Skip to main content
sharethis

โกวิท โพธิสาร หนึ่งในหน่วยหน้ากล้าตายจากไทยพีบีเอสยื่นจดหมายขอคำชี้แจงการเลือก ผอ. "สสส.กับไทยบีพีเอสทำงานคนละอย่างกัน ที่คุณหมอบอกว่าเคยทำสื่อรณรงค์ ทำงานสื่อสารองค์กร ผมคิดว่ามันคนละเรื่องกัน การพิจารณาคุณสมบัติแบบนี้มันสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความว่าผิดพ.ร.บ.องค์กร"


โกวิท โพธิสาร พนักงานไทยพีบีเอส


หทัยรัตน์ พหลทัพ พนักงานไทยพีบีเอส

 

กระบวนการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ของไทยพีบีเอส ทีวีสาธารณะแห่งเดียวของไทยเสร็จสิ้นแล้ว และ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการคนใหม่แทนนายสมชัย สุวรรณบรรณ ที่ถูกปลดสายฟ้าแลบไปก่อนหน้านี้ โดยในการสรรหาครั้งนี้มีผู้สมัครทั้งหมด 13 คน

ก่อนที่หมอกฤษดาจะเริ่มการทำงานในวันที่ 1 ก.พ.นี้ พนักงานของไทยพีบีเอสกลุ่มหนึ่งได้ออกจดหมายเปิดผนึกแสดงข้อสงสัยและขอคำชี้แจงจากคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการนโยบายว่าเหตุใด อดีตผู้จัดการ สสส. จึงคว้าตำแหน่งนี้ ทั้งที่ มาตรา 32(3) ของพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้อำนวยการองค์กรระบุว่า “มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการวิทยุโทรทัศน์ หรือการสื่อสารมวลชน”

โกวิท โพธิสาร เป็นผู้สื่อข่าวคนหนึ่งของไทยพีบีเอสที่เปิดหน้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสรรหาเป็นคนแรกๆ เขาเคยโพสต์เฟซบุ๊กแสดงไทม์ไลน์ที่น่าสนใจของความเปลี่ยนแปลงในองค์กรนี้ในห้วงรัฐบาลรัฐประหาร

2 พฤษภาคม 2558 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามแต่งตั้ง รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เป็นประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส

9 ตุลาคม 2558 กรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) มีมติเลิกจ้าง “สมชัย สุวรรณบรรณ” ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.

16 ตุลาคม 2558 ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการกองสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

24 พฤศจิกายน 2558 ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ สมัครเข้ารับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการไทยพีบีเอสเป็นลำดับที่ 13 ซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่ยื่นใบสมัครในวันเดดไลน์

5 มกราคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สั่งปลดบอร์ด สสส. 7 คน

7 มกราคม 2559 คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ได้คัดเลือกผู้สมัครเหลือ 5 คนสุดท้าย โดย 1 ใน 5 มีชื่อของ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ติดมาด้วย

14 มกราคม 2559 จะเป็นวันสอบสัมภาษณ์ผู้สมัคร 5 คนสุดท้ายก่อนคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการไทยพีบีเอส

ในวันนี้ โกวิท และ หทัยรัตน์ พหลทัพ นักข่าวอีกคนหนึ่งของไทยพีบีเอส เป็นตัวแทนยื่นหนังสือต่อผู้บริหารหลายคน โดยมีรักษาการผู้อำนวยการไทยพีบีเอส พวงรัตน์ สองเมือง เป็นผู้รับมอบโดยตรง เบื้องต้นพวกเขานัดหมายผู้สื่อข่าวสำนักอื่นๆ มาทำข่าวการยื่นหนังสือที่ชั้นล่าง แต่แล้วก็มีการยื่นหนังสือบนชั้น 4 โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวขึ้นไปทำข่าว

หลังการยื่นหนังสือ ประชาไทสัมภาษณ์โกวิทถึงคำตอบของผู้บริหาร มูลเหตุการลุกขึ้นมาตรวจสอบองค์กรตนเอง รวมถึงแรงกดดันที่พนักงานระดับปฏิบัติการอาจได้รับจากการส่งเสียงโหวกเหวกดังกล่าว เขายืนยันว่า “ถึงวันนี้ยังไม่มีแรงกดดันอะไรสำหรับพนักงานที่ออกมาเคลื่อนไหว”

ทำไมการยื่นจดหมายครั้งนี้ถึงไม่เปิดให้ผู้สื่อข่าวที่มารอทำข่าวเข้าไปด้วย เหตุผลคืออะไร

จริงๆ นี่ไม่ใช่การยื่นหนังสือครั้งแรก ปกติก็จะยื่นกันข้างบนแบบนั้น ส่วนการไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าก็เป็นวิจารณญาณเป็นครั้งๆ ไปบางครั้งเข้าได้ บางครั้งเข้าไม่ได้ ทางผู้บริหารก็ไม่ได้ให้เหตุผลแต่ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่

การพูดคุย ผลตอบรับเป็นอย่างไร

ผู้บริหารแจ้งว่าจะนำเรื่องนี้เข้าไปคุย น่าจะเร่งด่วนพอสมควร ผมได้ยินมาว่าเขาเรียกผู้บริหารระดับ ผอ.สำนักเข้าไปคุยเพื่อหารือ แจ้งให้ทราบ อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าการพูดคุยดังกล่าว ท่าทีจะเป็นอย่างไร ต้องรอหลังจากนี้

ข้อเรียกร้องหลักของพนักงานคืออะไร

เรื่องสำคัญในครั้งนี้คือความสงสัยอย่างสำคัญต่อคุณสมบัติของผู้อำนวยการองค์กรที่ได้ประกาศมาแล้วว่าเป็น ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ โดยท่าทีเราไม่มีปัญหาว่าเป็นนายแพทย์ท่านใด หรือเป็นบุคคลใด แต่เป็นคำถามเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้สมัครมากกว่า ซึ่งคุณหมอและทุกคนมีสิทธิในการสมัครเป็น ผอ. แต่คุณสมบัติของคนที่สมัครนั้นผ่านมาถึงขั้นนี้ได้อย่างไร เป็นเรื่องต้องตั้งคำถาม เพราะผู้สมัครทั้ง 12 คนมีโปรไฟล์เกี่ยวกับการทำงานด้านสื่อสารมวลชนโดยตรง มีคุณหมอท่านเดียวไม่ตรง และน่าจะมีประสบการณ์อ่อนที่สุด

นอกจากนี้กิจการที่คุณหมอทำงานมามันไม่ใช่สื่อโดยตรง คุณหมอทำงานเป็นรองผู้จัดการ และผู้จัดการของ สสส. ซึ่ง สสส.กับไทยบีพีเอสทำงานคนละอย่างกัน ที่คุณหมอบอกว่าเคยทำสื่อรณรงค์ ทำงานสื่อสารองค์กร ผมคิดว่ามันคนละเรื่องกัน การพิจารณาคุณสมบัติแบบนี้มันสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความว่าผิดพ.ร.บ.องค์กร เพราะการบอกว่าเป็นผู้จ้างผลิตรายการ ทำแคมเปญต่างๆ มันคนละอย่างกับวิชาชีพสื่อ หมายความว่า ถ้าคุณหมอสามารถทำได้ คนอื่นที่เขาจ้างผลิตรายการในลักษณะเดียวกันก็ย่อมมีสิทธิสมัครได้ด้วยใช่หรือเปล่า ผมเป็นผู้ประกอบการขายน้ำปลา จ้างทำสื่อมาสิบปี ผมย่อมสามารถสมัครเป็น ผอ.สื่อสารธารณะได้ใช่ไหม ถ้าได้ ก็ตีความมาเลยว่าได้ เป็นบรรทัดฐานออกมาใหม่เลย แต่ตอนนี้กฎหมายมันวางบรรทัดฐานไว้ชัดเจน ผมไม่ได้ตีความเอาเอง กฎหมายเขียนไว้ simple มากๆ อ่านมาตรา 32(3) วรรคเดียวก็จะเห็นว่าตรงหรือไม่ตรง

ฉะนั้น โดยท่าทีของการยื่นจดหมายครั้งนี้จึงไม่ใช่การต่อต้านคุณหมอแต่เราต่อต้านกระบวนการในการเลือก ผอ. อยากให้มันเป็นไปอย่างชอบธรรม อย่างตรงไปตรงมา อย่างโปร่งใส และอย่างสง่างาม ส่วนความกังวลอื่นๆ ก็มีหลายอย่าง แต่ประเด็นหลักที่สุดก็มีเรื่องนี้

พนักงานเรียกร้องความโปร่งใส การมีส่วนร่วม แต่โดยโครงสร้างและหลักเกณฑ์ทางกฎหมายไม่ได้เปิดให้พนักงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหา ผอ.อยู่แล้ว หรือการโชว์วิสัยทัศน์ก็ไม่ได้กำหนดให้เผยแพร่สาธารณะหรือให้ผู้ปฏิบัติงานรับรู้ ดังนั้นกระบวนการก็ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

โดยหลักเกณฑ์ พนักงานระดับปฏิบัติการไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงอยู่แล้ว แต่ข้อทักท้วงก็เป็นสิทธิที่จะพูด ทักท้วงตามสามัญสำนึกในฐานะเป็นพนักงานคนหนึ่ง การได้ผู้อำนวยการคนใดมีผลต่อการทำงานของเราโดยตรง มีผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรโดยตรง แต่โดยโครงสร้างไม่ได้เอื้อให้เราไปมีส่วนร่วมทำงานตรงนั้น

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมามีการพูดคุยภายใน โดย ศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ได้พูดกับพนักงานหลักร้อยคนกรณีที่มีการปลด ผอ.สมชัย สุวรรณบรรณ บอกว่าการเลือก ผอ.ครั้งต่อไป พวกคุณมีส่วนร่วมเต็มที่เลย ไปร่วมฟังวิสัยทัศน์ได้ ซึ่งโอเค อาจารย์อาจจะพูดโดยคิดหรือไม่ได้คิดก็แล้วแต่ เราก็คาดหวังเล็กๆ ว่าเราจะฟังได้บ้าง แต่เมื่อไม่ได้ฟังก็ไม่เป็นความผิด กฎหมายไม่ได้เอื้ออยู่แล้ว เพียงแต่เล่าให้ฟังเฉยๆ ว่าที่มาที่ไปมันเป็นยังไง เราก็ใช้สิทธิในการทักท้วงโดยสามัญสำนึก

คิดว่าจะมีการแก้ไขเชิงโครงสร้างไหม เช่น การแก้กฎหมาย ให้พนักงานเข้าไปมีส่วนร่วมมากกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้นครั้งต่อๆ ไปก็จะเกิดปัญหาอีก หรือกรณีสองครั้งที่ผ่านมาก็อาจมีคนไม่เห็นด้วยแต่บังเอิญเป็นเสียงส่วนน้อยก็จะทำให้ไม่เกิดการตรวจสอบ โปร่งใส

ผมประเมินยากว่ามันจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรในเชิงโครงสร้างหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าโครงสร้างที่มีอยู่เดิมก็ไม่ได้น่าเกลียด ก็ใช้ได้ โครงสร้างที่มีอยู่เดิมแค่คุณทำตามหลักเกณฑ์ที่มันมีอยู่ มันก็เอื้อให้เราทำงานได้โดยสุจริตใจ โดยความภาคภูมิใจแล้วว่านี่คือทำงานในองค์กรสื่อซึ่งมีความโปร่งใสพอสมควร มีความน่าเชื่อถืออยู่พอสมควร แต่ถ้าคิดว่ากฎหมายยังไม่ได้ก็เปลี่ยนกันในสภา ก็โหวตกัน แต่ถ้ามีอยู่แบบนี้แล้วเหมือนจะพยายามข้ามเส้นอยู่ตลอดเวลา อันนี้คงต้องตั้งคำถามว่าโอเคหรือเปล่า

บรรยากาศของพนักงานระส่ำระสายมาตั้งแต่ตอนปลด ผอ.สมชัยหรือเปล่า ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวนี้

ผมคิดว่าไม่ถึงขนาดนั้น คนภายในเองคงมีการพูดคุยกันอยู่ แต่ไม่ถึงกับระส่ำระสายขนาดนั้น แล้วไทยพีบีเอสเอง โดยประวัติศาสตร์ขององค์กรก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอแล้วคนทำงานเองก็คงเคยชินแล้วมั้งว่าเราอยู่กับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ช่วงที่ผ่านมา การเลือก ผอ.คนก่อน คุณเทพชัย หย่อง อาจารย์สมชัย สุวรรณบรรณ คนอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่ตั้งคำถามไม่ได้ หรือตั้งคำถามได้ก็ไม่มีมูลมากพอ เช่น เราไม่สามารถตั้งคำถามได้ว่าสองคนนี้คุณสมบัติไม่พอ ประสบการณ์ไม่พอ เพราะเขาทำงานในวงการสื่อกันมาสิบยี่สิบปี แต่คนใหม่คงต้องตั้งคำถาม

แล้วคนทำงานตั้งคำถามกันเยอะไหม เข้าใจว่ารวบรวมรายชื่อได้ 30 กว่าคน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยไหม

ไม่น้อย ที่ผ่านมามันมีการรวบรวมรายชื่อลักษณะนี้อยู่พอสมควร กรณีปลดอาจารย์สมชัย สุวรรณบรรณ มีการรวบรวมรายชื่อให้คณะกรรมการนโยบายเปิดทาวน์ฮอลล์ ให้มีการชี้แจงอย่างป็นทางการ กรรมการนโยบายทั้งหมดก็ลงมาชี้แจง การรวมชื่อได้สิบยี่สิบคนนี่เป็นเรื่องปกติสำหรับไทยพีบีเอส สำหรับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือเปิดเผยชื่อ แต่รายชื่อ 30 คนมันเป็นคนละเรื่องกับความสงสัยคลางแคลง ต่อให้มี 1 คน 2 คนก็ต้องตอบคำถาม ผมเองได้ฟังหลายคนก็ตั้งคำถามกันทั้งนั้นแต่ตั้งคำถามแล้วจะร่วมลงชื่อไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง

ให้ดีที่สุดก็คือ กรรมการนโยบายและคณะกรรมการสรรหา ออกมาชี้แจง แล้วก็ฟังความคิดเห็นคนอื่นๆ ว่าเขาคิดเห็นอย่างไร อยากพูดอะไร

ถ้ามีการออกมาชี้แจงตามที่คาดหวัง แล้วปรากฏว่าคำชี้แจงไม่เป็นที่พอใจ จะทำอย่างไรต่อไปหรือไม่

ผมยังไม่อยากเปิดเผยว่าจะทำอะไร แต่ผมคิดว่าผมคงไม่นิ่ง เพื่อนๆ หลายคนคงไม่นิ่ง ถ้าไม่สามารถอธิบายอย่างมีหลักมีเกณฑ์ เข้าใจและยอมรับได้ กระบวนการคงไปต่อ แต่ยังไม่อยากพูดว่าต้องทำอะไร

คิดว่าการออกมาตั้งคำถาม ตรวจสอบผู้บริหารขององค์กรตัวเอง จะส่งผลกระทบต่อคนทำงานไหม

เรามักพูดกันเสมอว่าสื่อมีหน้าที่ตรวจสอบนู่นนี่ ผมคิดว่าคำถามที่ผมตั้งคำถาม เพื่อนๆ พนักงานที่ร่วมกันตั้งคำถามและถกเถียงกันมาจนถึงลงชื่อด้วยนั้น มันสร้างบรรทัดฐานอย่างหนึ่งคือ คุณต้องตรวจสอบตัวเองด้วย แล้วการตรวจสอบนี้ผมก็ยืนยันว่ามันไม่ซับซ้อนอะไร เป็นการตรวจสอบที่เรียบง่ายมาก ถ้าคำถามที่เรียบง่ายขนาดนี้คุณตอบให้กระจ่างไม่ได้ มันก็ทำงานยากมาก และผมคิดว่ากระบวนการตรวจสอบเป็นเรื่องปกติที่สื่อมวลชนควรจะมี และการทำงานด้านสื่อสารมวลชนโดยพื้นฐานก็ต้องตรวจสอบอยู่แล้ว และครั้งนี้จะสร้างบรรทัดฐานว่าพนักงานไม่ควรนิ่งเฉย ปล่อยให้ผ่านๆ ไป เดี๋ยวเขาก็ไปเดี๋ยวเขาก็มา ถ้าปล่อยเรื่อยๆ แบบนั้นคงโดนตั้งคำถามเยอะว่าเป็นองค์กรสื่อสารธารณะที่มีบรรทัดฐานเพียงพอแค่ไหน และบรรทัดฐานพวกนี้มันธรรมดามาก

 

ผู้สมัครชิงตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส

1.นายพัฒนะพงศ์ จันทรานนทวงศ์
2.ผศ.นลินี สีตะสุวรรณ
3.นายสุระ เกนทะนะศิล
4.นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
5.นายวีระยุทธ โชคชัยมาดล
6.นายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค
7.นายสะหะศักดิ์ กลิ่นสุวรรณ
8.นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์
9.นางสุวรรณา บุญกล่ำ
10.นายสุรภากร ศรีวุฒิวงศ์
11.นายธนกร ศรีสุขใส
12.นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์
13.นายยุทธนา วรุณปิติกุล

คณะกรรมการสรรหา ผอ.

1. เดชอุดม ไกรฤทธิ์
2. บุญยืน ศิริธรรม
3. ไพโรจน์ พลเพชร
4. ต่อพงษ์ เสลานนท์

5. โกศล สงเนียม
6.  ศ.ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ                                          

คณะกรรมการนโยบาย สสท.

1.รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการ
2.นางสมศรี หาญอนันทสุข ด้านส่งเสริมประชาธิปไตยฯ
3.นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ด้านส่งเสริมประชาธิปไตยฯ
4.ดร.สัมพันธ์ เตชะอธิก ด้านส่งเสริมประชาธิปไตยฯ
5.ศ.ดร.ปราณี ทินกร ด้านการบริหารจัดการองค์กร
6.นางลดาวัลย์ บัวเอี่ยม ด้านบริหารจัดการองค์กร
7.รศ.ดร.ธีรภัทร สงวนกชกร ด้านการบริหารจัดการองค์กร
8.น.ส.รุ่งมณี เมฆโสภณ ด้านกิจการสื่อสารมวลชน
9.นายพิพัทธ์ ชนะสงคราม ด้านกิจกรรมสื่อสารมวลชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net