Skip to main content
sharethis

12 ก.พ. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมด้วยเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ ได้ร่วมกันเปิดรายงานสถานการณ์การทรมานและจัดโครงการการสร้างการตระหนักรู้การป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่รายงานดังกล่าวมีจำนวนรวม 120 หน้า ที่รวบรวมบทสัมภาษณ์ของผู้เสียหายจากการทรมานทั้งสิ้นจำนวน 54 รายและบทวิเคราะห์เรื่องการป้องกันการทรมาน  

โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า ในปี 2557-2558 คณะทำงานฯได้จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ได้ทั้งสิ้น 54 กรณี เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2558 จำนวน 15 กรณี ปี 2557 จำนวน 17 กรณี อีก 22 กรณีเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2547-2556  ผู้เสียหายทั้งหมดเป็นคนมุสลิมสัญชาติไทยเชื้อสายมลายู (อ่านรายละเอียด)
 
ล่าสุดวันนี้ (12 ก.พ.59) เวลา 11.00 น. ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้ชี้แจงรายงานดังกล่าว ว่า กอ.รมน.ภาค 4 สน.ให้ความสำคัญและตระหนักสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่มาตลอด ทั้งนี้ได้กำหนดมาตรการและข้อเน้นย้ำในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้การรับรู้และมีส่วนร่วมของผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และบุคคลในครอบครัวตามแนวทางสันติวิธี ตั้งแต่ขั้นตอนของการจับกุม โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ขั้นตอนการคุมตัวและซักถาม ที่เปิดโอกาสให้บุคคลในครอบครัวเข้าเยี่ยมได้ทุกวันตามห้วงเวลาที่กำหนด โดยไม่เคยกีดกันหรือขัดขวางตามที่ถูกกล่าวอ้าง พร้อมกับจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ญาติ เช่น ที่พัก หากมีความต้องการ มีกิจกรรมนันทนาการ และการประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนา
 

เปิดให้ตรวจสอบตลอด อย่ารายงานข้อมูลเก่า

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังคงเปิดโอกาสให้เครือข่ายองค์กรต่างๆทั้งองค์กรระหว่างประเทศ กาชาดสากล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชนรวมทั้งมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายองค์กร สามารถเข้าเยี่ยมชมสถานที่ควบคุมตัวและซักถามในหน่วยทหารได้ตลอดเวลาโดยไม่เคยปิดกั้นแต่อย่างใด ซึ่งทุกองค์กรต่างให้การยอมรับในความพยายามปรับปรุงสถานที่และวิธีการดำเนินการตามคำแนะนำ ทำให้ประเด็นการร้องเรียนจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ดีขึ้นโดยลำดับ

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า จากรายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ โดยนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อ 28 พฤษภาคม 2555 และครั้งที่ 2 เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมีกลุ่มเป้าหมายและการรายงานรูปแบบการทรมานที่เหมือนๆ กัน อย่างไรก็ตามเมื่อศึกษาเนื้อหาอย่างละเอียดพบว่าส่วนใหญ่เป็นการนำข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2547 มารายงานซ้ำ เป็นลักษณะการกล่าวอ้างจากคำบอกเล่าโดยขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ และไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่เมื่อเกิดประเด็นปัญหาขึ้นมา รัฐจะเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการอิสระและโดยเครือข่ายองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ดังที่ปรากฏให้เห็นมาโดยตลอด

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้รูปแบบการซ้อมทรมานที่ระบุในรายงานทั้ง 2 ครั้ง นอกจากไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ยังมีข้อสังเกตในหลายประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ เช่น การข่มขืน การผ่าตัดนำอวัยวะภายในออก บังคับให้ทานสารเคมี การเผาไหม้ และล่าสุดคือให้ทหารพรานหญิงใช้นมปิดใบหน้าให้ขาดอากาศหายใจ หรือการทำร้ายร่างกาย เช่น ใช้ลำกล้องปืนกระแทกจนฟันกรามหัก ศีรษะแตก เป็นต้น ซึ่งหากเป็นเรื่องจริงย่อมมีร่องรอย หรือหลักฐานให้ปรากฏต่อแพทย์ผู้ตรวจร่างกายทั้งก่อนและภายหลังการควบคุมตัว รวมทั้งปรากฏต่อญาติและครอบครัวที่เข้าเยี่ยมได้ทุกวัน ซึ่งเครือข่ายองค์กรเหล่านี้ต่างก็ทราบดี

 

ชี้จงใจทำลายความหน้าเชื่อถือรัฐ

“ดังนั้นหากพิจารณาจากพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลและองค์กรดังกล่าวตลอดเวลาที่ผ่านมา อาจถือได้ว่าเป็นการจงใจพยายามทำลายความน่าเชื่อถือในระบบอำนาจรัฐ และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีสากล” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ทั้งนี้แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริงของทุกเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวอ้างอย่างเร่งด่วน หากเป็นความจริงก็จะมีการลงโทษทั้งวินัยและอาญาทหารอย่างเด็ดขาด แต่หากไม่เป็นความจริงหรือมีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง บุคคลและองค์กรเหล่านี้ก็จะต้องยอมรับความจริงจากสิ่งที่ได้กระทำด้วยเช่นเดียวกัน

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า พร้อมกันนี้ต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนบางสำนักให้เสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ โดยขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างสมดุล เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

 

อัลจาซีรารายงาน

สำหรับสื่อต่างประเทศที่นำเสนอข่าวรายงานการสถานการณ์ซ้อมทรมานดังกล่าว เช่น สำนักข่าวอัลจาซีรา (aljazeera.net) ที่รายงานถึงการเปิดเผยขององค์กรสิทธิ์มนุษยชนว่า เจ้าหน้าที/ทหารไทยได้ทำการซ้อมทรมาน ผู้ต้องหามุสลิม ในพื้นทีภาคใต้โดยใช้ความรุนแรง

โดยองค์กรได้รวบรวมพยาน 54 คน ซึ่งเคยตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่งคง พยานได้เปิดเผยว่า พวกเขาถูกทรมานด้วยการตี บีบคอ และคุกคาม บางคนจนแกความตาย พวกเขาถูกทรมานทั้งร่างกายและจิตใจในระหว่างปีทีปผ่านมา โดยเฉพาะในค่ายทหาร

ทั้งนี้ระหว่าง 12 ปี ทีผ่านมาเหตุการณที่เกิดขึ้นในพื้นทีแห่งนี้ ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไป 6,500 คน และในพื้นทีนี้รัฐยังใช้กฎหมายพิเศษในการบริหารทำให้ทหารสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ แต่รัฐบาลก็ปฏิเสธกับเรื่องดังกล่าวและได้กล่าวว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net