Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ใครที่ติดตามปาฐกถาและข้อเขียนของท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ตลอดมา คงไม่พบอะไรใหม่ในปาฐกถา “ประชาธิปไตยอรรถประโยชน์” ของท่าน เพราะท่านพูดเรื่องเหล่านี้มานานแล้ว แต่เมื่อท่านนำเรื่องเหล่านั้นมาพูดใหม่ภายใต้สถานการณ์การยึดอำนาจของกองทัพ ทำให้ปัญหา (ที่หลายคนรวมทั้งตัวผมเองมองเห็นมานานแล้ว แต่ไม่ได้หยิบขึ้นถกเถียง) ในข้อเสนอของท่าน ยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น รวมทั้งกระจ่างแจ้งด้วยว่า ที่จริงแล้วประเด็นที่เป็นปัญหาเหล่านั้น อาจแฝงเป้าหมายที่เป็นอริกับประชาธิปไตยได้อย่างร้ายแรงเอาไว้

เพราะเป้าหมายนั้นคือการปฏิเสธกระบวนการประชาธิปไตยอย่างถึงรากถึงโคน โดยอาศัยอุดมคติสังคมสมานฉันท์ อันเป็นสังคมที่ไม่เคยมีอยู่จริงที่ไหนในโลก นอกจากในเทพนิยาย

ท่านอาจารย์ประเวศเริ่มปาฐกถาของท่านด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยว่า มีประชาธิปไตยอรรถประโยชน์ “ซึ่งจะแก้ปัญหาของประเทศ และนำประเทศไปสู่ความรุ่งเรือง” แต่แท้จริงแล้วระบอบปกครองที่จะสามารถทำอย่างนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว เผด็จการคอมมิวนิสต์ก็ทำได้ (เช่นจีน และในแง่หนึ่งก็โซเวียตด้วย) ราชาธิปไตยก็ทำได้ (เช่นการปฏิรูปของ ร.5) หรือแม้แต่เผด็จการทหารก็อาจทำได้เหมือนกัน (อย่างที่เผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยทำได้ในระดับหนึ่ง) เพียงแต่ว่าเมื่อทำได้แล้วก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาใหม่เกิดขึ้น และใช่ว่าความรุ่งเรืองของรัฐใดในโลกนี้อาจตั้งอยู่ได้โดยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่อีกเลย

แท้จริงแล้ว ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของกระบวนการ ไม่ใช่เป้าหมาย เป็นกระบวนการที่ไม่ประกันว่าจะนำไปสู่ความรุ่งเรืองของประเทศ ซึ่งมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าระบอบปกครองอีกมากมาย แต่กระบวนการประชาธิปไตยประกันได้เพียงว่าทุกกลุ่มทุกฝ่าย จะมีอำนาจที่ใกล้เคียงกันในการต่อรองทางการเมือง ฉะนั้นจึงไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายใดได้หมดหรือเสียหมด ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในขอบเขตหนึ่ง ซึ่งมากพอที่จะมีความสุขในชีวิตได้ตามสมควร

ถ้าใครไม่เห็นว่ากระบวนการเหล่านี้มีคุณค่า เขาก็ไม่ได้ศรัทธาต่อประชาธิปไตย ทั้งผู้นำทางการเมืองและปัญญาชนไทยจำนวนมาก ไม่ได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าเท่ากับ “ความรุ่งเรือง” ของประเทศ จะรุ่งเรืองทางวัตถุ ทางปัญญา หรือทางศีลธรรมก็ตาม จึงมักอ้างประชาธิปไตยเพื่อหลอกล่อให้คนอื่นเข้าใจว่าตนเป็นนักประชาธิปไตย แต่ก็เป็นนักประชาธิปไตยที่อยู่ร่วมกับเผด็จการทหารได้อย่างสบายดี ครั้นเมื่อตัวได้อำนาจทางการเมือง ก็อาจใช้วิธีที่ไม่ประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เช่น การอุ้มหายหรือการสังหารหมู่ เพื่อนำประเทศไปสู่ “ความรุ่งเรือง” ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณทักษิณ ชินวัตร กับท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ต่างกันทางการเมืองตรงไหนหรือ คุณทักษิณไปยืนอยู่ผิดที่ในสถานการณ์รัฐประหารเท่านั้น

ท่านอาจารย์ประเวศให้ความสำคัญแก่ความร่วมมือในทางการเมืองระหว่างพรรคหรือฝ่ายต่างๆ เพียงด้านเดียว แต่ในความเป็นจริงที่เราได้พบอยู่เสมอในประวัติศาสตร์ก็คือ ความขัดแย้งก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน จักรพรรดิ, จอมเผด็จการนำตนเองและบ้านเมืองสู่ความพินาศย่อยยับมามาก เพราะไม่ยอมให้มีใครขัดแย้ง การเมืองที่มีความขัดแย้งจึงไม่ใช่อันตรายในตัวมันเอง ตราบเท่าที่ความขัดแย้งนั้นดำเนินไปภายใต้กติกา แม้แต่ความขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์อย่างที่พรรคฝ่ายค้านในเมืองไทยทำอยู่เสมอ ก็ไม่มีอันตรายฉกาจฉกรรจ์แก่บ้านเมืองนัก เพราะยังมีฝ่ายอื่นๆ ที่ขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์อยู่ เช่น ท่านอาจารย์ประเวศเองก็เคยขัดแย้งกับรัฐบาลมาแล้ว แต่อย่างสร้างสรรค์กว่าฝ่ายค้าน ความขัดแย้งที่ไร้กติกาซึ่งเราได้เห็นมาตั้งแต่ 2549 โดยใช้กำลังกองทัพเข้าตัดสิน หรือใช้ม็อบป่วนเมือง ขัดขวางการเลือกตั้ง ฯลฯ เช่นนี้ต่างหากที่นำบ้านเมืองไปสู่ความล่มจม

ประเด็นนี้มีความสำคัญ บ้านเมืองเราจะดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าภายใต้ระบอบปกครองอะไรก็ตาม (แม้แต่ภายใต้รัฐบาลทหาร) ก็ต้องมีกติกาของความขัดแย้งที่เป็นธรรม หลังความขัดแย้งที่ป่าเถื่อนไร้กติกาอย่างที่เราได้ผ่านมา 10 ปี เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องมาช่วยกันฟื้นฟูกติกาของความขัดแย้งให้ตั้งมั่นขึ้นในสังคมไทยให้ได้ เช่น สิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่คู่ขัดแย้งไม่อาจละเมิดได้เลยคืออะไร และเราจะประกันบรรทัดฐานขั้นต่ำนี้ไว้ได้อย่างไร

เลิกหลอกตนเองและคนอื่นเสียทีว่า สังคมที่ก้าวหน้าได้ต้องเป็นสังคมที่ไม่มีความขัดแย้ง มีแต่ความร่วมมือ ไม่มีสังคมที่ไหนในโลกหรอกที่มีแต่ความร่วมมือ มีวิธีอยู่เพียงสองอย่างที่จะทำให้สังคมปราศจากความขัดแย้ง

หนึ่งคือโกหกหลอกลวง อย่างที่ท่านอาจารย์ได้วิพากษ์ระบบการศึกษาไทยว่าได้แต่ท่องวิชามาก แต่นั่นยังเป็นข้อบกพร่องที่ไม่ฉกรรจ์เท่ากับว่าวิชาที่บังคับให้ท่องนั้นล้วนมีเนื้อหาโกหกหลอกลวงทั้งสิ้น การศึกษาที่ไม่เคารพความจริง แม้ให้คิดเองก็สร้างเงื่อนไขการคิดให้ต้องคิดแต่เรื่องโกหกพกลม ด้วยความเคารพท่านอาจารย์เป็นส่วนตัว ผมอยากกราบเรียนเตือนท่านอาจารย์ว่า เราต้องระวังไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการโกหกพกลมเพื่อสร้างสังคมที่มีแต่ความร่วมมือ ปราศจากความขัดแย้ง

วิธีที่สองที่จะสร้างสังคมปราศจากความขัดแย้งก็คือการใช้อำนาจเถื่อน ข้อนี้คงไม่ต้องอธิบายมาก หากท่านอาจารย์จะมองไปยังชะตากรรมของกลุ่มคนจำนวนมากที่คัดค้านต่อต้าน คสช.อยู่ในเวลานี้ โดยไม่มีโอกาสเข้าไปจับเข่าคุยกับทหารเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันอย่างที่เครือข่ายของท่านอาจารย์เองทำได้ หรือมองให้ไกลไปถึงระบบการศึกษาก็ได้ว่า ที่สามารถสอนสิ่งโกหกพกลมอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ นอกจากใช้การหลอกแล้ว ก็ยังเต็มไปด้วยการใช้อำนาจในทุกซอกมุมของชีวิตนักเรียน-นักศึกษา

สังคมที่มีแต่ความร่วมมือโดยปราศจากความขัดแย้งเช่นนี้น่ะหรือที่พึงประสงค์แก่ท่านอาจารย์

นักปราชญ์ไทยชอบยกนิทานเรื่องตาบอดคลำช้าง ผมอยากเตือนให้ระลึกสองอย่าง หนึ่งก็คือนิทานเรื่องนี้เคยถูกใช้เพื่ออธิบายญาณทรรศนะทางศาสนา มนุษย์เป็นเพียงคนตาบอดที่มองไม่เห็นความจริงที่เป็นองค์รวม เฉพาะผู้รู้ธรรมเท่านั้นที่สามารถมองเห็นความจริงเช่นนั้นได้ ผมไม่มีอะไรจะเถียงกับศรัทธาทางศาสนาของใคร เพราะผมก็มีศรัทธาทางศาสนาของตนเองที่ไม่อยากให้คนอื่นล่วงละเมิดเหมือนกัน แต่เรากำลังพูดถึงความเป็นจริงทางสังคม ซึ่งสลับซับซ้อนและใหญ่โตเสียจนยากที่ใครเพียงคนเดียวจะมองเห็นได้ทั่วถึง กระนั้นเราก็ยังอาจหวังได้ว่า ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย คือเปิดให้ทุกคนมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน ในการโต้แย้งถกเถียงถึงความเป็นจริงนั้นจากมือคลำของตน ย่อมเป็นผลให้สังคมโดยรวมอาจพอจับภาพของช้างทั้งตัวได้ใกล้เคียงขึ้นบ้าง แม้จับภาพผิด ตราบเท่าที่กระบวนการประชาธิปไตยยังอยู่ ก็จะมีคนตาบอดอีกกลุ่มหนึ่งมาชี้ได้ว่า ภาพนั้นต้องคลาดเคลื่อนไปอย่างใดอย่างหนึ่ง สังคมโดยรวมก็แก้ไขภาพที่จับได้เสียใหม่

ในฐานะมนุษย์เราทำได้แค่นี้แหละครับ แต่หากไม่เชื่อในข้อจำกัดของความเป็นมนุษย์ ก็ต้องเชื่อว่ามีมนุษย์บางคนที่ไม่ตาบอดเหมือนคนอื่น เพราะเป็นพุทธะ เป็นพระบุตร เป็นผู้สื่อข่าวของพระเจ้า เป็นอวตารของพระเจ้า หรือเป็นหมอประเวศ จึงสามารถมองเห็นช้างได้ทั้งตัว โดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการคลำช้างร่วมกันแล้วจับภาพได้ผิดๆ ถูกๆ นิทานเรื่องตาบอดคลำช้างจึงเป็นที่นิยมของนักปราชญ์ไทยที่ไม่ศรัทธากระบวนการประชาธิปไตย เพราะโดยนัยยะคือเขาหรือพรรคพวกของเขาเท่านั้นที่ตาไม่บอด จึงมีสิทธิเสมอภาคมากกว่าคนอื่น เหมาะจะเป็นผู้นำที่ใครค้านไม่ได้ นี่เป็นคำเตือนข้อที่สอง

การตั้งรัฐบาลแห่งชาติด้วยอำนาจทหารนับเป็นข้อเสนอที่น่าตกใจสำหรับคนอย่างท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ท่านน่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่า ในโลกนี้ไม่มีความเคยชินทางการเมืองหรอก ไม่ว่าใครจะเป็นผู้สถาปนาขึ้นก็ตาม ไม่อย่างนั้นการเมืองการปกครองของทั้งโลกจะแปรเปลี่ยนมาถึงทุกวันนี้ได้หรือ การใช้อำนาจรัฐประหารตั้งรัฐบาลแห่งชาติจึงไม่มีทางที่จะเกิดความเคยชินอะไรขึ้นมา นอกจากเคยชินที่จะใช้อำนาจไปในทางเลอะเทอะ (แม้กระนั้นก็เป็นความเคยชินที่ไม่สถิตสถาวรหรอก)

ในหลายประเทศทั่วโลก เคยมีความจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติมาแล้ว เพื่อทำภารกิจบางอย่างที่ชัดเจนและเป็นที่เห็นพ้องของทุกฝ่ายขึ้นให้ลุล่วง เช่น เอาชนะในการสงครามให้ได้ ท่านอาจารย์คิดว่า คสช.มีภารกิจอะไรซึ่งเป็นที่เห็นพ้องกันทุกฝ่าย ขจัดตระกูลชินวัตรออกไปจากการเมืองหรือ แทรกแซง ส.ส.ส.หรือ ยกเลิกผังเมืองเพื่อผลิตพลังงานหรือ

แม้แต่ในรัฐบาลแห่งชาติของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เขาก็ปล่อยให้มีความขัดแย้งในระดับรัฐบาลและสภา (ที่มาจากการเลือกตั้ง) เพียงแต่ทุกฝ่ายระงับความขัดแย้งที่อาจทำให้ไม่สามารถบรรลุภารกิจร่วมกันเสียชั่วคราวเท่านั้น ครั้นสำเร็จภารกิจนั้นแล้ว ก็กลับมาสู่ความขัดแย้งภายใต้กติกากันใหม่ ไม่ต้องปลูกฝังความร่วมมือให้เป็นความเคยชินทางการเมืองซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ รัฐบาลแห่งชาติของท่านอาจารย์ประเวศจึงเป็นเพียง ม.44 ที่ดูเนียนขึ้นด้วยวาระการปฏิรูปเท่านั้นเอง

ผมออกจะแปลกใจที่ข้อเสนอนี้ออกมาจากท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ซึ่งย้ำพุทธธรรมว่าด้วยอนิจจตาของสรรพสิ่งเสมอมา ทุกอย่างรวมทั้งระบอบการเมืองย่อมอยู่ภายใต้ภาวะกำลังเปลี่ยน (state of flux) อยู่ตลอดเวลา แล้วเหตุใดความเคยชินทางการเมืองซึ่งได้จากรัฐบาลแห่งชาติของท่านจึงอยู่พ้นไปจากเงื่อนไขอนิจจลักษณะได้เล่าครับ

พุทธธรรมใช้มองช้างให้เห็นได้ทั้งตัว หรือใช้ส่องช้างเป็นส่วนๆ ไปตามแต่สภาวะในขณะใดขณะหนึ่งกันแน่

ท่านอาจารย์ประเวศเชื่อว่า คสช.อาจทำเรื่องยากๆ ได้ ในขณะที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่อาจทำได้ ท่านเสนอเรื่องยากห้าเรื่องที่รัฐบาล คสช.ทำได้ ผมคงไม่มีเนื้อที่พอจะพูดถึงเรื่องยากทั้งห้าเรื่องนี้ได้หมดและทั่วถึง แต่อยากเริ่มต้นด้วยการถามอาจารย์ประเวศว่า ที่ท่านเชื่อว่า คสช.ทำเรื่องยากได้นั้น เพราะ คสช.มีอำนาจที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่มี หรือเพราะ คสช.มีปัญญาชนิดที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่มี

หากท่านเชื่ออย่างหลัง ก็นับเป็นความเชื่อที่ประหลาดมหัศจรรย์ เพราะแม้แต่ในหมู่ผู้สนับสนุน คสช.ก็ไม่ได้คิดว่าคณะทหารชุดนี้มีสติปัญญาอะไรอันควรกล่าวถึงเลย แต่สนับสนุนก็เพื่อป้องกันมิให้บ้านเมืองตกอยู่ภายใต้ภยันตรายที่ยิ่งกว่ามีคนโง่ครองเมือง เช่น มีคนโกง, คนล้มเจ้า, หรือคนที่เป็นตัวแทนของทุนสามานย์ครองเมือง ดังนั้น ความเชื่ออันไม่ปกติของท่านอาจารย์ประเวศในข้อนี้จึงควรจะต้องพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์กว่าประกาศลอยๆ เช่นนี้

ส่วนถ้าท่านเชื่อว่าเพราะ คสช.มีอำนาจชนิดที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่มี ข้อนี้คงไม่ต้องพิสูจน์อะไร เพราะ คสช.อาจใช้ความรุนแรงได้อย่างไม่มีขีดจำกัด โดยถูกต้องตามกฎหมายที่ตนเองเป็นผู้ประกาศใช้ และอยู่พ้นจากการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ของใคร เรื่องนี้เป็นที่รู้ทั่วกันจนพูดเมื่อไร คนก็เห็นด้วยทันที แต่ถ้าท่านเชื่อว่าอำนาจอาจนำมาซึ่งการแก้ปัญหายากๆ ของชาติบ้านเมืองได้ ท่านก็ลองย้อนกลับไปอ่านที่ท่านพูดไว้เองแต่ตอนต้น ซึ่งบอกชัดเจนว่าสัมพันธภาพทางสังคมแนวดิ่ง หรือการใช้อำนาจเป็นอุปสรรคใหญ่ให้รัฐไทยไม่มีสมรรถนะในการแก้ปัญหา ตกลงการใช้อำนาจจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ใช้กระนั้นหรือ นักการเมืองใช้พึงสงสัยไว้ก่อนว่าไม่อาจแก้ปัญหาได้ แต่หากทหารใช้ก็มีทางเป็นไปได้ว่า จะนำไปสู่การแก้ปัญหาถาวรได้ในอนาคต

นี่มันตรรกะอะไรครับ ?

ในส่วนข้อเสนอ 5 ข้อของท่านนั้น ผมไม่มีเนื้อที่จะวิจารณ์ แต่ปัญหาเร่งด่วนและจำเป็นของชาติบ้านเมือง จะแก้ได้จริงก็ต่อเมื่อสังคมทั้งหมดมีฉันทามติอย่างน้อยสองอย่าง หนึ่งคือเห็นพ้องต้องกันในหมู่เสียงข้างมากว่า นั่นเป็นปัญหาเร่งด่วนและจำเป็นจริง สองคือเห็นพ้องต้องกันในหมู่เสียงข้างมากว่า วิธีการที่พึงใช้ในการแก้ปัญหาควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือผู้ที่จะทำให้การแก้ปัญหาประสบความสำเร็จคือสังคม ไม่ใช่คณะรัฐประหาร (แม้แต่รวมสาวกของคณะรัฐประหารไปด้วยก็ตาม)

ผมคิดว่าข้อเสนอทั้ง 5 ของท่านอาจารย์ประเวศ คนอื่นอาจแสดงความไม่เห็นด้วยในสองด้านดังกล่าวนี้ได้ทุกข้อใหญ่และข้อย่อย โดยปราศจากฉันทามติของสังคมส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะทำด้วยอำนาจบาตรใหญ่สักเพียงไร ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย

เราจะสร้างฉันทามติในสังคมได้อย่างไร ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี เองเคยสร้างมาแล้วภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าการปฏิรูปการเมืองซึ่งนำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2540, การมีองค์กรสนับสนุนการวิจัย เช่น สกว., การมีองค์กรสนับสนุนสุขภาพ เช่น ส.ส.ส. ทั้งหมดเหล่านั้นสำเร็จขึ้นมาได้ด้วยแรงบีบของสังคมต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายใต้รัฐบาลทหาร ท่านอาจารย์อาจผลักดันให้เกิดองค์กรที่ก้าวหน้าได้อีก แต่นั่นเกิดขึ้นได้หลังม่านการเจรจาระหว่างตัวท่านและนายทหาร ไม่ใช่ฉันทามติของสังคม แล้วนั่นจะยั่งยืนสักเพียงไรก็ไม่แน่

ท่านคิดว่าพลังของ ส.ส.ส.อยู่ที่ไหน ไม่ใช่เพราะอยู่ใต้กำกับของเครือข่ายของท่านหรอกนะครับ แต่อยู่ที่อย่างน้อยหลักการบางส่วนของ ส.ส.ส.เป็นฉันทามติของสังคมตามที่ท่านได้สร้างไว้ต่างหาก แม้ในการปฏิบัติงานจริงของ ส.ส.ส.จะสร้างความระแวงสงสัยในหมู่ประชาชนอย่างสูง แต่ก็ไม่อยากให้เผด็จการทหารล้ม ส.ส.ส.ไป หรือเข้ามากลืนให้เป็นหน่วยราชการ

เช่นเดียวกับนักอรรถประโยชน์นิยมในโลกตะวันตก แม้ว่าเริ่มต้นด้วย “อรรถประโยชน์สูงสุดแก่คนจำนวนมากสุด” แต่เพราะเน้นเพียงเป้าหมายมากกว่ากระบวนการ ในที่สุดก็ไม่รังเกียจการเผด็จอำนาจเพื่อบรรลุอรรถประโยชน์สูงสุด และในที่สุดของที่สุด ก็ไม่ลังเลที่จะนิยามให้คนอื่นต้องยอมรับว่า อะไรคืออรรถประโยชน์สูงสุดที่คนจำนวนมากสุดควรพึงพอใจ

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net