Skip to main content
sharethis

22 ม.ค. 2559 หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บุคคลในวิดีโอคลิปซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้พิพากษา ซึ่งแสดงออกซึ่งความไม่พอใจอย่างหนักต่อกรมการขนส่งทางบก พร้อมทั้งกล่าประโยคเด็ออย่าง "มึงสังวรไว้นะว่ากูหนะเป็นนายของมึง" ล่าสุดวันนี้(22 ม.ค.59) มีการปล่อยวิดีโอคลิปผู้พิพากษาคนดังกล่าว แสดงอาการเกรี้ยวกราดและด่าทอเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง บางเขน โดย สปริงนิวส์ ตรวจสอบพร้อมรายงานด้วยว่า  ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ แต่จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันใด ยังไม่สามารถยืนยันได้ อาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือเมื่อปีที่แล้วก็ได้ เพราะเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้หลายครั้ง โดยการไฟฟ้ามีความเห็นจะไม่ดำเนินคดี เพราะเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากอาการป่วยทางจิต

โดยวานนี้ นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ยอมรับว่าผู้หญิงที่ปรากฎในคลิปวิดีโอนั้น คือ นางสาวชิดชนก แผ่นสุวรรณ ผู้พิพากษาประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีประวัติป่วยทางจิต ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ และต้องทานยารักษาตลอดเวลา โดยมีอาการดังกล่าวมาประมาณ 2 ปี แล้ว และทราบว่าก่อนเกิดเหตุนางสาวชิดชนกไม่ได้ทานยา อาการป่วยจึงกำเริบ ไม่สามารถควบคุมสติอารมณ์ได้ (อ่านรายละเอียด)

ขณะที่วันนี้ มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายสืบพงษ์ กล่าวถึงกรณีที่วันนี้ มีการแชร์คลิปในเฟซบุ๊ก สื่อโซเชียล ภาพเหตุการณ์ หญิงสาวตะโกนเสียงดังเอะอะ ที่สำนักงานการไฟฟ้านคร บางเขน และมีการระบุข้อความพร้อมติดแฮชแท็ก ผู้พิพากษาวีนแตก โผล่อาละวาด ที่การไฟฟ้านครหลวง ว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นทราบว่า เป็น น.ส.ชิดชนก เช่นเดียวกัน แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนจะเกิดเหตุที่กรมขนส่งทางบกวันที่ 20 ม.ค. 59 อย่างไรก็ดีในวันนี้ เวลา 15.30 น. สำนักงานศาลยุติธรรม มอบหมายให้คณะพา น.ส.ชิดชนก ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจากเหตุที่เกิดขึ้น

นายสืบพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ถือว่า น.ส.ชิดชนก เป็นผู้ป่วย ทางกฎหมายจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยในประการที่น่าจะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย เว้นแต่ในกรณีที่จะเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยหรือผู้อื่น หรือเพื่อความปลอดภัยสาธารณชน การฝ่าฝืน มีบทลงโทษตาม มาตรา 50 ทั้งจำคุกและปรับ อย่างไรก็ดีระหว่างนี้ น.ส.ชิดชนก จะได้รับการดูแลรักษาผ่านโรงพยาบาลที่จะวินิจฉัยอาการและให้ยารักษา หากสามารถมาปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว จะกลับมาปฏิบัติหน้าที่สำนักงานศาลยุติธรรม ที่ไม่ได้เกี่ยวกับงานด้านคดี
 
นายสืบพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามคลิปนั้นจะดำเนินต่อไป หากพบว่าเป็นเรื่องที่เกิดจากปัญหาสุขภาพจิต ที่มีผลต่อการทำงาน ก็ถือเป็นเรื่องการหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ จะมีขั้นตอนดำเนินการตามกระบวนการต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net