Skip to main content
sharethis

กสม.ลงพื้นที่ตราด เตือนใจเสนอเร่งดำเนินการให้กลุ่มไต๋ก๋งเรือ-คนพิการ-ผู้สูงอายุ-นักเรียน ยื่นคำร้องขอคำรับรองการเป็นคนไทยพลัดถิ่นก่อน

5 ก.พ. 2559 เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสถานะบุคคลของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองพร้อมคณะ เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีการกำหนดสถานะบุคคลของคนไทยพลัดถิ่นในจังหวัดตราด ระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2559 โดยร่วมเวทีสาธารณะกับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจำนวน 500 คน และประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากองค์กรส่วนท้องถิ่น ตัวแทนหอการค้าจังหวัดตราด และเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นอำเภอคลองใหญ่และอำเภอเมือง จังหวัดตราด เพื่อรับฟังถึงประเด็นปัญหาของคนไทยพลัดถิ่นในพื้นที่จังหวัดตราด ซึ่งปัญหาที่พบของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจังหวัดตราดในประเด็นสถานะบุคคลสามารถแยกออกเป็นกลุ่มได้ 5 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มบุคคลที่มีสิทธิยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น พบปัญหานายทะเบียนอำเภอไม่ออกใบรับคำขอให้กับผู้ยื่นคำขอ การรอเรียกพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบหรือบันทึกเอกสารประวัติทางทะเบียน เจ้าหน้าที่ไม่รับยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นรายใหม่ เนื่องจากต้อง พิจารณาคำขอเดิมให้แล้วเสร็จก่อน

2) กลุ่มที่ไม่มีสิทธิยื่นคำขอ ได้แก่ กลุ่มที่มีการขึ้นทะเบียนผิดพลาด กลุ่มที่ถูกระงับการดำเนินการทางทะเบียนไม่สามารถขอแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนราษฎรใดๆ ได้ หรือถูกจำหน่ายทางทะเบียนราษฎร และกลุ่มที่รอการบันทึกประวัติทางทะเบียนราษฎร

3) กลุ่มที่ได้สัญชาติตามบิดาหรือมารดา เช่น เด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียน นักศึกษาที่ยังไม่ได้รับการพิจารณากำหนดสถานะบุคคลที่ควรจะเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

4) กลุ่มที่ขอแก้ไขรายการสถานะทางทะเบียนราษฎร เช่น กลุ่มที่ได้สัญชาติไทยแต่บิดาหรือมารดาเสียชีวิตและระบุว่ามีสัญชาติกัมพูชาในช่องสัญชาติของบิดาหรือมารดา

5) กลุ่มที่ตกสำรวจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด ได้แก่ กลุ่มที่บิดาหรือมารดาได้รับการขึ้นทะเบียนสำรวจตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว หรือบิดาหรือมารดาผ่านการรับรองความเป็นไทยพลัดถิ่นและทำบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว แต่บุตรยังขอสถานะไม่ได้เพราะตกสำรวจ

ทั้งนี้ ในเรื่องของสิทธิในสถานะคนไทยพลัดถิ่นที่ขาดสิทธิด้านต่างๆ ได้แก่ สิทธิทางการศึกษา สิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการ เช่น ทุนการศึกษาและกองทุนอื่นๆ ของรัฐ ที่กำหนดว่าผู้มีสัญชาติไทยจึงจะได้รับสิทธินั้น สิทธิในการประกอบอาชีพทางการประมง ซึ่งผู้ไม่มีสถานะไม่สามารถเป็นไต๋กงเรือได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบอาชีพไต๋เรือ และสิทธิในการทำใบขับขี่ ซึ่งขณะนี้กรมขนส่งทางบกมีหนังสือซักซ้อมแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางทะเบียนสำหรับคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองและบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนโดยได้ผ่อนผันให้มีบุคคลบางประเภทสามารถขอใบอนุญาตขับขี่ได้

ที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาให้แก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบตามคำร้องที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ โดยจะแบ่งการทำงานเป็นระดับตำบล และให้คนไทยพลัดถิ่นมาช่วยพิจารณาจัดการข้อมูลเพื่อติดตามคำขอพิสูจน์และรับรองคนไทยพลัดถิ่นมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมให้เกิดความครบถ้วนเพื่อความรวดเร็ว เนื่องจากอำเภอคลองใหญ่และอำเภอเมืองที่มีปริมาณคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากจึงเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับอำเภอขึ้น ส่วนในระดับจังหวัดขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะทำงานร่วมระดับจังหวัดโดยให้มีผู้แทนจากอำเภอที่มีคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากเข้าร่วมเพื่อประสานการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ได้ตกลงกันว่าจะประสานความร่วมมือกับชุมชน เครือข่ายในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 ซึ่งมีหน่วยงานที่ร่วมลงนาม ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรมการปกครอง กระทรวงมหาไทย มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยรังสิต สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) และมูลนิธิชุมชนไท (มชท.) ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดวันที่หน่วยงานดังกล่าวจะมาร่วมกันดำเนินการตรวจสอบคำร้องของอำเภอคลองใหญ่ที่ยังค้างอยู่ในวันที่ 11-13 มีนาคม 2559

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสถานะบุคคลของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนไทยพลัดถิ่นที่จังหวัดตราด โดยจะเป็นแนวทางไปสู่การแก้ปัญหาในระดับนโยบายต่อไป ทั้งนี้ได้เสนอให้เร่งดำเนินการในกรณีของกลุ่มไต๋ก๋งเรือ กลุ่มคนพิการกับผู้สูงอายุ และกลุ่มนักเรียนในสถานศึกษาให้สามารถยื่นคำร้องขอคำรับรองการเป็นคนไทยพลัดถิ่นก่อน ส่วนในเรื่องการขอยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นนั้น ขอให้ผู้จะยื่นคำร้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความซื่อสัตย์สุจริต โดยจะต้องให้ข้อมูล พยานบุคคล พยานหลักฐานที่ถูกต้องและเป็นความจริง เพื่อปัญหาจะได้รับการแก้ไขได้โดยเร็ว

ชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด รับทราบถึงปัญหาต่างๆ ของคนไทยพลัดที่ถิ่น ที่เกิดขึ้นและกล่าวว่า เป็นการริเริ่มที่ดีที่ทุกภาคส่วนจะเข้ามาช่วยกันดูแลและประสานร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่เสียสิทธิในสัญชาติไทย ซึ่งหากเป็นคนไทยเจ้าหน้าที่ต้องให้สิทธิ แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ต้องโปร่งใส ไม่มีการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net