ร่างฯมีชัย‬ ฉบับปราบโกงจริงหรือ? (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

คสช. ก็ดี กรธ.ก็ดี นายทหารผู้ร่วมต่อต้านทุจริตก็ดี รวมทั้ง เหล่าสาวกคนดีจอมดราม่าที่เคยออกมาต่อต้านการทุจริตก็ดี ต่างผลัดกันออกมาสร้างภาพการปฏิรูปประเทศ และประดิษฐ์วาทกรรมจากการร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ "สกัดโกง"หรือ "ปราบโกง" นั้น ดูดีตั้งแต่ยังไม่เริ่มร่าง หรือร่างมาคร่าวๆมีให้เห็นบ้างแล้วตามประกาศต่างๆ แต่ความจริงแล้วหากพิจารณาด้วยใจที่บริสุทธิ์ ก็คงไม่อาจจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ เพราะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนี้ ดูคล้ายกับว่ามีวาระซ่อนเร้น หรืออำพราง จนอาจเห็นชัดถึงมาตรการที่เสมือนเป็นการส่งเสริมการทุจริตได้ในตัวก็อาจจะเป็นไปได้ในไทยแลนด์

กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากมีการทุจริตเกิดขึ้น เหล่าบุคคลที่ร่วมกันหรือแบ่งสรรปันส่วนจากงบประมาณ หรือเงินบริจาค หรือเงินอะไรก็ตามที่ทุจริตมานั้น อาจจะมั่นใจได้ว่าไม่ต้องกลัวความผิดอีกต่อไป เพราะว่าผู้ที่จะตรวจสอบการทุจริตหรือพิจารณาวินิจฉัยการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะรัฐบาล คสช.มีอำนาจเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมา ซึ่งมีข้อสังเกตจากร่างฯในส่วนของบทเฉพาะกาล ตามมาตรา 261 วรรคแรก ที่บัญญัติ ว่า

"ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป.." นั้น

มาตรานี้ แสดงโครงสร้างของระบอบอำนาจอันเป็นรากฐานของการปกป้องการกระทำที่มีการทุจริตหรือจะเป็นการส่งเสริมการทุจริต(โกง)ไว้อย่างดี จากรูปแบบขององค์กรตรวจสอบปราบโกง(หรือป้องกันการปราบโกง) คณะบุคคลกลุ่มนี้ มีจำนวน 40 คน ได้แก่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน,ป.ป.ช. 9 คน,คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 7 คน, กมส. 7 คน,ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน และกกต. 5 คน (ร่างใหม่จะขอเพิ่มเป็น 7 คน) เสมือนแสดงเจตนารมณ์สูงสุดไว้ในการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารที่ได้แต่งตั้งหรือรับรองบุคคลที่ตนแต่งตั้งไว้เอง ส่วนกรณีฝ่ายตรงข้ามไม่ต้องพูดถึงว่าจะสามารถจัดการกับบุคคลเหล่านั้นได้อย่างไร การใช้อำนาจขององค์กรอิสระที่มากมาย ก็แสดงให้เห็นมาแล้ว อาจจะสร้างความหวาดระแวงได้ไม่น้อย

วงงานที่จะทำการตรวจสอบการทุจริตการโกงตามอำนาจขององค์กรอิสระ ที่มีอยู่ 40 คน ครอบคลุมถึงการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และ คสช. นับแต่ก้าวแรกที่เข้ามาใช้งบประมาณแผ่นดินไป ประมาณ 6 ล้านล้านบาท คำถามที่ตามมาคือ ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นแม้แต่สตางค์แดงเดียวใช่หรือไม่? หรือมีการทุจริตเกิดขึ้น แต่คณะองค์กรอิสระที่ตั้งไว้แล้วยังคงอยู่นั้น ประชาชนจะไว้ใจได้อย่างไร? นั่นคือ สิ่งที่ผู้ร่างฯต้องคิดและแก้ไขให้เกิดความโปร่งใส เพราะในยุคที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่นนี้ หากมีคนรู้ทัน แล้วจะหาว่าประชาชนชอบตั้งข้อรังเกียจไม่ได้

ทางที่ดี ร่างฯนี้ควรกำหนดให้มีการเลือกตั้งบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระเสียใหม่ทั้งหมด เอาชุดใหม่เข้ามาโดยเปิดกว้าง หลากหลายจากสายงานต่างๆให้ยึดโยงกับประชาชน มีสำนึกและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย เพราะเพียงแต่วาทะกรรมปราบโกงอาจใช้ไม่ได้กับองค์กรอิสระอย่างแท้จริง องค์กรอิสระก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท