Skip to main content
sharethis

สำนักข่าว Wired ของอังกฤษรายงานเรื่องการใช้แรงงานเด็กในวงจรอุตสาหกรรมผลิตวัตถุดิบป้อนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกอย่างแบตเตอรี โดยระบุว่าโคบอลต์จำนวนหนึ่งที่ใช้ในอุตสาหกรรม มาจากการใช้แรงงานเด็กในเหมืองแร่ รวมถึงมีการกดขี่แรงงานและมีสภาพการทำงานที่ย่ำแย่

สภาพการทำเหมืองแร่ในคองโกเมื่อปี 2555 โดยยังคงมีการใช้แรงงานเด็ก และใช้อุปกรณ์ง่ายๆ รวมทั้งมือเปล่าในการทำเหมือง (ที่มาภาพประกอบ: Flickr.com/Responsible Sourcing Network Follow/CC BY-NC 2.0)

20 ม.ค. 2559 แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล ร่วมกับองค์กรเฝ้าระวังด้านทรัพยากรของแอฟริกา (Afrewatch) ร่วมกันสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้พบว่าแร่โคบอลต์ร้อยละ 20 ที่มีการส่งออกจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) เป็นอุตสาหกรรมการคัดแยกขนาดเล็กที่ไม่มีการตรวจสอบดูแลกระบวนการเลย

โคบอลต์เป็นแร่ที่ใช้ในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของอุปกรณ์ไอทีที่มีใช้กันอย่างแพร่หลาย และการเติบโตตลาดยวดยานอิเล็กโทรนิคก็ทำให้มีความต้องการแร่โคบอลต์เพิ่มมากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าจะมีบริษัทใหญ่เป็นผู้ควบคุมกิจการเหมืองแร่โคบอลต์เหล่านี้แต่ในกระบวนการคัดแยกแร่เหล่านี้มีอยู่จำนวนมากที่ยังคงใช้วิธีการคัดแยกด้วยมือเปล่าก่อนจะถูกส่งต่อให้กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่นำไปใช้

มีการประเมินว่าผู้ที่ทำงานในกระบวนการคัดแยกขนาดเล็กดังกล่าวมีอยู่ราว 110,000 ถึง 150,000 คน ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในจำนวนนี้องค์กรพิทักษ์เด็กยูนิเซฟระบุว่ามีเด็กอยู่ด้วยเกือบ 40,000 คน ซึ่งคนงานเหล่านี้จะทำการคัดแยกด้วยเครื่องมือง่ายๆ และนำไปขายในท้องตลาดซึ่งแอมเนสตี้ระบุว่าตลาดเหล่านี้จะนำไปขายต่อให้กับบริษัทเทคโนโลยีอย่างต่างๆ เช่น แอลจี, เลอโนโว, หัวเว่ย, ไมโครซอฟต์, แอปเปิล เป็นต้น

แอมเนสตี้และ Afrewatch ทำการสำรวจด้วยวิธีการสัมภาษณ์ชาวคองโกทั้งเด็กและผู้ใหญ่รวม 90 คน ซึ่งพวกเขาเปิดเผยถึงสภาพการทำงานในเหมืองแร่ที่ไม่มีการสวมหน้ากากหรือถุงมืออีกทั้งยังต้องทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวันไม่เว้นวันหยุด นอกจากนี้พวกเขายังได้รับเงินค่าจ้างต่อวันเพียง 1,000 ฟรังก์คองโก (ประมาณ 40 บาท) ต่อวันเท่านั้น เด็กที่ต้องทำงานอยู่ในเหมืองก็ไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน มีคนงานเหมืองเสียชีวิต 80 รายตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. 2557 ถึง ธ.ค. 2558

แอมเนสตี้ยังนำเสนอสภาพการจ้างงานที่โหดร้ายจากการสัมภาษณ์แรงงานเด็กอายุ 14 ปีที่บอกว่าเขาต้องทำงานอยู่ในเหมือง 24 ชั่วโมงจนกระทั่งสามารถออกมาจากเหมืองได้ในวันถัดมา ขณะที่แรงงานคนอื่นๆ เล่าว่าพวกเขาถูกทุบตีและบีบบังคับให้ทำงานโดยกลุ่มยามติดอาวุธ และถูกพ่อค้าซื้อแร่โกงราคาจากการที่พวกเขารับซื้อแร่ต่อกระสอบโดยไม่ตรวจสอบน้ำหนักหรือคุณภาพของแร่แต่อย่างใด

รายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่าการใช้แรงงานเด็กในเหมืองแร่เหล่านี้เป็นการกดขี่แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุดในสายตาของนานาชาติ เป็นการทำงานที่เสี่ยงอันตรายและก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาวะของเด็กซึ่งรัฐบาลควรมีการสั่งห้ามและทำให้การใช้แรงงานเหล่านี้หมดไป แต่รัฐบาลคองโกก็จัดให้มีการตรวจสอบสภาพการทำงานของเหมืองแร่เหล่านี้น้อยมาก

แอมเนสตี้ยังระบุถึงบริษัทที่รับซื้อแร่โคบอลต์จากแหล่งของคองโกคือบริษัทเจ้อเจียงหัวโหย่ว (Zhejiang Huayou Cobalt Company Ltd) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน บริษัทนี้รับซื้อจากพ่อค้าคนกลางในคองโกแล้วนำแร่มาผ่านกระบวนการแปรรูปแล้วขายต่อให้กับผู้ผลิตแบตเตอร์รี่จากนั้นถึงส่งต่อผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทเทคโนโลยีแบรนด์ใหญ่ๆ ประกอบชิ้นส่วนต่อไป

อย่างไรก็ตามบริษัทไอที 16 แห่งที่ถูกระบุในรายงานว่ามีส่วนในการรับซื้อวัตถุดิบจากการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม มีอยู่สองแห่งที่กล่าวในเชิงปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ในขณะที่บริษัทส่วนมากกล่าวต่อแอมเนสตี้หรือจัดแถลงข่าวของตนเองต่อเรื่องนี้ว่าจะมีการตรวจสอบวงจรการผลิตวัตถุดิบของพวกเขาและจะไม่ยอมให้มีการใช้แรงงานเด็กเกิดขึ้นโดยจะมีการจัดการทันทีที่พบเห็น

บริษัทที่ออกปากว่าจะตรวจสอบและจัดการกับกรณีการใช้แรงงานเด็กได้แก่บริษัทซัมซุง, โซนี, แอปเปิ้ล ขณะที่ไมโครซอฟท์และเอชพีกล่าวว่าพวกเขายังไม่สามารถตรวจสอบพบว่าบริษัทพวกเขามีความเกี่ยวของกับเรื่องดังกล่าวแต่ถ้าหากมีการตรวจพบจะดำเนินการทันที

อย่างไรก็ตามในรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ที่รับซื้อวัตถุดิบเหล่านี้กระทำตามกระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (due diligence) จากแนวทางของสหประชาชาติและองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการระบุถึงความรับผิดชอบของบริษัทเพื่อ สืบเสาะ ป้องกัน บรรเทาและชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของพวกเขาต่อสิทธิมนุษยชน

 

เรียบเรียงจาก

Child labour revealed at heart of battery supply chain, Wired, 19-01-2016 http://www.wired.co.uk/news/archive/2016-01/19/cobalt-mining-amnesty-international 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net