Skip to main content
sharethis

'จาตุรนต์-ณัฐวุฒิ' ประกาศคว่ำร่าง รธน. 'นิพิฏฐ์' เผยปชป.พร้อมหารือเพื่อไทย ถกจุดยืน 'อภิสิทธิ์' แนะกรธ.รับฟังความคิดเห็น 'วันชัย' ชี้จับมือคว่ำร่างฯปากไวเกินเหตุ 'ประยุทธ์' แนะนักการเมืองที่ออกมาค้าน รธน. ควรที่จะปรับตัวเอง ประวิตรยันไม่ให้ประชุมพรรคแสดงความเห็นต่อร่าง รธน.

กระแสการเคลื่อนไหวรณรงค์ไม่รับหรือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเริ่มปรากฏมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะแกนนำพรรคเพื่อไทย เชน นายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ขึ้นภาพปกบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ นายวัฒนา เมืองสุข ที่เขียนวิพากษณ์วิจารณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้

ภาพปกเฟซบุ๊กแฟนเพจของ จาตุรนต์ 

'ณัฐวุฒิ' ลั่นรณรงค์ 'ไม่รับ' ร่าง รธน. 

ขณะที่ เมื่อวันที 18 ม.ค. ที่ผ่านมา นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ตนไม่อาจยอมรับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญดังที่ปรากฏได้ และจะต้องรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในชั้นประชามติ เพราะเชื่อมั่นว่าการแก้ปัญหาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดำรงความมุ่งหมายของฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่อเนื่องจากการรัฐประหารครั้งที่แล้ว คือการบอนไซประชาธิปไตยและขยายอำนาจให้องค์กรอิสระมีอิทธิพลเหนือตัวแทนที่มาจากประชาชน ที่แตกต่างคือ รัฐธรรมนูญปี 50 มุ่งกำหนดผลเลือกตั้งให้พรรคการเมืองที่อยู่ในอาณัติเป็นรัฐบาล พร้อมกับวางกลไกอำนาจไว้เพื่อสร้างเงื่อนไขทางการเมืองตามที่ต้องการ แต่ร่างปัจจุบันสะท้อนว่า ผู้ถืออำนาจไม่คาดหวังกับพรรคการเมืองเดิม จึงเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก และให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญลงดาบรัฐบาลเลือกตั้ง พร้อมทั้งขยายอำนาจองค์กรอิสระอื่นให้เชื่อมโยงกันและมีอิทธิพลสูงสุด (อ่านรายละเอียด)

ประชาธิปัตย์พร้อมหารือเพื่อไทย ถกจุดยืน

วันเดียวกัน (18 ม.ค. 59) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหนัาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ตนพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมาจะทำให้พรรคการเมืองใหญ่หันมาคุยกัน โดยล่าสุดพรรคเพื่อไทย(พท.) ก็ยินดีที่จะร่วมพูดคุย ว่า คิดว่าเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ที่พรรคการเมืองต้องพูดคุยกัน เพื่อหาข้อยุติ เพราะหากเราไม่คุยกัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะไม่ยุติ ทั้งนี้ หากจะให้ตนพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยังเร็วเกินไป ต้องรอร่างแรกออกมาก่อน และอ่านละเอียดทั้งหมดก่อน

เมื่อถามว่า พรรคพท.พร้อมที่จะพูดคุยด้วย พรรคปชป.พร้อมหรือไม่ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า สำหรับตนยินดีพูดคุยกับทุกพรรค และขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองมาร่วมพูดคุย โดยเมื่อได้เห็นร่างแรกแล้ว ให้แต่ละพรรคต้องไปศึกษา และแยกเป็นประเด็นหลักๆ เพื่อให้เกิดจุดสมดุล แล้วรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) พิจารณาทบทวน เพราะยังมีเวลาที่ กรธ.สามารถทบทวนได้

(ที่มา : มติชนออนไลน์, 18 ม.ค. 59)

อภิสิทธิ์แนะกรธ.รับฟังความคิดเห็นหลังคลอดร่างรธน.

จากนั้น 19 ม.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่าพรรคการเมืองจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่า  เรื่องนี้ยังเร็วเกินไปที่แต่ละฝ่ายจะมาบอกว่า ต้องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่ากรอบเวลาที่กำหนดเอาไว้ คือ เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จัดทำร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จสิ้น ก็จะต้องรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นอย่ารีบด่วนสรุปว่าการรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง  และการจะตั้งป้อมอย่างเดียวว่ารับหรือไม่รับก็ไม่เป็นประโยชน์ จึงอยากให้ทุกฝ่ายค่อยๆเสนอแนะ ตนยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญ หากตั้งธงไว้ก่อนจะทำให้การเมืองไม่ราบรื่น

เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับนายนิพิฏฐ์อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้พรรคการเมืองมาพูดคุยกันถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมือง ยังมีหลายประเด็น ดังนั้น กรธ.ต้องฟังภาคประชาชนด้วย และเรื่องการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี 3 คนนั้นมีปัญหาเบื้องต้นคือ กรธ.ไม่ยอมยืนยันว่านายกรัฐมนตรีควรเป็นส.ส. ถ้าจะเอาเรื่องของสถานการณ์พิเศษเรื่องคนข้างนอกมาเป็นข้อยกเว้น ตนคิดว่าจะเป็นเหตุผลที่อธิบายกันได้ง่ายกว่า แต่เมื่อเริ่มต้นเช่นนี้ ก็จะเป็นปัญหาที่จะย้อนกลับไปที่เดิม ตนจึงยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ตอบโจทย์ การจะบอกว่านายกฯเป็นคนนอกได้ แต่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อ คำถามคือสมมติว่าอยากได้นายกฯในภาวะวิกฤตที่บอกว่าไม่ให้มีฝ่าย แต่เสนอโดยพรรคการเมือง จะเป็นไปได้หรือ นี่คือการคิดไม่ครบ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ กรธ.จะต้องทบทวน เช่น ระบบเลือกตั้งและสิทธิเสรีภาพ โดยกรธ.อย่ายึดถือว่าสิ่งที่ทำมานั้น ดีที่สุด เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้
 
(ที่มา : เดลินิวส์, 19 ม.ค. 59)
 
วันชัย ชี้ เพื่อไทย-ปชป.จับมือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญปากไวเกินเหตุ
 
19 ม.ค. นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ จะจับมือกันคว่ำรัฐธรรมนูญในชั้นประชามติ เพราะไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า เหล่าคนที่ออกมาพูดล้วนแต่เป็นบุคคลที่ไม่ใช่ตัวแทนของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ อย่างแท้จริง ทั้ง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือ พลพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาพูดเป็นหน้าเดิม ๆ ที่มาในนามส่วนตัว มีอคติต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับแม่น้ำ 5 สายทุกเรื่อง มาพูดเกินเลยความจริงทั้งที่ยังไม่เห็นหน้าตารัฐธรรมนูญครบถ้วนทั้งหมด
 
“เรียกว่าติเรือทั้งโกลน เอาความไม่พอใจส่วนตัวชี้นำสังคม ปากไวเกินกว่าเหตุผล ซึ่งประชาชนจะรู้ทัน เมื่อถึงเวลาทำประชามติรัฐธรรมนูญ เสียงประชาชนจะเป็นตัวชี้ขาด ไม่ใช่เสียงวิจารณ์ของคนพวกนี้ พอมาตราใด บทบัญญัติใด ไม่ตรงใจก็ออกมาขู่ โวยวายชักดิ้นชักงอจะเอาให้ได้ เป็นเพียงเสียงขู่เท่านั้น แท้จริงแล้วนักการเมืองก็อยากจะเลือกตั้ง เพราะหากรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ การเลือกตั้งก็ต้องยืดออกไป เชื่อว่า กรธ. กับผู้เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ คงชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนได้ ไม่หวั่นไหว หรือกลัวคำขู่ เพราะถ้ากลัวคงไม่รัฐประหารเข้ามา” นายวันชัย กล่าว
 
(ที่มา : MGR Online, 19 ม.ค. 59)
 

ประยุทธ์ แนะนักการเมืองที่ออกมาค้าน รธน. ควรที่จะปรับตัวเอง

19 ม.ค. 59 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเริ่มมีพรรคการเมืองออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าวว่า นักการเมืองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชน แต่การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ วันนี้ รัฐบาลทำงานให้คน 70 ล้านคน ไม่ได้ทำให้กับนักการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หากนักการเมืองจะกลับเข้าสู่การเมือง ในฐานะตัวแทนประชาชน ก็ควรมีความคิดริเริ่มที่สร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่นักการเมืองเคยมีส่วนทำให้เกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น นักการเมืองจะต้องช่วยแก้ปัญหา  ไม่ควรท้วงติงเพียงอย่างเดียว

“นักการเมืองที่ออกมาคัดค้าน และโจมตีร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ควรที่จะปรับตัวเอง หากจะเข้าสู่การเมืองในอนาคต เพราะบางคนผิดกฎหมายชัดเจน แต่ไม่ยอมรับผิด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 19 ม.ค.59)

 
พล.อ.ประวิตรไม่ห่วงกระแสประชามติคว่ำร่างรธน.
 
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่าว่า  ไม่ทราบ ต้องถามนักการเมือง แต่ส่วนตัวไม่กังวลว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศที่ทุกคนต้องยึดถือ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนกรณีพรรคการเมืองต้องการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ผ่อนคลายคำสั่งห้ามดำเนินกจิกรรมทางการเมือง เพื่อประชุมพรรคระดมความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่อนุญาตและยังต้องยึดตามแนวทางเดิมของคสช. สิ่งสำคัญคือจะต้องสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศให้ได้เสียก่อน ส่วนในอนาคตจะอนุญาตหรือไม่ต้องดูที่ความเหมาะสมของสถานการณ์
 
(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 19 ม.ค.59)
 
ไม่ให้ประชุมพรรคแสดงความเห็นต่อร่าง รธน.

ขณะที่วันนี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังคงย้ำนโยบายของ คสช. ที่ไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองจัดประชุมพรรคตามที่หลายพรรคการเมืองร้องขอ เพื่อระดมความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้กับ กรธ. นำไปพิจารณายกร่าง เนื่องจากมองว่าการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนที่พรรคการเมืองคิดว่าองค์กรอิสระจะไปจำกัดสิทธิและมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารเป็นการคิดไปเอง ทั้งที่องค์กรอิสระมีหน้าที่ให้คำแนะนำเท่านั้น และเชื่อว่าความเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะไม่เป็นการกดดันรัฐบาลและ กรธ. เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงยังสามารถดูแลสถานการณ์ได้

(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 20 ม.ค.59)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net