Skip to main content
sharethis

สกว.หนุนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนา “ไก่สีหมอก” สายพันธุ์ผสมระหว่างไก่ดำกับไก่ประดู่หางดำ ชูจุดเด่นชะลอความแก่ โตเร็ว ลดกลิ่นคาว รสชาติดี ต้นทุนต่ำ รายได้ดี หวังเป็นทางเลือกอาชีพเกษตรกร

1 ก.พ. 2559 รายงานข่าวจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แจ้งว่า ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) ภายใต้ความร่วมมือของ สกว. และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดมหกรรมแข่งขันการทำอาหารอีสานจากไก่พื้นเมืองพันธุ์สีหมอกขึ้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานวันเกษตรภาคอีสานประจำปี 2559 โดยมี รศ. ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สกว. ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน

รศ. ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายฯ กล่าวว่า ไก่สีหมอกเป็นพันธุ์ผสมระหว่างไก่ดำที่มีลักษณะกระดูกดำและขนดำสนิท กับไก่ประดู่หางดำที่เป็นผลผลิตจากงานวิจัย สกว. มาผสมกัน ซึ่งเป้าหมายของการพัฒนาสายพันธุ์ในครั้งนี้นอกจากจะเป็นความท้าทายในเชิงวิชาการแล้วยังเป็นความท้าทายในการดึงคุณสมบัติเด่นของสายพันธุ์ไก่ประดู่หางดำมาใช้ประโยชน์ ที่ผ่านมาศูนย์ฯ ได้พัฒนาสายพันธุ์ลูกผสมจากไก่ประดู่หางดำไปแล้วหลายสายพันธุ์ ในครั้งนี้จึงสนใจที่จะพัฒนาลูกผสมร่วมกับไก่ดำหรือไก่กระดูกดำ เนื่องจากเห็นว่าชาวจีนและชาวม้งนิยมนำไก่ดำมารับประทาน โดยมีความเชื่อว่ามีคุณสมบัติเป็นอายุวัฒนะ ซึ่งจากการวิจัยพบว่าไก่ดำมีสารเมลานินและสารคาร์โนซีน ที่ช่วยเรื่องชะลอความแก่และความชราภาพของเซลล์ มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่จุดด้อยของไก่ดำ คือ รสชาติเนื้อไม่ดี มีกลิ่นคาว และเจริญเติบโตช้า ทำให้มีต้นทุนในการเลี้ยงสูง

ไก่สีหมอก

“เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตเร็วขึ้น ต้นทุนต่ำลง ศูนย์เครือข่ายฯ จึงได้ทดลองนำไก่ดำผสมกับไก่ประดู่หางดำที่มีคุณสมบัติเฉพาะ คือ โตเร็ว และเนื้อมีรสชาติดี ผลที่ได้ในระดับฟาร์มนำร่องพบว่าไก่สายพันธุ์ลูกผสมที่เกิดขึ้นโตเร็ว เนื้อมีรสชาติดีใกล้เคียงกับไก่ประดู่หางดำ และกลิ่นคาวลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสายพันธุ์ลูกผสมจะคงความเป็นสีดำของขน และกระดูกไว้ แต่สิ่งที่พบคือ สีเนื้อที่ปรากฏไม่ดำสนิท และไม่สม่ำเสมอกันทุกตัว แต่ด้วยลักษณะเนื้อที่มีสีเทาถึงเทาเข้มเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คณะผู้วิจัยได้แนวคิดในการผลักดันเป็นตัวสินค้าใหม่ภายใต้ชื่อพันธุ์ “ไก่สีหมอก” โดยจะมุ่งเน้นกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่สนใจสุขภาพ แต่ไม่ชื่นชอบรสชาติไก่ดำแบบเดิม” รศ. ดร.มนต์ชัยระบุ

ด้าน รศ. ดร.บัญญัติ เหล่าไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายฯ กล่าวเสริมว่า ไก่สีหมอกเพศผู้ที่น้ำหนัก 1.3 กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยง 67 วัน ซึ่งเร็วกว่าไก่ประดู่หางดำถึง 2 สัปดาห์ ถือเป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจของเกษตรกรในการนำไปประกอบออาชีพ เพราะใช้ต้นทุนน้อย รายได้ดี สามารถขายได้ในราคา 90-150 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้มีเกษตรกรเครือข่ายนำไก่สีหมอกไปเลี้ยงในระดับกึ่งพาณิชย์ในระบบผลิตที่ได้มาตรฐาน และมีบริษัทเบทาโกรเข้ามาช่วยทำตลาดให้ในเบื้องต้น ผู้บริโภคให้การตอบรับที่ดี การจัดมหกรรมแข่งขันการทำอาหารในครั้งนี้หวังให้เป็นอีกช่องทางในการสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภค โดยเชื่อมโยงให้เข้ากับภูมิปัญญาด้านอาหารของภาคอีสาน เพื่อเป็นอีกทางเลือกของผู้บริโภคต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net