องค์กรแรงงานเผยแรงงานข้ามชาติในมาเลเซียทำงานวันละ 16 ชั่วโมง

แรงงานข้ามชาติในมาเลเซียร้องผ่านองค์กรแรงงาน ถูกใช้งานในโรงงานกระจกกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน สถิติพบแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มาจาก จีน, อินเดีย, เนปาล, ศรีลังกา ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ได้รับปากว่าจะได้ก่อนเข้ามาทำงาน แรงงานหญิงถูกคุกคามทางเพศ

เว็บไซต์ solidaritycenter.org รายงานเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าแรงงานข้ามชาติในมาเลเซียรายหนึ่งได้ร้องผ่านองค์กรแรงงานว่าปีที่ผ่านมาเขาถูกบังคับให้ทำงานในโรงงานกระจกแห่งหนึ่งเป็นเวลา 16 ชั่วโมงต่อวันระหว่างวันจันทร์ถึงศุกร์ และอีกแปดชั่วโมงระหว่างวันเสาร์และอาทิตย์โดยไม่มีวันหยุด นอกจากนี้ยังพบว่าเขามีแผลเป็นความยาวเจ็ดนิ้วซึ่งเขาระบุว่าเป็นอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน

ข้อมูลนี้มาจากรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิ์แรงงานในมาเลเซีย โดยความร่วมมือของสมาพันธ์สหภาพแรงงานมาเลเซีย (Malaysian Trades Union Confederation หรือ MTUC) และ สหพันธ์สหภาพแรงงานเนปาล (General Federation of Nepalese Trade Unions หรือ GEFONT) ซึ่งทั้งสององค์กรเป็นองค์กรพันธมิตรกับ Solidarity Center สากล

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา MTUC และ GEFONT ได้รับการร้องเรียนหลายร้อยกรณีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติของนายจ้างมาเลเซีย ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มาจาก จีน, อินเดีย, เนปาล, ศรีลังกา ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ได้รับปากว่าจะได้ก่อนเข้ามาทำงานยังประเทศมาเลเซีย ส่วนแรงงานหญิงก็มีการร้องเรียนว่าถูกคุกคามทางเพศโดยนายจ้างอีกด้วย

แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะถูกใช้งานอย่างหนักในอุตสาหกรรมสวนปาล์มของมาเลเซีย โดยปีที่แล้วมีแรงงานจากเนปาลเสียชีวิตในเนปาลประมาณ 400 คน จากข้อมูลของฝ่ายแรงงานสถานทูตเนปาล

N. Gopal Kishnam เลขาธิการของ MTUC ระบุว่าแม้เศรษฐกิจของมาเลเซียจะชะลอตัวลง แต่ความต้องการแรงงานข้ามชาติยังมีมากขึ้น เนื่องจากนายจ้างจะสามารถจ่ายค่าจ้างได้ต่ำกว่าแรงงานมาเลเซีย และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการและประกันสังคมให้แรงงานข้ามชาติ

Gopal ยังระบุว่าประมาณการกันว่าปี 2558 ที่ผ่านมามีการเลิกจ้างแรงงานในมาเลเซียถึง 20,000 คน โดยแรงงานจำนวน 6,000 คนที่ถูกเลิกจ้างเป็นพนักงานของมาเลเซียแอร์ไลน์ (Malaysian Airlines) ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างบริษัท และในปีนี้คาดว่าจะมีการเลิกจ้างมากกว่าเดิมเป็นสองเท่า

“ผู้ประกอบการยังต้องการแรงงานข้ามชาติ เพราะพวกเขาเหล่านั้นจัดการง่ายกว่าแรงงานท้องถิ่น และพวกเขายังทำงานหนักกว่าและบ่นน้อยกว่า” Gopal กล่าวกับมาเลเซียอินไซเดอร์ (Malaysian Insider) สื่อชื่อดังของมาเลเซีย

แม้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Traffickingin Persons Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจะปรับอันดับมาเลเซียขึ้นเป็นกลุ่ม Tier-2 ซึ่งเป็นระดับที่ “มีความพยายามปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ” แต่ MTUC ระบุว่ายังคงพบว่านายจ้างมาเลเซียยังคงยึดวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติไว้ และหากแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นออกมาเรียกร้องสิทธิพวกเขาก็อาจจะไม่มีงานในมาเลเซียให้ทำอีกต่อไป

 

ที่มาเรียบเรียงจาก

http://www.solidaritycenter.org/16-hour-days-for-migrant-workers-at-malaysia-factory/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท