Skip to main content
sharethis

ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพม่าเป็นนัดแรก หลังชัยชนะถล่มทลายของพรรคเอ็นแอลดีในการเลือกตั้ง 8 พ.ย. - โดย "วิน มินท์" ส.ส.เอ็นแอลดีผู้ช่วยออง ซาน ซูจี ได้รับเลือกเป็นประธานสภา ขณะที่ "ขุนเมียต" ส.ส.อดีตพรรครัฐบาล เชื้อสายคะฉิ่น ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภา ส่วนสภาชนชาติซึ่งเป็นสภาสูง คาดจะได้ชาวกะเหรี่ยงเป็นประธานสภา และชาวยะไข่เป็นรองประธานสภา

วิน มินท์ (ซ้าย) ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนขุนเมียต (ขวา) ส.ส.เชื้อสายคะฉิ่น จากพรรคอดีตรัฐบาล USDP ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (ที่มาของภาพ: Ministry of Infomation, Myanmar)

วิน มินท์ ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร (ที่มาของภาพ: Ministry of Infomation, Myanmar)

บรรยากาศประชุมสภาผู้แทนราษฎรพม่า (Pyithu Hluttaw) นัดแรกเมื่อ 1 ก.พ. 2559 ในภาพด้านไกลคือ ส.ส. พรรคเอ็นแอลดีในเสื้อผ้าพื้นเมืองสีส้ม ขวาสุดคือ ส.ส. แบบแต่งตั้งจากกองทัพพม่า สวมเครื่องแบบของกองทัพสีเขียว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญพม่ากำหนดให้สมาชิก 25% มาจากการแต่งตั้งจากกองทัพพม่า ส่วนที่นั่งระหว่างพรรคเอ็นแอลดีและกองทัพ คือ ส.ส. จากพรรคกลุ่มชาติพันธุ์ และ ส.ส. จากอดีตพรรครัฐบาล USDP ซึ่งสวมเครื่องแบบสีขาว (ที่มาของภาพ: Ministry of Infomation, Myanmar)

 

1 ก.พ. 2559 - ที่กรุงเนปิดอว์วันนี้ (1 ก.พ.) มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร (Pyithu Hluttaw) นัดแรก ซึ่งเป็นสภาล่างของสภาแห่งสหภาพพม่า (Pyidaungsu Hluttaw) โดยเป็นการประชุม ส.ส. นัดแรก นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าเมื่อ 8 พ.ย. 2558 โดยในวันนี้เป็นการประชุมเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

โดยในสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส. พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) 255 คน พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (USDP) 30 คน พรรคชาติยะไข่ (ANP) 12 คน พรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (SNLD) 12 คน

พรรคชาติปะโอ (PNO) 3 คน พรรคชาติตะอาง (TNP) 3 คน พรรคชาติลีซูเพื่อการพัฒนา (LNDP) 2 คน พรรคคองเกรสโซมีเพื่อประชาธิปไตย (ZCD) 2 คน พรรครัฐคะฉิ่นเพื่อประชาธิปไตย (KSDP) 1 คน พรรคโกก้างเพื่อประชาธิปไตยและเอกภาพ (KDUP) 1 คน พรรคประชาธิปไตยว้า (WDP) 1 คน ผู้สมัครอิสระ 1 คน

ขณะที่มี ส.ส. โควตาแต่งตั้งมาจากกองทัพ 110 คน หรือร้อยละ 25 ของสภา อย่างไรก็ตาม มีที่นั่ง ส.ส. ว่างเนื่องจากไม่มีการเลือกตั้ง 7 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ ออง ซาน ซูจี และพรรค NLD เคยชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2533 และถูกรัฐบาลทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้ง ขณะที่หลังการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปี 2553 เริ่มมีการปฏิรูปประเทศโดยรัฐบาลเต็ง เส่ง โดยที่พรรค NLD ยอมลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมในปี 2555 และเป็นฝ่ายค้านในรัฐสภา จนกระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายทุกระดับทั้งสภาล่าง สภาสูง และสภาท้องถิ่นระดับภาคและรัฐ โดยที่รัฐบาลเต็ง เส่ง ซึ่งกำลังจะหมดวาระก็ยอมรับผลการเลือกตั้ง และยินดีที่จะเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่รัฐบาลชุดใหม่

ในรายงานของเดอะการ์เดียน ระบุว่า ออง ซาน ซูจี ในวันที่มาประชุมในสภา ได้หลีกเลี่ยงสื่อมวลชนด้วยการเข้าประตูด้านข้างแทน ทั้งนี้ไม่มีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนใดๆ

 

 

ด้านโจนา ฟิชเชอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ได้เผยแพร่ภาพในทวิตเตอร์ แสดงภาพผังที่นั่งในสภา โดยสีแดงคือพรรคเอ็นแอลดี ส่วนที่เป็นสีเหลืองมุมขวาคือโควตาแต่งตั้งของกองทัพ ส่วนที่นั่งสีอื่นเป็นของพรรคชาติพันธุ์ต่างๆ ขณะที่อดีตพรรครัฐบาล USDP ปรากฏเป็นสีเขียว อยู่ใกล้กับที่นั่งของกองทัพ

ส่วนผลการเลือกตั้งประธานสภา วิน มินท์ (Win Myint) ส.ส. NLD ซึ่งเป็นผู้ช่วยใกล้ชิดของออง ซาน ซูจี ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ ขุนเมียต ส.ส. จากพรรคอดีตรัฐบาล USDP ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จากรัฐคะฉิ่นได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

คาดสภาชนชาติจะได้ชาวกะเหรี่ยงเป็นประธานสภา-ชาวยะไข่เป็นรองประธานสภา

ทั้งนี้จะมีการเปิดประชุมสภาชนชาติ (Amyotha Hluttaw) ซึ่งเป็นสภาสูงของรัฐสภาพม่าในวันถัดไป โดยพรรค NLD จะเสนอชื่อมาน วิน ข่าย ถั่น (Mahn Win Khaing Than) ซึ่งมีเชื้อสายกะเหรี่ยง และเป็นหลานของ มาน บะ ข่าย รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน สมัยรัฐบาลเฉพาะกาลของนายพลออง ซาน ซึ่งถูกลอบสังหารพร้อมกับนายพลออง ซาน ก่อนพม่าได้รับเอกราช

ขณะที่พรรคชาติยะไข่ (ANP) จะเสนอชื่อ ส.ส. จากพรรคที่ชื่อ เอ ตา อ่อง (Aye Thar Aung) เป็นรองประธานสภาสูง โดย เอ ตา อ่อง เป็นอดีตผู้ชนะเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2530 และเคยเป็นนักโทษการเมืองในระหว่างปี 2543-2545 อย่างไรก็ตามมีจุดยืนสนับสนุนชาวพุทธยะไข่อย่างแข็งขัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net