Skip to main content
sharethis

หลี่ ซิน ถ่ายภาพที่สถานีรถไฟหัวลำโพงก่อนขาดการติดต่อมาตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2559 ขณะเดินทางโดยรถไฟมุ่งหน้าไป จ.หนองคาย เพื่อข้ามไปยังประเทศลาว (ที่มาของภาพ: Qiao Long/The Guardian)

1 ก.พ. 2559 สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและจีน เรียกร้องทางการทั้งสองประเทศให้สืบหานายหลี่ซิน (Li Xin) ผู้สื่อข่าวชาวจีนที่หายตัวไประหว่างการเดินทางจากประเทศไทยไปลาว  หากเขาถูกทางการควบคุมตัวเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวเขาทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข เว้นแต่มีการดำเนินคดีกับเขาตามข้อหาทางอาญาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเรียกร้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ครอบครัว ทนายความ และสาธารณชนทราบทันที ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึง 10 มีนาคม 2559

ปฏิบัติการด่วน: ผู้สื่อข่าวจีนหายตัวไปในประเทศไทย

นับแต่วันที่ 11 มกราคม ไม่มีผู้พบเห็นหรือได้ยินข่าวเกี่ยวกับหลี่ซิน (Li Xin) ผู้สื่อข่าวจีน ระหว่างเดินทางด้วยรถไฟจากประเทศไทยไปลาว เขามีแผนการขอสถานะผู้ลี้ภัยในไทย แต่มีความกังวลว่าเขาอาจถูกบังคับส่งกลับไปจีน และเสี่ยงจะถูกควบคุมตัว ถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย

หลี่ซิน (Li Xin) เป็นผู้สื่อข่าว อดีตผู้เขียนบทบรรณาธิการให้กับเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Southern Metropolis Daily หนังสือพิมพ์จีนซึ่งเป็นที่นิยมมาก เขาได้ส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือไปให้กับภรรยาของตนเมื่อวันที่ 11 มกราคม ระบุว่าอยู่ระหว่างเดินทางไปที่พรมแดนประเทศไทยและลาว หลังจากนั้นไม่มีผู้ได้ทราบข่าวจากเขาอีกเลย จากข้อมูลของภรรยาเขา เขามีแผนจะขอสถานะผู้ลี้ภัยในไทย และต้องการสิทธิพำนักอาศัยในประเทศอื่น ซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องเดินทางออกจากประเทศไทยและกลับเข้ามาใหม่ เพื่อขอวีซ่าใหม่อีกครั้ง

หลี่ซินหลบหนีจากประเทศจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2558 โดยไปที่อินเดียก่อน เมื่อถูกปฏิเสธสิทธิการลี้ภัย เขาจึงเดินทางมาที่ไทย ระหว่างอยู่ในอินเดีย เขาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ในเดือนมิถุนายน 2556 เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาลจีนกดดันเขาอย่างหนักให้เป็นสายข่าวให้กับทางการ เพื่อสืบหาข้อมูลจากเพื่อนร่วมงานและเพื่อนคนอื่น ๆ มีการขู่จะจับเขาขังคุกถ้าไม่ยอมทำตาม หลังจากให้ความร่วมมือระยะหนึ่ง หลี่ซินปฏิเสธจะทำงานให้ทางการจีนต่อไป เขาเชื่อว่าการปฏิเสธเช่นนั้นทำให้ตัวเขาและครอบครัวต้องเสี่ยงภัย เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากประเทศจีน โดยที่ภรรยาของเขายังคงอยู่ในจีนต้องคอยดูแลลูกชายอายุสองขวบและอยู่ระหว่างตั้งครรภ์

​มีความกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีของหลี่ซิน เนื่องจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ส่งกลับบุคคลที่เห็นต่างจากรัฐบาลและสมาชิกของชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยซึ่งหลบหนีออกมาจากประเทศจีน 

แอมเนสตี้ฯ จึงเชิญชวนให้เขียนส่งจดหมายถึงทางการไทยโดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

กระตุ้นทางการจีนและไทยให้ดำเนินการทุกประการที่เป็นไปได้ เพื่อสืบหาที่อยู่และพิสูจน์สถานภาพด้านกฎหมายของหลี่ซิน และให้เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ครอบครัว ทนายความ และสาธารณชนทราบโดยทันที

กรณีที่เขาถูกทางการควบคุมตัว เรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวเขาทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข เว้นแต่มีการดำเนินคดีกับเขาตามข้อหาทางอาญาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

กรณีที่เขาถูกทางการควบคุมตัว เรียกร้องทางการให้การประกันว่าเขาจะสามารถติดต่อกับครอบครัวและทนายความได้อย่างสม่ำเสมอและไม่มีการปิดกั้น 

ข้อมูลเพิ่มเติม โดย แอมเนสตี้ฯ : 

มีแนวโน้มว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement principle) มากขึ้น โดยเป็นผลมาจากการกดดันของรัฐบาลจีน หลักการดังกล่าวห้ามการส่งบุคคลไปประเทศหรือเขตอำนาจศาลใด ๆ กรณีที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่า บุคคลจะถูกละเมิดหรือถูกปฏิบัติมิชอบอย่างร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชน โดยเป็นหลักการที่ปรากฏในกฎบัตรระหว่างประเทศจำนวนมาก และมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ มีผลบังคับใช้ต่อรัฐทุกแห่ง ไม่ว่าจะมีการให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม ทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย (UN Refugee Convention) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) หรืออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment)

หลายประเทศได้บังคับส่งกลับบุคคลที่เห็นต่างจากรัฐบาลและสมาชิกของชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยซึ่งหลบหนีออกมาจากประเทศจีน เป็นการละเมิดพันธกรณีที่มีต่อหลักการไม่ส่งกลับ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 เจียงยี่เฟย (Jiang Yefei) และตงกวงปิง (Dong Guangping) นักกิจกรรมจีนสองคนซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees - UNHCR) ถูกทางการไทยส่งกลับไปยังจีน และเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะได้รับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างอื่น รวมทั้งการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม (โปรดดู UA 259/16: https://www.amnesty.org/en/documents/asa17/2880/2015/en/) ในเดือนกรกฎาคม 2558 ทางการไทยบังคับส่งกลับบุคคลประมาณ 100 คนไปประเทศจีน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อุยเก๋อที่มีสัญชาติจีน ซึ่งมีความเสี่ยงจะได้รับการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีเมื่อเดินทางกลับไปประเทศจีน ในเดือนธันวาคม 2555 ทางการมาเลเซียบังคับส่งกลับชาวอุยเก๋อหกคน ซึ่งอยู่ระหว่างรอสิทธิการลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในเดือนธันวาคม 2552 ทางการกัมพูชาบังคับส่งกลับผู้แสวงหาที่พักพิงชาวอุยเก๋อ 20 คน โดยห้าจาก 20 คนนี้ มีรายงานข่าวว่าถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนอีกแปดคนมีรายงานข่าวว่าได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 16-20 ปี โดยเป็นการพิจารณาคดีลับ

นอกจากนั้น บุคคลอื่น ๆ ซึ่งเคยแสดงท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำจีนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ได้หายตัวไประหว่างพำนักในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น กุ้ยมินไห่ (Gui Minhai) ผู้มีเชื้อชาติจีนแต่มีสัญชาติสวีเดนได้หายตัวไประหว่างอยู่ในประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2558 และนักกิจกรรมคนอื่นแสดงความกังวลว่า เขาน่าจะถูกส่งตัวกลับไปจีน ในวันที่ 17 มกราคม 2559 กุ้ยมินไห่ได้ปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ของรัฐบาลจีน (CCTV) มีท่าทีเหมือน “รับสารภาพ” ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการกดดัน ในเดือนเดียวกัน เปาเฉาซวน (Bao Zhuoxuan) อายุ 16 ปี บุตรคนเดียวของนายหวังอยู่ (Wang Yu) ทนายความชาวจีน และตั้งจีฉุน (Tang Zhishun) และซิงจิงเซียน (Xing Qingxian) นักกิจกรรมชาวจีนสองคน ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบจับตัวไประหว่างอยู่ในเมืองแห่งหนึ่งในพม่าใกล้กับพรมแดนประเทศจีน หลังจากหายตัวไปเป็นเวลาหลายวัน เปาเฉาซวนได้ถูกส่งตัวกลับไปอยู่กับปู่ย่าของเขาที่บ้านที่เมืองอูลานฮอต เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของจีน เชื่อว่าผู้ชายอีกสองคนที่เดินทางร่วมกับเขายังคงถูกทางการจีนควบคุมตัวเอาไว้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net