สิทธิชุมชนที่หายไปจากร่างรัฐธรรมนูญ: จุดสุดยอดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล คสช.

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

                                                                                     

แม้นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งลงความเห็นว่ารัฐบาล คสช. บริหารประเทศแบบไร้ทิศทางโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ[1]   ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่มาอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีวี่แววว่าจะกระเตื้องขึ้น แต่หากพิจารณาเฉพาะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจะพบว่ารัฐบาล คสช. มีทิศทางที่ชัดเจนและเป็นเอกภาพมาโดยตลอด  ความเป็นเอกภาพดังกล่าวเดินทางมาถึงจุดสุดยอด  เมื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เสนอร่างรัฐธรรมนูญ  โดยตัดบทบัญญัติที่ว่าด้วย “สิทธิชุมชน” ออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญ  ปรากฏการณ์นี้อันสะท้อนให้เห็นความต่อเนื่องและเป็นเอกภาพของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล คสช.อย่างชัดเจน

การปรากฏตัวของสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญปี 2540 ในมาตรา 46 และมาตรา 56 ต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 66 และมาตรา 67 นั้น  เป็นผลผลิตของการต่อสู้และขับเคลื่อนอย่างยืดเยื้อยาวนานของผู้คนจากหลายภาคส่วนที่เริ่มตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านออกมาบังคับใช้จะทำให้สิทธิชุมชนซึ่งเป็นผลผลิตของการต่อสู้เคลื่อนไหวอย่างยากลำบากของภาคส่วนต่าง ๆ มลายหายไปในพริบตา  การต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อร่วมกันสถาปนาสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาหลายทศวรรษ ผ่านการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางในขอบเขตทั่วประเทศเป็นเวลาหลายสิบปี  จะกลายเป็น “ทศวรรษที่สาบสูญ”  ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง  มันจะเป็นเรื่องที่ประหลาดและอัศจรรย์ พอ ๆ กับวรรณกรรมเหนือจริงเลยทีเดียว  อย่างไรก็ตามผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่าหากผู้อ่านได้ติดตามนโยบายและปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล คสช. มาอย่างต่อเนื่อง  ผู้อ่านจะไม่แปลกใจกับข้อเสนอเช่นนี้เลย

นโยบายและปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของรัฐบาล คสช.

1. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ (14 มิ.ย. 2557) และ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66 / 2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน (17 มิ.ย. 2557)

  • เหตุผลของการออกคำสั่งที่ 64/2557 คือ เพื่อให้การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ส่วนคำสั่งที่ 66/2557 นั้นออกมาเพื่อ เพิ่มกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใจเข้าไปช่วยดำเนินการตามนโยบายและเพิ่มรายละเอียดว่านโยบายนี้มุ่งใช้กับผู้ที่บุกรุกป่าใหม่ การปฏิบัติตามนโยบายต้องไม่กระทบกับผู้ยากไร้ที่อาศัยอยู่มาก่อน
     
  • คำสั่งทั้งสองออกโดยอาศัยอำนาจของ คสช. โดยตรง  ไม่มีการอ้างฐานทางกฎหมายอื่นใด  แต่เพื่อพิจารณาเนื้อหาของคำสั่งนี้  พบว่ามีลักษณะเป็นเพียงนโยบายของรัฐบาลเท่านั้นไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสิทธิหรือหน้าที่ของประชาชนแต่อย่างใด
     
  • อย่างไรก็ตามภาคปฏิบัติการของนโยบายภายใต้รัฐบาลทหารนั้น  ส่งผลกระทบต่อประชาชนยิ่งกว่ากฎหมายแท้ๆ ในภาวะปกติ  กล่าว คือ หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่ถูกตั้งขึ้นตามคำสั่งข้างต้นได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างกระตือรือร้น  ตามรายงานของกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน [2]  ระบุว่า  “เนื่องจากมาตรการหลักของคำสั่ง คสช. คือการใช้กำลังเข้าจับกุม และทวงคืนพื้นที่เป็นหลัก ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าและกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหากับ ภาครัฐ จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปด้วย”   ข้อมูลจากรายงานระบุว่ามีกรณีที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 681 กรณี ในขอบเขตทั่วประเทศ   รายงานฉบับนี้สรุปว่า “คำสั่ง คสช. ได้สร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้กับประชาชนที่อาศัยและทำกินในเขตป่า ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมา ก่อนหน้าหรือไม่ก็ตาม อีกทั้งเมื่อมีการเจรจาในระดับขบวนการภาคประชาชนกับตัวแทนรัฐบาลเพื่อหาทางออกร่วมกัน คำสั่ง คสช.ก็ยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติ ดำเนินการตามที่ตัวเองเห็นสมควร ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากขึ้นไปอีก” นี่คือภาคปฏิบัติของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมแรก ๆ หลัง คสช. เข้าสู่อำนาจ

2. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (ออกเมื่อ 15 พ.ค. 2558)

  • เหตุผล เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์สำคัญ 9 ด้าน ที่จะผลักดันให้เกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้มีการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีศักยภาพ  จึงจำเป็นต้องเร่งรัดกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
     
  • คำสั่งนี้ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44  ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว   เมื่อพิจารณาเนื้อหาของคำสั่งพบว่า  มีลักษณะเช่นเดียวกับกฎหมายหลายประเภทได้แก่ กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ในกรณีเพิกถอนที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่พลเมืองยังคงใช้ประโยชน์ร่วมกัน,  พระราชกฤษฎีกา กรณีเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน, กฎกระทรวง ในกรณีเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวน, มติ ค.ร.ม. กรณีเพิกถอนป่าไม้ถาวรตามมติ ค.ร.ม.
     
  • ปฏิบัติการของคำสั่งนี้  คือ  เพียงชั่วข้ามคืนมันได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่เคยเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ที่สาธารณะประโยชน์ที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร  ให้กลายเป็นที่ราชพัสดุที่จะนำไปให้เอกชนเช่าระยะยาว (ครั้งละไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี) เพื่อพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ  อย่างไรก็ตามนโยบายนี้ก็ถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ  โดยการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว เพราะไม่ตอบโจทย์ของพื้นที่ที่มีปัญหาแตกต่างกันและเรียกร้องให้มีการทบทวนและยุติปฏิบัติการต่าง ๆ ในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ[3]

3. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ วันที่ 19 สิงหาคม 2558 เรื่อง ยกเว้นให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาดไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

  • เหตุผล  เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตาม Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่ผ่านความเห็นชอบของ คสช. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557[4]  ที่ต้องการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาผ่อนปรนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ
     
  • · ประกาศนี้มีฐานะเป็นกฎที่ออกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535  มีผลทำให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะตั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป  ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามที่กฎหมายเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกำหนดไว้  ทั้งที่ก่อนหน้านี้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการก่อนจึงจะมีสิทธิขออนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้า
     
  • ·ปฏิบัติการของประกาศฉบับนี้ คือ ทำให้การสร้างโรงไฟฟ้าขยะสะดวก รวดเร็ว และประหยัดขึ้นเพราะ ไม่จำต้องมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป  อีกทั้งยังไม่ต้องผ่านกระบวนการตามที่ระบบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกำหนดให้ต้องทำ เช่น ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ไม่ต้องมีการรายงานการปฏิบัติตามมาตรการลดและบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น  ในส่วนผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมนั้นแม้จะยังไม่เกิดขึ้นโดยตรง  แต่การลดมาตรการในการป้องป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชาชนลงเช่นนี้  ย่อมคาดหมายได้ว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจากโรงไฟฟ้าขยะจะเป็นภัยคุกคามใหม่  ที่อาจอันตรายยิ่งกว่าขยะครัวเรือนที่รัฐบาลต้องการกำจัด  ซึ่งภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องได้ส่งเสียงคัดค้านประกาศฉบับนี้ด้วยเหตุผลว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนและขัดหลักธรรมาภิบาล[5]  กระทั่งมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ยกเลิกประกาศดังกล่าวแล้ว[6]

4. คำสั่ง คสช.ที่ 3/2559 และ 4/2559 เรื่อง ยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงผังเมืองรวมและกฎหมายควบคุมอาคาร  สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ฉบับวันที่ 20 มกราคม 2559

  • เหตุผลของคำสั่ง คสช. ที่ 3/2549 : เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดตั้งและบริหารจัดการเขตพัฒนาเศรษฐกิจ พิเศษได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว และลดปัญหาข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร
     
  • เหตุผลของคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 : เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเรื่องความมั่นคงในการจัดหาพลังงาน และการจัดการปัญหาขยะล้นเมือง และเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
     
  • ประกาศสองฉบับนี้ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44   ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว   ซึ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหาของประกาศแล้วพบว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับกฎ   โดยคำสั่ง คสช. ที่ 3/2559 มีผลทางกฎหมายไปยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม, ประกาศกรมโยธาธิการและการผังเมือง, กฎกระทรวงและข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมอาคาร  ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการเกิดขึ้นของโครงการหรือกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่   ส่วนคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 มีผลทางกฎหมายไปยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในขอบเขตทั่วประเทศ  โดยไม่บังคับใช้กับกับกิจการบางจำพวกที่เกี่ยวกับพลังงานและการจัดการขยะ 
     
  • ปฏิบัติการของประกาศสองฉบับนี้ คือ จะทำให้โครงการหรือกิจกรรมพัฒนาหลายประเภทที่ในภาวะปกติไม่สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง  เพราะถูกกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมหรือกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอาคารกำหนดห้ามไว้  เนื่องจากเป็นโครงหรือกิจการที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ   ให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องถูกควบคุมตามกฎหมายเหล่านี้อีกต่อไป

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล คสช. สะท้อนปัญหาระดับแนวคิด

จากการสำรวจนโยบายสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของรัฐบาล คสช. ผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่เหตุบังเอิญที่นโยบายเหล่านี้ค่อนข้างมีเอกภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เป็นการตัดสินใจแบบรวมศูนย์ของส่วนราชการ  ขาดมิติการมีส่วนร่วม  ขาดความละเอียดรอบคอบและไม่อิงอยู่บนฐานความรู้ทางวิชาการ และให้ความสำคัญกับมิติทางเศรษฐกิจจนไม่ได้ผนวกเอามิติทางสิ่งแวดล้อมและสังคมไว้ในนโยบายเหล่านี้  ลักษณะร่วมดังที่กล่าวมาในนโยบายต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นปัญหาระดับแนวคิดของรัฐบาล คสช. ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ทันสมัย   ดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

1. ขาดมิติการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น

การดำเนินนโยบายและปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล คสช. เห็นได้อย่างชัดเจนว่าขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่เคารพสิทธิของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในการกำหนดอนาคตตนเอง  จากตัวอย่างผลงานสำคัญ 4 ชิ้น จะเห็นได้ว่าทั้งการริเริ่มและการดำเนินการล้วนผูกขาดโดยหน่วยงานรัฐ   ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นก่อนการตัดสินใจ  ทั้งที่นโยบายต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชนอย่างรุนแรงไปอีกยาวนาน   ประกอบกับบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการแสดงออกอย่างเสรีของผู้ที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล  เนื่องจากยังมีกฎหมายจำกัดการรวมกลุ่มและการแสดงออกของภาคประชาชนบังคับใช้อยู่  โดยมีการบังคับใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพเพื่อข่มขู่ผู้เห็นต่างอย่างสม่ำเสมอ  ทำให้นโยบายหรือปฏิบัติการต่างๆ  ของรัฐบาล คสช. เป็นการใช้อำนาจแบบเอารัฐราชการเป็นศูนย์กลาง ขาดมิติการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง

2. ขาดการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้านก่อนการตัดสินใจ

นอกจากนโยบายและปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล คสช.จะขาดมิติการมีส่วนร่วมแล้ว  ในแง่ของความละเอียดรอบคอบและความเป็นเหตุเป็นผลของนโยบายก็มีปัญหา  ดังจะเห็นได้ว่านโยบายที่ออกมานั้น ไม่ปรากฏว่ามีการศึกษาวิจัยข้อมูลอย่างรอบด้านและเป็นระบบรองรับการตัดสินใจแต่อย่างใด  ทำให้ไม่เพียงแต่ปัญหาที่รัฐบาล คสช. ต้องการจะแก้ไขไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงได้ดังที่ประสงค์แล้ว  นโยบายดังกล่าวยังสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าปัญหาเดิมขึ้น เช่น การพยายายามแก้ไขปัญหาป่าไม้ในข้อ 1. นำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนและชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ามาก่อนจำนวนมาก หรือ การพยายามแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองโดยการยกเว้นให้โรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะทุกขนาดไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในข้อ 3. นำไปสู่การคัดค้านจากประชาชนและชุมชนในหลายพื้นที่  ที่เห็นร่วมกันว่าโรงไฟฟ้าขยะนั่นเองที่จะก่อปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของพวกเขารุนแรงและยาวนาน  ยิ่งกว่าผลกระทบจากปัญหาขยะครัวเรือนที่รัฐบาลพยายามจะแก้ เป็นต้น  เหล่านี้สะท้อนให้เห็นปัญหาของการตัดสินใจที่นอกจากจะไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วยังไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานความรู้รอบด้านและทันสมัย

3. ขาดมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

นโยบายส่วนใหญ่ของ รัฐบาล คสช. แม้จะมีการกล่าวถึงประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วยแต่วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ   ไม่ว่าจะโดยการออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงที่ป่าสงวน, ที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อนำมาให้เอกชนเช่าทำธุรกิจในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายข้อ 2. การลดขั้นตอน ลดข้อจำกัดในทางกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถประกอบกิจการได้อย่างประหยัดและรวดเร็วตามนโยบายข้อ  3 และ 4   การให้ความสำคัญกับประเด็นทางเศรษฐกิจของรัฐบาลต่าง ๆ นั้นเป็นที่เข้าใจได้  เพราะเศรษฐกิจ คือ ปัจจัยชี้ขาดความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยรวม  อย่างไรก็ตามสังคมโลกได้พัฒนามาถึงยุคที่ยอมรับว่าการคำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจโดยละเลยมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม  ไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังจะทำลายเศรษฐกิจ พร้อม ๆ กับสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาวด้วย  การที่รัฐบาล คสช. มองว่ามาตรการต่าง ๆ ตามกฎหมายเดิมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน เช่น การกำหนดให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงขนาดตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน, การที่กฎหมายผังเมืองกำหนดห้ามไม่ให้ประกอบกิจการบางกิจการในบางพื้นที่,  การที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดควบคุมอาคารบางประเภทในบางพื้นที่  เป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ  จึงต้องถูกยกเลิก หรือยกเว้นเพื่อให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายนั้น  จึงสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาไม่เข้าใจหรืออาจจะเข้าใจแต่ไม่เชื่อว่า มิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจำต้องถูกนำไปพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างสมดุล  ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

จุดสุดยอดของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล คสช. คือ ร่างรัฐธรรมนูญ

สาระสำคัญของสิทธิชุมชนที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 46 และมาตรา 56   ซึ่งส่งผ่านมายังรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 คือ  สิทธิในการมีส่วนร่วมในการจัดการและได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  โดยเฉพาะในส่วนของสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้น  มาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดลงไปถึงรายละเอียดของมาตรการที่จะทำให้สิทธิดังกล่าวเป็นจริงได้  โดยกำหนดว่าโครงการหรือกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจะทำไม่ได้เว้นแต่ได้จัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นก่อนอนุมัติโครงการ 

การสถาปนาสิทธิชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น  เป็นผลผลิตและพัฒนาการจากการต่อสู้เรียกร้องของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม  ทั้งภาคประชาชนที่ออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อแสดงให้สังคมเห็นถึงความสำคัญและจำเป็นของสิทธิชุมชนต่อวิถีชีวิตของพวกเขา  ภาควิชาการที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจการเกิดขึ้นและพัฒนาการของสิทธิชุมชนอย่างเป็นระบบ  และภาคกระบวนการยุติธรรม  โดยเฉพาะศาลปกครองที่ได้ทำให้สิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านคำพิพากษาที่รับรองสิทธิชุมชนจำนวนมาก เช่น คดีผลกระทบจากเหมืองแร่ตะกั่วต่อชุมชนกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี, คดีเพิกถอนใบอนุญาต 76 โครงการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของรัฐบาล คสช. ข้างต้น  จะพบว่าไม่ปรากฏร่องรอยหรือแนวคิดในการยอมรับและให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน  ในฐานะที่เป็นคุณค่าพื้นฐานของสังคมที่ถูกสถาปนาไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 อยู่เลย   ไม่เพียงเท่านั้น  นอกจากไม่ยอมรับและไม่เคารพสิทธิชุมชนแล้ว  นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล คสช. ยังไปละเมิด จำกัด ลดทอนหรือแม้แต่ทำลายสิทธิชุมชนในมิติต่าง ๆ เรื่อยมานับตั้งแต่เข้าสู่อำนาจ  ปรากฏการณ์เหล่านี้สวนทางกับพัฒนาการของสิทธิชุมชนในสังคมไทยในช่วงหลายหลายทศวรรษที่ผ่านมา  ที่มีความมั่นคงและมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาและขยายตัวมากขึ้น จากที่กล่าวมาผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเลยที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดย คสช. จะตัดสาระสำคัญของสิทธิชุมชนออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญ  แต่กลับเห็นว่า มันคือจุดสุดยอดของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล คสช.  

คำถามของผู้เขียนจึงไม่ใช่คำถามที่ว่า ทำไมคณะกรรมาธิการจึงตัดสาระสำคัญของสิทธิชุมชนออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญ  แต่ คือคำถามที่ว่าภาคส่วนต่าง ๆ ที่เคยร่วมกันเคลื่อนไหว ต่อสู้ เรียกร้องอย่างยากลำบาก  เพื่อสถาปนาสิทธิชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญ  จะมีปฏิกิริยาต่อข้อเสนอนี้อย่างไร จะยืนยันสิทธิ  ปฏิเสธข้อเสนอที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและย้อนยุคเช่นนี้  โดยเรียกร้องเอารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกลับคืนมาหรือจะยอมรับ “ทศวรรษที่สาบสูญ” ที่ถูกยัดเยียดให้โดยรัฐบาลทหารและกรรมาธิการที่แต่งตั้งโดยทหารชุดนี้

           



[1] http://thediplomat.com/2015/09/thailands-military-junta-is-clueless-about-economic-policy/

[2] https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/22/landwatch_report/,  เข้าถึงเมื่อ 3 ก.พ. 2559

[3]อ่านจดหมายแสดท่าทีขององค์กรภาคประชาชนต่อคำสั่งตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษฉบับเต็มได้ที่ttp://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1650:seubnews&catid=5:2009-10-07-10-58-20&Itemid=14

[4] http://infofile.pcd.go.th/mgt/RoadmapWasteManagement_20140829.pdf?CFID=2356688&CFTOKEN=72514448

[6] http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000133883

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท