ประสบการณ์ฝรั่งเศส การร่างรัฐธรรมนูญช่วงเปลี่ยนผ่าน-บทบาทศาลรัฐธรรมนูญ

 

เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการเรื่อง แง่มุมทางกฎหมายของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย  โดยเชิญนักกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีร่วมแลกเปลี่ยน

วิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เกิดขึ้นจากบรรดานักกฎหมายที่จบจากยุโรปได้หารือกันและเห็นว่าควรมีการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านกฎหมายซึ่งมีพลวัตรสูงมาก รวมถึงด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา

“คนจบกฎหมายมาเก่าแก่ กับคนจบใหม่ ถ้าไม่แลกเปลี่ยนกันตลอดก็แทบจะคุยกันไม่รู้เรื่อง  และช่วงนี้หัวข้ออะไรจะน่าสนใจไปกว่าการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกี่ยวพันกับหลายสาขาวิชา” วิษษุกล่าว

ประชาไทเก็บความเบื้องต้นในส่วนของประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญมาถึง 16 ฉบับ และมีศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประเทศไทย การร่างรัฐธรรมนูญของเขา ศาลรัฐธรรมนูญของเขา แตกต่างจากของเราอย่างไร  

Philippe Raimbault ผู้อำนวยการ Science Po Toulouse นำเสนอประสบการณ์การจัดทำรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส สรุปความได้ว่า (อ่านฉบับเต็มที่นี่

ความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญปรากฏชัดเจนขึ้นในการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรและผู้ปฏิวัติให้อำนาจนิติบัญญัติเป็นศูนย์กลาง ตอนนั้นยังไม่มีระบบตรวจสอบอำนาจของกฎหมาย เพราะถือว่าคนที่ร่างกฎหมายมาจากประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชนย่อมมีความชอบธรรมแล้ว ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันสหรัฐอเมริกาก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเช่นเดียวกัน ต่อมาในศตวรรษที่ 19 หลายประเทศมีการปฏิวัติและมีรัฐธรรมนูญอย่างแพร่หลาย ศตวรรษที่20 ฮานส์ เคลเซ่น (Hans Kelsen) เสนอทฤษฎีให้มีระบบตรวจสอบความชอบของกฎหมาย ซึ่งเป็นที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศสังคมนิยมเองก็พยายามพัฒนารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเช่นกัน เรียกว่า แนวคิดรัฐธรรมนูญแพร่หลายไปทั่ว จนถึงปัจจุบันเรียกว่ามันเป็นภาระหน้าที่ที่ประเทศต้องมีรัฐธรรมนูญ

สำหรับประสบการณ์เรื่องรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสมีทั้งในแง่เวลาและพื้นที่ รัฐธรรมนูญปี 1791 ถือเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันรวมแล้วมีทั้งหมด 16 ฉบับ ไม่นับรวมช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบซึ่งไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านความเห็นชอบอีก 5 ฉบับ

“ประสบการณ์ของฝรั่งเศสน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยซึ่งมีรัฐธรรมนูญจำนวนมากเช่นกัน” Philippe กล่าว

ประเด็นสำคัญที่จะนำเสนอคือ อะไรคืออัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional Identity) ของฝรั่งเศส ซึ่งคำนี้จะเป็นกรอบกำหนดคนร่างรัฐธรรมนูญให้ต้องร่างสอดคล้องตามอัตลักษณ์รัฐธรรมนูญด้วย


Philippe Raimbault 

อัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญแบ่งเป็น 1.ด้านรูปแบบ ซึ่งในฝรั่งเศสเรียกว่าก่อตั้งสำเร็จแล้ว 2.ด้านเนื้อหา ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการถกเถียงละก่อร่างสร้างตัวให้ชัดเจนขึ้น

1.อัตลักษณ์ด้านรูปแบบ มีดังนี้ 1.1 อำนาจอธิปไตยแห่งชาติ มีมาตั้งแต่ช่วงปฏิวัติที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกๆ ประกาศเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ประชาธิปไตย ให้มีการใช้อำนาจนี้ผ่านทางผู้แทนราษฎรซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้งทั่วไปที่ให้สิทธิประชาชนอย่างเท่าเทียม  1.2 หลักการแบ่งแยกอำนาจ

“ทั้งสองอย่างนี้เป็นอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญในทางรูปแบบ ถือว่าค่อนข้างนิ่งแล้ว ไม่ว่ามีผู้ร่างรัฐธรรมูญกี่ครั้ง ก็ไม่สามารถร่างออกจไปจากนี้ได้” Philippe กล่าว

2.อัตลักษณ์ด้านเนื้อหา จากการสำรวจแนวคำพิพากษาของศาลพูดถึงเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย นักวิชาการจึงพยายามจะค้นหาโดยหยิบยกจากคุณลักษณะของสาธารณรัฐที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ 2.1 แบ่งแยกไม่ได้ 2.2 เป็นประชาธิปไตย 2.3 เป็นรัฐฆราวาส (ปลอดศาสนา) 2.4 เป็นรัฐสังคม

“อัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์ที่มีสภาพบังคับแต่เป็นพลังประวัติศาสตร์ พลังของคนในชาติที่บ่มเพาะมันขึ้นมา แต่ในอนาคตเป็นไปได้ว่า ศาลอาจมีบทบาทนำอัตลักษณ์ทั้ง 4 ข้อไปใช้บังคับให้เห็นชัดมากขึ้นในทางกฎหมาย” Philippe กล่าว

ภายหลังการบรรยาย มีการตั้งคำถามจากผู้เข้าฟัง คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในฝรั่งเศสเหมือนหรือต่างจากของไทย เนื่องจากกรณีของไทยนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ

Philipe ตอบว่า ในฝรั่งเศสนั้นตรงกันข้าม ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย เพราะอำนาจประชาชนนั้นแสดงผ่านผู้แทนราษฎร กับอีกทางหนึ่งคือ ประชาชนใช้อำนาจโดยตรงผ่านการลงประชามติ ดังนั้นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสจึงไม่สามารถเข้ามาขัดขวางหรือเกี่ยวข้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

มีคำถามว่าแนวคิดเรื่องบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในฝรั่งเศสมีการถกเถียงกันมากไหม

Philipe ตอบว่า ในฝรั่งเศส ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบอกเองเลยว่าไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมันเป็นอำนาจที่สูงกว่าเขาคืออำนาจประชาชนซึ่งผ่านผู้แทนราษฎร หากดูจากคำวินิจฉัยในปี 1962 และ 2003 อย่างไรก็ดี ในปี 1958 นั้นเริ่มมีระบบตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการตรวจสอบกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น ส่วนใหญ่ในสังคมก็คิดเห็นแบบนี้ แต่ก็เริ่มมีบางส่วนที่เริ่มเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรมีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

Xavier Magnon จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Toulouse Capitole I ได้พูดถึงบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสว่า ความยากของศาลรัฐธรรมนูญคือทำอย่างไรแนวคิดประชาธิปไตยกับแนวคิดนิติรัฐจึงจะเดินไปด้วยกันได้โดยไม่ขัดแย้งกัน ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีระบบศาลรัฐธรรม ซึ่งแนวคิดว่าด้วยเรื่องนี้ก็มีทั้งส่วนที่สนับสนุนและส่วนที่คัดค้าน 


Xavier Magnon

สำหรับส่วนที่สนับสนุนการมีอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ในรัฐธรรมนูญมีการเขียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ ซึ่งอาจมีการใช้อำนาจเกินกว่าที่กำหนด จึงต้องมีองค์กรคอยตรวจสอบ และการมีองค์กรนี้ก็จะทำให้ประชาธิปไตย หรือการชี้นำโดยเสียงข้างมากเดินไปได้กับหลักนิติรัฐ ไม่ซ้ำรอยปรากฏการณ์นาซี ซึ่งเป็นกระบวนการประชาธิปไตยแต่สุดท้ายก็ทำลายนิติรัฐเสียสิ้น การมีศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอดังที่มีข้อกังวล แต่กลับจะทำให้เข้มแข็งขึ้น เพราะประชาชนมีกำลังสู้กับองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐได้ นักวิชาการบางส่วนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญนี่แหละที่จะช่วยประชาชนตรวจสอบว่าผู้แทนที่เลือกเข้าไปในสภาได้ทำงานตามที่ประชาชนต้องการหรือไม่ เรียกว่าเป็น “ผู้พิทักษ์ประชาชน” อาจมีคำถามว่าแล้วใครจะตรวจสอบองค์กรตรวจสอบ เราอาจตกใจว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นสุดท้ายไหม คำตอบคือไม่ใช่ ในที่สุดหากฝ่ายนิติบัญญัติ-ประชาชนไม่เห็นด้วยก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนนั้นได้ เสียงสุดท้ายหรือคนที่ควบคุมศาลรัฐธรรมนูญก็คือประชาชน

สำหรับแนวคิดคัดค้านการมีศาลรัฐธรรมนูญนั้นมองว่า มันเป็นอุปสรรคขัดขวางหรือต่อต้านระบบเสียงส่วนใหญ่ แนวคิดคิดนี้ไม่ต้องการให้มีศาลรัฐธรรมนูญเลย เพราะมันไปคัดง้างกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่แสดงออกผ่านผู้แทนราษฎรในการออกกฎหมายต่างๆ หรือหากจะมีศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องมีองค์กรตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญด้วย นอกจากนี้หากดูคำวิจิฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญในฝรั่งเศสจะเห็นว่า ตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้พิทักษ์ประชาชนอย่างที่ผู้สนับสนุนอธิบายแต่มันเป็นการพิทักษ์รัฐเสียมากกว่า โดยอ้างการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะมากกว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ส่วนสุดท้ายคือที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญก็มีอดีตประธานาธิบดีด้วย

ส่วนสุดท้าย Xavier กล่าวถึงบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสกับกฎหมายพิเศษในสถานการณ์ไม่ปกติว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 เกิดเหตุระเบิดกลางกรุงปารีส รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของกฎหมายพิเศษในฝรั่งเศส ทั้งนี้กฎหมายพิเศษในฝรั่งเศส แบ่งได้ดังนี้ 1.มาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญให้อำนาจเด็ดขาดที่ประธานาธิบดี ใช้กับเหตุการณ์ที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญทำงานไม่ได้เลย 2.กฎอัยการศึก อำนาจฝ่ายพลเรือนจะผ่องถ่ายไปยังฝ่ายทหาร 3.สถานการณ์ฉุกเฉิน อำนาจยังคงอยู่ที่ฝ่ายพลเรือน แต่การตรวจสอบความชอบอยู่ที่ศาลยุติธรรม

สำหรับมาตรา 16 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีบทบาทเข้าไปดูว่าข้อเท็จจริงนั้นเข้าตามเงื่อนไขที่จะต้องใช้มาตรานี้ไหม องค์กรต่างๆ ยังทำงานได้หรือไม่ วิธีการที่จะทำให้ระบบของประเทศฟื้นคืนเป็นจริงไหม ความเหมาะสมความพอดีของมาตรการที่ประธานาธิบดีประกาศใช้

สำหรับกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉิน ศาลรัฐธรรมนูญจะมีบทบาทต่อเมื่อมีการออก พ.ร.บ.เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ โดยศาลจะเข้าไปดูสองเรื่องคือ สถานการณ์เข้าเงื่อนไขพิเศษหรือไม่ และรายละเอียดต่างๆ เป็นไปตามหลักการไหม ซึ่งก็เป็นปัญหาถกเถียงว่าใช้หลักอะไรเพราะสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นไม่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ในรัฐธรรมนูญ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท