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net