แตกต่างทางเพศไม่ใช่โรค-นักกิจกรรมร่วมต้านคลินิกอ้างบำบัดการรักเพศเดียวกัน

ถึงแม้ว่าวงการจิตเวชและจิตวิทยาในระดับสากลยุคหลังๆ จะยอมรับเพศสภาพและเพศวิถีที่แตกต่างมากขึ้น แต่ในบางประเทศก็ยังมีคลินิกที่อ้างว่ารสนิยมรักเพศเดียวกันเป็น "โรค" ที่ต้อง "รักษา" ซึ่งมีวิธีการที่ออกไปในทางทารุณอย่างการช็อตไฟฟ้า กดน้ำ กระทั่งข่มขืน ซึ่งทำให้นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศพากันต่อต้าน

ที่มาของภาพประกอบ: วิกิพีเดีย

11 ก.พ. 2559 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานถึงกรณีที่ในประเทศจีนและประเทศแถบละตินอเมริกายังมีคลินิกที่อ้างว่าพวกเขาสามารถ "รักษา" การรักเพศเดียวกันได้ จนทำให้นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศวางแผนที่จะยับยั้งคลินิกเหล่านี้

ตัวอย่างของประเทศจีนคือเรื่องราวของ หยางเถิง (Yang Teng) ผู้ที่ถูกพ่อแม่กดดันให้มีครอบครัวทั้งที่ตัวเขาเป็นคนรักเพศเดียวกัน เขาได้ยินจากชุมชนคนรักเพศเดียวกันว่ามีคลินิกรับ "บำบัดรักษา" การรักเพศเดียวกันของเขาทำให้เขาสนใจลองไปที่คลินิกดังกล่าว แต่กระบวนการของคลินิกแห่งนี้ก็ทำให้เขาหวาดกลัว

หยางเถิง เล่าถึงประสบการณ์ตอนไปที่คลินิกดังกล่าวว่าหมอพาเขาเข้าไปในห้องเล็กๆ บอกให้เขาผ่อนคลายและเพ่งสมาธิที่ลมหายใจ หมอบอกให้หยางเถิงนึกถึงตอนที่เขากำลังมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันจากนั้นเขาก็รู้สึกว่าถูกไฟฟ้าช็อตจนสะดุ้งแล้วก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น หมอบอกกับหยางเถิงว่านั้นคือวิธีการที่หมอใช้ "รักษา" การรักเพศเดียวกันของเขา

อย่างไรก็ตามสิ่งที่คลินิกแห่งนั้นกระทำกับหยางเถิงทำให้เขาโกรธ และกลับยิ่งมีแรงฮึดสู้ที่จะเปิดโปงคลินิกที่ข่มเหงคนรักเพศเดียวกันเช่นนี้ เขาฟ้องร้องคลินิกแห่งนี้และในอีก 10 เดือนหลังจากนั้นศาลก็ตัดสินให้เขาชนะคดีโดยประกาศว่าการ "รักษา" ดังกล่าวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย สั่งให้คลินิกต้องจ่ายค่าชดเชยให้หยางเถิง 3,500 หยวน (ราว 18,000 บาท) และโพสต์ขอโทษลงในเว็บไซต์

ถึงแม้ว่าประเทศจีนจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2540 และในปี 2544 ก็มีการยกเลิกไม่นับรสนิยมรักเพศเดียวกันเป็นอาการป่วยทางจิต แต่ในระดับสังคมทั่วไปของจีนก็ยังคงมีการมองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องต้องห้ามและคนรักเพศเดียวกันมักจะถูกครอบครัวกดดันให้แต่งงานและมีลูก ทำให้คลินิกเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในจีน แต่นั่นก็ไม่ทำให้หยางเถิงย่อท้อ เขายังคงพยายามรณรงค์ให้ความรู้ต่อสาธารณะว่าความรักความชอบในเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องที่จะมารักษาบำบัดได้

ที่มาของภาพประกอบ: gaycurewatch.com

ไม่เพียงแค่ในจีนเท่านั้น เดอะการ์เดียนระบุว่ามีคลินิกที่อ้างว่าบำบัดรักษาการรักเพศเดียวกันได้อีกหลายแห่งในโลก ทำให้มีองค์กรชื่อ 'ออลเอาต์' (All Out) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเรียกร้องให้มีการรายงานต่อพวกเขาเมื่อพบเจอกลุ่มที่อ้างว่าสามารถรักษาอาการรักเพศเดียวกันได้ผ่านทางเว็บไซต์ที่ชื่อ Gay Cure Watch (https://gaycurewatch.com/) เพื่อให้องค์กรทำการศึกษาและรณรงค์ต่อต้านการอ้างรักษาเหล่านี้

แมทธิว เบียร์ด ผู้อำนวยการของออลเอาต์กล่าวว่าผู้คนที่เข้ารับการ "รักษา" การรักเพศเดียวกันซึ่งมีมีอยู่จำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนามักจะทำให้คนรักเพศเดียวกันเหล่านั้นเกิดอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย

ปัญหาเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในประเทศแถบละตินอเมริกาที่ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลมาก แม้กระทั่งเซอจิโอ วิอุลา นักบวชที่เป็นคนรักเพศเดียวกันชาวบราซิลเองก็ยังออกมาเปิดเผยว่าเขาถูก "ล้างสมอง" ให้คิดว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดบาป ทำให้เขาเคยสร้างขบวนการจัดตั้งกลุ่มสมาชิกของโบสถ์เพื่อโจมตีกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่ออกมาชุมนุมหรือที่อยู่ตามสถานบันเทิงกลางคืน จนกระทั่งเมื่อวิอุลาอายุได้ 34 ปี เขาก็เปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนรักเพศเดียวกันแล้วหันมาเป็นผู้นำเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศแทน เขาเคยช่วยต่อรณรงค์ต่อต้านไม่ให้มีการออกกฎหมายอนุญาตนักจิตเวช "บำบัด" การรักเพศเดียวกันเหมือนเป็นโรค ซึ่งการรณรงค์ของเขาประสบความสำเร็จแต่ยังต้องมีการต่อสู้กับแนวคิดเคร่งศาสนาในบราซิลต่อไป

ในบราซิลฝ่ายศาสนาจะพยายามทำให้คนรักเพศเดียวกันรู้สึกราวกับพวกเขาเป็นคนติดยาที่ต้องรับการ "บำบัด" โดยพยายามทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวแปลกแยก บีบให้ออกจากวิถีชีวิตแบบเดิมและบีบให้ออกจากชุมชนคนรักเพศเดียวกัน ทั้งหมดนี้วิอุลาบอกว่าเป็นการพยายามทำให้พวกเขาเข้าใกล้ศาสนามากขึ้น

อีกแห่งหนึ่งที่มีปัญหาในเรื่องนี้คือที่เอกวาดอร์ซึ่งมีคลินิกอ้าง "รักษา" คนรักเพศเดียวกันมีการเสนอไถ่บาปทางศาสนาด้วย รวมถึงมีวิธีการในแบบทารุณกรรมเช่นการใช้ไฟฟ้าช็อตและการจับกดน้ำเย็น นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้หญิงที่เข้ารับการ "บำบัด" รายงานว่าเธอถูกข่มขืนด้วย โดยในกรณีของเอกวาดอร์นั้นมีคลินิกบางแห่งที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่รัฐและทำเงินได้จำนวนมากทำให้การทุจริตจากรัฐเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้

ทาเทียนา คอร์เดโร จากองค์กรมูลนิธิปฏิบัติการเร่งด่วน (Urgent Action Fund) ที่ทำการวิจัยเรื่องสิทธิคนรักเพศเดียวกันเอกวาดอร์กล่าวว่าสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้คือการปฏิรูปกฎหมายอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีการใช้กฎหมายเหล่านี้ในการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ทางด้านวิอุลากล่าวว่าต้นตอของปัญหานี้คือเรื่องการศึกษาที่ปลูกฝังแนวคิดหวาดกลัวคนรักเพศเดียวกันอย่างไม่มีเหตุผล ทำให้ต้องปลูกฝังแนวคิดตั้งแต่ยังเด็กว่าการรักเพศเดียวกันหรือการเป็นคนข้ามเพศไม่ใช่เรื่องที่ผิด ทั้งนี้ถึงแม้ว่านักกิจกรรมในที่ต่างๆ จะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างกัน แต่พวกเขาก็มีจุดร่วมคือการให้การศึกษาแก่ผู้คนว่าการพยายาม "บำบัดรักษา" การรักเพศเดียวกับเป็นเรื่องไร้สาระ

จากข้อมูลในวิกิพีเดียระบุว่าประเด็นเรื่องการมองว่ารสนิยมรักเพศเดียวกันเป็นเรื่อง "ผิดปกติ" นั้นถือเป็นมุมมองที่ล้าสมัยไปแล้ว โดยที่สมาคมจิตเวชวิทยาสหรัฐฯ และสมาคมจิตวิทยาสหรัฐฯ ยกเลิกไม่นับว่าการรักเพศเดียวกันเป็นอาการป่วยทางจิตมาตั้งแต่ช่วงราว 40 ปีที่แล้ว อีกทั้งยังมีการบำบัดในบางแขนงที่เป็นเรื่องทางบวกต่อความหลากหลายทางเพศ เช่น การบำบัดให้คนที่รักเพศเดียวกันแต่ยังมีความรู้สึกคับข้องใจยอมรับในรสนิยมทางเพศของตนเอง (Gay affirmative psychotherapy)

นอกจากนี้วงการจิตวิทยาในระดับสากลก็ยังยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยในตำราวินิจฉัยโรคทางจิตฉบับที่ 5 (DSM 5) ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดก็มีการยกเลิกไม่นับการแสดงออกตรงกันข้ามกับเพศกำเนิดว่าเป็นโรคเบี่ยงเบนทางเพศเช่นที่เคยระบุในฉบับก่อนหน้านี้ (DSM 4) แต่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของความทุกข์ใจในเพศสภาพของตัวเอง (gender dysphoria) แทน โดยระบุว่าการแสดงออกตรงข้ามกับเพศกำเนิดไม่ได้นับเป็นโรคในตัวเองแต่จะเน้นการดูแลเรื่องความวิตกกังวล ความทุกข์ใจ และความซึมเศร้า ที่เกิดขึ้นกับคนที่รู้สึกไม่สบายใจกับร่างกายที่เป็นเพศกำเนิดของตน

 

เรียบเรียงจาก

Electric shocks, rape and submersion: 'gay cures' and the fight to end them, The Guardian, 09-02-2016 http://www.theguardian.com/global-development-professionals-network/2016/feb/09/electrocution-and-submersion-gay-cures-and-the-fight-to-end-them

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Homosexuality_and_psychology

https://en.wikipedia.org/wiki/Gender_dysphoria

http://www.webmd.com/mental-health/gender-dysphoria

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท