ตัวตนอันดำมืดของวลาดิมีร์ เลนิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


      

บทความต่อไปนี้แปลและดัดแปลงในหลายส่วนจากเว็บไซต์ของนิตยสารไทม์ ที่เขียนถึงบุคคล 100 คน ที่ทรงอิทธิพลต่อโลกในรอบ 100 ปี เขียนโดยเดวิด เรมนิก กองบรรณาธิการของนิตยสารนิวยอร์กเกอร์ เจ้าของหนังสือ Lenin's Tomb: The Last Days of the Soviet Empire    ซึ่งได้รับรางวัลพูลิเซอร์ ในปี 1994 การที่เลนิน (มีชีวิตช่วง ปี 1870-1924) ถูกจัดให้เป็นคนที่สำคัญเช่นนี้ เพราะเขาเป็นผู้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลก โดยการเป็นหนึ่งในสถาปนิกผู้ให้กำเนิดรัฐโซเวียต อันนำไปสู่การเกิดสงครามเย็น ซึ่งเป็นสงครามหรือชุดของความขัดแย้งทางการเมืองและการทหาร ที่กินเวลายาวนานและซับซ้อนที่สุดในโลก เป็นที่น่าสนใจว่า แม้ปัจจุบันสงครามเย็นจะสิ้นสุดลงไปกว่า 2 ทศวรรษแล้ว แต่อนุสาวรีย์ของเขายังคงหลงเหลืออยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับกับการที่หลายคนยังให้การชื่นชอบเลนิน  มากกว่าสตาลิน ในฐานะเป็นวีรบุรุษผู้ต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกัน และฝ่ายตะวันตก ซึ่งชั่วร้าย อันสะท้อนให้เห็นว่า เลนิน     ก็เหมือนกับผู้นำทางการเมือง เช่น ฮิตเลอร์ หรือสตาลิน คือ มีอุดมการณ์และกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งสามารถถูกนักการเมืองหัวทั้งขวาและซ้ายสุดขั้วนำมาลอกเลียนแบบในด้านความรุนแรง และความเป็นเผด็จการได้ในปัจจุบันและอนาคต  บทความนี้ไม่ใช่ชีวประวัติ แต่เป็นการนำเสนอบางด้าน โดยเฉพาะตัวตนอันดำมืดของ  เลนินที่เราอาจไม่รู้จักดีพอ
         
ไม่นานนัก ภายหลังจากที่พวกบอลเชวิกได้ยึดอำนาจในปี 1917 วลาดีมีร์ อิลวิช เลนิน (Vladimir Ilyich Lenin)  กรอกข้อมูลลงในแบบสอบถามของทางราชการ ในส่วนของอาชีพนั้นเขาได้เขียนว่า "ปัญญาชน"  ดังนั้น เขาจึงเป็นผลผลิตของปัญญาชนชาวรัสเซีย หรือพวกหัวรุนแรงที่ตรงมาจากหนังสือ The Possessed ของฟีออดอร์ ดอสโตเยฟสกี เลนินคนนี้เองที่กลายเป็นสถาปนิกแห่งการเข่นฆ่ามวลชน และค่ายกักกันแห่งแรกที่เคยถูกสร้างในภาคพื้นยุโรป
     
เลนิน เป็นผู้เริ่มต้นโศกนาฏกรรมในยุคสมัยของเรา นั่นคือ รัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ในบทบาทของหนอนหนังสือ พร้อมนิสัยของนักปราชญ์ และมีสัญชาติญาณของความเป็นนายพล เลนินได้ทำให้คนในศตวรรษที่ 20 ได้รู้จักกับวิธีการนำอุดมการณ์อันสูงส่งมาปฏิบัติ และนำมันมาบังคับใช้กับสังคมทุกที่อย่างรวดเร็ว และไร้ความปราณี เขาได้สร้างยุคสมัยที่ลบล้างการเมือง ลบล้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์  ลบล้างฝ่ายตรงข้ามออกไป ในช่วงเวลาอันแสนสั้นที่เขาอยู่ในอำนาจ เลนินได้สร้างรูปแบบ โดยมีผู้สืบทอดไม่ใช่เฉพาะสตาลิน แต่รวมไปถึง ฮิตเลอร์ เหมา และพอล พต
      
และด้วยเหตุนี้ เลนินอาจเป็นนักแสดงเอกผู้เริ่มต้นศตวรรษที่ 20 เขามีลักษณะท่าทางที่ผู้คนรู้จักกันน้อยที่สุด  ครั้งใช้ชีวิตในวัยเด็กที่เติบโตในเมืองซิมเบิร์ก  เลนินได้เรียนรู้ภาษาละตินและกรีก เหตุการณ์สำคัญในวัยเยาว์ ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็นพวกหัวรุนแรง เกิดขึ้นในปี 1887 เมื่อพี่ชายคนโตของเขา คือ อาเล็กซานเดอร์ ผู้เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ถูกจับแขวนคอในข้อหาสมรู้ร่วมคิดที่จะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3  เมื่อมาเป็นนักกฎหมาย เลนินได้เข้าเกี่ยวข้องกับพวกหัวรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และภายหลังจากถูกเนรเทศไปยังไซบีเรียครบ 3 ปี เขาก็เริ่มต้นเป็นนักทฤษฎีคอมมิวนิสต์ชั้นนำ นักกลยุทธ์ และนักจัดตั้งพรรคการเมือง
     
ในความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว และเพื่อน ๆ เลนินนั้นค่อนข้างเป็นคนเปิดเผยและเอื้อเฟื้อ ไม่เหมือนกับทรราชจำนวนมาก เขาไม่มีคุณสมบัติของความเป็นเผด็จการเลย แม้ว่าเราจะรื้อถอนเอาลัทธิบูชาเลนินที่แพร่ไปทั่วโลก ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต เช่นเดียวกับการดึงมายาคติของ "ความเมตตาอย่างเหนือมนุษย์" ออกจากตัวเขา เขายังคงเป็นคนสำคัญที่ถ่อมตนอย่างน่าประหลาด ผู้สวมเสื้อโค้ทอันซอมซ่อ ทำงานวันละ 16 ชั่วโมง และโหมอ่านหนังสืออย่างหนัก (ในทางกลับกัน เลนินไม่รู้ว่าเนเธอร์แลนด์กับฮอลแลนด์เป็นประเทศเดียวกัน และไม่มีใครในบรรดาลูกน้อง กล้าพอที่จะบอกเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างตรง ๆ) ก่อนที่จะกลายมาเป็นนายพลแห่งการปฏิวัติ เลนินเป็นนักทฤษฎี เขาเป็นนักปราชญ์ นักเขียน ผู้นำเอาทฤษฎีของลัทธิมาร์กซ์มาผสมกับการวิเคราะห์อันแม่นยำของกลยุทธ์การต่อสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐ ทฤษฎีของเขาที่ว่า สังคมควรจะเป็นอย่างไร และความคิดนั้นจะสำเร็จลุล่วงได้อย่างไร คือ ผลผลิตของการอ่านเป็นเวลาหลายพันชั่วโมง อังเดรย์ ซินยาสกี  ผู้เป็นปรปักษ์ต่อรัฐโซเวียตในทศวรรษที่ 60 เขียนไว้ว่า
   
“ความไม่เข้าใจในตัวเลนิน เกิดจากความเป็นนักปราชญ์ผู้รู้รอบ หรือความจริงที่ว่า การคาดคำนวณของเขา และจากปากกาด้ามงามของเขา ทำให้เกิดการหลั่งเลือดขึ้นมาอย่างมากมาย แต่ในทางกลับกัน โดยธรรมชาตินั้น เขาไม่ใช่บุคคลชั่วร้ายเลย”
      
ในทางตรงกันข้าม วลาดีมีร์ อิลวิช  (เลนิน) เป็นคนอ่อนโยน ผู้ซึ่งความโหดร้ายถูกจุดประกายโดยวิทยาศาสตร์และกฎทางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่นเดียวกับความรักในอำนาจและความไร้ความอดทนทางการเมือง
    
จากการเรียนรู้ของเขาทั้งหมด เลนินเริ่มต้นประเพณีของพรรคบอลเชวิกในการทำสงครามกับฝ่ายตรงกันข้ามที่เป็นปัญญาชน ไม่ว่าการเนรเทศ การคุมขัง และการประหารนักคิด และศิลปิน ผู้หาญกล้าในการต่อต้านรัฐบาล เขาเป็น “นักปราชญ์” ของเรื่องบางเรื่อง หลายปีก่อนและหลังการปฏิวัติในเดือนตุลาคม ปี 1917 เลนิน คือ ภาพอันสมบูรณ์แบบของปัญญาชนหัวรุนแรง ผู้ต้องการการปฏิวัติ ไม่เฉพาะการปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้ระบบซาร์ ในทางกลับกัน เลนินตีความสวนทางกับแนวคิดยุคแห่งการรู้แจ้ง โดยเห็นว่ามนุษย์เป็นแค่ดินเหนียวสำหรับไว้ปั้น และพยายามหารูปแบบใหม่ของพฤติกรรมและธรรมชาติของมนุษย์ ผ่านการจัดระเบียบทางสังคมแบบพวกหัวรุนแรงที่สุด ริชาร์ด ไปป์ส เขียนไว้ในตอนท้ายของหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2 เล่มใหญ่ ของเขาว่า
   
“ลัทธิบอลเชวิก คือ ความพยายามอย่างอาจหาญที่สุดในประวัติศาสตร์ ในการนำทุกอณูของประเทศ ไปสู่แผนการอันยิ่งใหญ่ มันต้องการลดภูมิปัญญาซึ่งมนุษยชาติสะสมมาหลายพันปี ให้กลายเป็นแค่ขยะอันไร้ค่า ดังนั้น มันเป็นความพยายามอันโดดเด่นที่จะนำเอาวิทยาศาสตร์มาสู่กิจกรรมของมนุษย์ และมันนำไปสู่เผ่าพันธุ์ของปัญญาชน ผู้พิจารณาว่าการต่อต้านความคิดของพวกเขาเป็นข้อพิสูจน์ที่ว่า ความคิดของพวกเขานั้นสมเหตุสมผล"
   
อาจเป็นไปไม่ได้ที่จะคำนวณว่า มีการฆาตกรรมกี่สิบล้านครั้ง “หลั่งไหล” มาจากลัทธิเลนิน แต่เป็นที่แน่นอนว่า สตาลินแตกต่างจากเลนินในช่วงเวลาของการเป็นเผด็จการ นั่นคือ เขามีเวลาถึง 25 ปี ในขณะที่เลนินมีเพียง 6 ปี และสตาลินยังเหนือกว่าในเรื่องของเทคโนโลยีอันก้าวหน้ากว่ามาก ดังนั้น สถิติการฆาตกรรมของสตาลินจึงเหนือกว่าเลนิน แต่เลนินก็มีส่วนร่วมด้วยอย่างมากมาย
   
ในวงการปัญญาชนของตะวันตก สตาลินถูกมองว่าเป็น “ผู้หลงทาง” ทรราชผู้เบี่ยงเบนความตั้งใจของเลนินในช่วงปลายชีวิตของเขา แต่เมื่อหลักฐานเกี่ยวกับความโหดร้ายของเลนินโผล่ออกมาจากหอจดหมายเหตุมากขึ้นเรื่อย ๆ ความคิดที่ว่ามี “เลนินคนดี” และ “เลนินคนไม่ดี” กลายเป็นเรื่องตลกทางวิชาการ มีนโยบายของสตาลินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ไม่มีรากมาจากลัทธิ  เลนิน เป็นเลนินผู้สร้างค่ายกักกันขึ้นคนแรก เลนินเป็นผู้เริ่มต้นความอดอยากแบบเทียม ๆ (ความอดอยากที่เกิดจากรัฐเป็นผู้ริเริ่มและวางแผนเพื่อสังหารหรือกำราบประชาชนที่เห็นต่าง ดังเช่น กรณียูเครนในช่วงปี 1932-1935 ที่มีชาวยูเครนเสียชีวิตไปหลายล้านคน–ผู้แปล) ให้เป็นอาวุธทางการเมือง เลนินเป็นผู้ยกเลิกรัฐบาลตามแบบประชาธิปไตยและรัฐสภา และยังสร้างพรรคคอมมิวนิสต์ ในฐานะสุดยอดของโครงสร้างเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เลนินเป็นคนแรกที่ทำสงครามกับปัญญาชนและผู้ศรัทธาในศาสนา และยังทำลายเสรีภาพของประชาชน รวมไปถึงเสรีภาพของสื่อ
   
ตั้งแต่ข้อมูลในหอจดหมายของโซเวียตถูกนำออกมาเผยแพร่ เราสามารถเข้าใจขอบเขตของความโหดร้ายของเลนิน หรือความลึกซึ้งของความรุนแรงเมื่อปี 1918 จากจดหมายของเลนินในการสั่งบรรดาผู้นำของพรรคบอลเชวิกเพื่อโจมตีชาวนาผู้ไม่ยอมจำนนต่อการปฏิวัติ ดังนี้
  
“สหาย! แขวนคอ (แขวนคออย่าได้พลาด เพื่อที่ผู้คนจะได้เห็น) ต้องไม่น้อยกว่าร้อยคน ที่รู้จักกันว่าเป็นพวกกูลัก (ชาวนาผู้มั่งคั่ง) คนรวย ไอ้พวกสูบเลือดเนื้อประชาชน และในหลายร้อยกิโลเมตรรอบ ๆ ประชาชนจะเห็น สั่นเทิ้ม รู้ซึ้ง และตะโกน ‘พวกเขากำลังแขวนคอและจะแขวนคอพวกชาวนารวย ๆ ผู้ละโมบจนตาย’. ด้วยความนับถือ เลนิน”
    
ท่ามกลางศิลปินและนักเขียนผู้ซึ่งรอดชีวิตมาจากการปฏิวัติและผลพวงของมัน หลายคนเขียนบทเพลงสดุดีสติปัญญาของเลนิน ที่ฟังดูเหมือนกับเพลงสรรเสริญพระเจ้า กวีนามว่า มายาคอฟสกีเขียนว่า “แล้วศีรษะอันใหญ่โตของเลนินจะปกคลุมเหนือโลกทั้งมวล”
      
และต่อมานักเขียนบทร้อยแก้วนามว่า ยูริ โอเลชา กล่าวว่า
     
“บัดนี้ ผมได้อาศัยอยู่ในโลกที่สามารถเข้าใจได้ ผมเข้าใจสาเหตุแล้ว ผมเต็มไปด้วยความรู้สึกกตัญญูอย่างมากมาย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาเฉพาะในดนตรี เมื่อผมคิดถึงบุคคลผู้ซึ่งตายเพื่อทำให้โลกเป็นที่เข้าใจได้ (นั่นคือเลนิน -ผู้แปล)”
   
ในยุคของลีโอนิด เบรซเนฟ รัฐในฝันของเลนินได้กลายเป็นรัฐเผด็จการที่ล้มเหลวและฉ้อฉล มีเพียงลัทธิบูชาเลนินที่ยังคงอยู่ ภาพเลนินที่มีอยู่ทั่วไป คือ สัญลักษณ์ของสังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่  โจเซฟ บรอดสกี กวีชาวรัสเซียผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20  เริ่มต้นที่จะเกลียดชังเลนินเมื่อเขาเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 1 
   
“ไม่ใช่เพราะปรัชญาการเมืองหรือการปฏิบัติของเขา แต่เพราะภาพซึ่งมีอยู่ทั่วไปอันแทรกเข้ามาในหนังสือเรียนทุกเล่ม ผนังของชั้นเรียนทุกชั้น แสตมป์ทุกดวง เงินทุกเหรียญ และอื่น ๆ ซึ่งบรรยายให้เห็นเขาในทุกช่วงอายุ ใบหน้านี้ที่หลอกหลอนชาวรัสเซียทุกคน และทำให้เกิดมาตรฐานบางประการสำหรับหน้าของมนุษย์ เพราะมันดูขาดเสน่ห์อย่างยิ่ง การเมินเฉยต่อใบหน้าเหล่านั่นคือบทเรียนประการแรกในการกันตัวเองออกห่าง นั่นคือ ความพยายามครั้งแรกของผมในการทำตัวให้เกิดความแปลกแยก”
   
เมื่อ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ได้วางนโยบายกลาสนอสต์ (glasnost) ของเขาในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 พรรคคอมมิวนิสต์ พยายามปฏิบัติตามนโยบายของการเปิดกว้าง การวิพากษ์วิจารณ์ เป้าหมาย คือ การทำลายอิทธิพลของสตาลินในโซเวียต (de-Stalinization) นั่นคือ ปัดฝุ่นแผนการทำประเทศให้เป็นเสรีของนิกิตา ครูสชอฟ ในช่วงทศวรรษที่ 50  แต่ในที่สุดแล้ว นโยบายกลาสนอสต์ได้นำไปสู่ภาพอีกด้านของเลนิน ซึ่งอย่างน้อยที่สุดมาพร้อมกับการตีพิมพ์ของหนังสือของ วาสซิลี กรอสแมน ที่ชื่อ Forever Flowing  อันเป็นนวนิยายซึ่งบังอาจเปรียบเทียบความโหดร้ายของเลนินกับฮิตเลอร์ เมื่อกอร์บาชอฟขึ้นมามีอำนาจ เขาเรียกตัวเองว่า “ชาวลัทธิเลนินผู้มุ่งมั่น” แต่ไม่กี่ปีหลังจากนั้น เป็นเขาเองในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายที่กลับยอมรับว่า “ผมสามารถกล่าวได้เพียงอย่างเดียวว่า ความโหดร้ายเป็นปัญหาสำคัญของเลนิน”
    
ภายหลังความล้มเหลวของการทำรัฐประหารในเดือนสิงหาคม ปี 1991 ประชาชนชาวเมือง  เลนินการ์ด ต่างร่วมกันออกเสียง ให้นำชื่อเมืองของพวกเขากลับมาเป็นเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เหมือนเดิม เมื่อบรอดสกี ผู้ซึ่งลี้ภัยออกจากเมืองนี้ในปี 1964 ได้รับการสัมภาษณ์เกี่ยวกับข่าวนี้ เขายิ้มและบอกว่า “เป็นการดีกว่าที่จะตั้งชื่อเมืองตามแบบนักบุญ ไม่ใช่ตามแบบปีศาจ”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท