สภาประชาชนฯ สับ ‘ร่างรธน.มีชัย’ เรื่องสิทธิถอยหลังหนัก ขู่ไม่แก้เตรียมคว่ำ

1 ก.พ.2559  ตัวแทนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายต่างๆ 78 เครือข่าย ร่วมกันประชุมระดมสมองและกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมราว 20 คนและสื่อมวลชนที่สนใจ

ไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายสรุปว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ควรได้ชื่อว่า “ฉบับเพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน ริบคืนเสรีภาพ” โดยโจทย์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เคยประกาศไว้หลายเรื่องเหลือเพียงเรื่องเดียวคือ การปราบคอร์รัปชัน

“เขาชูมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญนี้จะปราคนโกง นี่เป็นจุดขายหรือจุดแข็งที่สุด แต่เขาไม่สนเรื่องอื่นๆ ผมคิดว่ายังไงมันก็ไม่ใช่คำตอบนั้น เอาข้าราชการ องค์กรอิสระมาปราบโกง ไม่มีทางสำเร็จ การปราบปรามคอร์รัปชันควรขยายบทบาทภาคประชาชนมากกว่านี้ ถ้าอำนาจถูกกระจาย ไม่รวมศูนย์ที่ส่วนกลาง การคอร์รัปชันก็จะลดลงโดยตัวโครงสร้างเอง” ไพโรจน์กล่าวและว่าในบทเฉพาะกาลยังคงมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อยู่ต่อไป ซึ่งเท่ากับว่าทิศทางการปฏิรูปประเทศอยู่ในมือข้าราชการเป็นหลัก

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าฉบับ “แช่แข็ง” โดยผู้ร่างไม่มองความเปลี่ยนแปลงในโลกและในสังคมเลย โดยวิเคราะห์ปัญหาถูกส่วนหนึ่งแต่ก็ละเลยปัญหาอีกมากมาย เรื่องสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 รับรองไว้ไม่เห็นในร่างนี้ ขณะที่การเมืองภาคพลเมืองหายไปแทบทุกมิติ มุ่งเน้นการจัดการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระและไม่มีระบบตรวจสอบอำนาจนั้นอีกที

“เราต้องตั้งโจทย์ถึงที่มาอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการกำกับตรวจสอบองค์กรที่มีอำนาจมากขนาดนี้ก็ไม่มีปรากฏ มันอาจกลับไปเหมือนปัญหาตอนรัฐธรรมนูญปี 40” บัณฑูรกล่าว

สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกล่าวว่า คอนเซ็ปท์ใหญ่ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผิด มีการย้ายหมวดสิทธิทั้งหมดไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะแก้ไขไม่ได้ และไม่เดินไปสู่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ภาคประชาชนร่วมต่อสู้กันมา ขณะที่เครือข่ายผู้หญิงก็มีการพูดกันมากว่าไม่มีกันพูดถึงความผูกพันในกติกาที่ไทยไปลงนามในกฎหมายระหว่างประเทศไว้ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับผู้หญิง เด็ก แรงงาน เมื่อไม่ระบุถึงก็จะทำให้โยงกับมาตรฐานสากลได้ยาก ผ่านกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องได้ยาก

นอกจากนี้ตัวแทน สปช.ยังแถลงร่วมกันว่า ระหว่างนี้จะจัดเวทีทำความเข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญกับประชาชนในภาคต่างๆ  พร้อมๆ กับเสนอข้อเสนอให้ กรธ.แก้ไขปรับปรุงร่างนี้ภายในกำหนดเวลาที่ กรธ.กำหนดไว้คือ 15 ก.พ.โดยคาดหวังว่าจะมีการปรับปรุงเนื้อหาตามที่ภาคประชาชนเสนอ หากไม่มีการแก้ไขทางเครือข่ายก็จะต้องดำเนินรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นคงต้องรอปฏิกริยาที่ชัดเจนจาก กรธ.ก่อน ระหว่างนี้ขอนำเสนอให้มีการจัดดีเบตระหว่าง กรธ.และภาคประชาชนในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากท้วงติงเนื้อหาหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนมีความกังวลว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกหรือไม่ ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ กล่าวว่า เรายืนยันว่าเลือกตั้งต้องเป็นไปตามกำหนด ต้องเป็นไปตามโรดแม็พ เพราะว่าระยะเวลาผ่านมานานมากแล้ว ขณะที่สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.พอช.) กล่าวว่า ประชาชนไม่ควรถูกบีบให้เลือกว่าจะรับรัฐธรรมนูญหรือจะเอาเลือกตั้ง

“เราเอาทั้งสองอย่าง เราจะเอารัฐธรรมนูญที่ดีและจะเอาการเลือกตั้งด้วย เราจะไม่อยู่ในเกมที่ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง” สุนทรีกล่าว

“เราไม่กลัวคำขู่ว่าจะผ่านไม่ผ่าน (ประชามติ) ผมเข้าใจว่าตอนนี้มีการข่มขู่ว่าถ้าไม่ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะเล่นโหดกว่านี้ซึ่งผมคิดว่าเราไม่ควรจะเลือกแบบนั้น สังคมไทยควรจะเลือกได้ว่าเราสามารถกำหนดกติกาบ้านเมือง เลือกตั้งก็ควรจะเดินตามขั้นตอนเดิม เพราะการเลือกตั้งอาจจะทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไปได้ดีกว่านี้ เรายืนยันว่าต้องมีการเลือกตั้ง” ไพโรจน์กล่าว

สำหรับรายละเอียดประเด็นต่างๆ ที่มีการระดมความเห็นกันนั้น ไพโรจน์ สรุปดังนี้

1.       ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย โดยเฉพาะละเลยการบัญญัติหลักการขั้นพื้นฐานที่ควรกำหนดในรัฐธรรมนูญ

2.       ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่กำหนดหลักประกันที่สำคัญในการที่รัฐต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

3.       ร่างรัฐธรรมนูญนี้ลดทอนสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ ที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรนูญ 2540 และ 2550

4.       การมีส่วนร่วมที่เคยกำหนดชัดเจนในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 โดยเฉพาะสิทธิในการตรวจสอบโครงการของรัฐ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับไม่ถูกกำหนดไว้

5.       การกระจายอำนาจถูกตัดทอนลงอย่างมาก ไม่มีการกำหนดสัดส่วนอำนาจหน้าที่ งบประมาณที่จะกระจายไปยังท้องถิ่นอย่างชัดเจน ที่สำคัญยังตัดส่วนที่สำคัญที่สุดในหลักการประชาธิปไตยออกด้วย คือ การให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางตรงในการลงประชามติในการจัดการท้องถิ่น

6.       การได้มาซึ่งองค์กรอิสระ ไม่ว่า กกต. ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ ตัวแทนจากศาลยุติธรรมมีบทบาทสำคัญในการคัดเลือก ซึ่งจะทำให้ขัดกับหลักการสำคัญในการแบ่งแยกอำนาจ ทำให้สถาบันตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐในทางบริหาร เห็นได้จากกระบวนการคัดเลือกองค์กรอิสระที่ผ่านมาศาลมีบทบาทอย่างสำคัญและถูกตั้งคำถามอย่างมากมาโดยตลอดอยู่แล้ว

7.       คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในร่างมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักการปารีสในเรื่องที่ว่าการสรรหาต้องมีองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนร่วมด้วย แต่ก็มีส่วนที่ลดทอน คือ ไม่เขียนอำนาจในการฟ้องคดี และกำหนดหน้าที่ให้ต้องชี้แจงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อองค์กรต่างๆ และต่างประเทศแทนรัฐบาล นับเป็นนวตกรรมใหม่ที่ทำให้เข้าใจได้ว่า กสม.เป็นเครื่องมือของรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นเพิ่มเติมอื่นๆ  เช่น มาตราว่าด้วยการทำสัญญาระหว่างประเทศ (มาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ 2550) ควรต้องชัดเจนเหมือนเดิม ไม่ใช่กำหนดให้ไประบุรายละเอียดในกฎหมายลูก, ต้องระบุเรื่ององค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจน แม้รัฐธรรมนูญ 2550 ระบุชัดเจนยังไม่สามารถจัดตั้งได้ การระบุกลไกคุ้มครองผู้บริโภคเพียงหลวมๆ ในร่างนี้จะยิ่งเป็นการตัดสิทธิผู้บริโภค, ประเด็นสัดส่วนผู้หญิงในการดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่มีส่วนในการตัดสินใจเชิงนโยบายควรต้องกำหนดชัดเจน  เป็นต้น

สำหรับประเด็นระบบเลือกตั้ง ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายจากภาคเหนือตอนล่างนำเสนอในวงว่าภาคประชาชนควรต้องเสนอความคิดเห็นเรื่องระบบเลือกตั้งด้วยนอกเหนือจากประเด็นสิทธิชุมชน สิทธิด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการออกแบบระบบการใช้อำนาจจากประชาชนก็มีความสำคัญ หากด้านอื่นๆ บัญญัติไว้ดีแต่ได้นายกฯ มาจากดาวอังคารก็คงไม่เวิร์ค ไพโรจน์ตอบในประเด็นนี้ว่า สชป.เคยเสนอมาแล้วก่อนหน้านี้และยืนยันว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง การสมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค และประชาชนควรใช้สิทธิเลือกตั้งในที่ทำงานได้ ไม่ต้องกลับภูมิลำเนา ส่วนการเลือกตั้งที่มีการกำหนดให้ใช้บัตรใบเดียว เรากังวลว่าเท่ากับเป็นการบังคับให้เลือกพรรคเดียว เป็นการจำกัดเจตนารมณ์ประชาชนที่จะมีทางเลือก คงเห็นควรให้คงการเลือก ส.ส.เขต และระบบบัญชีรายชื่อของพรรค ส่วน ส.ว.นั้น สนับสนุนให้มาจากการเลือกตั้ง 2 ทางคือ เลือกตั้งระดับจังหวัด และเลือกจากกลุ่มอาชีพ ซึ่งต้องเป็นการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดไม่ใช่องค์กรวิชาชีพเป็นผู้เลือก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท