Skip to main content
sharethis

หลี่ ซิน อดีตบรรณาธิการข่าวออนไลน์ ของหนังสือพิมพ์ในมณฑลกวางตุ้ง ผู้หลบหนีออกจากจีนเมื่อตุลาคมปีก่อน และได้เปิดเผยเอกสารของรัฐบาลจีน แสดงหัวข้อต้องห้ามสื่อรายงานข่าว - เขาได้หายตัวไปหลังนั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปหนองคายเพื่อข้ามไปลาว นับเป็นนักกิจกรรม/ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวจีนรายล่าสุดที่หายตัวในไทย

หลี่ ซิน ถ่ายภาพที่สถานีรถไฟหัวลำโพงก่อนขาดการติดต่อมาตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2559 ขณะเดินทางโดยรถไฟมุ่งหน้าไป จ.หนองคาย เพื่อข้ามไปยังประเทศลาว (ที่มาของภาพ: Qiao Long/The Guardian)

 

23 ม.ค. 2559 หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน ของอังกฤษ รายงานเมื่อ 22 ม.ค. นี้ว่า หลี่ ซิน (Li Xin) นักเรียกร้องสิทธิชาวจีนและอดีตนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งหลบหนีออกจากประเทศจีน และเผยแพร่เอกสารลับเกี่ยวข้องกับเรื่องโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้หายตัวไประหว่างอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้จากการเปิดเผยของภรรยา

โดยครั้งสุดท้ายที่ทราบว่าหลี่ ซิน อยู่ที่ไหน ก็คือก่อนที่เขาจะโดยสารรถไฟเส้นทางที่จะมุ่งสู่ประเทศลาว การหายตัวไปของเขา นับเป็นเหตุที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในประเทศไทยที่ซึ่งผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลปักกิ่งมักจะหายตัวไป หรือถูกเนรเทศโดยรัฐบาลทหารที่แสดงความเป็นพันธมิตรกับจีนแผ่นดินใหญ่

หลี่ ซิน เป็นคอลัมนิสต์และบรรณาธิการข่าวออนไลน์ ของหนังสือพิมพ์หนานฟางตู้ชือเป้า หรือ เมืองใต้รายวัน (Southern Metropolis Daily/南方都市报) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง หลายเดือนที่ผ่านมาเขาพยายามลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศตะวันตก แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ชือ ซานเหมย (Shi Sanmei) ภรรยาของหลี่ ซิน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเดอะการ์เดียน

โดยหลี่เดินทางออกจากจีนผ่านทางฮ่องกง และไปถึง นิว เดลี ประเทศอินเดียเมื่อ 30 ตุลาคมปีก่อน ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของจีนพยายายามที่จะแบล็กเมล์เพื่อให้เขาเป็นสายลับติดตามนักกิจกรรมรายอื่นๆ และขู่ว่าเขาจะถูกดำเนินคดีข้อหาเป็นสายลับ หากเขาไม่ยอมทำตาม

"เขาเคยถูกเรียกตัวให้มาเป็นสายข่าว แต่เขาก็หนีออกมาและพยายามแสวงหาที่ลี้ภัยการเมือง" ชือ ซานเหมย ซึ่งอยู่เมืองจีนให้สัมภาษณ์เดอะการ์เดียนทางโทรศัพท์ "ฉันคิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนนำตัวเขากลับไป"

 

เคยปล่อยเอกสารรัฐบาลจีน-ลิสต์หัวข้อต้องห้ามสื่อรายงานข่าว

ในช่วงที่หลี่ ซิน อยู่ที่อินเดีย เขาได้ปล่อยเอกสารที่ได้จากสมัยที่ทำงานหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงเอกสารของรัฐบาลจีน ที่แสดงหัวข้อต้องห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวรายงาน

เอกสารที่หลี่ ซิน เปิดเผยระหว่างที่แสวงหาที่ลี้ภัยในอินเดีย เป็นลิสต์หัวข้อที่รัฐบาลจีนห้ามสื่อรายงานข่าว แสดงคำสำคัญห้ามรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับ การชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี ค.ศ. 1989 และ ฟาหลุนกง (ที่มา: HKFP)

เอกสารที่หลี่ ซิน เปิดเผยระหว่างที่แสวงหาที่ลี้ภัยในอินเดีย เป็นลิสต์หัวข้อที่รัฐบาลจีนห้ามสื่อรายงานข่าว แสดงคำสำคัญห้ามรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุรถยนต์เฟอร์รารี่ชนประสบอุบัติเหตุในปักกิ่ง ทำให้ หลิง กู่ ลูกชายของ หลิง จีหัว ผู้ช่วยของอดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา เสียชีวิต (ที่มา: HKFP)

 

โดยในรายงานเมื่อ 13 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมาของเว็บไซต์ Hong Kong Free Press (HKFP) เผยแพร่เอกสารที่หลี่ ซิน นำมาเปิดเผยดังกล่าว โดยหัวข้อที่รัฐบาลจีนห้ามรายงาน ซึ่งมีทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุประท้วงที่เทียนอันเหมิน เช่น "การประท้วงของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี ค.ศ. 1989", "ขบวนการเพื่อประชาธิปไตยปี 89", "4 มิถุนายน"

หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับลัทธิฟาหลุนกง เช่น "ฟาหลุนกง" และ "ความซื่อสัตย์, ความเมตตา, ความอดกลั้น" ซึ่งเป็นคำขวัญของฟาหลุนกง

นอกจากนี้ยังมีคำต้องห้ามซึ่งเกี่ยวข้องกับข่าวใหญ่ในจีนเช่น "ลูกชาย", "ใบขับขี่", "ปักกิ่ง" และ "เฟอร์รารี่" ซึ่งถูกจัดไว้ในหมวดหมู่เดียวกัน โดย HKFP รายงานว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุ รถยนต์เฟอร์รารี่ชนกันในปักกิ่ง ซึ่งทำให้ หลิง กู่ เสียชีวิต โดย หลิง กู่ ผู้นี้เป็นลูกชายของ หลิง จีหัว ผู้ช่วยของอดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา

ในลิสต์ต้องห้ามรายงานข่าว ยังประกอบไปด้วยชื่อบุคคล ซึ่งรวมไปถึงผู้นำจีนทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งสมาชิกครอบครัว ทนายความสิทธิมนุษยชนอย่างเกา ชีเจิ้ง (Gao Zhisheng) และผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนของบีบีซีอย่าง จอห์น สวีเนย์ (John Sweeney) ด้วย

ขณะเดียวกันมีรายชื่อสื่อต้องห้ามรายงานข่าวด้วย ได้แก่ บลูมเบิร์ก (Bloomberg), วอยซ์ออฟอเมริกา (Voice of America), เอเชียเสรี (Radio Free Asia), สื่อไต้หวันอย่างแอปเปิลเดลี (Apple Daily), รวมทั้งสื่อในเครือซินหัว อย่างเว็บไซต์ที่รายงานข่าวเชิงความมั่นคง China Securities Daily รวมทั้งซินหัวรายวัน Xinhua Daily Telegraph

นอกจากนี้ยังมีหัวข้อต้องห้าม ที่ไม่สามารถอธิบายว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร เช่น "แหวนแต่งาน" และ "แต่งงานมาแล้ว 7 ปี"

HKFP ได้ลองใช้คำต้องห้ามเหล่านี้ เสิร์ชผ่านเว็บค้นหาคำอย่าง Baidu และเว็บโซเชียลมีเดียอย่าง Weibo โดยพบว่าคำเหล่านี้ถูกบล็อกโดยแสดงข้อความเช่น "ไม่สามารถแสดงผลการค้นหาได้เนื่องจากกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง"

 

ถูกปฏิเสธลี้ภัยจากอินเดีย สหรัฐอเมริกา จึงเดินทางมาไทยก่อนหายตัวไป

ทั้งนี้รายงานของสถานีวิทยุเอเชียเสรี (RFA) ระบุว่า อินเดียไม่ยอมรับคำขอลี้ภัยของเขา นอกจากนี้เขายังถูกปฏิเสธจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา หลังจากที่เขาพยายามขอวีซ่านักท่องเที่ยว

ในปีนี้หลี่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ที่ซึ่งเป็นที่พำนักระยะยาวสำหรับผู้หลบหนีชาวจีน ที่พยายายามจะเดินทางต่อไปในโลกตะวันตก หลังจากนั้นเขาพยายามที่จะต่อรถไฟไปยังชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเพื่อเข้าสู่ประเทศลาว แต่หลังจากนั้นภรรยาของเขาก็ไม่สามารถติดต่อเขาได้อีก

"เขานั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปหนองคาย เมื่อเวลา 20.36 น. ของวันที่ 10 มกราคม เราสามารถติดต่อกันได้ในช่วงนั้น แต่วันถัดมาประมาณ 07.40 น. เราก็ขาดการติดต่อ" ชือ ซานเหมย กล่าว

"เจ้าหน้าที่ (จีน) กล่าวว่า พวกเขาสามารถจับเขาได้ทุกเมื่อและจะดำเนินคดีเขาในข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและข้อหาเป็นสายลับ เขากลัวมาก เขาไม่สามารถจะอยู่ในเมืองจีนได้อีกต่อไป เขาพยายามที่จะหลบหนีออกจากเมืองจีน" ภรรยาของหลี่ ซิน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเดอะการ์เดียน

 

เหตุก่อนหน้านี้ เจ้าของร้านหนังสือในฮ่ององหายตัวเมืองไทย-โผล่อีกทีอยู่เมืองจีน

โดยกรณีของ หลี่ ซิน เป็นนักกิจกรรมชาวจีนรายล่าสุดที่หายตัวไประหว่างอยู่ในไทย โดยก่อนหน้านี้ กุ้ย หมินไห่ บุคคลสัญชาติสวีเดนซึ่งเกิดในจีน เจ้าของร้านขายหนังสือ "Causeway Bay Books" ในฮ่องกง ซึ่งเปิดจำหน่ายหนังสือที่วิจารณ์รัฐบาลจีน ได้หายตัวไปจากบ้านพักที่พัทยา ประเทศไทย เมื่อ 17 ต.ค. 2558 และในเวลาไล่เลี่ยกันระหว่าง 14 ต.ค. - 10 พ.ย. พนักงานในร้านที่ฮ่องกงอีก 3 คน ก็หายตัวไป และในวันที่ 30 ธ.ค. 2558 พนักงานอีกรายซึ่งถือสัญชาติอังกฤษชื่อหลี่ โป ก็หายตัวไป

โดยกรณีของ กุ้ย หมินไห่ ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ 17 ต.ค. นั้น ต่อมาในเดือนธันวาคมเดอะการ์เดียนได้เผยภาพจากกล้องวงจรปิดที่อพาร์ทเมนต์ในพัทยา ซึ่งกุ้ยหมินไห่พักอาศัย ในกล้องมีการจับภาพรถยนต์สีขาวของกุ้ยหมินไห่เข้าไปจอดในอาคารวันเดียวกับที่เขาหายตัวไป และเผยให้เห็นชายเสื้อลายท่าทางน่าสงสัยยืนคอยอยู่แถวหน้าอพาร์ทเมนต์จ้องมองรถยนต์ของกุ้ยหมินไห่ โดยเจ้าหน้าที่อพาร์ทเมนต์เปิดเผยว่าในเวลาต่อมาเขาเห็นชายเสื้อลายเดินไปขึ้นรถของกุ้ยหมินไห่ ก่อนที่ทั้งคู่จะขับรถออกไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ต่อมาเมื่อ 17 ม.ค. 2559 CCTV ของทางการจีน ได้เสนอภาพการให้สัมภาษณ์รับสารภาพของ กุ้ย หมินไห่ ว่าเขากลับเมืองจีนด้วยความสมัครใจ และขอสารภาพผิดในคดีเมาแล้วขับรถชนผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตซึ่งเป็นคดีตั้งแต่ปี 2546 จะขอยอมรับโทษไม่ว่าจะคดีใดๆ และขอให้รัฐบาลสวีเดนซึ่งเขาถือสัญชาติอย่าเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสื่อหลายฉบับตั้งข้อสังเกตว่า วิดีโอการรับสารภาพของกุ้ยหมินไห่ คล้ายกับการรับสารภาพผ่านสื่อหลายครั้งในจีนคือมีความเป็นไปได้ว่าเขาจะถูกข่มขู่บังคับให้รับสารภาพ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ทางการไทยส่งกลับ 2 นักกิจกรรมชาวจีนขณะแสวงหาที่ลี้ภัยไปประเทศที่สาม

ขณะที่เมื่อ 13 พ.ย. 2558 นักกิจกรรมชาวจีน ตง กวงปิง (Dong Guangping) และเจียง เยเฟย (Jiang Yefei) ถูกเจ้าหน้าที่ไทยส่งกลับจีนแผ่นดินใหญ่ โดย ตง กวงปิง หนีออกจากประเทศจีนพร้อมครอบครัวมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 หลังจากต้องโทษจำคุก 3 ปี ระหว่างปี 2544-2547 นอกจากนี้เขาถูก "ทำให้หายตัว" โดยเข้าไปอยู่ในสถานที่ควบคุมตัวลับเป็นเวลา 8 เดือนในปี 2557

ส่วนเจียง เยเฟย เป็นนักวาดการ์ตูนซึ่งหนีมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2551 โดยก่อนที่เขาจะหนีมา เขาถูกทางการจีนควบคุมตัวและทรมาน หลังจากที่เขาวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเรื่องการแก้ปัญหาเหตุแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวน

โดยทั้งตง กวงปิง และเจียง เยเฟย ซึ่งเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยภายใต้กระบวนการของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และยังทำเรื่องขอลี้ภัยไปยังแคนาดาด้วย ได้ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมตั้งแต่ 27 ต.ค. และดำเนินคดีข้อหาหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย และก่อนถูกเนรเทศ รัฐบาลจีนได้ยอมเสียค่าปรับแทนบุคคลทั้ง 2 รายละ 5 พันบาท และ 6 พันบาทตามลำดับ เพื่อที่จะได้นำตัวกลับประเทศจีน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยหลังการส่งตัวกลับจีน ทำให้ทางการแคนาดาอนุมัติฉุกเฉินให้ครอบครัวของเจียง เยเฟย และตง กวงปิง เดินทางมาตั้งถิ่นฐาน โดยพวกเขาเดินทางออกจากไทยตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2558 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net