Skip to main content
sharethis

นักศึกษา ม.อ.ปัตตานีและภาคประชาชนนับพันร่วมเดินขบวนค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชี้ผลกระทบกระจายทั่วชายแดนใต้ ซ้ำเติมปัญหาความไม่สงบหรือไม่ กระทบการพูดคุยสันติสุขแถลงจุดยืน 4 ข้อจะค้านถึงที่สุดด้วยสันติวิธี เตือนระวังการเผชิญหน้า อ่อนไหวต่อประเด็นความมั่นคงถามสอดคล้องต่อการสร้างสันติสุขหรือไม่

เวลา 13.00 น.วันที่ 22 มกราคม 2559 ที่ตึก 58 อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม ร่วมกับเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) จัดกิจกรรม “ปลุกพลังนักศึกษา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อลมหายใจอีกครั้ง” ให้กับนักศึกษาร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มีนักศึกษาและเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,000 คน

โดยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ด่านความมั่นคงบริเวณทางเข้าเมืองปัตตานีใกล้ห้างบิ๊กซี ได้สกัดกั้นรถกระบะและจักรยานยนต์ของประชาชนที่เดินทางมาจาก อ.เทพา จ.สงขลา ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมนี้ โดยตรวจยึดใบขับขี่และกักไม่ให้เดินทางต่อ ทำให้ต้องใช้เวลาเจรจาราว 1 ชั่วโมงจึงยอมปล่อยให้เดินทางต่อ

ถามความชอบธรรม ใช้ ม.44 เปิดทางสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

สำหรับกิจกรรมเริ่มต้นด้วยการเสวนาสว่างภายใต้เงาดำ หัวข้อ “บทบาทนักศึกษาและประชาชนกับมหัตภัยร้ายโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” มีนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม และตัวแทนนักศึกษาร่วมเสวนา

นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาเมืองเทพา กล่าวในวงเสวนาว่า พื้นที่ที่ถูกกำหนดให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีคนประมาณ 3 พันคน มีมัสยิด2 แห่ง มีกุโบร์ มีปอเนาะ วัด มีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่เช่นนี้หรือที่ควรนำมาทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน

“ปกติผังเมืองอำเภอเทพาเป็นสีเขียว สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้ แต่รัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม ในการพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน”

เทพา-ปัตตานีมีทะเลและป่าชายเลนผืนเดียวกัน

นายคอนดูล ปาลาเร่ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ทำไมจึงไม่ศึกษาผลกระทบในพื้นที่จังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นเขตติดต่อกับพื้นที่ของโรงไฟฟ้าด้วย เพราะทะเลเทพากับทะเลปัตตานีเป็นท้องทะเลเดียวกัน เป็นป่าชายเลนผืนเดียวกัน และกระแสลมสามารถพัดควันลอยมาถึงกันได้

นายคอนดูล กล่าวว่า การไม่มาศึกษาผลกระทบที่ปัตตานีด้วยถือเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม จึงอยากเรียกร้องนักศึกษาปัญญาชนออกมาร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านโรงไฟฟ้าเทพา เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นธรรม ให้สมดั่งปนิธานของมหาวิทยาลัยที่ว่า ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง

ชี้ยึดที่สาธารณะสร้างโรงไฟฟ้ามุสลิมรับไม่ได้

นายมูฮัยมิง อาลี อุปนายกองค์การนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ดีใจที่นักศึกษามาร่วมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างหายนะกับสังคมกับสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้านี้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เคยคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และคัดค้านบริษัทเชฟรอนจนต้องออกจากพื้นที่ไปแล้ว วันนี้นักศึกษา ม.อ.ปัตตานีจะทำเช่นนั้นด้วยเนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะต้องการย้ายกุโบร์ มัสยิด ปอเนาะซึ่งเป็นที่ดินวากัฟ(สาธารณะ)ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่น้องมุสลิมรับไม่ได้

เทพาอุดมสมบูรณ์มากจับปลามือเปล่าได้

นางสาวอิห์ซาน นิปินักศึกษามหาวิทยาฟาฎอนี จ.ปัตตานี กล่าวว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยฟาฎอนีได้ไปเข้าค่ายในพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พบว่าที่นั่นมีความอุดมสมบูรณ์มาก สามารถจับปลากระบอกด้วยมือเปล่าได้ มีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ มีสวนยางพารา มีทะเลที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ แต่ กฟผ.และฝ่ายสนับสนุนกลับบิดเบือนให้ข้อมูลต่อสังคมว่าเทพาเหมือนทะเลทราย แห้งแล้งและยากจน ซึ่งเป็นการกล่าวเท็จอย่างน่ารังเกียจ จริงๆแล้วหากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจส่งผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ สิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรม ดังนั้นการปกป้องชุมชนจึงเป็นหน้าที่ของเรา

ซ้ำเติมปัญหาไฟใต้ ผลกระทบกระจายไปทั่ว

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง แกนนำภาคประชาชน กล่าวว่า หากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นวิถีชุมชนและวิถีวัฒนธรรมจะถูกทำลายจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะมีผลต่อกระบวนการสร้างสันติภาพได้ เนื่องจากความไม่สงบสร้างความเครียดให้กับชาวบ้านมากพออยู่แล้ว ทำไมจึงยังพยายามให้เกิดมลพิษ น้ำเสียจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาให้คนปัตตานีอีก โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะปล่อยมลพิษออกมาจำนวนมากแบบไม่เลือกฝ่าย ไม่ใช่กระทบคนหลักสิบหลักร้อย แต่จะกระทบคนเป็นแสน ซึ่งถือว่าจะเป็นปัญหาที่สาหัสกว่าปัญหาเหตุความไม่สงบมาก

นายตูแวดานียา  กล่าวต่อไปว่า แม้จะใช้เทคโนโลยีก็กรองมลพิษก็กรองได้ไม่เกิน 90%แต่มลพิษที่รอดออกมาก็อาจทำให้เป็นมะเร็งในระยะยาวได้ อีกทั้งการที่รัฐใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงมาควบคุมสถานการณ์ ประชาชาจะออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมากขึ้น เชื่อว่าในที่สุดอาจมีการนำ พ.ร.บ.ฉุกเฉินกลับมาใช้ใน อ.เทพาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพเลย

แถลงจุดยืน 4 ข้อจะค้านถึงที่สุดด้วยสันติวิธี

จากนั้นหลังการเสวนา ตัวแทนนักศึกษาได้อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 4 ข้อ ดังนี้

1.เวทีแสดงความคิดเห็น ค.1 ค.2 และ ค.3 ที่จัดขึ้นไม่มีความชอบธรรม เพราะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบซึ่งไม่ใช่แค่รัศมี 5 กิโลเมตร รวมถึงปัตตานี นราธิวาส และสตูล ได้นำเสนอความคิดเห็น

2.ลำพังสถานการณ์ความขัดแย้งถึงตายด้วยอาวุธตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ก็หนักหนาสาหัสพออยู่แล้ว และถ้ามีโรงไฟฟ้าเชื่อว่าจะยิ่งเป็นการโหมไฟใต้มากกว่าการพัฒนาอย่างแน่นอน

3.เครือข่ายฯ จะพยายามถึงที่สุดตามแนวทางสันติวิธี เพื่อเป็นการหยุดโครงการโรงไฟฟ้าเทพา

4.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) จะต้องนำปัญหาโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือบรรจุเป็นวาระ เพื่อคลี่คลายป้องกันความไม่พอใจของประชาชนต่อกลไกอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ปัญหากลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวทำลายบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้

ร่วมเดินขบวนแสดงการคัดค้านเชิงสัญลักษณ์

จากนั้นเวลาประมาณ 15.00 น. ผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมด รวมทั้งนักศึกษา ม.อ.ปัตตานีกว่า 1 พันคน ได้ตั้งขบวนพร้อมถือธงและป้ายผ้าสีเขียวที่เขียนข้อความคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เดินขบวนออกจากประตูมหาวิทยาลัยไปตามถนนเจริญประดิษฐ์ ผ่านวงเวียนหอนาฬิกา มุ่งหน้าไปยังลานพระบรมรูปรัชกาลที่5 บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างสันติ

กลุ่มค้านโรงแยกก๊าซ,เหมืองลิกไนต์ร่วมต้าน

โดยได้มีการรวมกลุ่มเพื่ออ่านแถลงการณ์อีกครั้ง โดยมีแกนนำภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งจาก อ.เทพา จาก อ.จะนะ จ.สงขลาที่เคยมีประสบการณ์ในการต่อต้านโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าจะนะ และจาก อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลาที่ยังคัดค้านเหมืองถ่านหินลิกไนต์สะบ้าย้อยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี สลับกันขึ้นปราศรัย

ระวังการเผชิญหน้า อ่อนไหวต่อประเด็นความมั่นคง

นายรอมฏอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ transbordernews คนชายข่าวคนชายขอบว่า พื้นที่อำเภอเทพาเป็นพื้นที่ความมั่นคงของรัฐที่มีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และเป็นพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดปัตตานีที่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและกฎอัยการศึก จึงถือเป็นพื้นที่เปราะบางทางความมั่นคง ซึ่งประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองย่อมมีความสุ่มเสี่ยงกว่าพื้นที่อื่นของประเทศ

“ดังนั้นการออกมานำการเคลื่อนไหวของนักศึกษากว่า 1,000 คนในวันนี้จึงมีความน่าสนใจ เนื่องจากที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจะอยู่ในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องความเป็นธรรม หรือเรื่องสิทธิการกำหนดชะตากรรมของคนในพื้นที่เองเท่านั้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวในประเด็นโรงไฟฟ้า จึงทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับนักวิชาการ และภาคประชาสังคม ซึ่งอาจทำให้ประเด็นปัญหาเหล่านี้ถูกผนวกรวมเป็นเรื่องเดียวกันได้”

คำถามคือสอดคล้องต่อการสร้างสันติสุขหรือไม่

นายรอมฏอน กล่าวอีกว่า แม้รัฐบาลขณะนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ในแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งของพื้นที่ ประชาชนค่อนข้างมีความหวังกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ด้วยการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยให้แก่ประชาชน คำถามที่เกิดขึ้นคือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะนำมาเป็นเครื่องมือพัฒนาพื้นที่นี้สอดคล้องต่อแนวทางการสร้างสันติสุขแก่พื้นที่หรือไม่

นายรอมฏอน กล่าวต่อไปว่า เพราะการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมีแนวโน้มจะแหลมคมขึ้น และอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าในอนาคต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นในห้วงสถานการณ์การสร้างความไว้วางใจ ตนจึงคิดว่า กอ.รมน. และ รัฐบาล ควรย้อนทบทวนว่าในเวลานี้เราต้องการแก้ปัญหาอะไรอะไรก่อนหลัง และควรเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเรื่องต่างๆ อย่างไรที่จะเป็นผลดีต่อการสร้างสันติสุขของรัฐที่กำลังดำเนินอยู่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังนักศึกษา ม.อ.ปัตตานีนับพัน ค้านโรงไฟฟ้าเทพา ชี้ผลกระทบกระจายทั่วชายแดนใต้ แถลงการณ์ประกาศ 4 จุดยืน ศูนย์เฝ้าระวังฯ หวั่นกระทบสันติภาพ

 

แถลงการณ์ฉบับที่ 1

เครือข่ายนักศึกษาม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม

“ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง”

จากปนิธานข้างต้น ข้าพเจ้าและนักศึกษา ได้ตระหนักและถือปฏิบัติมา

          ซึ่งจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัต ต้องเผาถ่านหินวันละ 23 ล้านกิโลกรัม และใช้น้ำจากน้ำทะเลถึงวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร มีเนื้อที่โครงการ 2,960 ไร่ ซึ่งมีระยะห่างจากปัตตานีเพียง 3 กิโลเมตร และมีป่าชายเลนที่มีเนื้อที่ ประมาณ 10,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จาก อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จนถึง อำเภอหนองจิก อำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีทะเลผืนเดียวกัน สำหรับการทำมาหากินที่มีมาแต่บรรพบุรุษ

          โครงการดังกล่าวได้ทำลายฐานทรัพยากรชีวิต ของคนสงขลาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีวัฒนธรรมการดำรงชีวิต ที่ข้องเกี่ยวกับทะเลเป็นหลัก 

          และส่งผลกระทบต่อประชาชน ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหารโดยรวมทั้งหมด จากการปนเปื้อนของโลหะหนัก รวมทั้งมลพิษที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีขนาดฝุ่นละออง 2.5 ไมครอน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาท หลอดเลือด หัวใจ อีกทั้งยังเป็นมลพิษข้ามแดน ที่ไปไกลถึง 1,000 กิโลเมตร และคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน

          การแสดงจุดยืนครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการขัดขวางการพัฒนา แต่เพียงอยากให้การพัฒนาอยู่บนพื้นฐาน วัฒนธรรม และสิ่งดีงาม ที่มีมาแต่บรรพบุรุษ

          จะเป็นอย่างไร ถ้าอนาคตข้างหน้า สงขลา เทพา จะนะ และปาตานี แผ่นดินที่มีจิตวิญญาณ ถูกทับถมด้วยปูนซีเมนต์ ปล่องท่อ และหมอกควัน

          “ทำไมแผ่นดินที่เราร่วมกันรักษาจะต้องมีคนมาเอาไป เพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย ในขณะที่คนยากคนจน ต้องเป็นคนเสียสละ”

          ในนามเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ขอเรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชาได้พิจารณาให้ประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ได้มีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆที่จะเกิดขึ้น ต่อไป.

 

แถลงการณ์ฉบับที่ 2

เครือข่ายประชาชน จชต.ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS)

เรื่อง จุดยืนของประชาชนในจังหวัด นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล

ต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ด้วยการดำเนินการตามโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ผ่านมานั้น ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เรียกว่า ค.1 ค.2 และ ค.3 ซึ่งมีลักษณะที่เกณฑ์คนเข้ามาร่วมในเวทีเพื่อให้ได้เห็นภาพว่ามีจำนวนคนที่สนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นจำนวนมากอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยที่ผู้จัดนั้นพยายามเบี่ยงเบนยัดเยียดข้อมูลที่ไม่ครอบคลุมความเป็นจริงทั้งหมดให้กับประชาชนที่ถูกเกณฑ์ดังกล่าว และมีเจตนาอย่างชัดเจนในการกีดกันไม่ให้ประชาชนที่มีชุดข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมหันตภัยของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1-ค.3

โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งห่างจากพื้นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง กลับไม่ได้ถูกนับรวมในกลุ่มเป้าหมายที่จะทำการศึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมหันตภัยโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งๆที่ข้อมูลจากการศึกษาของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ และในต่างประเทศต่างชี้ให้เห็นว่า ระยะของผลกระทบจากมหันตภัยของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่เผาถ่านหินปริมาณมหาศาลถึง 23 ล้านกิโลกรัมต่อวันตลอด 24 ชั่วโมง การมีปล่องควันที่สูงไม่ต่ำกว่า 200 เมตร การยื่นสะพานลงไปในทะเลระยะไม่ต่ำกว่า 3 กิโลเมตร มีเสาสะพานไม่ต่ำกว่า 1,000 ต้น และการขนส่งถ่านหินทางเรือไปมาในระยะ 15 กิโลเมตรนั้น ระยะของผลกระทบนั้นไม่ใช่แค่เพียงรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ในทางกลับกันมลสารที่มาจากควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ฝนกรด ขี้เถ้าลอยและหนัก และการกัดเซาะชายฝั่งของโครงโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น นอกจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและสงขลาเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ทั้งนี้พี่น้องประชาชนในจังหวัดนราธิวาส ยะลา และสตูล ตลอดจนทางทิศเหนือของประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้นทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) จึงมีจุดยืนต่อกรณีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ค.1 ค.2 และค.3 ที่ผ่านมานั้น ดังต่อไปนี้

1.เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ค.1 ค. 2 และค.3 ที่ผ่านมานั้นไม่มีความชอบธรรมใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่เปิดโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งรวมถึงจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลได้นำเสนอความเห็นด้วย

2.ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีกสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา เทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย ไม่มีความจำเป็นใดๆทั้งสิ้นที่ต้องมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะลำพังสถานการณ์ความขัดแย้งถึงตายด้วยอาวุธตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษกว่าที่ผ่านมา ก็หนักหนาสาหัสมากพอแล้ว และถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขึ้นมาเชื่อว่าจะเป็นการยิ่งโหมไฟใต้มากกว่าการพัฒนาอย่างแน่นอน

3.ทางเครือข่ายประชาชนห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูลจะร่วมกับเครือข่ายประชาชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ในการพยายามถึงที่สุดตามแนวทางสันติวิธีเพื่อหยุดการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้ได้

4.ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน. )ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องนำกรณีปัญหาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บรรจุเป็นวาระเพื่อคลี่คลายป้องกันปัญหาความไม่พอใจของประชาชนต่อกลไกอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น จะกลายเป็นน้ำผึ้งเพียงหยดเดียวทำลายบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ เพียงแค่สนองความโลภของคนไม่กี่คน

 

ด้วยจิตรักษ์สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ

วันที่ 22 มกราคม 2559

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net