Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ช่วงสัปดาห์ก่อนจะเห็นได้ว่ามีข่าวคราวถึงทัศนคติที่สังคมมีต่อมนุษย์ด้วยกันไปในทางลบ อยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะทางสีผิว สถานภาพทางสังคม สถานภาพทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ประเด็นเรื่อง “ชนชั้น” ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นและถกเถียงกันอย่างหนาหูหนาตาทั้งในโลกไซเบอร์และโลกภายนอก โดยเฉพาะกับกรณีของคุณม้า อรนภา ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับนัยความจริงทางสังคมที่แฝงฝังอยู่

โดยในประการแรกนั้นจะเห็นว่ามีการพูดถึงประเด็นเรื่อง วรรณะ หรือ ระบบชนชั้น ขึ้น แล้วก็นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกหลายทอด ในส่วนนี้ผู้เขียนคิดว่า มันไม่ใช่เรื่องผิด และปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดเรื่อง ชนชั้น เป็นสิ่งที่มีปรากฏอยู่จริงในสังคมไทย ทั้งในทางทฤษฎี (theoretically) และในโลกของความเป็นจริงทางสังคม (generally) ประเด็นเรื่อง “ชนชั้น” เป็นสิ่งที่ได้รับการพูดถึง และถกเถียงกันตลอดเวลาในสังคม ไม่ว่าจะเป็นในหน้าหนังสือพิมพ์ สื่อต่างๆ หรือแม้แต่บนพื้นที่ของ “ขี้ปาก” ที่ปรากฏออกมาได้ทุกๆวัน

ตั้งแต่ได้เข้ามาสู่วงวานอาณาบริเวณของการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยานั้น ผู้เขียนได้ยิน และพบคำว่า “ชนชั้น” รวมไปถึงแนวคิดเกี่ยวกับปฏิบัติการทางชนชั้นในสังคมไทยเกือบจะทุกวัน ทั้งในงานเขียนเชิงวิชาการ กึ่งวิชาการ งานประชุมวิชาการ งานสัมมนา หรือแม้แต่ย้อนไปถึงในห้องเรียนเมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 1 มันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดเรื่องชนชั้นนั้นมันยังคงมีกระจายอยู่ทั่วในสังคม ไม่ว่าจะสังคมใด ทั่วโลก (ไม่เว้นแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา) ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้จะมีแนวคิดเรื่องชนชั้นในฐานะระบบการจัดประเภทแบบหนึ่ง (differentiation)

แต่คำว่า “ชนชั้น” ในมุมมองของแต่ละคนจะเป็นอย่างไรนั้น บางทีก็ต้องปรับเข้าหา หรือหันหน้าเข้ามาถกเถียงกัน เพราะมันไม่มีนิยามที่เป็นกลาง โดยเฉพาะ “ชนชั้น” ในสายตาของคนปกติทั่วไป กับในมุมมองแว่นกรอบแบบวิชาการ (ซึ่งก็มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหา และวิวาทะจนเป็นประเด็นใหญ่โตได้ตลอดจนถึงทุกวันนี้) เหตุนี้จึงไม่มีเหตุผลที่จะพยายามเถียงอย่างหัวชนฝาว่า มีความเท่าเทียม อยู่ในสังคมจริงๆ ด้วยความเหลื่อมล้ำ ความลักลั่น และความแตกต่างชนิดต่างๆ (ไม่ว่าจะในแง่เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือแม้แต่ศาสนา ทุกๆส่วนสามารถถูกนำมาโยงเข้าสู่ประเด็นทางชนชั้นได้ทั้งสิ้น) ที่ปรากฏอยู่ภายในสังคมปัจจุบันนี้ ก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะแนวคิดเกี่ยวกับชนชั้น มันจะค่อยๆก่อตัวขึ้น จากความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมดังกล่าว ซึ่งนัยหนึ่งของมันก็คือเพื่อเป็นการสะท้อนและตอกย้ำให้สังคมเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า มันมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น และคุณค่าของคนที่ปรากฏอยู่ในสังคมอาจมีความไม่เท่าเทียมกันจริงๆในสายตาที่คนในสังคมมองกันและกัน

ประการต่อมา สิ่งที่คุณม้าพูดถึงเรื่อง “วรรณะ” (caste system) นั้น คุณม้าอาจจะลืมไปมิติทางชนชั้นที่เกิดขึ้นภายในสังคมไทยกับมิติทางชนชั้นที่เกิดขึ้นในสังคมอินเดีย มันมีความแตกต่างกัน ในประเทศอินเดีย หรือสังคมอินเดียนั้นอาจจะมีระบบวรรณะ หรือระบบชนชั้นที่มีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง และเข้มข้น

แต่เมื่อย้อนกลับมามองที่สังคมไทย การแบ่งชนชั้นตามสภาพสังคมทั่วไปนั้น จะยังคงความต่างไว้อยู่นั้นก็คือ ประเด็นเรื่อง ชนชั้นภายในสังคมไทย มันหาใช่ “ระบบ” (system) แบบสังคมอินเดียแต่อย่างใด มันยังเป็นเพียงแค่ กลไกทางสังคมขั้นพื้นฐาน ที่ยังไม่ได้ถูกจัดระเบียบอะไรจนเกิดโครงสร้างที่เป็นเรื่องเป็นราว (non-organized) จึงไม่อาจเรียกว่าไทยมีระบบชนชั้น หรือมีชนชั้นที่เป็นระบบได้ ยังเป็นการจัดจำแนกความแตกต่างทางสังคม (social differentiation) เสียมากกว่า

ดังนั้นการที่คุณม้าพูดว่า “จัณฑาล ก็คือจัณฑาลเปลี่ยนอะไรไม่ได้” นั้นจึงถือว่าไม่เป็นความจริงและไม่ตอบรับกับสภาพที่เป็นอยู่ในทางสังคมไทย (แม้จะเป็นพียงการเปรียบเทียบก็ตาม) เพราะหากนำระบบชนชั้นของอินเดียมาเปรียบเทียบกัน จริงอยู่ว่าตามระบบชนชั้นหรือวรรณะของอินเดีย ผู้ที่ถูกนิยามว่าเป็น “จัณฑาล” จะอยู่ต่ำกว่าผู้ใดๆในสังคม และจะไม่มีวันก้าวข้าม หรือก้าวออกไปสู่การเป็นวรรณะอื่นๆที่สูงขึ้นมาไม่ได้ (และจะไม่มีวันเกิดขึ้น) กฎข้อนี้ นั้นไม่อาจใช้ประพฤติปฏิบัติได้กับสังคมไทย

เพราะ จากการศึกษาทางมานุษยวิทยา ของ John F. Embree ในปี 1950 (Thailand: A Loosely Structured Social System) ที่ได้ชี้ถึงข้อสังเกตสำคัญของสังคมไทยไว้เบื้องต้น คือ เป็นสังคมที่ไม่ได้ยึดถือ หรือยึดติดในพันธะที่มีต่อระเบียบทางสังคมเท่าใดนัก กฎเกณฑ์ หรือ คุณค่าทางวัฒนธรรมบางอย่าง ที่ปรากฏขึ้นภายในสังคมไทยจึงเป็นสิ่งที่สามารถยกเว้น หรือ ละเว้นได้ในหลายๆครั้ง ตามบริบทและกรณีเสมอ นอกจากนี้ข้อสังเกตสำคัญที่ Embree เน้นไว้ก็คือ ลักษณะพื้นฐานทางโครงสร้างทางสังคมของสังคมไทย ที่เอนเอียงไปในทางด้านที่มีความยืดหยุ่นสูงเสียมากกว่าด้านที่เคร่งครัด การเปลี่ยนแปลงสถานะและฐานะทางสังคมจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ไม่ว่าจะเกิดจากระบบอุปถัมภ์ หรือแม้แต่ด้วยระบบคุณค่าทางศาสนา

ฉะนั้น หากเมืองไทยจะมีการปรากฏตัวขึ้นของ “จัณฑาล” จัณฑาลผู้นั้นย่อมสามารถที่จะเปลี่ยนวรรณะได้ (ด้วยเหตุผลง่ายๆว่า ที่นี่ประเทศไทย ไม่ใช่อินเดีย) ด้วยรูปแบบทางสังคมของไทยที่มีลักษณะเป็นสังคมโครงสร้างหลวม (loosely structured) นั้น จัณฑาลในไทยจึงมีโอกาส และความเป็นไปได้ที่สูงในการเปลี่ยนชนชั้น หรือเปลี่ยนสถานะทางสังคมที่ผิดไปจากในรูปแบบของอินเดีย จัณฑาลในไทยจะสามารถเปลี่ยนวรรณะไปเป็นทั้งพราหมณ์ (เช่น นักบวช นักวิชาการ อาจารย์ นักบุญ) ศูทร (เช่น ผู้ใช้แรงงาน) แพศย์ (เช่น นักค้าขาย นักธุรกิจ ช่างฝีมือ) หรือแม้แต่กษัตริย์ (เช่น ทหาร ตำรวจ นักการเมือง) ได้ทั้งสิ้น

เหตุที่เป็นเช่นนี้ ต้องไม่ลืมความจริงสำคัญที่ปรากฏอยู่ว่า สังคมไทยนั้นยังไม่มีการจัดระบบระเบียบอะไรเกี่ยวกับเรื่องชนชั้นอย่างเป็นทางการ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถนิยามว่าใคร หรือผู้ใดจำต้องสังกัดอยู่ในชนชั้นใดอย่างแน่นอนตายตัวนั้นมิได้ เนื่องจากเหตุผลที่อ้างไว้ข้างต้น สถานะหรือตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของไทยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยึดแน่นเคร่งครัด ผู้คนสามารถขยับเคลื่อนหรือทำการเลื่อนเปลี่ยนสถานะและตำแหน่งแห่งที่ในทางสังคมของตนเองได้อย่างอิสระ (หากมีกำลังและโอกาสที่เพียงพอ) ซึ่งเป็นข้อที่คุณม้าละเลย และไม่ได้ตระหนักถึงประเด็นในส่วนนี้ การจะบอกว่า “จัณฑาลย่อมเป็นจัณฑาล” จึงถือว่าค่อนข้างที่จะขาดเหตุผลสนับสนุน

เอาจริงๆผู้เขียนคิดว่า สังคมไทย และโดยเฉพาะสื่อไทย มักใช้คำว่า ”ชนชั้น” ได้อย่างสิ้นเปลืองมากๆ เท่าที่สังเกตมาตามพาดหัวข่าว หรือแม้แต่ภายในเนื้อข่าวรายวันต่างๆ และโดยเฉพาะสาเหตุที่เกิดเป็นปมวิวาทะกันในขณะนั้น สาเหตุหลักก็เพราะแนวคิดเรื่อง “ชนชั้น” ภายในสังคมไทย ตามสำนึกทั่วไปแล้วมันเป็นคำด้านลบที่อาจกระทบกับจิตใจผู้ฟังจนอาจเกิดประเด็นทะเลาะระหว่างกันได้อย่างง่ายดาย (แต่ก็เป็นที่น่าสนใจ ตรงที่หากว่าเมื่อใดที่มีการใช้แนวคิดเรื่อง “ชนชั้น” ในกรณีของการอธิบายภาพรวมของสังคม ความร้อนแรง และความเข้มข้นของประเด็นวิวาทมีแนวโน้มที่จะออกมาในลักษณะที่จะปะทุได้น้อยกว่า การใช้แนวคิดเรื่อง “ชนชั้น” ในการอธิบายตัวปัจเจกคนใดคนหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง…)

และท้ายสุดเรื่องที่อยากจะให้เก็บไว้พิจารณาต่อคือ สังคมในโลกนี้ไม่ได้มีแต่การเหยียดผิว เหยียดเพศอย่างเดียว มันยังคงมีการเหยียดในทุกๆอย่าง ย้ำว่า ทุกๆอย่างที่เป็นเรื่องของความ "แตกต่าง" ล้วนสามารถถูกนำมาเป็นอาวุธในการเหยียดได้ทั้งสิ้น ทั้งที่เกิดขึ้นโดยรู้ตัว และเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว สังคมมนุษย์ยังคงต้องเรียนรู้อีกมากมาย เกี่ยวกับประเด็นและแนวคิดเรื่อง "การเหยียด" เพราะทุกวันนี้ลักษณะเบื้องต้นของสังคมที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อพ้นหรือหลุดจากกระแสการเหยียดแบบหนึ่ง มันก็มักจะเคลื่อนไปสู่กระแสการเหยียดในประเด็นรูปแบบใหม่ได้อยู่ตลอดเวลา…

 

หมายเหตุผู้เขียน: เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook ของผู้เขียน วันที่ 8 มกราคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net