Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

"ในวันจันทร์ที่ 18 มกราคมนี้ จะออกคำสั่งให้ทุกคนกลับไปทำงานเหมือนเดิม พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เป็น      การก้าวล่วงการทำงานของผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้อาวุโสต่างๆ และไม่ได้บอกว่ามีการทุจริตภายใน สสส. แต่ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนและสังคมโดยตรง ก็จะต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ให้เป็นที่ครหา รวมทั้งยังเป็นเรื่องที่กี่ยวข้องกับระบบงานงบประมาณ ซึ่งจะต้องมีการดูว่าไปใช้จ่ายอย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรีก็ได้กล่าวขอโทษที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด และทำให้การทำงานหยุดชะงักลง หลังวันจันทร์ ที่ 18 มกราคมนี้ ทุกอย่างก็กลับไปเป็นปกติ แต่ทั้งนี้ในเรื่องการทำงานของ สสส. ก็จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนด้วย นอกจากนี้ก็ขออย่าให้มีการยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก"[1]

พลันข่าวดีของภาคีกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถูกประกาศออกมาจากปากประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ก็อาจนับได้ว่านี่คือ การประกาศชัยชนะของเผด็จการโดยธรรมโดยแท้ พวกเขาเล่นบทโศกและบทอ้อน ในนามของคุณหมอจอมบทบาททั้งหลาย ตั้งแต่ พลเดช ปิ่นประทีป, ประเวศ วะสี กระทั่งมงคล ณ สงขลาที่เปลืองตัวขนาดสารภาพว่าทำผิดไปแล้วหลังจากที่ออกไปชัตดาวน์ เพราะตอนนี้จะค้านก็ยังไม่กล้าเพราะกลัวเหล่าทหารหาญ หลังจากที่รัฐบาลทหารเข้าไปเล่นเกมอำนาจกับหมอแบบที่พวกหมอไม่คาดคิด เนื่องจากวินิจฉัยทางการเมืองอย่างผิดพลาด การรุกคืบครานี้ทำให้ฝ่ายหมอเองตกเป็นรอง จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด

ตัดกลับมาที่ประเด็นหลักของบทความนี้ แม้อาจจะเป็นการกล่าวหากันเกินไปว่า พุทธทาสเป็นพระที่สั่งสอนเทศนาให้รับใช้เผด็จการ แต่เรามิอาจปฏิเสธได้ว่า พุทธทาสนี่แหละที่สร้างความคิดรวบยอดอันสำคัญที่ทำให้

เผด็จการมีความชอบธรรมได้ โดยผูกโยงกับคุณธรรมของผู้นำทางการเมืองภายใต้แนวคิดที่รู้จักกันดีว่า "เผด็จการโดยธรรม"

               
วลีนี้แม้จะถือกำเนิดขึ้นราวทศวรรษ 2510 แต่กลับมีชีวิตต่อเนื่องมาอย่างยาวนานร่วมกับบริบทสังคมไทย ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  และถูกบ่มเพาะภายใต้สังคมประชาธิปไตยครึ่งใบมาจนถึงปี 2531 เมื่อฝ่ายขุนศึกยอมปล่อยให้ชาติชาย ชุณหะวัณได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แน่นอนว่าภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบก็เปิดให้มีการเลือกตั้ง เหล่านักการเมืองที่เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษก็ค่อยๆถูกนิยามว่าเป็นนักเลือกตั้ง ผู้มีอิทธิพล เป็นมนุษย์ผู้เห็นแก่ตัวโกงกินชาติบ้านเมือง จนกระทั่งการรัฐประหาร 2534 ที่ชนชั้นกลางบางส่วนกลับแสดงยินดีปรีดาเนื่องจากว่า เป็นการกำจัดนักการเมืองที่คอรัปชั่นกันอย่างมูมมามจนได้รับฉายาว่า "บุฟเฟ่ต์คาร์บิเนต"

บริบทการเมืองเช่นนี้ยิ่งตอกย้ำในสิ่งที่พุทธทาสสอนสั่ง ผู้นำทางการเมืองเช่นนี้มิใช่บุคคลในอุดมคติที่ควรจะมีอำนาจปกครองบ้านเมือง การตระบัดสัตย์และขึ้นครองอำนาจเองของสุจินดา คราประยูรเองในทางหนึ่งก็กลายเป็นว่า "การเสียสัตย์เพื่อชาติ" นั้น เป็นการทำลายความชอบธรรมของพวกเขาเอง จนเกิดการประท้วงและเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และเป็นจุดที่ทำให้กองทัพกลับเข้าไปอยู่ในกรมกองอีกยาวนาน หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 ปี พุทธทาสภิกขุก็ถึงแก่มรณกรรม หลังจากที่มีความพยายามฉุดรั้งไม่ให้เขาถึงแก่ความตายด้วยวิธีต่างๆนานาที่ไม่ใช่สิ่งที่พุทธทาสเองปรารถนา สรีระสังขารของพุทธทาสไม่ใช่ของพุทธทาสแต่เป็นของผู้มีอำนาจทางศีลธรรมทั้งหลายที่ปฏิบัติการผ่านศพของเขา สิ่งเหล่านี้ปรากฏในบันทึกของประเวศ วะสี

               
พุทธทาสตายแล้ว...

แต่ความคิดของพุทธทาสดังกล่าวไม่ได้ตายตามไปด้วย ภาพลักษณ์และคำสอนของพุทธทาสที่ถูกเผยแพร่ผ่านหนังสือ สวนโมกข์ เทปคาสเส็ตในหมู่ชนชั้นกลางผู้ใฝ่ธรรมะขยายตัวขึ้น พร้อมกับสำนึกพลเมืองที่ดำเนินกิจกรรมคู่ขนานกับกิจกรรมทางการเมืองในรัฐสภาและค่อยๆก่อตัวมาจนเป็นเครือข่ายภาคประชาชน หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญเหล่านั้นก็ได้แก่กลุ่มของประเวศ วะสี, เสม พริ้งพวงแก้ว เห็นได้ชัดจากการรณรงค์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ความองอาจของรัฐธรรมนูญที่มีการยึดโยงกับประชาชน การเปิดฟังเสียงอย่างกว้างขวางในทุกจังหวัดเป็นสิ่งที่คนไทยไม่เคยคาดคิดมาก่อน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหลังจากนั้น การเข้าไปแอบอยู่หลังทหารแล้วแสดงตนเป็นผู้รู้ภาคพลเมือง ได้เผยโฉมหน้าสำคัญของพวกเขาเองว่า ในที่สุดแล้วสิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่การกระจายอำนาจสู่ประชาชน เท่ากับการเถลิงอำนาจของพวกเขาเองเพื่อมีอำนาจแล้วค่อยส่งเสริมให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี ประชาชนที่ดีของพวกเขาคือประชาชนที่เชื่อฟัง มีวินัย

แม้คำตอบจะอยู่ที่หมู่บ้าน แต่ต้องเป็นหมู่บ้านที่พร้อมจะร่วมมือกับพวกเขา มากกว่าสมยอมกับนักการเมืองผู้เลวร้าย

               

พุทธทาสตายแล้ว...

หนึ่งในกลุ่มของพวกเขาสามารถสร้างรากฐานได้อย่างมั่นคง หลังจากที่พวกเขาจัดตั้งกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2544 ในช่วงที่ยังญาติดีกับทักษิณ ชินวัตร เหล่าหมอยังสามารถผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์มหาศาลกับคนทั่วไปคือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่เจ้าของไอเดียคือ หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ใครยังไม่ลืมจะนึกภาพออกที่เสม พริ้งพวงแก้ว ออกมาอุ้มสมทักษิณเมื่อตอนติดคดีแจ้งทรัพย์สินเป็นเท็จเห็นทักษิณว่าเป็นอัศวินควายดำที่จะนำประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีกว่า

ทักษิณนอกจากจะอยู่ครบเทอมแล้ว เขายังได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย กระนั้นยิ่งอยู่นานก็ยิ่งเกิดปัญหาและศัตรูมากขึ้น นโยบายที่ไม่เข้าท่าและส่อทุจริต นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและชีวิตส่วนตัวอย่างกว้างขวาง ในที่สุดก็เกิดการรวมตัวกันเพื่อโค่นล้มทักษิณอันเป็นภาพตัวแทนของสุดยอดผู้นำที่ชั่วร้าย เกิดการเมืองมวลชนที่สวมเสื้อเหลือง พวกที่ฝักใฝ่ความดีที่อาศัยความดีเหล่านี้เป็นพาหะทางการเมืองนั้น มักเป็นกลุ่มที่ตรงกันข้ามกับพลพรรคพลพวกของทักษิณ ชินวัตรและเครือข่ายที่ใช้เป็นตัวแบบความชั่วร้ายที่พึงกำจัดโดยมิจำเป็นต้องเลือกวิธี ที่มีทั้งพระสงฆ์อันน่าเคารพ สื่อมวลชนที่แม้จะเคยประวัติด่างพร้อย แต่ก็พร้อมกลับตัวกลับใจ กระทั่งบุคคลทั่วไป การต่อต้านรัฐบาลไม่ได้สิ้นสุดลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง แต่กลับสิ้นสุดด้วยความรุนแรงอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดนั่นคือ การรัฐประหาร ในนามของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น คมช.

               

พุทธทาสตายแล้ว...

รัฐประหารดังกล่าวอยู่ในมือเหล่าขิงแก่ที่ในที่สุดก็ใช้อำนาจแบบเกรงอกเกรงใจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้แผ้วทางและเคลียร์ทางให้เกิดโครงสร้างที่ยักยอกอำนาจประชาชนในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสถานีโทรทัศน์ที่อ้างว่าเพื่อประชาชนในนามไทยพีบีเอส ส่วนคนใกล้ชิดประเวศ อย่างพลเดช ปิ่นประทีป ก็ได้เป็นถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งที่หากอยู่ในระบบการเมืองรัฐสภา คงไม่มีโอกาสเสนอหน้าในตำแหน่งนั้นได้ง่ายนัก อย่างไรก็ตามรัฐประหารครั้งนี้แม้จะได้รัฐธรรมนูญใหม่ฉบับ 2550 โดยอ้างประชามติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นประชามติมัดมือชกที่เป็นการเลือกที่ไม่ได้มีตัวเลือกมากนัก กระทั่งไม่ทำให้เกิดความแข่งขันที่เท่าเทียม เพราะเป็นฝ่ายรัฐที่ระดมประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีเสียมากมาย จนบางคนเห็นว่า ควรจะไม่ไปโหวต มากกว่าไปกาโหวตไม่รับที่จะไปสร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการนี้ การกำจัดความชั่วร้ายต่อไปก็คือ การยุบพรรคไทยรักไทย แต่แกนอักษะของความชั่วร้ายในนามเครือข่ายทักษิณก็ยังเข้ามาชูคอในรัฐสภาได้อีกในร่างใหม่ นั่นคือ พรรคพลังประชาชน

        

พุทธทาสตายแล้ว...

ความไร้ความสามารถของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สามารถเอาชนะเลือกตั้งได้ ก็ทำให้พวกเขาต้องกล้ำกลืนบทบาทฝ่ายค้านต่อไปอย่างไร้อนาคต จนกระทั่งสมัคร สุนทรเวชถูกกล่าวหาและปลดจากตำแหน่งจากกรณีทำรายการโทรทัศน์ แม้สมชาย วงศ์สวัสดิ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมา แต่ในที่สุดพรรคพลังประชาชนก็ไม่รอดถูกยุบ และผู้อยู่เบื้องหลังการถ่ายทำได้ดันให้อภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการยินยอมพร้อมใจของประชาชนได้สำเร็จ แน่นอนว่าการชุมนุมทางการเมืองทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง กลายเป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่เคยเผชิญมาก่อน การเมืองมวลชนที่มีค่าไม่เท่ากันแสดงให้เห็นจากการปราบปรามเสื้อแดงอย่างโหดเหี้ยมโดยทหารและรัฐบาลที่สั่งการในยุคนั้น ทวิตเตอร์ที่มีนัยทางการเมืองที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจอย่าง "ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน" เป็นที่รู้จักและถูกตีความไปต่างๆกัน

               

พุทธทาสตายแล้ว...               

หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ การเลือกตั้ง 2554 ปิศาจตนใหม่ก็ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของหญิงสาวลูกหนึ่ง นั่นคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การโจมตีรัฐบาลอย่างหนักเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตมหาอุทกภัย ปี 2554 แต่รัฐบาลก็ยังอยู่ได้ จนกระทั่งพรรคเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำทิ้งไพ่โง่ (ที่ควรสำนึกและรับผิดชอบในทุกกรณี) ด้วยการนิรโทษกรรมเหมาเข่งในปี 2556 บทสรุปดังกล่าวสร้างความชอบธรรมอย่างแรงกล้าให้กับผู้ต่อต้านรัฐบาลที่มีอยู่เดิม รวมทั้งออกบัตรเชิญให้คนหน้าใหม่และคนที่ไม่ค่อยแสดงตัวออกมาต่อต้านรัฐบาลอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตั้งแต่หมอไปจนถึงนักเรียนระดับประถมศึกษา คนมืดฟ้ามัวดินออกมาจากที่ซ่อนมาเพื่อต่อต้าน ม็อบนกหวีดออกมาส่งเสียงเจี๊ยวอย่างเหี้ยมหาญ และหลายกรณีก็เต็มไปด้วยความรุนแรงทั้งกายภาพและสัญลักษณ์ การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้กับฝ่ายอธรรมะโดยแท้ การออกมาชุมนุมตามที่สาธารณะ บ้างลงทุนเดินจากมหาวิทยาลัยที่อยู่นอกเมืองกว่าสิบกิโลเมตรเข้ามาเพื่อแสดงจุดยืนและพลัง บ้างหอบสังขารมาในยามแก่เฒ่าเพื่อแสดงความรักชาติ บ้างก็ออกจากวัดมาตั้งเวทีหน้าศูนย์ราชการ พวกเขาใช้สิทธิบนสาธารณูปโภคแห่งประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ในวันนั้น ความกดดันอย่างหนักทำให้รัฐบาลต้องประกาศยุบสภาปลายปี 2556 ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลยังไม่พอใจ เดินหน้าชัตดาวน์ประเทศไทย และจนถึงที่สุดคือขัดขวางการเลือกตั้งละเมิดสิทธิ์อันชอบธรรมของพลเมือง ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ การออกมาไล่รัฐบาลแสดงนัยชัดเจนถึงการเรียกร้องให้กองทัพออกมารัฐประหาร ท่ามกลางความปั่นป่วน ความรุนแรงย่อยๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เป็นพักๆ แต่แล้วในที่สุด ทหารก็มาตามนัดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทหารทำตามบทบาทที่ควรจะเป็นคือ เป็นเผด็จการที่มีคุณธรรมเข้ามาปฏิบัติภารกิจเพื่อทำประเทศให้กลับมาดีดังเดิม รัฐบาลจึงเริ่มต้นการ "คืนความสุข" "เดินหน้าประเทศไทย" และอะไรอีกมากมายภายใต้อุดมการณ์ดังกล่าว

               

พุทธทาสตายแล้ว...             

เมื่อรัฐประหารผ่านไปเกือบสองปี ประชาชนมหาศาลถูกลิดรอนสิทธิทางการเมือง และการเข้าถึงทรัพยากร หลายคนออกมาแสดงความไม่พอใจ ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ สำหรับผู้ที่เรียกทหารออกมาแล้วพวกเขาอาจไม่รู้สึกอะไร แน่นอนว่าฝ่ายออกบัตรเชิญรัฐประหารยังคงนิ่งเฉยอยู่ ท่ามกลางความชาญฉลาดของรัฐบาลที่พวกเขาได้สร้างศัตรูจากมิตรสหายนั่นเอง

องค์กร และบุคคลมากหน้าหลายตาที่ร่วมเป่านกหวีดเริ่มถูกเช็คบิลโดยทหารและรัฐบาลทั้งโดยตั้งใจและอาจจะไม่ตั้งใจ อาจเป็นเพราะข่าวกรองที่ไม่ค่อยฉลาดนัก ก๊วนนกหวีดจึงค่อยๆ เสียงอ่อย บ้างเริ่มรู้ตัวและนิยามตัวเองใหม่ บ้างก็เริ่มสำนึกผิด แต่ก็มีไม่น้อยที่ยังทนเดินตามโร้ดแมปของตัวเองต่อไปโดยไม่ดูสี่ดูแปด

การคิดบัญชีในที่สุดก็ถึงคิวขององค์กรอย่าง สสส.ที่เป็นกองทุนที่เต็มไปด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่เถลิงอำนาจมาอย่างยาวนาน พวกเขามีอำนาจเบิกจ่ายที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน สสส.ทั้งสร้างสื่อและซื้อสื่อ เปิดรับการขอโครงการจำนวนมหาศาล ราวกับว่าเป็นรัฐขนาดย่อมที่ผู้มีอำนาจคือเหล่าหมอและนักกิจกรรมทางสังคมในเครือข่าย ทำงานภายใต้คำว่า "สุขภาพ" ที่ขยายอาณาเขตกว้างไปนอกจากงานสาธารณสุข นั่นคือ ขยายอาณาจักรไปสู่พื้นที่ทางสังคมและปริมณฑลทางการเมืองที่พวกเขาปฏิเสธมาตลอดว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง การรณรงค์ไม่น้อยไปได้ดีกับการใช้อำนาจทางกฎหมายบังคับ ที่มองประชาชนเป็นราษฎรผู้โง่-จน-เจ็บที่ต้องรอคนดีมีคุณธรรมและฉลาดกว่ามาโปรดและให้การศึกษา ดังที่เราเห็นได้จากแคมเปญที่ไม่เข้าใจประชาชนอย่าง "จน เครียด กินเหล้า" ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะอยู่ร่วมกับเผด็จการที่ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม

               
แต่ในที่สุดพวก สสส.เองก็ได้รู้ซึ้งแล้วว่า รัฐบาลทหารชุดนี้เป็นเช่นไร เป็นเผด็จการโดยธรรมหรือไม่ ก่อนที่จะประยุทธจะลูบหลังด้วยข่าวดี พวกเขาออกมาร้องเสียงหลงเพราะสูญเสียผลประโยชน์จากการที่ทหารเข้ามาเบียดบัง หาใช่ร้องเพราะปกป้องประชาชนไม่             

               

สสส. ตายแล้ว...

สำหรับผู้เขียนแล้ว ชัยชนะของ "เผด็จการโดยธรรม" นั้นเถลิงขึ้นมาจากความพ่ายแพ้ของอำนาจปุถุชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่า สสส.จะถูกยุบไปในที่สุดจะได้ด้วยความโง่เขลา หรือความไร้เดียงสา ตราบใดที่อุดมการณ์เผด็จการโดยธรรมของพุทธทาสยังอยู่ เราก็จะยังได้เป็นสักขีพยานต่อการเรียกร้องรัฐประหารโดยผู้นำที่มีคุณธรรมจากผู้ที่สมาทานความคิดดังกล่าวอย่างไม่จบไม่สิ้น.

 

 

อ้างอิง

[1] จ.ส.100. "นายกฯขอโทษ สสส. ออกคำสั่ง18 ม.ค.ทุกอย่างกลับไปเป็นปกติ ไม่เคยพูดว่ามีทุจริต". http://www.js100.com/en/site/news/view/20968 (15 มกราคม 2559)

 

ที่มาภาพ
http://www.kaewjamfa.org/article-134.php
http://www.chiangraifocus.com/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net