Skip to main content
sharethis

ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย พาลูกบ้านพบรองอธิบดีกรมชลประทาน คัดค้านโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก กันแม่น้ำเลยที่ ต.ปากตม หวั่นกระทบ 350 หลังคาเรือน ขณะที่ข้อมูลของกรมชลประทานหวังแก้ปัญหาขาดแคลนแหล่งเก็บน้ำ โดยเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 72,000 ไร่ และฤดูแล้ง 18,100 ไร่ ครอบคลุม 7 ตำบลของ อ.เชียงคาน

ที่มาของภาพ: Transborder News

22 ม.ค. 2559 สำนักข่าว Transborder News รายงานเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ว่า ที่กรมชลประทาน กรุงเทพฯ ตัวแทนชาวบ้าน 10 คน จาก ต.ปากตม อ.เชียงคาน จังหวัดเลย เดินทางมายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมชลประทาน เพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก ที่จะกั้นแม่น้ำเลยในพื้นที่ตำบลปากตม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแก้ภัยแล้งในโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยมี ว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ เป็นตัวแทนรับหนังสือจากชาวบ้าน

ตัวแทนยื่นหนังสือ นางสรรัตน์ แก้วสา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ปากตม จ.เลย กล่าวว่า ชาวบ้านไม่รู้มาก่อนว่าจะมีโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก จนกระทั่งกรมชลประทานเข้ามาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านแสดงความเห็นคัดค้านทุกเวที เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย 350 หลังคาเรือน และที่ทำกิน 1,000 ไร่ และจะกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนไทพวน ที่ชุมชนบ้านกลาง ซึ่งเป็นชุมชนไทพวนแห่งเดียวใน จ.เลย

ข้อคัดค้านของชาวบ้านได้แก่ 1.ชาวบ้านไม่เคยรับรู้รายละเอียดการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีดอนรักก่อนที่จะมีการเริ่มโครงการ 2.ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของผลกระทบตลอดลำน้ำ ซึ่งจะเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3.ชุมชนบ้านกลางเคยประสบปัญหาน้ำท่วม และประสบปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง เกรงว่าหากมีน้ำท่วมสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อปัญหาดังกล่าวให้รุนแรงยิ่งขึ้น จึงต้องการให้กรมชลประทานมีการทบทวนโครงการนี้ใหม่

สำหรับโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย วางแผนก่อสร้างระหว่าง 6 ปีงบประมาณ คือ พ.ศ. 2559 - 2564 โดยจะดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำและอาคาร สถานีสูน้ำและระบบท่อส่งน้ำ ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท

ที่มาของภาพ: สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 12 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน

จากข้อมูลของสำนักงานก่อร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 12 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน เสนอความจำเป็นในการสร้างโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักว่า 1. เนื่องจากในพื้นที่ประสบปัญหาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร โดยลุ่มน้ำเลยมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 1,132 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีแหล่งกักเก็บน้ำรวม 49.62 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 4.34 ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย

2. ปัญหาน้ำหลากและอุทกภัย  พื้นที่ลุ่มน้ำส่วนมากเป็นภูเขา มีความลาดชันสูง ทำให้มีปริมาณน้ำหลากในฤดูฝนมาเร็วและแรงประกอบกับ ในช่วงเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ระดับน้ำของน้ำโขงบริเวณปากแม่น้ำเลยจะมีระดับน้ำปริมาณน้ำจากแม่น้ำโขงจะไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำเลยเป็นระยะทางประมาณ 20-30 กม. ทำให้ปริมาณน้ำระบายออกได้น้อยน้ำจะเอ่อท้นท่วมขึ้นมาถึงตัวจังหวัดเลย ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตร

3. ปัญหาภัยแล้ง  ในฤดูแล้งปริมาณน้ำท่าที่มีน้อยประกอบกับระดับน้ำแม่น้ำโขงจะอยู่ต่ำกว่าระดับท้องน้ำปากน้ำเลย  ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเลยแห้งขอดติดท้องน้ำเป็นส่วนมาก ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้เพื่อการเกษตร

โดยผลประโยชน์โครงการ ที่กรมชลประทานคาดว่าจะได้รับคือ 1. เพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝนจำนวน 72,500 ไร่ และฤดูแล้งจำนวน 18,100 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบลของ อ.เชียงคาน ได้แก่ ต.เชียงคาน ต.นาซ่าว ต.ปากตม ต.หาดทรายขาว ต.เขาแก้ว ต.จอมศรี และ ต.ธาตุ คิดเป็น 44  หมู่บ้าน 9,287 ครอบครัว (ข้อมูลปี 2557) และเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ตลอดจนสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเลยตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรเพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน โดยเกษตรกรมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 4,600 บาท ต่อไร่

3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 389,200 คนต่อปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวอำเภอเชียงคานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 200 ล้านบาทต่อปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net